คอลัมนิสต์

"ม.112" สมควรเลิกจริงหรือ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เจาะประเด็นร้อน : "ม.112" สมควรเลิกจริงหรือ?

กลายเป็นกระแสขึ้นมาอีกระลอก สำหรับการเรียกร้องให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยกระแสครั้งล่าสุดนี้เกิดขึ้นหลังจากนายกรัฐมนตรีออกมาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ทรงมีพระเมตตา ไม่ให้ดำเนินคดี 112 กับบุคคลใดเลย  แต่กลุ่มที่เคลื่อนไหวหมิ่นเหม่กระทบสถาบันเบื้องสูงกลับฉวยโอกาสออกมาสร้างกระแสใหม่ เรียกร้องให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรานี้เสีย

 

เหตุผลที่นำมาสู่ข้อเรียกร้อง ก็เป็นเรื่องเดิมๆ เช่น เป็นกฎหมายละเมิดสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น นอกจากนั้นก็ยังอ้างว่าเป็นกฎหมายที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ใส่ร้ายป้ายสี 2 รวมไปถึงอัตราโทษ "ขั้นต่ำ" ที่สูงเกินไป ทำให้ศาลไม่อาจใช้ดุลยพินิจลดโทษได้

แต่จากการตรวจสอบข้อมูลของ "เนชั่นทีวี" พบว่า เหตุผลที่นำมากล่าวอ้างกันนั้น เกือบทั้งหมดไม่ได้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง หรือหากมีปัญหาอยู่จริงบ้าง ก็ได้รับการแก้ไขไปเกือบหมดแล้ว

เริ่มจากบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เขียนเอาไว้สั้นๆ ว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี"

 

บทบัญญัตินี้มีเจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อปกป้องคุ้มครองพระมหากษัตริย์ต่อการถูกใส่ร้ายป้ายสี หรือถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม โดยไม่ใช่การติชมโดยสุจริต หรือวิจารณ์ในแง่วิชาการ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการใส่ร้ายป้ายสีมาจากบางกลุ่มมาโดยตลอด จึงต้องมีกฎหมายมาตรานี้ และการมีกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก็ไม่ใช่การละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เนื่องจากผู้ที่กระทำผิดมาตรานี้ ต้องถือว่าใช้เสรีภาพอย่างไม่สุจริต และจงใจละเมิดบุคคลอื่น (ในที่นี้คือพระมหากษัตริย์)

 

หากยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็จะเกิดความลักลั่นทางกฎหมาย เพราะบุคคลธรรมดายังมีกฎหมายคุ้มครองกรณีหมิ่นประมาท ทั้งหมิ่นประมาททั่วไป (มาตรา 326 มีทั้งโทษจำคุกและปรับ) และดูหมิ่นซึ่งหน้า (มาตรา 393 มีทั้งโทษจำคุกและปรับ) แต่กับพระมหากษัตริย์ ซึ่งทรงมีสถานะเป็น "ประมุขของรัฐ" ในระบบการปกครองของไทย กลับไม่มีกฎหมายคุ้มครอง

ยิ่งไปกว่านั้นในประมวลกฎหมายอาญา ยังมีบทบัญญัติอีกหลายมาตราที่เป็นกลุ่มความผิดใกล้เคียงกัน เช่น มาตรา 133 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา 135 ว่าด้วยการดูหมิ่นธง หรือตราสัญลักษณ์ของรัฐต่างประเทศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ฉะนั้้นการจะยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต้องพิจารณาถึงความสอดคล้องกับมาตราอื่นๆ เหล่านี้ด้วย มิฉะนั้นจะกลายเป็นความลักลั่นของกฎหมาย เช่น คุ้มครองประมุขต่างประเทศ แต่ไม่คุ้มครองประมุขประเทศตัวเอง อยางนี้เป็นต้น

 

ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีบทลงโทษสูงเกินไป โดยเฉพาะ "โทษขั้นต่ำ" คือ 3 ปี ขณะที่โทษขั้นสูงคือ 15 ปี ทำให้ศาลไม่สามารถใช้ดุลยพินิจลงโทษสถานเบากับคนที่กระทำผิดไม่ร้ายแรงได้นั้น

จริงๆ แล้วประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เดิมไม่มีกำหนด "โทษขั้นต่ำ" เอาไว้  มีแต่โทษขั้นสูง  คือเขียนไว้เพียงว่า "ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี" แต่ต่อมามีการแก้ไขกฎหมายให้มีโทษขั้นต่ำ จำคุก 3 ปี และโทษขั้นสูงคือจำคุกไม่เกิน 15 ปี ทว่าก็ยังมีกระแสโจมตีว่าโทษขั้นต่ำสูงเกินไปอยู่ดี และศาลไม่สามารถใช้ดุลพินิจรอลงอาญาได้

 

ทั้งๆ ที่ในปี 2559 มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจิในการ "รอลงอาญา" สำหรับความผิดที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีได้  ฉะนั้นในปัจจุบัน "โทษขั้นต่ำ" ที่กำหนดไว้ 3 ปี จึงไม่ได้เป็นปัญหาเรื่องการใช้ดุลยพินิจลงโทษสถานเบาหรือรอลงอาญา (ทั้งรอการกำหนดโทษ และกำหนดโทษแล้ว แต่รอการลงโทษเอาไว้ก่อน)

อีกประเด็นหนึ่งที่พูดกันมาก คือการใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง ประเด็นนี้จะพบว่ามีการกล่าวหากันในทางการเมืองด้วยการอ้างเรื่องหมิ่นสถาบันเบื้องสูงจริง โดยสถิติคดี 112 จากในอดีตตั้งแต่ปี 2500 ที่เริ่มมีการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาจนถึงปี 2548 มีคดี 112 เกิดขึ้นน้อยมาก บางปีไม่มีเลย / แต่นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ซึ่งประเทศไทยมีความขัดแย้งทางการเมือง ปรากฏว่ามีคดี 112 มากจนผิดสังเกต และนี่เองที่เป็นเหตุผลให้มีความพยายามกลั่นกรองการบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้มาตลอด

 

กระบวนการนี้เริ่มมาตั้งแต่รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ด้วยการออกเป็นนโยบายไม่ให้ "ตำรวจโรงพัก" ที่รับแจ้งการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 สอบสวนและทำสำนวนคดีเอง  แต่ต้องส่งให้ "คณะทำงาน" ระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มี "กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง" เป็นเจ้าภาพ ทำหน้าที่สืบสวน สอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อความชัดเจน และป้องกันการตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง

 

นอกจากนั้นยังให้มีคณะทำงานระดับชาติ กลั่นกรองสำนวนคดี 112 อีกชั้นหนึ่ง เพื่อพิจารณาว่าการสั่งฟ้องคดี จะส่งผลเสียมากกว่าผลดีหรือไม่ (เพราะบางเรื่องเป็นเรื่องทางการเมือง อาจมีการนำไปขยายผลจนกระทบกับสถาบันเบื้องสูงมากกว่าเดิมได้)

ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่ามีความพยายามควบคุมและกลั่นกรองการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาตลอด

 

กองบรรณาธิการข่าว เนชั่นทีวี22

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ