คอลัมนิสต์

"การบินไทย" .. บนเส้นทาง "ฟื้นฟูกิจการ"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การตัดสินใจของรัฐบาล ให้"การบินไทย" เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินที่มีมากกว่า 1 แสนล้านบาท เพื่อให้องค์กรแห่งนี้เดินต่อไปได้ ไม่ต้อง"ล้มละลาย"  ยังมีเส้นทางและขั้นตอนอีกมากมาย รวมทั้งอุปสรรคที่รออยู่ข้างหน้า

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)  เมื่อวันที่  19 พ.ค.ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติร่วมกับคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)เสนอให้ "การบินไทย" เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้คำสั่งศาลต่อไป

 "มันเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก แต่ทั้งนี้เป็นการตัดสินใจที่ผมรู้ว่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน" 

 ก่อนหน้านี้มี 3 ทางเลือกให้ ครม.และ คนร. ตัดสินใจ 

 แนวทางแรก  กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ 50,000 ล้านบาทให้กับ "การบินไทย"  โดยการบินไทยจะนำเอาเงินกู้ดังกล่าวไปช่วยเสริมสภาพคล่องให้บริษัทสามารถปฏิบัติงานต่อไปได้ พร้อมเสนอแผนให้รัฐบาลพิจารณา

แต่รัฐบาลมองว่าแผนงานดังกล่าวยังไม่ค่อยมีความชัดเจนและอาจไม่สามารถทำกำไรได้จริง เงินภาษีของประชาชนที่นำมาค้ำประกันเงินกู้ให้กับ "การบินไทย" 50,000 ล้านบาทจะสูญเปล่า

 แนวทางที่สอง ปล่อยให้การบินไทยล้มละลายไป

 ในจุดนี้ รัฐบาลอาจมีความกังวลถึงผลเสียที่ตามมา ทั้งในเรื่องของผลกระทบต่อกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 51% ทั้งในเรื่องของส่วนแบ่งการตลาด ที่อาจจะโดนสายการบินต่างชาติเข้ามาครองตลาดเส้นทางบินทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงด้านภาพลักษณ์ของสายการบินแห่งชาติ หากล้มละลายไปจะส่งผลเสียต่อการท่องเที่ยวในอนาคตได้

 แนวทางที่สาม เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ รัฐบาลเห็นว่าการให้ " การบินไทย"เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการโดยศาลล้มละลายกลาง รัฐบาลตัดสินใจเลือกแนวทางนี้

 และกระทรวงการคลังจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงให้ต่ำกว่า 50% เพื่อให้พ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ กลายเป็นเอกชนเต็มตัวและสามารถปรับโครงสร้างองค์กรได้ง่ายยิ่งขึ้น

สำหรับขั้นตอนการฟื้นฟูกิจการ การบินไทย จะดำเนินการยื่นฟื้นฟูกิจการพร้อมแผนในการฟื้นฟู เสนอต่อ "ศาลล้มละลายกลางของไทย " เดิมทีเดียวพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มีแต่เพียงบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องล้มละลาย ไม่มีบทบัญญัติในเรื่องการฟื้นฟูกิจการ ดังนั้น เมื่อลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคลประสบปัญหามีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือขาดสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราว ลูกหนี้จึงต้องตกเป็นบุคคลล้มละลายทั้งๆ ที่กิจการของลูกหนี้อยู่ในสภาพที่จะฟื้นฟูให้กลับมาดีเป็นปกติได้ หากได้รับความช่วยเหลือทางการเงินตามสมควรและมีการแก้ไขจัดการปัญหาที่ถูกต้องเหมาะสม 
 ต่อมาจึงได้มีการประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2541 เพื่อบัญญัติเรื่องการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลาย ด้วย ทำให้ลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคลไม่ต้องล้มละลายและมีโอกาสในการฟื้นฟูกิจการให้กลับมาเป็นปกติ 
 ข้อมูลล่าสุด ณ เดือนธันวาคม 2562  "หนี้ค้างชำระ" ของบมจ.การบินไทย  มีหนี้สินมากถึง 1.47 แสนล้านบาท !! ประกอบด้วยหุ้นกู้ ,หนี้เช่าเครื่องบิน,เงินกู้ทั้งในและต่างประเทศ
 ตอนนี้ก็มีข่าวออกมาแล้วว่า  หลังจาก"การบินไทย"เข้ากระบวนการฟื้นฟูตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย  ตามแผนการฟื้นฟูที่จะมีการทำขึ้น พนักงานที่มีกว่า 20,000 คน จะต้องถูกปลดออกอย่างน้อย 30%หรือประมาณ 6,000 คน โดยจ่ายค่าชดเชย 10 เดือน ตามกฎหมายแรงงาน
 

 "การบินไทย" บนเส้นทางเข้าสู่ "กระบวนการฟื้นฟูกิจการ " ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการลูกหนี้  มีสาระสำคัญอย่างไรบ้าง 

 #  ผู้มีสิทธิยื่นคำขอให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

- เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกันที่มีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท

- ลูกหนี้ (การบินไทย)

- หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแล

 #การยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการ

คำขอฟื้นฟูกิจการต้องระบุถึง" ผู้ทำแผน" ทั้งนี้ "ผู้ทำแผน"จะเป็นบุคคลธรรมดา นิติบุคคล คณะบุคคล เจ้าหนี้หรือผู้บริหารของลูกหนี้ก็ได้

 # การคุ้มครองลูกหนี้

เมื่อศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้จะได้รับการคุ้มครองภายใต้หลักการ การพักบังคับชำระหนี้โดยอัตโนมัติ (Automatic Stay) เจ้าหนี้ทั้งหลายจะฟ้องบังคับชำระหนี้ไม่ได้ เพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสดำเนินกิจการและฟื้นฟูกิจการของตน โดยปราศจากการฟ้องร้องบังคับชำระหนี้จากบรรดาเจ้าหนี้ 
 กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลาย ไม่กระทบต่อการดำเนินกิจการตามปกติของการบินไทย โดยการบินไทยยังสามารถประกอบกิจการตามปกติต่อไปได้ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ 

 # ข้อห้ามลูกหนี้

 ห้ามลูกหนี้จำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สิน ให้เช่า ชำระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทำการใดฯที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สินระหว่างฟื้นฟูกิจการ 

 # การตั้งผู้ทำแผน

ศาลจะเห็นชอบตั้งผู้ทำแผนตามที่ผู้ยื่นคำร้องเสนอหรือไม่ก็ได้ ถ้าศาลเห็นไม่สมควรต้องมีการเรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อเลือกผู้ทำแผน แล้วเสนอให้ศาลให้ความเห็นชอบต่อไป

 #อำนาจจัดการกิจการของลูกหนี้ (การบินไทย) เปลี่ยนมือ (ผู้บริหารปัจจุบัน) ไม่มีอำนาจอีกแล้ว

ในกรณีที่ศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ อำนาจบริหารกิจการและทรัพย์สินของ"ผู้บริหารลูกหนี้"เป็นอันสิ้นสุดลง 

ในกรณียังไม่มีการตั้งผู้ทำแผน ศาลจะแต่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้บริหารชั่วคราวภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จนกว่าจะมีการตั้ง"ผู้ทำแผน" 

กรณีที่ศาลมีคำสั่งตั้ง"ผู้ทำแผน"แล้ว ให้อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้และบรรดาสิทธิของผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ ตกแก่"ผู้ทำแผน"

"ผู้ทำแผน"นี้ อาจจะเป็นผู้บริหารมืออาชีพ มาจัดการทั้งเรื่องโครงสร้างหนี้สินและจัดทำแผนปฏิบัติงานบริหารกิจการ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้มีความรู้ ความสามาถเข้ามาบริหารกิจการ 
นอกจากนี้"แผนฟื้นฟู"นั้น จะต้องได้รับความเห็นชอบที่ตรงกันจากทั้งทางศาล  ที่ประชุมบรรดาเจ้าหนี้ รวมถึงลูกหนี้เองว่าเป็นแผนที่เหมาะสมและใช้งานได้จริง 
 หลังจาก"แผนฟื้นฟู" ได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายแล้ว ก็จะถูกส่งมอบไปยัง "ผู้บริหารแผน" ซึ่งจะทำหน้าที่จัดการดูแลกิจการและทรัพย์สิน ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการ โดยมีเป้าหมายสำคัญก็คือ
“การปรับเปลี่ยนโครงสร้างกิจการ ให้พลิกจากขาดทุนต่อเนื่อง มาทำกำไรได้อย่างยั่งยืน”

#ระยะเวลาตามแผนฟื้นฟูฯ

ไม่เกิน 5ปี แต่อาจมีการแก้ไขแผนโดยขอขยายกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผนได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ปี

# ถ้าการฟื้นฟูกิจการเป็นผลสําเร็จตามแผน ผลเป็นอย่างไรบ้าง 

ตอบ : ศาลจะมีคําสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ทำให้กิจการลูกหนี้ (การบินไทย) กลับมาปกติไม่ต้องล้มละลาย ผู้บริหารของลูกหนี้กลับมามีอํานาจจัดการกิจการและทรัพย์สินเหมือนเดิม และผู้ถือหุ้น
ของลูกหนี้กลับมามีสิทธิตามกฎหมาย

 # ถ้าฟื้นฟูกิจการไม่สำเร็จตามแผนฟื้นฟูฯ

 หากเกิดกรณีที่ระยะเวลาดำเนินการตามแผนสิ้นสุดลง แต่การฟื้นฟูกิจการยังไม่เป็นผลสำเร็จตามแผน  1. ถ้าศาลเห็นสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ศาลมีอำนาจสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดได้  
2.ศาลมีอำนาจสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการได้

 # ปัญหาการฟื้นฟูกิจการขนาดใหญ่

ขั้นตอนในกระบวนการฟื้นฟูกิจการที่เป็นกิจการขนาดใหญ่ มีขั้นตอนที่ซับซ้อนและใช้เวลายาวนาน โดยเฉพาะขั้นตอนการตั้งผู้ทําแผนและการจัดทําแผนจนกระทั่งการยอมรับแผน 

 โดย"แผนฟื้นฟูฯ"ต้องได้เสียงเห็นชอบจากมติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมากและรวมจำนวนหนี้ที่มีต่อลูกหนี้ได้ไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด

 อย่าง"การบินไทย" มีเจ้าหนี้อยู่หลายกลุ่ม หากเสียงข้างมากของเจ้าหนี้ไม่ยอมรับแผนฟื้นฟูฯที่ทำมา ก็ต้องกลับไปทำแผนฟื้นฟูฯใหม่   
 อีกทั้งยังมีเรื่องการคัดค้าน"ผู้ทําแผน"และยังสามารถเสนอ"ผู้ทําแผน"แข่งได้ด้วย ซึ่งทําให้ขั้นตอนกว่าจะได้ดําเนินการตามแผนต้องชะลอออกไป เนื่องจากต้องรอการตั้ง"ผู้ทําแผน"และ"จัดทําแผน"ให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อน

 จับตาดูต่อไป..กับก้าวย่างของ"การบินไทย" บนเส้นทางฟื้นฟูกิจการ  ว่าจะมีอุปสรรคหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน 

"การบินไทย" .. บนเส้นทาง "ฟื้นฟูกิจการ"

 

 


 

 


 

 


 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ