คอลัมนิสต์

จรัลรำลึก เหตุเสื้อแดง พ่ายซ้ำซาก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เสียงก้องจากปารีส "จรัล ดิษฐาอภิชัย" เขียนประวัติศาสตร์ 19 พ.ค.2553 ตามหาความจริง ทำไมคนเสื้อแดงพ่ายซ้ำซาก

++
          ควันหลงจากการรำลึก 10 ปี พฤษภาเลือด ยังไม่จางหายไป  “จรัล ดิษฐาอภิชัย” อดีตผู้ประสานงานองค์กรเสรีไทย และแกนนำ“สมาคมนักประชาธิปไตยไร้พรมแดน” ซึ่งพักอาศัยอยู่ในปารีส ฝรั่งเศส ได้เขียนบันทึก "กรณี 19 พฤษภาคม" ไว้อย่างละเอียด และนำเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์

 

 

จรัลรำลึก เหตุเสื้อแดง พ่ายซ้ำซาก


          ในฐานะคนวงใน นปช.คนหนึ่ง “จรัล” ได้เกริ่นนำว่า “ผมขอน้อมรำลึกสดุดีวีรชนทั้งที่เสียสละชีวิตและยังมีชีวิตอยู่ทุกท่าน การต่อสู้และเสียสละครั้งนั้นมิได้สูญเปล่า แม้คนสั่งคนฆ่ามิได้ถูกลงโทษ แต่มีคุณค่าหลายประการที่ได้บันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ประชาชน”


          “จรัล” บันทึกเหตุการณ์ไว้อย่างละเอียด สมกับเป็นนักเขียน มีรายละเอียดหลายแง่มุมที่หลายคนไม่เคยรับทราบมาก่อน แม้แต่คนเสื้อแดงด้วยกันเอง
          ตอนท้าย จรัลมีข้อเสนอความคิดเห็นบางประการ โดยตัวเขาบอกว่า ไม่ใช่ข้อสรุป เพราะหากจะสรุปบทเรียนจริงจัง ต้องร่วมกับคณะแกนนำนปช.และพี่น้องประชาชนทุกฝ่ายที่ร่วมต่อสู้
          1.การต่อสู้ด้วยการชุมนุมเดินขบวนใหญ่เมื่อเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2553 ที่นำโดย นปช. แม้จะมีผู้เข้าร่วมมหาศาลและชุมนุมยืดเยื้อกว่า 2 เดือน และแม้ผู้นำและพี่น้องคนเสื้อแดงจะมีจิตใจต่อสู้วีรอาจหาญ ซึ่งได้เสียสละชีวิตบาดเจ็บถูกจับนับร้อยนับพัน แต่ไม่มีผลต่อการขับไล่รัฐบาลหรือเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเท่าที่ควร 


          ยิ่งฝ่ายรัฐบาลมีฐานะทางการเมือง กองทัพ ชนชั้นนำ คนชั้นกลาง สนับสนุน และสังคมแบ่งเป็น 2 ฝ่าย เสื้อเหลืองเสื้อแดงชัดเจน การต่อสู้จะเอาชนะรัฐบาล แม้ตามกระบวนการประชาธิปไตยก็ตาม ยิ่งยากขึ้น


          ตามความคิดเห็นของผม การชุมนุมใหญ่วันเดียวดังที่ประเทศยุโรป อเมริกา ลาตินอเมริกาทำกัน มีผลเท่ากับหลายวัน และการชุมนุมแบบจัดการที่ต้องมีคนมาก ต้องตั้งเวทีใหญ่แสงเสียงเหมือนคอนเสิร์ต เช่นที่ทำกันในประเทศไทยมากว่า 30 ปีนั้นสิ้นเปลืองมากและไม่ควรทำกันต่อไป เพราะอย่างไรก็ล้มรัฐบาลไม่ได้ 

 

 

จรัลรำลึก เหตุเสื้อแดง พ่ายซ้ำซาก

 


          การชุมนุมของพันธมิตรเสื้อเหลือง กปปส. ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย 4 ชุด มิใช่มาจากพลังของการชุมนุม หากเป็นเงื่อนไขให้กองทัพทำรัฐประหารและศาลรัฐธรรมนูญตัดสินล้มรัฐบาล


          2.การเดินขบวนและการชุมนุมใหญ่ดังกล่าวนำโดย นปช. ซึ่งเป็นขบวนการประชาชนคนเสื้อแดงอย่างหลวมๆ ไม่ใช่เป็นองค์การจัดตั้ง องค์ประกอบของขบวนส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและผู้หญิง หากมิได้มีการจัดตั้งเป็นขบวนการนำเข้มแข็งทั้งทางการเมืองและปฏิบัติการ ประชาชนมิได้ตระเตรียมพร้อม สถานการณ์ไม่สุกงอม ยากที่จะแปรเปลี่ยนเป็นการลุกขึ้นสู้หรือการปฏิวัติของประชาชนตามที่พี่น้องคนเสื้อแดงคาดหวังกันได้ 


          หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 มีเสียงวิจารณ์ นปช. ว่า ไม่มียุทธศาสตร์เอาชนะ ไม่กล้านำ เอาแต่จัดชุมนุมอย่างเดียว

          3.ภายหลังจากเหตุการณ์ นปช.และขบวนการคนเสื้อแดงฟื้นตัวภายใน 3 เดือน ต่อมาฝ่ายประชาธิปไตย โดยพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 ตั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่นปช.มิได้จัดสรุปการต่อสู้ 19 พฤษภาคมเพื่อเก็บรับบทเรียน ปรับปรุงแก้ไขข้ออ่อน ข้อบกพร่อง และเสริมความแข็งแกร่งแก่ปัจจัยที่ดีของขบวนการ 


          คนเสื้อแดงยังทำอะไรแบบเดิมๆ ไม่เรียนรู้การเคลื่อนไหวต่อสู้ เมื่อเป็นฝ่ายรัฐบาลจึงทำผิดทำถูกซ้ำอีกในการต่อสู้พิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย เมื่อจัดชุมนุมใหญ่บนถนนอักษะในเดือนพฤษภาคม 2557 นี่เป็นข้ออ่อนอย่างหนึ่งของ นปช.


          4.ขอยกย่องพี่น้องเสื้อแดงในประเทศและต่างประเทศที่ยังมีความคิดจิตใจต่อสู้มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย ตาสว่าง และยังเกาะเกี่ยวกันเป็นกลุ่ม เข้าร่วมต่อสู้ตามเงื่อนไขของแต่ละคน แม้มีบทเรียนหรือความคิดว่า รัฐจะปราบ จะใช้กระสุนจริงกับคนเสื้อแดงเหมือนกรณีพฤษภาคม 2553 ไม่เหมือนกับกลุ่มคนเสื้อเหลือง นักศึกษา และเอ็นจีโอ นี่เป็นผลตกค้างหนึ่งในช่วง 10 ปีของกรณีดังกล่าว ยังมีความคิดเห็นต่อด้านอื่นๆ อีก ค่อยเขียนโอกาสต่อๆ ไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ