คอลัมนิสต์

สุขภาพก่อนเสรีภาพ 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สุขภาพก่อนเสรีภาพ  โดย... ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์

 

          ขอแสดงความยินดีกับพ่อ-แม่ พี่-น้อง ชาวไทยทุกคนที่เราสามารถทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่เป็นศูนย์ได้หลายวันในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะหากไม่นับรวมผู้ที่อยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ สำหรับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ที่ยังคงพบผู้ป่วยรายใหม่อยู่เป็นระยะ ๆ จนทำให้ต้องขยายเวลาการห้ามอากาศยานขนผู้โดยสาร โดยเฉพาะต่างชาติ เข้าประเทศต่อไปอีกจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2563  

          จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ลดลง ในระหว่างระยะเวลาภายใต้มาตรการผ่อนปรนในระยะแรก ทำให้รัฐบาลตัดสินใจมีมาตรการผ่อนปรนระยะ 2 ที่รวมถึงการเปิดห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารหรือเครื่องดื่มในอาคาร คลินิกเวชกรรม โรงยิม สถานที่ออกกำลังกายในร่ม เป็นต้น แต่ต้องมีการดำเนินการภายใต้ข้อกำหนดด้านสาธารณสุขด้วย เพื่อการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในรอบที่สอง 


          คนไทยและคนต่างชาติหลายคน มักจะตั้งคำถามว่าอะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยสามารถดำเนินมาตรการต่อต้านการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ค่อนข้างมีประสิทธิผล ซึ่งแน่นอน นอกจากปัจจัยด้านสมรรถนะและความตั้งใจทำงานของบุคลากรด้านการแพทย์ของไทย รวมถึงปัจจัยด้านนโยบายและมาตรการของภาครัฐที่ประกาศออกมาเป็น ระยะ ๆ อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ ความร่วมมือของคนไทยในการต่อสู้กับการแพร่ของโรคระบาด ซึ่งคำตอบนี้สามารถสะท้อนได้จากผลของการสำรวจความคิดเห็นของนิด้าโพลเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2563 ในหัวข้อเรื่อง “เสรีภาพหรือสุขภาพ” ที่มีหลายประเด็นน่าสนใจให้มาสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน


          ขอเริ่มจากคำถามที่สำคัญที่สุดของโพลครั้งนี้ แต่ถูกจัดไว้ในข้อสุดท้าย (ข้อ 4) ของโพล เนื่องจากไม่อยากให้คำถามนี้เป็นตัวชี้นำในอีกสามคำถามที่เหลือของโพล ในคำถามข้อ 4 ถามถึงการให้ความสำคัญระหว่างเสรีภาพกับสุขภาพ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 83.80 ระบุว่า เลือกสุขภาพที่ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด - 19 แม้ว่าจะต้องถูกจำกัดเสรีภาพบ้างก็ตาม เพราะ ถ้าประชาชนสุขภาพดี ทำให้ไม่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด - 19 รอบ 2 ขึ้น และเสรีภาพในการดำรงชีวิตก็จะได้กลับมา รองลงมา ร้อยละ 12.87 ระบุว่า เลือกเสรีภาพในการดำเนินชีวิต แม้ว่าจะต้องเสี่ยงกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด - 19 เพราะ อยากมีอิสระในการเดินทาง ประกอบอาชีพเหมือนเดิม และประชาชนส่วนใหญ่มีการดูแลและรับผิดชอบตัวเองมากขึ้น ร้อยละ 2.86 ระบุว่า อะไรก็ได้แล้วแต่รัฐบาลจะเห็นสมควร เพราะ ทั้ง 2 สิ่งมีความสำคัญเท่ากัน ต้องทำควบคู่กันไป




          ผลการสำรวจที่มีผู้ให้ความสำคัญกับสุขภาพมากกว่าเสรีภาพ (83.80 % ต่อ 12.87 %) โดยเฉพาะในช่วงภาวะวิกฤติเช่นนี้ เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าทำไมอัตราการแพร่เชื้อไวรัสภายในประเทศในช่วงปลายเดือนเมษายนต่อถึงเดือนพฤษภาคม ถึงลดลงเรื่อย ๆ และเมื่อแตกข้อมูลออกมาดูในรายละเอียด พบว่าทุกกลุ่มมีความเห็นไปในทำนองเดียวกัน แต่ก็มีบางจุดที่น่าสนใจ เช่น คนใต้ (91.12%) กลุ่มผู้ที่มีการศึกษาระดับอนุปริญญา (90 %) และปริญญาตรี (90.32 %) และ กลุ่มข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ (90.41 %) คือกลุ่มที่เลือกสุขภาพก่อนเสรีภาพในอัตราส่วนที่มากว่าค่าเฉลี่ยพอสมควร (นายหน้าบริษัทประกันเตรียมพร้อม!) แต่ถ้าถามว่ากลุ่มไหนที่น่าสังเกตเป็นพิเศษในการให้ความสำคัญกับเสรีภาพมากกว่าสุขภาพ คำตอบก็คงไม่ผิดไปจากที่ทุกคนคาดเอาไว้นั้นคือกลุ่มผู้มีอายุ 18 – 25 ปี  (20 %) ซึ่งมีอัตราส่วนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยพอสมควร แต่ก็ยังใจชื้นได้ว่า อีกเกือบ 80 % ของผู้คนวัยนี้สนใจสุขภาพมากกว่าเสรีภาพ ซึ่งถือว่าคิดถูกต้องแล้วเพราะอนาคตยังอีกไกล เหล่าเยาวชนทั้งหลายลองคิดดู หากติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ขึ้นมา ใครจะเดือดร้อน ใครที่จะเป็นห่วงเป็นใย หากไม่ใช่พ่อ-แม่ หรือคนในครอบครัว  ส่วนพวกชอบยุยงให้เลือกเสรีภาพที่ไม่มีกาละเทศะนั้นรับรองว่าหายหัวหมดเวลาเกิดเรื่อง หรือไม่ก็ออกมาใช้มุกเดิม ๆ “ขอโทษ” (แต่ปาก) “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” “ไม่ใช่รัฐบาลเลยช่วยไม่ได้” เป็นต้น 


          กลับมาที่คำถามแรกของโพลเกี่ยวกับข้อเสนอให้ยกเลิก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก. ฉุกเฉิน) พบว่า คำตอบเป็นไปในทางตรงข้ามกับการตัดสินใจของรัฐบาล นั้นคือ ร้อยละ 35.98 ระบุว่า เห็นด้วยมาก และ ร้อยละ 21.76 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ทั้งสองกลุ่มนี้ (รวม ร้อยละ 57.74) ให้เหตุผลว่า เพราะ สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด - 19 ดีขึ้นแล้ว และอยากให้มีการผ่อนปรนหรือกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จะได้เดินทางสะดวก และผู้ประกอบการสามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ ในขณะที่ ร้อยละ 15.17 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด - 19 รอบ 2 ขึ้น และอยากให้สถานการณ์ดีขึ้นกว่านี้ ร้อยละ 25.74 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ อยากให้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด – 19 ปลอดภัย 100% ก่อน และเกรงว่าจะกลับมาระบาดรอบ 2 (สองกลุ่มนี้ รวมกันแล้ว ร้อยละ 40.91)


          เมื่อแตกข้อมูลออกมาพบประเด็นที่น่าสนใจคือ ในขณะที่ทุกภูมิภาคมีแนวโน้มในการขอให้ยกเลิก พรก. ฉุกเฉิน แต่คนกรุงเทพกลับมีความคิดเห็นแตกต่างเป็นสองฝั่งที่เท่า ๆ กัน คือฝั่งละ 49.56 %  ส่วนอีกกลุ่มที่น่าสังเกตเป็นพิเศษแต่ก็ไม่น่าแปลกใจมากนักคือ กลุ่มผู้มีอายุ 18 – 25 ปี (รวม 70.53 %) และกลุ่มนักเรียน/นักศึกษา (รวม 69.69 %) ที่สนับสนุนให้ยกเลิก พรก. ฉุกเฉิน ในอัตราส่วนที่มากกว่าค่าเฉลี่ยพอสมควร ซึ่งคำว่า “ฉุกเฉิน” อาจจะสร้างความรู้สึกที่ไม่ค่อยดีสำหรับบางคน เช่น รู้สึกว่าถูกจำกัดเสรีภาพหรือกลัวว่าจะมีการใช้อำนาจรัฐมากเกินขอบเขต หรือรู้สึกเหมือนว่าประเทศกำลังอยู่ในความไม่สงบ เป็นต้น 


          สำหรับเยาวชนนั้น ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหนก็ตาม ส่วนใหญ่โดยธรรมชาติแล้ว จะมีลักษณะเป็นเสรีนิยมค่อนข้างสูง ชอบเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ไม่ชอบให้ใครมาบังคับ รวมถึง ไม่ชอบอำนาจรัฐ แต่อย่างไรก็ตาม พออายุมากขึ้น และได้เผชิญกับความเป็นจริงทางสังคมมากขึ้น ก็อาจจะเข้าใจได้ว่า ทำไมถึงต้องมีการจำกัดเสรีภาพบ้างในบางเรื่องหรือบางโอกาส และก็จะปรับตัวลดการเป็นเสรีนิยมลงเองโดยธรรมชาติ ฉะนั้นรัฐบาลอย่าเครียดให้มากนัก หากหลังโควิด-19  แฟลชม็อบจะกลับมา...เด็ก ๆ ก็เป็นอย่างนี้แหละ


          คำถามข้อที่สองเกี่ยวกับข้อเสนอให้ยกเลิกประกาศเคอร์ฟิว (4 ทุ่ม ถึง ตี 4) พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.22 ระบุว่า เห็นควรให้มีเคอร์ฟิวตามเวลาเดิม เพราะ อยากให้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด - 19 หมดไป 100% ก่อน และลดการมั่วสุม ชุมนุม ที่จะก่อให้เกิดการแพร่ระบาดรอบ 2 รองลงมา ร้อยละ 33.68 ระบุว่า เห็นควรยกเลิกเคอร์ฟิวไปเลย เพราะ ไม่สะดวกในการเดินทางเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ที่ทำงานตอนกลางคืนขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ และสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด - 19 ดีก็ขึ้นแล้ว ร้อยละ 23.99 ระบุว่า เห็นควรให้มีการปรับเวลาเคอร์ฟิวใหม่ เพราะ อยากให้ปรับเปลี่ยนเวลาให้ดึกมากกว่านี้ ประชาชนบางส่วนยังต้องทำงานอยู่ และจะได้สะดวกในการเดินทางมากขึ้น


          หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมคนส่วนใหญ่ต้องการให้ยกเลิก พรก. ฉุกเฉิน แต่ยังต้องการให้มีการประกาศเคอร์ฟิวไว้ ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ว่าคนจำนวนมากอาจยังไม่เข้าใจว่า การจะประกาศเคอร์ฟิวได้ ต้องอาศัยอำนาจจาก พรก. ฉุกเฉิน เพราะถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว ก็ต้องใช้อำนาจอื่นแทนเพื่อประกาศเคอร์ฟิว เช่น การประกาศใช้กฎอัยการศึก หรือใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบัน พรก. ฉุกเฉิน เหมาะสมที่สุด เพราะเป็นการแก้ไขสถานการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นแล้วและรัฐบาลก็มีอำนาจเต็มที่ในการมอบให้ฝ่ายที่เหมาะสมเข้ามาควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉิน (ดูเพิ่มเติมจาก จุลนิติ ปีที่ 7 ฉบับที่ 3 พฤษภาคม – มิถุนายน 2553 https://library2.parliament.go.th/wichakarn/content-digest/digest006-1.pdf ) 


          แต่พอมาพูดถึง เคอร์ฟิวและผลของเคอร์ฟิว มีเพียงประมาณหนึ่งในสามที่ต้องการให้ยกเลิกเคอร์ฟิวไปเลย แต่คนส่วนใหญ่ (ประมาณ สองในสาม) กลับยอมรับกับการมีเคอร์ฟิว (รวมถึงกลุ่มที่ต้องการให้ปรับเวลาเคอร์ฟิว) ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเคอร์ฟิวช่วยทำให้บ้านเมืองดูสงบ ลดการมั่วสุมหรืออันตรายในยามค่ำคืนได้ในระดับหนึ่ง หรืออาจรวมถึงทำให้พ่อบ้านอยู่กับบ้านมากขึ้น  ดังผลการสำรวจที่พบว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ ร้อยละ 50.77 ต้องการให้มีเคอร์ฟิวต่อตามเวลาเดิม และอีก ร้อยละ 21.83 เห็นควรให้มีการปรับเวลาเคอร์ฟิวใหม่  


          เมื่อพิจารณาเชิงลึกในข้อมูลพบว่า มีเพียงกลุ่มคนรุ่นใหม่ ช่วงอายุ 18 – 25 (50.53 %) ที่ต้องการให้ยกเลิกเคอร์ฟิวไปเลย ซึ่งก็เป็นกลุ่มเดียวกันกับที่สนับสนุนให้ยกเลิก พรก. ฉุกเฉิน และก็คงจะอธิบายได้ด้วยประโยคเดียว ประโยคเดิมคือ เสรีภาพคือสิ่งที่เยาวชนต้องการ (นั้นไง ถึงได้เข้าทางบางพรรค/กลุ่มการเมืองที่กำลังปั่นกระแสอยู่ขณะนี้ และเป็นโจทย์ทางการเมืองตั้งแต่ช่วงเลือกตั้ง ที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่สามารถแก้ได้สักที) ในขณะที่กลุ่มข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ ประมาณสามในสี่ (รวม 75.34 %) ต้องการให้มีเคอร์ฟิวต่อไป ซึ่งก็น่าจะเกี่ยวข้องกับการทำงานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐที่คงไม่ต้องการให้เกิดเรื่องวุ่นวายในยามค่ำคืนมากนัก


          คำถามอีกข้อหนึ่งที่ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะแบ่งตาม ภูมิลำเนา เพศ อายุ ศาสนา สถานะ การศึกษา อาชีพหรือระดับรายได้ก็ตาม จะมีความเห็นไปในทางเดียวกัน คือการถามว่ารัฐบาลควรอนุญาตให้ ผับ บาร์ ร้านเหล้า เปิดให้บริการได้หรือยัง พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 78.87 ระบุว่า ยังไม่ควรอนุญาตให้เปิด เพราะ ผับ บาร์ ร้านเหล้า ถือเป็นแหล่งมั่วสุม แออัด ประชาชนบางกลุ่มยังไม่ให้ความร่วมมือ เกรงว่าการกลับมารวมตัวกันของประชาชน อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด - 19 รอบ 2 รองลงมา ร้อยละ 18.03 ระบุว่า ควรอนุญาตให้เปิดได้แล้ว เพราะ ผู้ประกอบกิจการผับ บาร์ ร้านเหล้า ขาดรายได้ พนักงานตกงานมากขึ้น และควรมีมาตรการที่เข้มงวดในการป้องกันที่จะไม่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดรอบ 2 


          คำถามและคำตอบข้อสุดท้ายนี้ อาจสรุปได้อย่างคร่าว ๆ ว่า แหล่งบันเทิงยามราตรีทั้งหลายคงเป็นพื้นที่สุดท้ายหรือเกือบจะสุดท้ายที่จะได้รับอนุญาตให้เปิดได้ตามปกติ...หยุดผับหยุดบาร์เพื่อชาติ!

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ