คอลัมนิสต์

"5 หมื่นล้าน" ภาษี ปชช. ฟื้น"การบินไทย" สูญเปล่า ?

"5 หมื่นล้าน" ภาษี ปชช. ฟื้น"การบินไทย" สูญเปล่า ?

10 พ.ค. 2563

"การบินไทย"ขอกู้เงิน 5 หมื่นล้าน โดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ซึ่งก็เท่ากับใช้ภาษีของคนไทยทั้งประเทศไปกอบกู้ ในขณะที่"การบินไทย" ขาดทุนต่อเนื่องอีกทั้งเกิดวิกฤติ"โควิด-19" จะสามารถฟื้นการบินไทยได้หรือไม่ มิเช่นนั้นเงินที่ถมลงไปก็สูญเปล่าเช่นเคย

    29 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา"คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ"ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบแผนแก้ไขปัญหาการบินไทย โดยอนุญาตให้ "การบินไทย"สามารถ “กู้เงิน” เพื่อเสริมสภาพคล่องขององค์กร 

     และตามข่าวบอกว่า "คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ"เห็นชอบให้"กระทรวงการคลัง"ค้ำประกันเงินกู้ให้บริษัทการบินไทย วงเงิน 50,000 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มกู้ได้ภายในเดือน พ.ค.นี้ หลังครม.มีมติเห็นชอบ 
    การให้"กระทรวงการคลัง" เข้าไปค้ำประกันเงินกู้ ก็เท่ากับ ใช้ภาษีของคนไทยทั้งประเทศไปกอบกู้"การบินไทย" 

      มีประเด็นที่น่าสนใจอีกอันหนึ่งก็คือ ได้มี "ชาญวิทย์  ลิมตระกูล" อดีตกัปตันการบินไทยยุคเริ่มแรก  ได้ออกมาแฉว่า ความหายนะที่เกิดขึ้นทุกวันนี้กับ"การบินไทย" มีที่มาจากปี 2544  ลองไปค้นดูได้ 

    เมื่อไปค้นดูก็พบว่า ปี 2544 อยู่ในช่วง "รัฐบาลทักษิณ" ซึ่งอนุมัติทุ่มซื้อเครื่องบินตามนโยบายที่กำหนดออกมาว่า "การบินเสรี" โดยอ้างว่าเพื่อรองรับการแข่งขันกับสายการบินอื่น ๆ(  แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นข้ออ้างเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจการเมืองที่สร้างปัญหาให้กับบริษัทการบินไทยมาจนถึงทุกวันนี้หรือไม่ ประเด็นนี้จะต้องพิสูจน์กันต่อไป )

       1. การบินไทยซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 จำนวน 4 ลำ ในช่วงเวลานั้น แม้ทางสภาพัฒน์ฯจะขอให้ทบทวน  แต่คณะกรรมการบริษัทการบินไทย ก็ไม่ฟัง และนี่คือจุดเริ่มต้นของการขาดทุน

      2.ในปี 2547 รัฐบาลทักษิณเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการลงทุนในสายการบิน จาก 70/30 มาเป็น 51/49 โดยให้แอร์เอเชียถือหุ้น 49% Shincorp 49%  และกุหลาบแก้ว 2%  ว่ากันว่า....เป็น "nominee"  

     3.หลังจัดตั้งไทยแอร์เอเชีย " คณะกรรมการบริษัทการบินไทย"มีนโยบายไม่ให้ฝ่ายการพาณิชย์การบินไทยทำการแข่งขันกับไทยแอร์เอเชีย !!

     4.หลังจัดตั้งสายการบินนกแอร์ ฝ่ายบริหารนกแอร์ไม่ดำเนินการตามนโยบาย "คณะกรรมการบริษัทการบินไทย"ก็ไม่ได้เข้าไปควบคุมนโยบาย แม้จะมีเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 

    5.แทนที่จะเขาไปควบคุมสถานการณ์ในนกแอร์ "คณะกรรมการบริษัทการบินไทย"กลับไปลงนามใน MOU เพื่อร่วมทุนกับสายการบินไทเกอร์ ที่สิงคโปร์แอร์ไลน์ถือหุ้นในช่วงนั้น 49% โดยไม่ได้ศึกษาว่าสายการบินไทเกอร์ ขาดทุนติดกันหลายปี และถูกระงับการบินไปช่วงหนึ่ง เนื่องจากด้อยความปลอดภัย ลงเงินไปแล้ว 100 ล้านบาท โครงการต้องล้มไป

   6. เพียง 5 เดือนหลังโครงการไทยไทเกอร์ต้องล้มไป "คณะกรรมการบริษัทการบินไทย" จัดตั้งสายการบินไทยสมายล์ ซึ่งผลประกอบการออกมาขาดทุน 4,485 ล้านบาท

    7.ในช่วงจัดตั้งไทยสมายล์ คณะกรรมการบริษัทการบินไทย สนับสนุนให้นกแอร์ ซึ่งการบินไทยถือหุ้น 39% ไปร่วมทุนกับสายการบินสกู๊ตซึ่งสิงคโปร์แอร์ไลน์ถือหุ้น 100%  ทั้งที่ในปี 58 การบินไทยขาดทุน 13,047 ล้านบาท ยังอนุมัติเงิน 983 ล้านบาทเพื่อลงทุนในสายการบินสกู๊ต

  8.ปี 2557 สายการบินไทยสมายล์ขาดทุน 577 ล้านบาท และในปี 58 ไทยสมายล์ขาดทุน 1,843 ล้านบาท คณะกรรมการบริษัทการบินไทย ควรทบทวนแผนการบินไทยสมายล์ ที่สามารถจะทำการยกเลิกจำนวนเครื่องบินที่เช่าลง แต่กลับไปเพิ่มจำนวนเครื่องบินอีก 8 ลำ ทำให้ผลประการปี  59 เพิ่มเป็นขาดทุน 2,060 ล้านบาท

   การขาดทุนต่อเนื่อง 3 ปีติดต่อกันของบริษัทการบินไทย โดยปี 2560 ขาดทุนสุทธิ 2,107.35 ล้านบาท, ปี 2561 ขาดทุนสุทธิ 11,625.17 ล้านบาท, ปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 12,042.41 ล้านบาท และมียอดขาดทุนสะสม 19,383.39 ล้านบาท และประเมินว่า ปี2563 นี้ "การบินไทย" ยังคงขาดทุนหนักต่อไปในระดับกว่า 1 หมื่นล้านบาท

     ดังนั้นการที่ "บริษัทการบินไทย"ขอให้รัฐช่วยอุ้มโดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ ประมาณ 50,000 ล้านบาท เพื่อที่จะนำไปฟื้นฟูกิจการของ"การบินไทย​" นั้น น่าเป็นห่วงว่าจะฟื้นตัวยาก เพราะขาดทุนมาหลายปีติดต่อกันอาการเข้าขั้น"โคม่า"แล้วรอดยาก และที่ผ่านมารัฐก็เคยเข้าไปอุ้มในเรื่องการเงินมาหลายครั้งแล้ว แต่ "การบินไทย" ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น 
       แถมมาเจอกับวิกฤติ " โควิด-19 "ที่สายการบินทั่วโลกเจ๊งกันระเนระนาด หากเงิน 50,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นภาษีของประชาชน ต้องมลายเกลี้ยง สูญเปล่า ใครจะรับผิดชอบ..หรือว่า ไม่มีใครรับผิดชอบเหมือนเดิมอย่างที่ผ่านๆมา  

     "การผ่าตัดใหญ่" การบินไทย ปรับปรุงทั้งหมด ทั้งโครงสร้าง  กรรมการ ผู้บริหาร  จึงมิอาจหลีกเลี่ยงได้