คอลัมนิสต์

ปัญหาที่จะมากับการผ่อนคลายมาตรการ Lock Down

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทความ โดย ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์

ในที่สุดรัฐบาลก็ตัดสินใจผ่อนคลาย การบังคับใช้บางมาตรการในการป้องกันและการแพร่ระบาด ของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ค่อย ๆ ลดลงมาจนกระทั่งเหลือเพียงเลขตัวเดียวในช่วงหนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยล่าสุดในวันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม เหลือเพียงแค่ 3 ราย

 

การผ่อนคลายการบังคับใช้บางมาตรการนั้นก็เพื่อให้ประชาชนได้มีชีวิตที่ปกติในรูปแบบใหม่ (New Normal) มากขึ้น กล่าวคือบางกิจการและกิจกรรมสามารถดำเนินการได้คล้ายดังเดิม แต่ต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดหรือข้อแนะนำจากฝ่ายสาธารณสุข เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในรอบสองของไวรัสโควิด-19 เช่นการมีระยะห่างทางสังคม การสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยเมื่อต้องมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น รวมถึงมาตรการในรูปแบบอื่น ๆ ที่จำเป็น

 

ในทางด้านเศรษฐกิจของประเทศอาจเดินหน้าได้อีกครั้งหลังจากซบเซามาเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างบูมในทันทีหรือจะดีเหมือนเดิม เนื่องจากภาคบริการที่มีส่วนสำคัญ (ประมาณ 60 %) ต่อ GDP ของประเทศยังไม่เปิดอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่มีกิจการที่หลากหลายเป็นห่วงโซ่เชื่อมต่อกันตั้งแต่โรงแรมห้าดาวไปจนถึงแม่ค้าขายไข่ปิ้งริมชายหาดและชาวสวนผลไม้ที่อยู่ห่างไกลอย่างไรก็ตามเชื่อว่าตราบใดที่จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในต่างประเทศยังคงมีจำนวนสูง และตราบใดที่ยังไม่มียาที่เด็ดขาดในการรักษาโรคและยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรค ภาคการท่องเที่ยวคงฟื้นตัวช้าหน่อย แต่ก็ต้องอดทน เพราะเราคงไม่อยากเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่อาจมาพร้อมกับไวรัสโควิด-19 เดินทางเข้าประเทศอย่างเสรี ฉะนั้นเมื่อไรก็ตามที่เราสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศได้ (แต่ไม่รู้เมื่อไรนะ)  ก็คงจะต้องเน้นการส่งเสริมไทยเที่ยวไทยให้มากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ(แต่ธุรกิจท่องเที่ยวก็ต้องคิดราคาแบบไทย ๆ นะ ไม่ใช่ราคาดอลลาร์)

ในส่วนของมาตรการผ่อนปรนประเภทกิจการและกิจกรรมให้ดำเนินการได้นั้น เมื่อดูสภาพความเป็นจริงของสังคมและพฤติกรรมคน อาจพบว่ามีหลายประเด็นที่หากควบคุมได้ไม่ดีหรือหากขาดวินัยของผู้คนในสังคม เราอาจจะต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในรอบสอง และหมายถึงกิจกรรมและกิจการทุกอย่างที่ได้รับการผ่อนปรนก็จะต้องกลับเข้าสู่การควบคุมอย่างเคร่งครัดอีกครั้งหนึ่ง และเมื่อนั้น คงไม่ต้องพูดถึงสภาพเศรษฐกิจของประเทศ (สงสัยหลับยาว ๆ แน่นอน)

ประเด็นแรกที่สำคัญและน่ากังวลอย่างมากในขณะนี้คือการปล่อยให้มีการเดินทางกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางด้วยพาหนะส่วนตัวหรือขนส่งสาธารณะแน่นอน ผู้คนจำนวนมากที่ถูกแช่แข็งมาเป็นเวลาหนึ่งเดือนต้องอยากเดินทางไปทำกิจกรรมหรือกิจการที่ต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางข้ามจังหวัดของผู้คนเป็นพันเป็นหมื่นหรืออาจเป็นแสน เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าผู้เดินทางทั้งหมดปลอดจากเชื้อไวรัสเชื้อโควิด-19 ซึ่งผู้คนต่างก็บอกว่าตัวเองไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงและไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 แต่ความจริงใครจะไปรู้ได้ในขณะที่บางจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดในระดับสูง เมื่อมีการทำ Active Case Finding ก็ยังคงพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่เป็นระยะ ๆ แล้วอย่างนี้จะมั่นใจได้อย่างไรว่าการเคลื่อนย้ายผู้คนจำจวนมากขนาดนี้จะไม่มีปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามมา

ถึงแม้ว่าทางภาครัฐจะร้องขอให้ประชาชนอย่าเดินทางหากไม่จำเป็น แต่ก็คงเป็นไปได้ยากเพราะการตีความความจำเป็นของแต่ละบุคคลนั้นก็แตกต่างกันบางคนบอกว่าอยู่ในจังหวัดนี้ไม่มีงานทำก็อยากกลับจังหวัดบ้านตัวเอง บางคนอยากกลับไปเยี่ยมครอบครัวที่ไม่ได้เจอมานาน บางคนต้องไปงานศพหรือต้องไปเยี่ยมผู้ป่วย บางคนบอกมีธุระสำคัญที่บ้าน และอื่น ๆ อีกมากมายเหตุผลความจำเป็นลองดูตัวอย่าง เพียงแค่จังหวัดภูเก็ตประกาศอนุญาตให้ผู้คนเดินทางออกจากจังหวัดได้ และรัฐบาลประกาศไม่ยกเลิกวันหยุดในเดือนพฤษภคม (คิดผิดมาก ๆ) ทำให้มีผู้คนจำนวนมากต่างก็ออกเดินทางไปในทิศทางที่ตนเองต้องการจนกระทั่งผู้ว่าราชการบางจังหวัดต้องประกาศปิดจังหวัดหรือมีมาตรการกักกันผู้เดินทางเข้าจังหวัดตนเอง

แน่นอนผู้ว่าราชการจังหวัดที่ในพื้นที่ตัวเองไม่มีรายงานผู้ป่วยเลยหรือมีรายงานผู้ป่วยน้อยมากในช่วง 28 วันที่ผ่านมาจำเป็นต้องปกป้องประชาชนในจังหวัดให้ปราศจากโรค ในขณะที่จังหวัดที่มีรายงานพบผู้ป่วยจำนวนมากหรือยังคงมีรายงานผู้ป่วยรายใหม่อยู่เรื่อย ๆ ก็ต้องหาทางยุติการแพร่เชื้อ ซึ่งหากสองจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกันแต่สถานการณ์ต่างกันแต่กลับไม่มีการประสานงานระหว่างกัน ก็อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างกันได้ตัวอย่างเหตุการณ์ที่รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ไม่พอใจที่มีผู้คนจากจังหวัดภูเก็ตเข้ามาในพื้นที่จังหวัดกระบี่นั้นก็เป็นที่เข้าใจและยอมรับได้ระดับหนึ่งว่ารองผู้ว่า ฯ จำเป็นต้องทำเพื่อปกป้องชาวกระบี่ (ไม่งั้นจะมาเป็นรองผู้ว่า ฯทำไม)

หากผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรองผู้ว่าราชการจังหวัดคนใดไม่ดำเนินการปกป้องผู้คนในพื้นที่ตนเองให้รอดปลอดภัยจากโรคโควิด-19 ก็อย่ามาดำรงตำแหน่งในจังหวัดนั้นให้เปลื้องข้าวเปลื้องน้ำและเปลื้องออกซิเจนของจังหวัด

แต่ประเด็นระหว่างจังหวัดกระบี่กับจังหวัดภูเก็ต ก็มีคำถามถึงการทำหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ว่าได้มีการประสานงานและทำข้อตกลงกับจังหวัดกระบี่มาก่อนหรือไม่ จังหวัดภูเก็ตได้มีการแจ้งจังหวัดปลายทางหรือเปล่า จังหวัดปลายทางเห็นชอบด้วยหรือไม่ และมีมาตรการในการปล่อยคนหรือเปล่า อย่างไรก็ตาม ข่าวล่าสุด ปลัดกระทรวงมหาดไทยก็ได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตให้ทำตามมาตรการก่อนปล่อยคน เช่นการแจ้งจังหวัดปลายทางก่อนปล่อยคนกลับบ้าน การต้องมีใบรับรองผ่านการคัดกรองจากเจ้าพนักงานควบคุมโรค รวมทั้งแจ้งจำนวนให้ชัดเจน เป็นต้น (ต้องมีคำสั่งถึงจะทำ?)

ฉะนั้นเพื่อป้องกันความขัดแย้งระหว่างจังหวัดต่าง ๆผู้ว่าราชการทุกจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องประสานงานกันให้ดีตั้งแต่จังหวัดต้นทางที่จะต้องมีรายชื่อ ประวัติสุขภาพ วิธีเดินทาง จังหวัดจุดหมายปลายทางและจังหวัดที่ผ่านทาง ในขณะที่จังหวัดระหว่างทางก็ต้องมีกลไกการควบคุมให้แวะพักได้เฉพาะที่จำเป็นและอาจรวมถึงการกำหนดจุดหยุดพักเฉพาะ โดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและท้องที่รวมถึงประชาชนในพื้นที่ต้องให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการรายงานเมื่อมีคนเข้ามาในเขตพื้นที่ ในขณะที่ปลายทางต้องมีมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุม ซึ่งอาจหมายถึงการกักกัน 14 วันในสถานที่ที่กำหนดหากมีความจำเป็น

ประเด็นที่สองในข้อกังวลคือการควบคุมการจัดระเบียบระยะห่างทางสังคมในร้านค้า ร้านอาหาร หาบเร่แผงลอย ตลาดน้ำ ตลาดนัด รวมถึงร้านตัดผม  อย่างกรณีร้านขนาดเล็ก (สมมุติว่าครึ่งหรือหนึ่งคูหา) จะให้ลูกค้านั่งห่างกันได้อย่างไร ในขณะที่แผงค้าในตลาดนัดส่วนใหญ่จะอยู่ชิดกันและพื้นที่ก็ไม่ได้กว้างมาก เราจะควบคุมจำนวนคนและระยะห่างทางสังคมได้อย่างไร หากบางร้านไม่มีหรือหาเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิไม่ได้จะทำอย่างไร(ไม่ใช่ของถูก ๆหรือหาง่าย ๆนะ)

แต่เชื่อว่าเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ผู้คนในสังคมไทยก็จะผ่อนคลายความเข้มงวดลงโดยธรรมชาติ และการมีระยะห่างทางสังคมก็จะเกิดขึ้นน้อยมาก ในเมื่อในทางปฏิบัติ การควบคุมระยะห่างทางสังคมนั้นเป็นไปได้ยาก ก็อาจต้องคุมในทางอื่นแทน เช่น รัฐอาจจะต้องบังคับให้สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้าน (คิดว่าในปัจจุบันน่าจะสามารถหาหน้ากากได้ง่ายขึ้น)  รวมถึงการห้ามค้าขายกันหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เป็นต้น(โดยสรุปก็คือควรต้องใช้กฎหมายบังคับให้มีจิตสำนึก)

ประเด็นที่สามคือปัญหาการควบคุมการมั่วสุมกันจากการอนุญาตให้ขายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ได้ แม้ว่าจะมีคำสั่งห้ามเปิดผับ บาร์ สถานบันเทิง และห้ามไม่ให้มีการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ภายในร้านอาหารหรือเครื่องดื่มเพื่อป้องกันการมีกิจกรรมรวมหมู่หรือมั่วสุมกัน  แต่การซื้อเพื่อไปบริโภคในสถานที่อื่นย่อมเกิดขึ้นได้ หากเป็นการนั่งดื่มคนเดียวหรือสองคนที่บ้านเพื่อย้อมใจในชะตาชีวิตก็ไม่เป็นไรหรอก แต่ที่กังวลคือการรวมกลุ่มกันดื่มสุรา ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน หน้าบ้าน หลังร้าน สวนสาธารณะ ชายหาดและตามฟุตบาทข้างถนน คำถามคือจะป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จากกิจกรรมรวมหมู่ในวงเหล้าได้อย่างไร แค่วันแรกที่เปิดให้ซื้อเหล้าได้ ก็รุมกันซื้อแน่นร้านแบบไม่สนใจการเว้นระยะห่างทางสังคมเลย...รับรองว่าเดือนนี้เมาแหลก

การผ่อนคลายการบังคับใช้บางมาตรการในการป้องกันและการแพร่ระบาด ของโรคโควิด-19นั้นจะส่งผลในทางใด เราคงต้องรออีกสัก 10 ถึง 20 วัน ก็จะรู้ว่าเป็นหมู่หรือเป็นจ่า หากไม่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็ถือว่าเรามีแนวโน้มที่จะรอดแน่นอน และเตรียมปัดฝุ่นทำความสะอาดห้างร้าน สถานบริการต่าง ๆ และแหล่งท่องเที่ยวได้เลย คันเร่งทางเศรษฐกิจกำลังจะถูกเหยียบให้มิดเพื่อเดินไปข้างหน้า แต่ในทางตรงกันข้ามหากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เราก็จะกลับไปสู่จุดเริ่มต้นเหมือนเล่นงูไต่กระได (เริ่มต้นใหม่) และคราวนี้คงต้องตัวใครตัวมันแล้วละ เพราะรัฐอาจไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะอุ้มกันต่อไปยาว ๆ...สาธุ อย่าให้เกิดขึ้นเลย

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ