คอลัมนิสต์

สิงคโปร์โมเดล ไทยแลนด์เวอร์ชั่น 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สิงคโปร์โมเดล ไทยแลนด์เวอร์ชั่น  โดย... ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์

 

 

          รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ที่มีจำนวนต่ำกว่า 20 รายต่อวันนานสี่วันติดต่อกัน ทำให้คนไทยจำนวนมากเกิดความสบายใจขึ้นว่า สถานการณ์เริ่มดีขึ้นแล้ว มาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐกำหนดขึ้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้นได้ผลเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง และภาคเอกชนและประชาชนเองก็ตื่นตัวให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีเพื่อให้ประเทศสามารถผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปให้ได้

 

อ่านข่าว...   ผู้นำสิงคโปร์เตือนโควิด-19 แพร่เป็นปี-แถลงปลุกขวัญประชาชน

 

 

          แต่ความสบายใจเกือบต้องมีอันมลายหายไปในช่วงเช้าวันเสาร์ เมื่อคุณหมอทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ที่มีจำนวนถึง 53 ราย โดยกลุ่มใหญ่สุด 42 รายคือแรงงานต่างด้าว ที่ศูนย์กักขัง อ.สะเดา จ.สงขลา ที่มีทั้งชาวเมียนมา เวียดนาม มาเลเซีย เยเมน กัมพูชา และอินเดีย โดยแรงงานเหล่านี้น่าจะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมือง และรอคอยการผลักดันกลับประเทศ


          การค้นพบว่า กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ถูกกักขังติดเชื้อโควิด-19 มีจุดเริ่มต้นมาจาก คำสั่ง ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ผู้อำนวยการ ศบค. ให้ดำเนินการทำ Active Case Finding ติดตามกลุ่มเสี่ยงเป็นการเฉพาะและตรวจมากขึ้น และรวมถึงเป็นผลสืบเนื่องมาจากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศสิงคโปร์ในช่วงหนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมาที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่ส่วนใหญ่มาจากแรงงานต่างด้าว รวมถึงการประกาศเขตโรคติดต่ออันตรายเพิ่มขึ้นอีก 5 ประเทศเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา คือ มาเลเซีย ลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย และ พม่า 


          อย่างไรก็ตามหากไม่นับผู้ติดเชื้อรายใหม่กลุ่มแรงงานต่างด้าว ที่ศูนย์กักขัง จังหวัดสงขลา เราอาจจะสามารถมองในแง่บวกเพื่อความสบายใจได้ว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่มีเพียง 11 ราย ในขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในวันถัดมาคือ วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน อยู่ที่ 15 ราย ซึ่งอาจหมายถึงว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มลดน้อยลง และปรากฎการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 53 รายเมื่อวันเสาร์ เป็นเพียงแค่อาการ shock ชั่วคราวและหวังว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก !




          การค้นเจอผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เป็นคนต่างด้าวจากการทำ Active Case Finding ในกลุ่มนี้เป็นเพียงแรงงานต่างด้าว ที่ศูนย์กักขัง จังหวัดสงขลา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวประมาณสามล้านคน (ยังไม่นับพวกหลบหนีเข้าเมือง) ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศและให้บริการแรงงานที่หลากหลายประเภท เช่นการก่อสร้าง การเกษตร ประมง แม่บ้าน ร้านอาหาร ร้านค้า และภาคการบริการ อื่น ๆ อีกมากมาย ด้วยเหตุนี้ จึงนำไปสู่ข้อกังวลเกี่ยวกับการป้องกันไม่ให้กลุ่มแรงงานต่างด้าวกลายเป็น super spreader ในอนาคต โดยข้อกังวลแรกคือความรู้ความเข้าใจของแรงงานต่างด้าวเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่น พวกเขาได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับภัยพิบัติโควิด-19หรือไม่ ข้อมูลที่ได้รับมาถูกต้องหรือไม่ พวกเขาเข้าใจได้ถูกต้องหรือเปล่า (ขนาดคนไทยบางกลุ่มยังเข้าใจไม่ถูกต้องเลย) พวกเขารู้หรือไม่ว่าต้องมีอาการป่วยแบบใดที่อาจจะเรียกได้ว่าสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พวกเขาเข้าใจวิธีการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่ และนายจ้างได้มีการอธิบายให้ฟังหรือไม่ เป็นต้น


          อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดให้มีการอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.)  เพื่อเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ ความเข้าใจ เรื่อง โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้กับแรงงานต่างด้านในพื้นที่ ซึ่งหวังว่า อสต. เหล่านี้จะสามารถเข้าถึงกลุ่มแรงงานต่างด้าวได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และสามารถทำให้แรงงานต่างด้าวเหล่านี้มีความเข้าใจอย่างชัดเจนมากขึ้นเพื่อจะสามารถปฏิบัติตัวในการป้องกันโรคได้อย่างถูกต้อง


          ข้อกังวลที่สองคือ พฤติกรรมการใช้ชีวิตของแรงงานต่างด้าวและการปฏิบัติตามข้อแนะนำของภาครัฐในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19  เช่นที่พักคนงาน ไม่ว่าจะเป็นการจัดให้โดยนายจ้างหรือเป็นการเช่าอยู่กันเองของแรงงานต่างด้าวนั้น มีความแออัดแค่ไหน ถูกสุขลักษณะในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือไม่ พฤติกรรมการอยู่รวมกันเป็นหมู่คณะของแรงงานต่างด้าวเป็นอย่างไร มีการสร้างระยะห่างทางสังคมระหว่างกันแค่ไหน การนัดพบปะสังสรรค์กันหรือเดินทางไปมาระหว่างกันของแรงงานต่างด้าวเกิดขึ้นบ่อยหรือไม่ในช่วงนี้ แรงงานต่างด้าวเหล่านี้ได้ปฏิบัติตามมาตรการในการป้องกันเชื้อโรคหรือไม่ และนายจ้างมีมาตรการและอุปกรณ์สนับสนุนการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหมู่แรงงานต่างด้าวหรือไม่ เป็นต้น 


          ข้อกังวลสามและเป็นข้อกังวลที่สำคัญที่สุดคือ การป้องกันไม่ให้กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มลักลอบเข้าเมือง พวก visa หมดอายุ หรือแรงงานต่างด้าวที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ แรงงานต่างด้าวเหล่านี้ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญมากที่สุดเพราะเชื่อว่าหากพวกเขาเจ็บป่วยหรือติดเชื้อโควิด-19 นายจ้างจะไม่กล้าพาไปรักษาเพราะกลัวมีความผิดฐานใช้แรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งค่าปรับสูงมาก และอาจต้องโดนข้อหาอย่างหนักหากเข้าข่ายการค้ามนุษย์ ในขณะที่ตัวแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเหล่านี้ก็อาจจะไม่กล้าเข้ารับการตรวจรักษาเนื่องจากกลัวถูกจับและถูกผลักดันกลับประเทศ


          การทำ Active Case Finding  ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่อยู่อาศัยอย่างถูกกฎหมายหรือไม่ถูกกฎหมายก็ตาม จะต้องได้รับการสุ่มตรวจอย่างจริงจัง หากไม่อยากเป็นสิงคโปร์โมเดล ไทยแลนด์ เวอร์ชั่น เพราะหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง เชื่อว่า ไทยแลนด์ เวอร์ชั่นอาจจะน่ากลัวกว่าสิงคโปร์
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ