คอลัมนิสต์

ค่านิยมแบบเอเชียกับโควิด-19

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ค่านิยมแบบเอเชียกับโควิด-19 โดย ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์

รายงานเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2563 พบว่า มีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รวม 1,780,314 คน โดยมียอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั่วโลก 108,827 คน ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกามียอดติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากที่สุดที่จำนวน 532,879 คน ตามมาด้วยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เกิน 100,000 คน อีกสี่ประเทศได้แก่ สเปน อิตาลี  ฝรั่งเศสและเยอรมนี อย่างไรก็ตามเมื่อดูจาก 20 ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสุงสุด พบว่าเกินครึ่งเป็นประเทศในแถบยุโรป

สหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรปที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุดเหล่านี้ล้วนได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีความทันสมัยทั้งด้านวัตถุ เทคโนโลยี การศึกษา การเมือง สังคม รวมถึงด้านการแพทย์และการสาธารณสุข แต่ทำไมถึงมียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากกว่าประเทศกำลังพัฒนาในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เป็นต้น คำตอบแบบไว ๆ คือ ความแตกต่างในพฤติกรรม วิธีคิดและวิถีชีวิต หรือง่าย ๆ ก็คือที่เกิดจากความแตกต่างในวัฒนธรรม ที่ทำให้มาตรการต่าง ๆ ในการควบคุมการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 มีความแตกต่างกัน รวมถึงความร่วมมือของประชาชนที่มีต่อมาตรการต่าง ๆ ก็มีความแตกต่างกัน

นอกเหนือจากวัฒนธรรมการทักทายกันแบบตะวันตกที่มีการแตะเนื้อต้องตัวกันและอาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 วัฒนธรรมทางการเมืองของชาวอเมริกันและยุโรปก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดความยุ่งยาก อย่างเช่นเรื่องสิทธิ และเสรีภาพส่วนบุคคล ที่ในภาวะปกติถือว่าเป็นแนวประพฤติปฏิบัติทางการเมืองที่ถูกต้องชอบธรรมในระบบประชาธิปไตย และเป็นส่วนหนึ่งของพื้นฐานความคิดที่ฝังรากลึกมายาวนานของคนอเมริกันและยุโรป ฉะนั้นเวลารัฐบาลประเทศพัฒนาแล้วเหล่านี้จะตัดสินใจใด ๆ ที่จะเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของคนในประเทศก็จะคิดหนักว่าควรทำหรือไม่ เป็นการขัดรัฐธรรมนูญหรือหลักการประชาธิปไตยหรือไม่

ในขณะที่ประชาชนในประเทศที่พัฒนาแล้วก็เคยชินกับสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลที่มีมานานไม่ว่าจะเป็นในด้านการแสดงความคิดเห็น การแสดงออก การสมาคม เป็นต้นแต่เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤตไวรัสโควิด-19 และได้รับการร้องขอจากรัฐบาลให้ร่วมมือในการอยู่บ้าน มีระยะห่างทางสังคม รวมถึงการหยุดไปรวมกลุ่มกันในสถานที่สาธารณะ ประชาชนกลุ่มหนึ่งก็ไม่สนใจที่จะฟังคำแนะนำของทางภาครัฐ พวกเขายังคงออกเดินเล่นในยามเช้า ไปนอนอาบแดดในสวนสาธารณะและริมชายหาดแบบไม่มีอะไรเกิดขึ้น จนเจ้าหน้าที่รัฐต้องคอยมาเตือนและขอร้องให้กลับบ้านหรืออย่างเช่นในอิตาลี ที่นายกเทศมนตรีหลายเมืองทนไม่ได้ต้องออกมาตำหนิประชาชนที่ยังคงใช้ชีวิตตามปกติจนยอดผู้ติดเชื้อในอิตาลีพุ่งสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมของคนไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นแตกต่างจากประเทศตะวันตก แม้ว่าจะได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากประเทศตะวันตกเข้ามาหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมแต่พื้นฐานทางวัฒนธรรมที่สำคัญก็ยังคงอยู่ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มาตรการในการแก้ไขปัญหาในภาวะวิกฤติโควิด-19 ในประเทศไทย และอีกหลายประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดูจะมีประสิทธิผลมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีค่านิยมแบบเอเชีย (Asian Value) ที่อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประเทศพัฒนาแล้วในตะวันตกว่าขัดต่อหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน แต่ค่านิยมแบบเอเชีย ได้กลายเป็นวิถีของคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานและมีลักษณะพิเศษที่ทำให้คนในภูมิภาคนี้อยู่กันอย่างสันติ มั่นคงและมั่งคั่ง

แนวคิดนี้ถูกยกขึ้นมาในช่วงต้นทศวรรษ ที่ 1990 หรือในช่วงหลังสงครามเย็นจบใหม่ ๆ โดยผู้นำในแนวคิดนี้คือท่านมหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และท่านลีกวนยู อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ การที่ทั้งสองท่านได้ยกประเด็น ค่านิยมแบบเอเชียขึ้นมาในช่วงนั้นก็เพื่อต้องการตอบโต้สหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกอื่น ๆ ที่กล่าวหาประเทศในเอเชียว่าไม่เคารพในสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม หรือแม้กระทั่งบอกว่าหลายประเทศในภูมิภาคนี้ยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง

แนวคิดค่านิยมแบบเอเชีย นั้นอาจจะดูยังไม่ชัดเจนในความหมายและต้นกำเนิดที่แท้จริง แต่เชื่อว่าน่าจะได้รับอิทธิพลและมีวิวัฒนาการมาจากแนวคิดของขงจื๊อที่ให้ความสำคัญกับการซื่อสัตย์หรือการกตัญญูต่อครอบครัว องค์กร ชุมชนและประเทศและการให้ความสำคัญกับความมั่นคงและผลประโยชน์ของชุมชน ประเทศชาติก่อนสิทธิเสรีภาพส่วนบุคล เป็นต้น ซึ่งแนวคิดค่านิยมแบบเอเชีย นั้นแตกต่างกับค่านิยมแบบตะวันตกที่ให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจก ความเท่าเทียมกัน สิทธิและเสรีภาพ เป็นต้น

สำหรับคนไทยนั้น แม้ว่าในปัจจุบันค่านิยมแบบตะวันตกได้แพร่ขยายเข้ามาสู่คนไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนรุ่นใหม่และคนเมือง แต่แนวคิดค่านิยมแบบเอเชียก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมของคนไทยส่วนใหญ่และได้ส่งผลกระทบค่อนข้างไปในทางบวกต่อมาตรการในการควบคุมปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยจะขอยกสองประเด็นของค่านิยมแบบเอเชียที่ทำให้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยดูไม่เลวร้ายเท่ากับประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศ

ประเด็นแรกคือ การให้ความเคารพในรูปแบบของอำนาจ ไม่ว่าจะเป็น อำนาจของพ่อ-แม่ ครูอาจารย์ หรือแม้กระทั่งอำนาจรัฐ ในเรื่องของการเชื่อฟังพ่อ-แม่ ครูอาจารย์ นั้นคนไทยได้รับการปลูกฝั่งทัศนคติมานานว่าต้องเชื่อฟังและมีความกตัญญูต่อบุพการี และครูอาจารย์แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการเปลี่ยนแปลงในวิธีการเชื่อฟังและกตัญญูไปบ้างเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนไป แต่คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยยังคงยึดมั่นในแก่นของวัฒนธรรมนี้อยู่ในส่วนของการเชื่อฟังในอำนาจรัฐนั้น คนไทยส่วนใหญ่ให้ความเคารพในกฎหมาย กฎระเบียบ แต่ภาพที่เห็นว่าคนไทยไม่ค่อยมีวินัย ไม่เคารพกฎหมาย กฎระเบียบ นั้นอาจเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐหรือเกิดจากวัฒนธรรมไทยที่ชอบการประนีประนอม อะลุ้มอล่วยหรือมีน้ำใจระหว่างกัน มากกว่า แต่ทั้งนี้ก็คงเป็นไปตามสถานการณ์ของการกระทำผิดกฎหมายว่าร้ายแรงแค่ไหน

ในสถานการณ์วิกฤติเกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของทุก ๆ คนในชาติ คนไทยส่วนใหญ่ก็ยินดีที่จะรับฟังคำแนะนำและคำสั่งจากรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนไทยนั้นเคยชินกับการอยู่ภายใต้การประกาศใช้พระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงเหตุความวุ่นวายทางการเมือง จึงไม่ค่อยวิตกกังวลว่าจะถูกจำกัดอิสระ เสรีภาพมากจนเกินเหตุ การประกาศใช้อำนาจรัฐครั้งนี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อเหตุผลทางการเมือง แต่เป็นไปเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของคนทั้งประเทศจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คนไทยส่วนใหญ่จึงให้ความร่วมมือกับการออกคำสั่งของรัฐ โดยดูได้จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่มีแนวโน้มลดลงและจำนวนผู้ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวหรือคำสั่งอื่นของรัฐก็ไม่ได้มีจำนวนมากเป็นหลายพันหลายหมื่นในแต่ละวัน แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีคนไทยบางกลุ่ม (ส่วนน้อยมาก) ที่คิดแต่จะต่อต้านอำนาจรัฐโดยไม่ดูสถานการณ์หรือกระทำการผิดกฎหมายหรือไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐด้วยความเห็นแก่ตัว ซึ่งในกรณีนี้ก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและคงต้องหยุดวัฒนธรรมการประนีประนอม อะลุ้มอล่วย หรือมีน้ำใจระหว่างกันชั่วคราว เพื่อให้คนไทยทั้งชาติผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกันอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

อย่าให้คนส่วนน้อยมาก ๆ ทำให้คนส่วนใหญ่ในสังคมเดือดร้อน...เชือดไก่ให้ลิงดูสักรอบ

ประเด็นที่สองของค่านิยมแบบเอเชียคือ การให้ความสำคัญกับส่วนรวม ครอบครัว ชุมชน หรือประเทศมากกว่าสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ในประเด็นนี้จะเห็นได้จากการที่คนไทยส่วนใหญ่ยอมรับการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพชั่วคราวเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคมและเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งรวมถึงการร้องขอให้คนไทยยอมที่จะอยู่บ้านหรือทำงานจากบ้านแทนที่จะออกไปตระเวนตามสถานที่ต่าง ๆ เหมือนในอดีต โดยผลจากการสำรวจของดุสิตโพลเมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมาพบว่า พฤติกรรมของคนไทยในภาวะวิกฤต โควิด-19 ที่เปลี่ยนแปลงในระดับ “มากขึ้น” คือ อยู่กับบ้าน 89.60% ในขณะที่ภาพข่าวจากสื่อต่าง ๆ พบว่าหลายสถานที่ที่เคยมีผู้คนพลุกพล่าน ก็กลับเงียบสงบ

ส่วนในทางการเมือง นักการเมืองฝ่ายค้านหลายคนก็ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาของประเทศในยามวิกฤติและเริ่มหันมาสนับสนุนการดำเนินการของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 รวมถึงยินดีให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการฝันฝ่าอุปสรรคนี้ แต่ก็ยังมีนักการเมืองหรือกลุ่มคนบางกลุ่มที่สนใจแต่สิทธิเสรีภาพส่วนตัวมากกว่าความอยู่รอดปลอดภัยของคนในชาติ กลุ่มคนพวกนี้ชอบที่จะแสดงความอึดอัดที่ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์มาตรการและการปฏิบัติของรัฐ ซึ่งการวิจารณ์ในบางเรื่องก็ดูมีเหตุผลพอรับฟังได้ แต่ในอีกหลายเรื่องดูจะเป็นตรรกะวิบัติ บางคนบอกว่าคำสั่งให้ปิดการให้บริการในหลายธุรกิจ รวมถึงการปิดสถานศึกษาหรือร้านค้าเป็นการละเมิดสิทธิ อยากถามว่าหากอนุญาตให้เปิดให้บริการตามปกติทั้ง ๆ ที่เหตุการณ์ยังไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ แล้วเกิดมีคนหนึ่งคนเป็นพาหะนำเชื้อทำให้อีกร้อยคนพันคนต้องติดเชื้อด้วย ใครละเมิดสิทธิใคร ใครต้องรับผิดชอบ

...การมีสิทธิเสรีภาพที่ไร้กาลเทศะ เราจะตายกันหมด

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ