คอลัมนิสต์

กรณี 'อีดี้จวบ' คนอีสานไม่รัก ปชป. 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรณี 'อีดี้จวบ' คนอีสานไม่รัก ปชป.  คอลัมน์... ชูธงทวนกระแส  โดย... พรานข่าว


 


          ตำนานการเมืองอีสานจากไปอีกคน “ประจวบ ไชยสาส์น” อดีต ส.ส.อุดรธานี และอดีตรัฐมนตรีหลายสมัย คนรุ่นหลัง มักจำได้แค่ภาพนักการเมืองผิวหมึก ฉายา “อีดี้อีสาน” หรือ “อีดี้จวบ”

 

อ่านข่าว...   ยก'ประจวบ ไชยสาส์น'นักการเมืองดี
 

 

 

          หลายคนคงนึกไม่ถึงว่า ประจวบ ไชยสาส์น คือผู้สร้างปรากฏการณ์ “คนอีสานรัก ปชป.” ในช่วงการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2529 และปี 2531 


          อาคาร “มูลนิธิไชยสาส์น” ริมถนนมิตรภาพขอนแก่น-อุดรธานี ฝั่งขาเข้าเมือง ที่โค้งสล็อต เลขที่ 125 หมู่ 2 บ้านดงเรือง ต.ผาสุก อ.กุมภวาปี ซึ่งเป็นฐานที่มั่นทางธุรกิจและการเมืองของประจวบ

 

 

 

กรณี 'อีดี้จวบ' คนอีสานไม่รัก ปชป. 

 


          ที่นี่ คือที่ตั้งของบริษัทจัดหางาน สล็อต ส่งคนงานไปตะวันออกกลางมากที่สุด เมื่อปี 2522-2526 ธุรกิจที่ทำให้ประจวบ กลายเป็นเศรษฐีซาอุดรฯ คนแรกๆ


          ที่นี่ คือศูนย์อำนวยการการเลือกตั้งของประจวบ ในการเลือกตั้งปี 2526 สังกัดพรรคชาติไทย ก่อนจะย้ายมาอยู่พรรคประชาธิปัตย์


          ในอดีต ต.พันดอน เป็นตำบลที่มีขนาดใหญ่ ที่ทำการอำเภอกุมภวาปี ก็ตั้งอยู่ในเขต ต.พันดอน และต่อมา แยกออกเป็น 2 ตำบลคือ ต.ผาสุก และ ต.เสอเพลอ


          ฉะนั้น ประจวบ ไชยสาส์น ลูกชายกำนันทอง แห่ง ต.พันดอน จึงได้มีโอกาสมาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ ประจวบจบรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ปี 2509 ในยุคเผด็จการครองเมือง


          เมื่อรัฐบาลถนอม เตรียมการให้มีการเลือกตั้งปี 2512 กลุ่มปัญญาชนคนรุ่นใหม่ ได้รวมตัวกันจัดตั้ง “พรรคแนวประชาธิปไตย” มีหัวหน้าพรรคคือ ไพฑูรย์ เครือแก้ว ณ ลำพูน และประจวบเข้าร่วมเป็นกรรมการบริหารพรรค แต่ประจวบไม่ได้ลงเลือกตั้ง ส.ส.คราวนั้น

 

 

 

กรณี 'อีดี้จวบ' คนอีสานไม่รัก ปชป. 



          หลัง 14 ตุลา มีการเลือกตั้งต้นปี 2518 ลูกชายกำนันทองแห่งกุมภวาปี ลงสนามการเมืองครั้งแรกในสีเสื้อพรรคสังคมชาตินิยม ได้แค่ 6 พันคะแนน ไม่ได้รับการเลือกตั้ง


          ช่วงปี 2522 ตลาดแรงงานในตะวันออก กลายเป็นขุมทองของนักจัดงาน และคนอีสาน ประจวบประสบความสำเร็จจากธุรกิจส่งออกคนงาน ชื่อของ “สล็อต” เป็นที่พึ่งที่หวังของคนอุดรธานี เมื่อประจวบลงสนามเลือกตั้งปี 2526 จึงชนะด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น


          เลือกตั้งปี 2529 ประจวบย้ายมาสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นแม่ทัพอีสานเหนือ สามารถนำธงสีฟ้าปักลงในหลายจังหวัด จนชื่อเสียงของ “อีดี้อีสาน” โดดเด่นขึ้นมาทันที


          วันที่ 10 มกราคม 2530 เลือกหัวหน้าพรรค ปชป.คนที่ 4 พิชัย รัตตกุล ชนะเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ ต่อมา  เฉลิมพันธ์แยกไปตั้งพรรคประชาชน ซึ่งประจวบก็อยู่ในกลุ่ม ส.ส.ที่สนับสนุนพิชัยเป็นหัวหน้าพรรค


          เลือกตั้งปี 2531 “อีดี้จวบ” นำทัพ ปชป.อีสาน ลุยเลือกตั้งเต็มที่ เขาวาดฝันจะเป็นเลขาธิการพรรค ปชป. และผลเลือกตั้งก็สมดังใจหวัง ปชป.ได้ ส.ส.อีสานมาเป็นกอบเป็นกำ เฉพาะอุดรธานี ปชป.ได้ ส.ส. 7 คน จากทั้งหมด 12 คน 


          วันที่ 26 มกราคม 2534 มีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ คู่ชิงมีอยู่ 2 ทีมคือ ทีมชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรค และ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรค ส่วนอีกทีมหนึ่ง มารุต บุนนาค  หัวหน้าพรรค และ ประจวบ ไชยสาส์น เลขาธิการพรรค


          ผลปรากฏว่า กลุ่มสะตอสามัคคีชนะ ชวนเป็นหัวหน้าพรรค ปชป.คนที่ 5 แต่ที่เซ็งสุดชีวิตคือ ส.ส.อีสานส่วนใหญ่ที่เทคะแนนให้อาจารย์มารุต ด้วยหวังที่จะดัน “อีดี้จวบ” เป็นเลขาธิการพรรค


          ความปราชัยในพรรค ปชป. ส่งผลให้อดีต ส.ส.อีสานจำนวนหนึ่งย้ายไปสังกัดพรรคสามัคคีธรรม และพรรคความหวังใหม่ ในการเลือกตั้ง 2535/1 แต่ประจวบ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคยังเป็นขุนพลอีสาน ปชป.อยู่ 


          ก่อนการเลือกตั้ง 2535/2 ประจวบตัดสินใจโบกมือลา ปชป. มาร่วมงานกับ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ สร้างพรรคชาติพัฒนา แม้หลังเลือกตั้ง ชวน หลีกภัย จะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่สนามอีสาน ปชป.หดหายไปเยอะ และเลือกตั้งปี 2539 ปชป.อีสานก็เหลืออยู่แค่ 2-3 จังหวัด 


          คนอีสานเริ่มมองว่า ปชป.คือ สะตอสามัคคี กี่ปีกี่ชาติ โครงสร้างการนำพรรคก็อยู่ในมือคนใต้ และไม่เคยเหลียวแลคนอีสาน 


          เมื่อทักษิณ ชินวัตร มาพร้อมนโยบายประชานิยม คนอีสานจึงเทใจเลือกไทยรักไทย และหันหลังให้ ปชป.จนตราบเท่าทุกวันนี้ 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ