คอลัมนิสต์

โควิด กทม.-ตจว.สูสี จากใจหมอ"อยู่บ้านเพื่อชาติ"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ฝากถึงคนไทยทุกคน "อยู่บ้านเพื่อชาติ" หวังให้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดลดลงและหมดไป

          ในห้วงยามอันเลวร้ายของไวรัสโควิด-19 คนไทยยังสับสนกับการดำเนินชีวิตว่าจะเอาตัวรอดจากภัยไวรัสด้วยการกักตัวในบ้าน หรือจะเอาตัวรอดจากภัยเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากภัยโควิดยังไง หลายคนจึงยังคงต้องออกไปทำมาหากิน สวมหน้ากากและท่องไว้ว่าจะต้องไม่เป็นไร

 

 

 

          อย่างไรก็ดีชีวิตย่อมสำคัญที่สุด และคนที่ระบุชัดเจนและเสียงดังขึงขังมาตลอดว่าต้องหยุดอยู่บ้านเพื่อชาติคือ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

 

 

 

          ไม่กี่วันก่อนคุณหมอท่านนี้เพิ่งประเมินตัวเลขมาว่าหากคนไทยยังปฏิบัติตัวแบบเดิมไม่หยุดอยู่กับบ้านภายใน 15 เมษายนนี้ จะมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 กว่า 3 แสนคน เสียชีวิตกว่า 7 พันคน!!

          และเป็นไปได้ว่าสถานการณ์ในไทยขณะนี้ไปไกลกว่าญี่ปุ่น ไต้หวัน และสิงคโปร์ รวมถึงมีความเป็นไปได้ที่กราฟจะขึ้นสูงลิ่วไปแบบเยอรมนี อิตาลี ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

          ล่าสุดวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา คุณหมอและทีมแพทย์ได้ออกมาตั้งโต๊ะสรุปประเด็นสำคัญ​ “การคาดการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)” อีกครั้ง

          นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา เริ่มต้นด้วยการระบุถึงตัวเลขคนไข้ไทย รายงานล่าสุดมีจำนวน 1,524 คน โดยเมื่อวาน (30 มีนาคม) มีเพิ่มขึ้น 136 คน เพราะฉะนั้นตอนนี้ถ้าว่าไปแล้วแนวโน้มของประเทศไทยเราอยู่ระหว่างกลุ่มที่ควบคุมไม่ได้ กับ กลุ่มที่ควบคุมได้ และตัวเลขก็อาจจะสูงกว่าแนวโน้มเดิมที่เราเคยประมาณไว้ และนี่คือเหตุผลของการที่วันนี้เราต้องคุยกัน

          จากนั้นคุณหมอก็กล่าวย้อนไปถึงวันที่ 23 มีนาคม ซึ่งเราคงจำกันได้ว่าวันนั้น ที่มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลจะออกพระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อยกระดับการป้องกันแพร่ระบาดโควิด-19 โดยวันนั้นเองแม้โดยนายกฯ ได้ย้ำว่ายังไม่ถึงเวลา ซึ่งจริงๆ แล้วก็มมติเห็นชอบในวันรุ่งขึ้นนั่นแหละ แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็ไม่รอแล้ว ต่างทยอยเดินทางกลับต่างจังหวัดกันตั้งแต่ กทม. มีประกาศปิดสถานที่ต่างๆ ก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ

          มุมนี้คุณหมอประสิทธิ์จึงได้กล่าวว่า “หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ในวันที่ 23 มีนาคม ซึ่งมีการเคลื่อนย้ายจำนวนหนึ่งออกจากกรุงเทพฯ ไปภูมิภาคเราพบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งแรกสุดที่จำนวนสัดส่วนของคนไข้ที่ติดเชื้อโควิดในต่างจังหวัดกับกรุงเทพฯ นั้น เริ่มกลับสัดส่วนกันคือต่างจังหวัดเยอะกว่ากรุงเทพฯ (กรุงเทพฯ คือสีน้ำเงิน ต่างจังหวัดคือสีแดง) จากนั้นตัวเลขของต่างจังหวัดก็ค่อยๆ ลดลง ในขณะที่ส่วนของกรุงเทพฯ ก็เริ่มกลับขึ้นมาใหม่”

โควิด กทม.-ตจว.สูสี จากใจหมอ"อยู่บ้านเพื่อชาติ"

          “จนถึง ณ ตอนนี้ ถ้าเราเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ ถ้าจะเอาแบบตรงๆ เลยคือประมาณ 50-50 (กทม.และ ตจว. ใกล้เคียงกัน) โดยจังหวัดที่มีมากก็คือเชียงใหม่ นครราชสีมา อุบลราชธานี และทางภาคใต้ที่ยังมาก และกรุงเทพฯ ก็ยังเข้มมากเพราะมีจำนวน 100 รายขึ้นไป”

          อย่างไรก็ดี นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ยังกล่าวว่า  สถานการณ์ในเวลานี้เราประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เรามีมาตรการหลายอย่างที่ออกโดยรัฐบาล โดยจังหวัดต่างๆ กทม. และความร่วมมือของภาครัฐ และเอกชน ทำให้เราดึงจำนวนรายใหม่ลดลงมาในระดับที่ใกล้เคียงกับระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยที่จะดูแล แต่ก็ใช่ว่าจะช่วยได้ทั้งหมด

          โดย ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับคนไข้หนักที่ต้องใช้ท่อหายใจซึ่งค่อนข้างอยู่ในภาวะวิกฤติมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันผู้ป่วย 1 คน แม้จะอาการจะน้อยลง แต่ตราบใดที่ยังตรวจเจอเชื้อ เราจะต้องรักษาไว้ในโรงพยาบาลอยู่ แต่หากคนไข้กลุ่มนี้เข้ามามากเกินศักยภาพจำนวนเตียงที่มีอาจจะต้องขยายไปสู่ขั้นตอนต่อไปในการดูแลคนไข้เหล่านี้

          จากนั้นก็ได้แสดงกราฟจำนวนผู้ป่วยที่ รพ.ศิริราช โดยระบุว่าจำนวนผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม จนถึงปัจจุบัน 31 มีนาคม มีกราฟที่สูงขึ้นคือผู้ป่วยเพิ่มขึ้น

          และจำนวนเตียงที่ใช้รองรับผู้ป่วยซึ่งรวมทั้งที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล และโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ (SIPH) แม้ว่ารวมกันแล้วมีจำนวนเตียงที่เพิ่มขึ้น คือ 102 เตียง แต่จำนวนคนไข้ก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน จึงไม่ควรดีใจมากนัก

          จากนั้น ศ.นพ.ประสิทธิ์ จึงฝากมาว่า “สิ่งที่ผมจะฝากอยากจะชวนคนไทยทุกคนจริงๆ คือ แม้เส้นกราฟที่เราเห็น เราอาจจะดูสบายใจขึ้นว่ามันมีแนวโน้มไม่ได้ไปสูงแล้ว (เนื่องจากมีมาตรการหลายอย่างออกมาเป็นระลอกใน 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา) แต่ว่ามันยังมีแนวโน้มที่จะขึ้น”

          “สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะชวนพวกเราทุกคน และผมคิดว่าคนไทยช่วยกันได้ ไม่ใช่เป็นของที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงใดเลย และเป็นสิ่งที่เราย้ำมาตลอด อันดับแรกคือ ลดคนไข้ ถ้าเราสามารถลดคนไข้ลง คือคนที่ติดเชื้อน้อยลง ศักยภาพที่มีอยู่เวลานี้ก็จะเพียงพอในการดูแลคนที่ติดเชื้อ วิธีการลดสองอย่างที่ทั่วโลกทำเหมือนกันหมด ย้ำแบบเดียวกันหมด” 

 

 

       

          คือขอให้อยู่บ้าน การอยู่บ้านเราจะไม่เอาตัวเราออกไปแพร่เชื้อหรือรับเชื้อ อันนี้เป็นสิ่งที่ดีที่สุด ขณะเดียวกันหากมีความจำเป็นต้องออก เช่น ไปซื้ออาหาร ไปทำธุระ เป็นต้น ก็ขอให้ทำสิ่งที่เราเรียกว่า Social Dictancing ที่เราใช้ คือโรคติดต่อจะไม่ติดต่อ ถ้าเราไม่ติดต่อกัน เว้นระยะห่างระหว่างคนที่เราพูดด้วยประมาณ 2 เมตร และขณะเดียวกันก็ใส่หน้ากากเพื่อไม่ให้เกิดการรับละอองต่างๆ ที่เกิดจากการพูดคุย คนที่เราคุยอยู่เราไม่มีทางรู้หรอกว่าคนคนนั้นจะมีไวรัสตัวนี้อยู่หรือไม่ แต่นี่คือวิธิการป้องกันที่ดีที่สุด

          “ใช้เวลาอยู่นอกบ้านให้น้อยที่สุด และหลังจากนั้นก็กลับบ้าน ถ้าเราช่วยกันแบบนี้ผมเชื่อว่าจำนวนคนไข้จะค่อยๆ น้อยลงและถึงตอนนั้นศักยภาพในการดูแล ระบบบริการสุขภาพในประเทศไทยก็จะเพียงพอในการดูแลคนไทยทุกคนที่ป่วยเป็นโควิด”

          นอกจากนี้แล้ว ศ.นพ.ประสิทธิ์ ยังกล่าวถึงบรรดามาตรการต่างๆ ที่ประกาศออกมาอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นของรัฐบาลหรือของเขตจังหวัด โดยขอให้คนไทยทุกคนตั้งใจทำจริงๆ การไม่มารวมกัน การไม่มาสังสรรค์ หรือออกไปสนุกสนานกัน อันนี้มีความจำเป็นจริงๆ 

          “ข้อสุดท้ายที่อยากจะฝาก คือจนถึงเวลานี้เราก็ยังมีเพื่อนฝูงบ้าง คนที่เรารู้จักบ้าง ไม่ได้ทำตามสิ่งที่เราทำ ก็ขอความกรุณา ยังไงก็ชวนเขาทำ อธิบายให้เขาฟัง ถ้าเราอธิบายให้เขาได้ ดึงเขากลับมาอยู่นกระบวนการทั้งหมด เรากำลังชวนเขากลับมาช่วยประเทศเหมือนกัน ก็อยากเชิญชวนทุกท่านนะครับ อยู่บ้านคือการช่วยชาติ”

          ก็คงเป็นคำขอที่แสนธรรมดาแบบที่ได้ยินมาตลอดนับแต่เจ้าวายร้ายไวรัสนี้มารุกรานชาวโลกและคนไทย คือการกลับบ้าน อยู่บ้าน และรอคอยความหวัง คือจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง และหมดไป ซึ่งอาจจะคุ้มค่าแก่การรอคอยก็ได้

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ