คอลัมนิสต์

รู้ไหม จิตรลดา ผู้ป่วยจิตเวช มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดยทีมรายงานพิเศษ หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

 

           

           “น.ส.จิตรลดา” วัย 50 ปี คนไข้ของสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เป็นผู้ป่วยจิตเภท หรือ โรคจิตเวช เคยถูกพิพาษาจำคุก 4 ปี ในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นเมื่อปี 2548  ผ่านไป 15 ปี ก่อเหตุสะเทือนขวัญอีกครั้ง โดยใช้มีดแทงเด็กนักเรียนชั้นอนุบาลวัย 4 ขวบ เสียชีวิตที่ จ.นครปฐม วันที่ 30 มีนาคม 2563

 

 

 

 

                      

             โศกนาฏกรรมสะเทือนใจ ทำให้สาวกออนไลน์จำนวนมากแสดงความโกรธแค้นผ่านโซเชียลมีเดีย ต้องการให้ลงโทษขั้นเด็ดขาด และหลายข้อความใช้ถ้อยคำหยาบคาย ภายใต้แฮชแท็ก #จิตรลดา  

 

              หลายคนคงยังไม่รู้ว่า ประเทศไทยมีการประกาศใช้ “พ.ร.บ.สุขภาพจิต 2562” เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ป่วยจิตเวชแล้ว

               จุดประสงค์สำคัญคือ ช่วยให้ “ผู้ป่วยจิตเวช” ได้รับการคุ้มครอง จากการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล หรือข้อมูลอื่นใด ที่ทำให้เกิดความรังเกียจเดียดฉันท์ หรือความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของ “ผู้ป่วยและครอบครัว”

         

            ที่น่าสนใจคือกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้หมายถึงแค่ “สื่อหลัก” สำนักข่าว หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ เท่านั้น แต่เป็น “สื่อทุกประเภท” หมายถึงรวมโซเชียลมีเดียหรือสื่อสังคมออนไลน์ด้วย เช่น เวบไซต์ ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ยูทูป อินสตราแกรม ฯลฯ

           

            “มาตรา 16” กำหนดให้ “อธิบดีกรมสุขภาพจิต” สามารถใช้อำนาจสั่งลงโทษ ผู้เผยแพร่ข้อมูลที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ด้วยการดำเนินการ  4 ข้อ ดังนี้

(1) ให้แก้ไขข้อความหรือวิธีการในการเผยแพร่ข้อมูล

(2) ห้ามใช้ข้อความบางอย่างที่ปรากฏในการเผยแพร่ข้อมูล

(3) ระงับการเผยแพร่ข้อมูลหรือห้ามใช้วิธีการนั้นในการเผยแพร่ข้อมูล

(4) ให้เผยแพร่ข้อมูลเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดของผู้อื่นที่อาจเกิดขึ้น

 

            หากใครไม่ปฏิบัติตามอาจโดนโทษจำคุก 1 ปี หรือ ปรับ 1 แสนบาท

 

            ต้องยอมรับว่าคดีของ “ผู้มีความผิดปกติทางจิต” หลายครั้ง ถูกทำให้สังคมเข้าใจผิด เพราะโดนสื่อต่าง ๆ เผยแพร่ข้อมูล ข้อความ คลิปวีดีโอ หรือสื่อต่าง ๆ จนครอบครัวและญาติได้รับความเสียหาย และทำให้สังคมเกิดทัศนคติไม่ดีต่อบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิต โดยไม่มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิอย่างถูกต้องและเพียงพอ

 

รู้ไหม  จิตรลดา ผู้ป่วยจิตเวช  มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิ

 

 

              “นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวอธิบายกับคมชัดลึกว่า ที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีการใช้กฎหมายฉบับนี้ลงโทษหรือเอาผิดใครมาก่อน ส่วนในคดีของ “จิตรลดา” คงต้องศึกษากันอีกครั้ง กระนั้น “ขอให้คนในสังคมอย่าสื่อสารความรุนแรงออกไป เพราะตอนนี้ยังไม่รู้ว่า ข้อเท็จจริงของคดีนี้คืออะไร และผู้ป่วยจิตเวชก็ต้องได้รับการพิสูจน์อีกหลายขั้นตอน ว่ามีปัจจัยอะไรมาเกี่ยวข้องบ้าง” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

 

             ข้อมูลจากสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ปัจจุบัน ประชากรไทย 70 ล้านคน มีจำนวนผู้ป่วยจิตเภท” ไม่ต่ำกว่า 3 - 4 แสนคน โดยมีข้อพิสูจน์ว่าส่วนใหญ่เกิดจาก “การเปลี่ยนแปลงของเคมีในสมอง” ดังนั้นวิธีรักษาจึงจำเป็นต้องใช้ “ยา” หรือวิธีการอื่น ๆ เพื่อให้อาการทุเลาและป้องกันอาการกำเริบใหม่

             แม้ว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการตอบสนองต่อ “ยารักษา” ได้ดี แต่ปัญหาที่ “จิตแพทย์” กุมขมับคือ ผู้ป่วยมักไม่รับการรักษาให้ต่อเนื่อง หมายถึง “กินยาไม่สม่ำเสมอ” ด้วยเงื่อนไขหลาย ๆ อย่าง เช่น ฐานะยากจน ไม่มีญาติเข้าใจ ไม่มีคนดูแล หรือถูกทอดทิ้ง ฯลฯ  

            มีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 60 เท่านั้นที่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี

            ดังนั้นการช่วยกันดูแลผู้ป่วย 4 แสนให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ

 

 

             สำหรับคำแนะนำเบื้องต้นมี 4 วิธี คือ  1 ญาติ ครอบครัว ชุมชนต้องช่วยกันดูแลและสังเกตอาการของผู้ป่วย 2 ต้องให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างสม่ำเสมอ 3 ผู้ป่วยต้องมารักษาตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง และ 4 หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติดทุกชนิด ทั้งสุราและยาเสพติด    หากพบอาการป่วยกำเริบ รีบแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ หรือสายด่วน 1669  หรือ 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

              นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้ “ชุมชน” ช่วยกันส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสม ให้ผู้ป่วยได้ใช้เวลาว่างเป็นประโยชน์ ได้ฝึกสมาธิและมีรายได้ช่วยเหลือครอบครัว !

 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ