คอลัมนิสต์

ทำการเมืองให้เป็นในช่วงโควิด-19

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นักการเมืองที่รู้เท่าทันสถานการณ์จะเข้าใจว่าควรทำการเมืองอย่างไร ที่จะช่วยทั้งแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศและได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น บทความพิเศษ โดย ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์

          การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ที่ประกอบไปด้วยกิจกรรมทางการเมืองที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาต่อรอง ความขัดแย้ง การโจมตีกัน การหลอกลวงกัน การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน การแบล็กเมล์ การข่มขู่ การประนีประนอม การร่วมมือกัน การหักหลังกัน และละครทางการเมืองอื่นๆ อีกมากมาย โดยมีนักการเมืองทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการเป็นตัวแสดงหลัก

 

 

 

          นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลต้องทำทุกอย่างเพื่อให้อยู่รอดในอำนาจและมีชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งหน้า ด้วยการกำหนดนโยบาย มาตรการหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองที่สามารถสร้างความได้เปรียบทางการเมืองให้ตนเอง (ทุกๆ รัฐบาลก็ทำแบบนี้แหละ)

          ฝ่ายค้านก็เช่นเดียวกันต้องทำทุกอย่างเพื่อหาทางล้มรัฐบาล เปลี่ยนขั้วทางการเมือง หรือเพื่อสร้างฐานคะแนนนิยมให้พรรคตนเองในการเลือกตั้งครั้งหน้า ด้วยกิจกรรมทางการเมืองหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์เสนอแนะหรือตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาล การรณรงค์ทางการเมืองและอาจรวมถึงการพาประชาชนลงไปบนถนนด้วย เป็นต้น

          ในภาวะปกติทั้งสองฝ่ายจะเล่นการเมืองและห้ำหั่นกันอย่างดุเดือด เกมการเมืองและกลยุทธ์ในการเอาชนะกันจะถูกนำมาใช้กันแบบไม่มีวันหยุด โดยทั้งหมดนี้จะอ้างความชอบธรรมว่าทำไปเพื่อประเทศชาติและประชาชน (ไม่รู้ว่าจริงแค่ไหน)

          แม้แต่ในภาวะวิกฤติ ความเป็นความตายของประเทศชาติและประชาชน เราคงไม่สามารถบังคับนักการเมืองให้มีวันหยุดทางการเมืองได้ (political holidays) แต่นักการเมืองที่รู้เท่าทันสถานการณ์จะเข้าใจว่าควรทำการเมืองอย่างไรที่จะสามารถช่วยทั้งแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศและได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นในขณะเดียวกันได้ แต่ก็ยังมีนักการเมืองที่ไม่เข้าใจสถานการณ์ เล่นการเมืองแบบเดิมๆ ออกมาแสดงความคิดเห็นและบทบาททางการเมืองผิดที่ผิดเวลาจนถูกถล่มผ่านทั้งสื่อกระแสหลักและโซเชียลมีเดีย

ทำการเมืองให้เป็นในช่วงโควิด-19

          ขอเริ่มจากฝ่ายค้านน้องใหม่มาแรงไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านนอกสภาอย่างคณะก้าวหน้าหรือฝ่ายค้านในสภา เช่นพรรคก้าวไกลที่ประกอบไปด้วยแกนนำและสมาชิกอดีตพรรคอนาคตใหม่ที่ได้ฉกฉวยโอกาสทางการเมืองในขณะที่รัฐบาลกำลังมึนกับวิธีการแก้ไขการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยการแสดงความคิดเห็นและข้อเรียกร้องต่างๆ ทางการเมือง (ที่ไม่ค่อยจะถูกที่ถูกเวลาสักเท่าไร) ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญและมีการเลือกตั้งใหม่ รวมถึงการวิจารณ์การออกพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การเล่นการเมืองในรูปแบนี้ในภาวะวิกฤติทำให้ทั้งคณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกลถูกโจมตีอย่างหนักจากหลายๆ ฝ่าย ว่าในภาวะวิกฤติที่ทุกฝ่ายทำงานอย่างหนักเพื่อแก้ไขปัญหาแต่กลุ่มนักการเมืองรุ่นใหม่เหล่านี้กลับสนใจแต่จะเล่นการเมือง ต่อต้านรัฐบาลเพื่อหวังความได้เปรียบทางการเมือง

          อย่างไรก็ตามแม้ว่าในช่วงหลังจะส่งส.ส.ของพรรค สองคนที่เป็นหมอ ออกมาสื่อสารสาธารณะในเชิงสร้างสรรค์มากขึ้น (เห็นบอกว่ายินดีใช้ความเป็นวิชาชีพหมอไปช่วยงานรัฐ เอาเลย...โรงพยาบาลในสามจังหวัดชายแดนใต้กำลังต้องการหมอพอดี) รวมถึงการที่โฆษกพรรคก้าวไกลแสดงการสนับสนุนรัฐบาลในการออกมาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน” เพื่อดูแลแรงงานนอกระบบ รายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน อย่างไรก็ตามไม่แน่ใจว่าการพลิกบทบาททางการเมืองตอนนี้จะทันหรือเปล่า ในเมื่อไฟไหม้ไปแล้วจากความสะเพร่า ไม่ดูตาม้าตาเรือหรือทำการเมืองไม่เป็นของแกนนำพรรคและผู้สนับสนุนพรรค (คิดว่าคะแนนนิยมได้หายไปบางส่วนแล้ว)

          ในขณะที่ฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทยก็มีทั้งกลุ่มที่ทำการเมืองเป็นและไม่เป็นในภาวะวิกฤติ กลุ่มที่เข้าใจสถานการณ์ก็จะพยายามแสดงออกในทางสร้างสรรค์ แม้ว่าจะมีการประชดประชันบ้างตามประสานักการเมืองด้วยการออกมาเห็นด้วยกับ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน การให้ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกันสมาชิกพรรคเพื่อไทยอีกกลุ่มก็เอาแต่เล่นการเมืองแบบไม่ดูกาลเทศะ ออกมาบอกว่าประชาชนจะถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพจากพ.ร.ก.ฉบับนี้ แต่ก็ไม่มีข้อเสนอแนะใหม่ๆ ที่ดูเป็นรูปธรรมและสามารถแก้ไขปัญหาได้ ดูไปแล้วเป็นพวกมือไม่พายเอาเท้าราน้ำจริงๆ...หัวหน้าพรรค (อยู่ที่ไหน) จัดการทีสิ

          ส่วนฝ่ายรัฐบาล นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพลังประชารัฐนั้น วิกฤติไวรัสโควิด-19 คือบททดสอบว่าจะเป็นรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพแค่ไหน นายกรัฐมนตรีจะมีภาวะผู้นำในยามวิกฤติแค่ไหนในการแก้ไขปัญหาที่ร้อยกันเป็นลูกโซ่ จากปัญหาด้านโรคระบาดไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม ปัญหาการบริหารและปัญหาความมั่นคง

          แน่นอนความต้องการสูงสุดของประชาชนคือต้องการให้ไวรัสนี้หายไปโดยเร็วและไม่กลับมาอีก แต่ก็เข้าใจว่าเป็นไปได้ยากเพราะไม่ใช่ปัญหาของประเทศไทยประเทศเดียวแต่เป็นปัญหาของคนทั้งโลก แต่อย่างน้อยที่สุดคือรัฐบาลต้องทำให้ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสอยู่ในระดับที่ควบคุมได้และค่อยๆ หมดไปตามสถานการณ์ของโลก รวมถึงมีมาตรการในการรองรับผลกระทบที่ชัดเจน (รวมถึงการสื่อสารที่ชัดเจนด้วยนะ) เป็นรูปธรรม ปฏิบัติได้จริง มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ถ้าทำได้ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าจะส่งบวกผลต่อคะแนนนิยมของพล.อ.ประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐ (รัฐบาลอยู่ยาวแน่!) แต่ถ้าทำไม่ได้...ก็คงจะไม่ได้เจอกันอีก

          ในส่วนของพรรคภูมิใจไทยนั้น หัวหน้าพรรค อนุทิน ชาญวีรกูล แสดงบทบาทเด่นเก็บคะแนนไปเรื่อยๆ ตั้งแต่เริ่มต้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตามในช่วงหลังอนุทินก็เริ่มมีอาการเมาหมัดบ้างจากการตอบคำถามผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอบคำถามแบบคลุมเครือทำให้คนทั้งชาติเข้าใจว่าอนุทินตำหนิการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้อนุทินถูกรุมยำในโซเชียลมีเดียและสื่อกระแสหลัก แต่ในที่สุดก็ออกมาแก้ไขสถานการณ์ทันด้วยการออกมาขอโทษและอธิบาย รวมถึงการมีข้อมูลเสริมที่มาจากโซเชียลมีเดีย ก็ทำให้สังคมกระจ่างขึ้นว่าที่อนุทินพูดไปหมายถึงอะไร แต่ก็เป็นบทเรียนที่ดีต่ออนุทินว่าให้คิดลึกๆ ก่อนสื่อข้อความสู่สาธารณะจะได้ไม่พลาด อย่าลืมว่าเราอยู่ในสังคมที่คนจำนวนหนึ่งเป็นกระต่ายตื่นตูม พอใจอ่านแต่หัวข้อข่าว ไม่วิเคราะห์ข้อมูล สนุกกับการปั่นประเด็น ชอบเกาะกระแส และมีความสุขกับการสร้างดราม่า

          พรรคประชาธิปัตย์ในทางกลับกัน หัวหน้าพรรค จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ไม่สามารถแสดงบทบาทนำในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหน้ากากอนามัย เจลล้างมือไปจนถึงไข่ไก่ หากหัวหน้าพรรคทำการเมืองเป็น รู้จักแสดงบทบาทนำอย่างเข้มแข็งในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ตั้งแต่เริ่มต้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พรรคคงเก็บคะแนนไปมากแล้ว ในเมื่อสถานการณ์ตอนนี้ไม่สามารถหวังพึ่งผลงานหัวหน้าพรรค ในการเพิ่มคะแนนนิยมได้ รัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์คนอื่นๆ ก็ควรแสดงบทบาทนำแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐมนตรีจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่แม้ว่าจะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ก็มีอำนาจและกลไกทางราชการในการแก้ไขและป้องกันปัญหาผลกระทบของสถานการณ์วิกฤติที่มีต่อประชาชนได้ หากไม่ทำตอนนี้ก็อาจจะกลายเป็น “สาละวันเตี้ยลง” ในการเลือกตั้งสมัยหน้า (...ขยันๆ หน่อย)

 

 

         

          โดยทั่วไปแล้วทุกพรรคการเมืองจะมีแฟนคลับประเภทติ่งหรือรักจนใจขาดดิ้นและจะไม่ทิ้งพรรค ไม่ว่าบุคคลในพรรคจะมีพฤติกรรมใดๆ ก็ตาม ในขณะที่พวกต่อต้านแบบไม่เผาผีก็อย่าหวังว่าจะได้คะแนนจากพวกเขาไม่ว่าพรรคจะทำดีแค่ไหน แต่กลุ่มที่สำคัญคือกลุ่มพลังเงียบ กลุ่มที่ยังไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดจนสุดตัว สามารถเปลี่ยนใจได้ตลอดหรือเรียกง่ายๆ ว่าไม่ใช่ติ่งของพรรคใดพรรคหนึ่ง กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ใหญ่มากในสังคมไทยและจะเป็นผู้ตัดสินว่าใครควรจะเป็นรัฐบาลหรือใครควรจะเป็นฝ่ายค้าน โดยผลการสำรวจความคิดเห็นของนิด้าโพล เรื่อง “1 ปีหลังการเลือกตั้งทั่วไป” แสดงไห้เห็นค่อนข้างชัดเจนว่าคนไทยจำนวนมากไม่ยึดติดกับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่จะผันแปรตามสถานการณ์

          ในข้อคำถามเกี่ยวกับการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกผู้สมัคร ส.ส. หรือพรรคการเมือง/กลุ่มการเมืองเดิม หากวันนี้เป็นวันเลือกตั้งพบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 34.13 ระบุว่าจะลงคะแนนให้ผู้สมัครส.ส. หรือพรรคการเมือง/กลุ่มการเมืองอื่น รองลงมาร้อยละ 33.10 ระบุว่าลงคะแนนให้ผู้สมัครส.ส. หรือพรรคการเมือง/กลุ่มการเมืองเดิมที่เคยเลือก ร้อยละ 11.93 ระบุ ยังไม่ตัดสินใจ ขอดูนโยบายของพรรค ความรู้ความสามารถของตัวส.ส. และดูว่า ส.ส. ที่จะเลือกอยู่พรรคไหน ร้อยละ 10.42 ระบุว่า ไปเลือกแต่ไม่ลงคะแนนให้ใคร (Vote No) ร้อยละ 4.06 ระบุว่า ไม่ไปลงคะแนน

          สรุปได้ใจความว่าประมาณหนึ่งในสามยังคงพึงพอใจพรรค/กลุ่มการเมืองเดิมที่เคยเลือก อีกประมาณหนึ่งในสามบอกจะเลือกพรรคอื่น ประมาณหนึ่งในสิบบอกว่าขอพิจารณาดูก่อนและอีกประมาณหนึ่งในสิบเป็นพวกไม่ถูกชะตากับพรรคการเมืองใดเลย

          คำถามคือพรรคใดอยู่ในการตัดสินใจในข้อไหนของประชาชน

          ทำการเมืองให้เป็นในช่วงวิกฤติโควิด-19 แล้วก็จะรู้เอง

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ