คอลัมนิสต์

ทั่วโลกเริ่ม"สั่งแยกผู้สูงอายุ"หวั่นโควิด–19 ไทยทำได้หรือไม่

ทั่วโลกเริ่ม"สั่งแยกผู้สูงอายุ"หวั่นโควิด–19 ไทยทำได้หรือไม่

25 มี.ค. 2563

โดย...ทีมรายงานพิเศษ หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

 

                  ช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลหลายประเทศ ออกนโยบายป้องกันฉุกเฉินขอความร่วมมือ “ผู้สูงอายุแยกตัว” เนื่องจากตัวเลขเปอร์เซ็นต์ผู้เสียชีวิตทั่วโลกกว่า 1.4 หมื่นรายนั้น ส่วนใหญ่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป. เช่น อังกฤษขอให้ผู้มีอายุ 70 ปีขึ้นไปอยู่แต่ในบ้าน ป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า เพราะผู้เสียชีวิตในอังกฤษเกือบ 100 คนนั้น แทบจะเป็นคุณตาคุณยายเกือบทั้งหมด ตัวแทนรัฐบาลอิสราเอลก็ออกมาทำคลิปเผยแพร่ สั่งให้ทุกครอบครัวแยก “ผู้สูงอายุ” อยู่ในพื้นที่ส่วนตัว ไม่ออกจากบ้าน ไม่ต้องมีสมาชิกอื่นในครอบครัวหรือในชุมชนเข้าไปสัมผัสใกล้ชิด ส่วนนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย จัดช่วงเวลาเฉพาะให้ผู้สูงอายุออกไปตลาดจับจ่ายสินค้า 

อ่านข่าว-อัปเดตสถานการณ์ 'ไวรัสโคโรน่า' (Covid-19) 25 มี.ค. 2563

 

                คำถามคือเป็นไปได้ไหมที่ประเทศไทยจะแยก “ปู่ย่าตายาย” ออกจากสมาชิกอื่นในครอบครัว จนกว่าไวรัสร้ายตัวนี้จะหยุดแพร่ระบาด ?

                ตัวแทนชมรมผู้สูงอายุกรุงเทพมหานคร วัย 78 ปี แสดงความคิดเห็นว่า ยอมรับว่านโยบายแบบนี้เป็นสิ่งที่ดี แต่ทำได้ยากในสังคมไทย เพราะสภาพบ้านเรือนแตกต่างจากฝรั่ง การใช้ชีวิตความเป็นอยู่หรือความสัมพันธ์ในครอบครัวก็แตกต่างกัน

                “สำหรับคนอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นบ้านหรือคอนโด ก็ยังพอมีพื้นที่ส่วนตัวบ้าง ให้ลูกหลานเอาข้าวเอาน้ำมาส่งได้ แต่ปัญหาที่หนักกว่านั้นคือ ผู้สูงวัยมักชอบไปออกกำลังกายหรือพบปะเพื่อนฝูงรุ่นเดียวกัน การไปสั่งห้ามออกจากบ้านคงยากมาก ลูกหลานพูดอย่างไรคงไม่เชื่อ มีบางส่วนเหมือนกันที่กลัวโรคมาก เพราะข่าวออกทุกวันว่ามีคนติด คนตายทั่วโลก โดยเฉพาะผู้สูงวัยร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันไม่ทัน แต่มีเหมือนกันที่ไม่ได้ติดตามข่าวสาร เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องให้ความรู้และขอความร่วมมืออย่างจริงจัง ว่าต้องการให้ผู้สูงวัยทำตัวอย่างไรบ้าง”

 

ทั่วโลกเริ่ม\"สั่งแยกผู้สูงอายุ\"หวั่นโควิด–19 ไทยทำได้หรือไม่

 

                ตัวแทนผู้สูงวัยข้างต้นกล่าวต่อว่า ควรใช้เครือข่ายผู้สูงอายุที่มีอยู่ทุกพื้นที่ตำบลในการเผยแพร่ข่าวสาร เพราะตอนนี้ออกมาช่วยกันทำหน้ากากแจกจ่ายลูกหลาน เป็นแหล่งในการประกาศข้อมูลข่าวสารว่าคนอายุมากติดไวรัสโคโรนาได้ง่าย แต่รักษาได้ยาก ดังนั้นควรไม่ออกจากบ้านถ้าไม่จำเป็น หรือต้องแยกตัวออกจากลูกหลานอย่างไรให้ถูกต้อง

                สอดคล้องกับความคิดเห็นของ “นพ.วิชัย โชควิวัฒน” ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ ที่ระบุว่า ขณะนี้สภาผู้สูงอายุฯ มีเครือข่ายประมาณ 2.8 หมื่นชมรมทั่วทุกภูมิภาค แต่ละชมรมจะมีสมาชิกตั้งแต่ 30–100 คน ซึ่งผู้สูงอายุตอนนี้พยายามช่วยเหลือตัวเองไม่เป็นภาระสังคมและลูกหลาน โดยเฉพาะช่วงระบาดไวรัสโคโรนา 2019

                “การจะขอร้องให้แยกผู้สูงอายุไปอยู่ต่างหากเลย คงทำได้ยาก วิถีชีวิตคนไทยไม่เหมือนฝรั่ง ที่พ่อแม่ลูกไม่ค่อยอาศัยอยู่แบบใกล้ชิดกัน แต่เห็นด้วยว่าสถานการณ์ตอนนี้ครอบครัวคนไทยคงต้องแยกกันกินข้าว ไม่ล้อมวงนั่งกินพร้อมกัน แยกข้าวของเครื่องใช้ ไม่กอด ไม่สัมผัส ไม่อยู่ใกล้ชิดกันมากไป เพราะถ้ามีใครป่วยไอจามจะติดเชื้อได้ง่าย ป่วยไปก็ลำบาก แต่จะห้ามออกนอกบ้านเลยก็คงยาก ลูกหลานไม่เคยแก่ คงไม่เข้าใจความรู้สึกคนแก่ หากไม่ได้ออกจากบ้านไปสูดอากาศ หรือออกกำลังกายนิดๆ หน่อยๆ ร่างกายจะฝืดๆ ลุกเหินเดินไม่คล่องแคล่ว”

 

 

                หมอวิชัยแนะนำต่อว่า ปู่ย่าตายาย ควรรู้จักป้องกันตัวเองโดยไม่ออกไปในที่ชุมชนคนเยอะ แต่ถ้าออกไปเจอเพื่อนที่บ้าน เป็นกลุ่มเล็กๆ น่าจะทำได้ ตอนนี้สถิติคนติดเชื้อและคนเสียชีวิตของไทยยังถือว่าน้อยมาก อยากให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน ผู้สูงอายุต้องช่วยดูแลป้องตัวเอง เรียนรู้จากกันและกัน

                ขณะที่ “ป้าอรุณี ศรีโต” วัย 67 ปี ตัวแทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบที่มีอยู่ 20 ล้านคนทั่วประเทศไทย แสดงความคิดเห็นว่า การให้แยกกันอยู่แล้วมีบุตรหลานมาช่วยส่งข้าวส่งน้ำแบบฝรั่งนั้น คุณตาคุณยายคงทนไม่ได้แน่นอน

                “ให้แยกช้อนส้อม แยกช้อนกลางยังพอไหว แต่ขนาดแยกให้ไปอยู่โดดเดี่ยวเลยคงทำไม่ได้ แล้วจะให้ลูกหลานทำอาหารมาส่ง ก็ไม่แน่ใจนะ ยกตัวอย่างป้าแล้วกัน อยู่สมุทรปราการ โดนผลกระทบให้หยุดงาน ปิดเมือง ถ้าไม่ให้คนแก่ออกไปข้างนอก แล้วให้หลานไปตลาดซื้อข้าวให้กิน ก็คงได้กินแต่ไข่เจียว เพราะตัวเขาเองกินแต่ของในเซเว่น หรือถ้าไหว้วานไปจับจ่ายซื้อของในตลาดมา คงไม่สำเร็จ เพราะเด็กสมัยนี้ไม่รู้ว่าผักชื่ออะไร จะซื้อหมูตรงส่วนไหน ไม่ได้ ลำบากมาก”

                อย่างไรก็ตามป้าอรุณีเห็นด้วยกับมาตรการให้แยกเวลาออกจากบ้านอย่างชัดเจน เช่น ตลาดตอนเช้าระหว่างตี 5–7 โมงเช้า ให้คนที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปออกไปหาซื้อของซื้ออาหารได้ หลังจากเวลานั้น คนทุกวัยก็ไปได้ พร้อมกล่าวแนะนำทิ้งท้ายว่า

                “ถ้าจะใช้วิธีการแบ่งเวลาแบบนี้ รัฐบาลต้องป่าวประกาศให้ดีๆ นะ ไม่งั้นจะสร้างความสับสน คนแก่อย่างพวกเราพร้อมให้ความร่วมมือทุกอย่างอยู่แล้ว อยากให้เชื้อนี้หยุดระบาด คนจะได้ออกไปทำมาหากิน ตอนนี้หลายคนเดือดร้อนเรื่องปากท้องมากกว่าเชื้อโรค”

                ทั้งนี้ ก่อนคิดถึงมาตรการ “แยกผู้สูงอายุ” เพื่อป้องกันไม่ให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นนั้น รัฐบาลต้องคิดถึงนโยบายเยียวยาเร่งด่วนด้วย โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบกว่า 20 ล้านคน เมื่อลูกหลานไม่มีรายได้ ปู่ย่าตายายก็เดือดร้อนไปด้วย

                กองทุนช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากไวรัสโควิด-19 นั้น รัฐบาลต้องส่งไปช่วยผู้สูงวัยก่อน โดยข้อมูลทั้งหมดมีพร้อมแล้วในระบบ “การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” !