คอลัมนิสต์

ย้อนรอยพรรคสีฟ้า รักแท้แต่ชอบ"เท"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

และแล้วพรรคประชาธิปัตย์ก็กำลังทำให้คนไทยมองตากันปริบๆ อีกครั้งว่าจะเอายังไง หลังกระแสข่าวไลน์กลุ่มอันร้อนแรง กรณีการกักตุนหน้ากากอนามัยนับล้านชิ้นที่มีชื่อของรมต.ในสังกัดพรรคพลังประชารัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง

 

 

          เรื่องนี้เลยทำให้ต้องย้อนอดีตดูไทม์ไลน์เส้นทางพรรคที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้อีกครั้งว่าเคยร่วมสังฆกรรมเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาลมากี่ครั้งกี่หน แล้วเคยทำอะไรไว้บ้างหลังจากนั้น

 

 

          อย่างที่รู้หลังพรรคประชาธิปัตย์ถือกำเนิดขึ้นในปี 2489 และโลดแล่นในสนามการเมืองไทย อาจพูดได้ว่าบรรยากาศการเมืองไทยในรอยต่อก่อนและหลังปี 2500 ยังไม่ใช่เวลาของพรรคประชาธิปัตย์เท่าไหร่ แต่เป็นยุคสมัยของจอมพล.ป. พิบูลสงคราม อันยาวนาน จนหลายคนพูดตรงกันว่าเป็นยุคแห่งความอดอยากปากแห้ง (คือพูดเยอะไม่ได้) ของคนเป็นพรรคฝ่ายค้านอย่างยิ่ง


          สำหรับพรรคประชาธิปัตย์หากนับจากการก่อตั้งพรรคจนถึงปัจจุบันที่มีการเลือกตั้งรวมทั้งสิ้น 25 ครั้ง รวมแล้วพรรคนี้ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล 7 ครั้งคือปี 2491, 2518, 2519 (2 ครั้ง), 2535, 2540 และ 2551 และยังเป็นพรรคร่วมรัฐบาล 4 ครั้งเป็นพรรคฝ่ายค้านอีกหลายครั้ง


          โดยในที่นี้หากถามเฉพาะในหน้าที่พรรคร่วมฝ่ายค้านที่ไม่นับช่วงที่ได้เป็นรัฐบาลรับเชิญของคณะรัฐประหาร 2490 โดย ควง อภัยวงศ์ เป็นนายกฯ รักษา ก็คงเป็น 3 ครั้งที่น่าจดจำ


++


          ชีวิตนี้ให้ป๋า
          ตอนที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยการซาวด์เสียงของทั้ง ส.ว. และส.ส. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2523 ในครั้งนั้นมีพรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาลเปรม 1 จำนวน 4 พรรค คือ กิจสังคม ชาติไทย สยามประชาธิปไตย และแน่นอน พรรคประชาธิปัตย์

 




          ว่ากันว่าช่วงนั้นบรรยากาศสะตอสามัคคีฉลองไปทั่วพรรคร่วมเพราะประชาธิปัตย์ทำหน้าที่หนุนค้ำบัลลังก์ป๋าชนิดทุ่มสุดตัว เพราะต้องไม่ลืมว่าป๋าเปรมคือบุตรแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาขวัญใจชาวปักษ์ใต้


          สะตอสามัคคีใจเดียวให้ป๋าตั้งแต่เปรม 1 ถึงเปรม 5 จนกระทั่งสามัคคีต่อไปไม่ไหว เมื่อคนในพรรคเริ่มไม่เอาด้วยเกิดเป็นกลุ่ม 10 มกราขึ้น นำโดย “ไข่มุกดำ” วีระ มุสิกพงศ์ (หรือวีระกานต์ในปัจุจบัน) และคณะ


          ก็อย่างที่รู้กลุ่ม 10 มกรา ได้ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์พร้อมกลุ่มวาดะห์ โดยไม่ยกมือสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรจนทำให้ พล.อ.เปรม ต้องประกาศยุบสภาในปี 2531


++


          ร่วม(ล่ม)เรือน้าชาติ
          จนเมื่อ พล.อ.เปรม ลงจากตำแหน่งในปี 2531 เมืองไทยมีการเลือกตั้งในปีนั้น คนไทยได้ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกฯ พรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ร่วมลงเรือเป็นรัฐบาลในครม.น้าชาติ สานฝันเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า


          แต่แล้วประชาธิปัตย์ในยุคที่มี สนั่น ขจรประศาสตน์ เป็นแม่บ้านพรรค ก็ออกลวดลาย กล่าวคือในวันที่ 12 ธันวาคม 2533 พรรคประชาธิปัตย์ได้ขอถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล โดยประกาศต่อสาธารณชนว่าเพราะไม่ต้องการให้เกิดสภาพเผด็จการรัฐสภา เนื่องจากส.ส.ฝ่ายรัฐบาลมีเสียงมากกว่าฝ่ายค้านหลายเท่าตัว ทำให้ยากต่อการตรวจสอบรัฐบาลผ่านกระบวนการทางสภา


          แม้ลีลาหนนี้ทำเอาน้าชาติต้องร้องเพลงอ่าวเฮ้ย ไม่เหมือนที่คุยกันไว้ แต่เรื่องนี้ก็ส่งผลให้พรรคสีฟ้าดูหล่อขึ้นหลายเท่าตัวที่ไม่มีภาพซ้อนทับกับ “บุฟเฟต์ คาบิเนต” ของรัฐบาลชาติชาย


          เป็นการพลิกวิกฤติเป็นโอกาสได้อย่างทันท่วงที จนกระทั่งรัฐบาลชุดนั้นถูก คณะรสช.รัฐประหารเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 และนำไปสู่เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” 2535 ในที่สุด


++


          ผงาดที่รังลุง
          แน่นอนตลอดมาพรรคประชาธิปัตย์ฟุ้งว่าตนเองเป็นพรรคที่มีบทบาทต่อต้านเผด็จการเคียงบ่าเคียงไหล่กับประชาชนและทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างแข็งขันมาตลอดหลายรัฐบาล


          ถ้านับหลังปี 2535 พรรคนี้ก็อยู่ฟาดฟันรัฐบาลมาแล้วเพียบ ไล่ตั้งแต่รัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา, ชวลิต ยงใจยุทธ, ทักษิณ ชินวัตร, สมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร


          ในห้วงขณะเดียวกันพรรคนี้ก็เคยมีนายกฯ ที่ไม่เอาเผด็จการทหารอย่าง นายหัวชวน หลีกภัย ที่ชนะเลือกตั้ง ปี 2535 มาด้วยคะแนนท่วมท้นมาแล้ว


          แต่ในขณะเดียวกันอีก พรรคนี้ก็เคยมีนายกฯ ที่ถูกชาวบ้านร้านตลาดสงสัยว่าไปตั้งรัฐบาลในค่ายทหารมาแล้วอย่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ขึ้นดำรงตำแหน่งเมื่อปลายปี 2551


          นี่ยังไม่นับวีรกรรมพรรคประชาธิปัตย์ตอนที่ สนั่น ขจรประศาสน์ เจ้าเก่า สร้างตำนาน "งูเห่า” ขึ้นมา ด้วยการฉกลูกพรรคประชากรไทยของ สมัคร สุนทรเวช มาหลายคนหลายเสียงจนทำให้ชวนได้นั่งนายกฯ อีกครั้งในปี 2540


          อย่างไรก็ดีมาถึงปี 2562 ที่พรรคประชาธิปัตย์มีวันที่แพ้เลือกตั้งราบคาบอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ก็ยังมีจำนวนส.ส.มากพอที่จะทำให้พรรคพลังประชารัฐแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จัดหนักไปหลายเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ


          แต่ประวัติศาสตร์เป็นกงล้อ วันนี้ก็มาถึงวันที่คนไทยต้องจับตาดูพรรคนี้อีกครั้งว่าจะเอายังไงกับการร่วมเรือลุงในปรากฏการณ์พิษหน้ากากการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้ เชื่อว่าหลายคนมีคำตอบ
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ