คอลัมนิสต์

เกมวัดใจเขย่า ครม.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เกมวัดใจเขย่า ครม.

 

 


          เป็นอีกครั้งที่ศึกในพรรคประชาธิปัตย์กลับมาปะทุ ในประเด็นที่พุ่งเป้าไปถึง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ในฐานะรัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาล ถูกตั้งคำถามจากสังคมถึงความเหมาะสมในการร่วมคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยเฉพาะคำชี้แจงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไปจนถึงบุคคลใกล้ชิดเข้าไปมีส่วนได้เสียหน้ากากอนามัย ไปขัดแย้งกับเงื่อนไขมีการทุจริตคอร์รัปชั่นในการร่วมรัฐบาล

 

อ่านข่าว...  ธรรมนัส ยันภาพกักตุนหน้ากาก แค่ตัดต่อ จ่อเอาผิดสื่อออนไลน์

 

 

          ทำให้เผือกร้อนขณะนี้ถูกส่งไปไปที่ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรค จะรับเรื่องที่ “อันวาร์ สาเเละ” ส.ส.ปัตตานี ในหมวกรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้นัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2563 ภายหลังได้ยกเลิกกำหนดการเดิมเมื่อ 7 มีนาคม 2563 เพื่อเป็นเวทีกลางหารือถึงมติพรรคจะถอนตัวร่วมรัฐบาลหรือไม่


          ที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่า ส.ส.และอดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์หลายคน คัดค้านจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ เพื่อเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะขัดแย้งกับคำประกาศอุดมการณ์ของพรรคในข้อ 4.จะไม่สนับสนุนระบบและวิธีแห่งเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นระบบและวิธีการของรัฐบาลใด


          ทำให้ตลอดการร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา ยังมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่ยืนคนละขากับแกนนำพรรคที่มีตำแหน่งในรัฐบาล เคลื่อนไหวแสดงจุดยืนมาโดยตลอด จนกระทั่งเป็นภาพชินตาไปถึงสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล ตั้งฉายา “จุรินทร์” เป็นรัฐอิสระที่ไม่สามารถควบคุม ส.ส.ในพรรคได้ สร้างความหวาดระแวงภายในรัฐบาลตลอดเวลา ส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐ

 



          แต่เป็นสิ่งที่ ส.ส.ประชาธิปัตย์หลายคนออกมาตอกย้ำว่า ความคิดเห็นทางการเมืองภายในพรรคทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เป็นธรรมชาติของคนประชาธิปัตย์ จะเปิดประเด็นถกเถียงอย่างดุเดือดกันข้ามวันข้ามคืน ไม่ว่าจะมีเสียงเห็นด้วยหรือคัดค้าน แต่สุดท้ายจะไปจบลงที่มติพรรคทุกครั้ง


          การจุดประเด็นถอนตัวร่วมรัฐบาลจาก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กำลังถูกส่งไปที่ “จุรินทร์” จะนัดเปิดประชุมเพื่อเคลียร์ประเด็นภายในพรรคหรือไม่ เพราะกลไกที่ประชาธิปัตย์วางไว้ หากมีการยื่นเรื่องเข้ามาที่เกี่ยวกับการบริหารพรรค เป็นสิ่งที่กรรมการบริหารพรรค ต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณา


          โดยเฉพาะมติพรรคอื่นใดต้องมาจากการประชุมคณะกรรมการบริหาร และ ส.ส.รวม 81 คน จะเป็นผู้ชี้ขาดจากสถานการณ์ทางการเมืองที่รุมเร้ารัฐบาล ตั้งแต่ปัญหาเศรษฐกิจ ไวรัสโควิด-19 หรือคำชี้แจงของ ร.อ.ธรรมนัส ในเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะเป็น “วาระ” สำคัญให้ประชาธิปัตย์ตัดสินใจลงเรือลำเดียวกันต่อหรือไม่


          ถึงแม้การประชุมพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ 4 มิถุนายน 2562 ต่อเสียงการลงมติ 61 เสียงร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ จะพาให้ประชาธิปัตย์หันหัวร่วมลงเรือแป๊ะ แต่จากหลักฐานในแชทกลุ่มไลน์ “อดีตส.ส.ปชป.ปี 62” ซึ่งมีสมาชิกรวม 169 คน เป็นแรงกระเพื่อมสำคัญไปถึงมือโหวตตัดสินใจถอนตัว ที่มาจากกลุ่มเห็นด้วยและคัดค้าน


          ประเด็นสำคัญที่ประชาธิปัตย์จะตัดสินใจ จะถูกโฟกัสไปที่ 3 เรื่องตามเงื่อนไขร่วมรัฐบาล 1.รับนโยบายประกันรายได้ 2.แก้ไขรัฐธรรมนูญ 3.มีการทุจริตคอร์รัปชั่น หากแยกให้ชัดว่าประชาธิปัตย์ให้น้ำหนักกับเงื่อนไขใดเป็นเรื่องแรก เพราะทุกเงื่อนไขมีความสำคัญต่ออนาคตทางการเมืองของประชาธิปัตย์ ตั้งแต่การเดินหน้านโยบายประกันรายได้พืชผลการเกษตร ที่ผ่านมาประชาธิปัตย์ได้เร่งออกนโยบายหลายมาตรการ และเป็นผลงานสำคัญที่ประชาธิปัตย์นำไปต่อยอดหาเสียงในอนาคต


          เงื่อนไขที่ 2 การแก้รัฐธรรนูญ ขณะนี้อยู่ระหว่างที่สภาประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เป็นอีกเงื่อนไขที่ประชาธิปัตย์ต้องการเดินหน้าเพื่อเข้าไป “ปลดล็อก” รัฐธรรมนูญ เพื่อปรับเปลี่ยนกติกาที่มีผลต่อคะแนนเสียงเลือกตั้ง


          หรือกระทั่งเงื่อนไขที่ 3 เรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ยังถูก “ตีความ” ในกรณีของ ร.อ.ธรรมนัสอย่างไร เมื่อรมช.เกษตรฯ ออกมายืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการกักตุนหน้ากากอนามัย คงเหลือเพียงคำชี้แจงในประเด็นที่ฝ่ายค้านตรวจสอบประวัติที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ซึ่งเป็นประเด็นที่ ร.อ.ธรรมนัสออกมาปฏิเสธเช่นกัน


          สุดท้ายแล้วแรงกระเพื่อมในประชาธิปัตย์ กำลังถูกท้าทายในเงื่อนไขเข้าร่วมรัฐบาลทั้ง 3 ข้อ จะได้ข้อสรุปเช่นเดียวกับมติวันที่ 4 มิถุนายน หรือไม่ เพราะทุกการตัดสินใจหลังจากนี้ มีผลต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ทั้งสิ้น.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ