คอลัมนิสต์

เส้นทางศาล รธน.ยุคเปลี่ยนผ่าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เส้นทางศาล รธน.ยุคเปลี่ยนผ่าน คอลัมน์...  Special Report

 

 


          ที่สุดแล้วที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก มีมติคัดเลือกให้นายวรวิทย์ กังศศิเทียม เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ แทนที่นายนุรักษ์ มาปราณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนปัจจุบัน ที่จะพ้นวาระภายหลังดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2551 ก่อนได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ 21 พฤษภาคม 2557

 

อ่านข่าว...  เปิดประวัติ' วรวิทย์ กังศศิเทียม' ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่

 

 

          ชื่อนายวรวิทย์ สำหรับตำแหน่งว่าที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามที่มีการคาดหมายว่าเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตที่จะได้รับเลือกเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ชื่อ นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ซึ่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน และนายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ จากวุฒิสภาลงมติโหวตลับ เห็นชอบรายชื่อว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 ราย


          การดำรงตำแหน่งของนายวรวิทย์ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 3 คนในชุดปัจจุบัน ตามบทเฉพาะกาลในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 79 ได้บัญญัติให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งยังไม่ครบวาระตามรัฐธรรมนูญ 2550 และดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้บังคับยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป จนกว่าจะครบวาระตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550


          หมายความว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 คนในชุดปัจจุบัน จะดำรงอยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ 9 ปีนับแต่ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งในช่วงปี 2556-2558 โดยเฉพาะนายวรวิทย์จะดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญคนที่ 10 จนครบวาระ 9 ปีในช่วงปี 2566


          จากนี้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ จะแจ้งผลให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เพื่อให้ประธานวุฒิสภานําความขึ้นกราบบังคมทูล เพื่อทรงแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 204


          แน่นอนว่าภายหลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ และกำลังถูกเฝ้ามองในการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ในช่วงที่นายวรวิทย์ดำรงตำแหน่งจนถึงปี 2566 จะมีทิศทางอย่างไร โดยเฉพาะคดีทางการเมืองหลายคดีที่ถูกส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะอยู่ในอำนาจขั้นตอนการพิจารณาที่กำหนดไว้ตามกระบวนการ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561

 



          โดยคดีสำคัญล่าสุดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ พร้อมตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค ห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี ทำให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีหลายฝ่ายกดดันกลับไปที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ภายหลัง “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นให้ตรวจสอบ 32 พรรคการเมือง มีการกระทำใกล้เคียงกับการกู้ยืมเงินของพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ จากสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญมีบรรทัดฐานคำวินิจฉัยในครั้งนี้


          นอกจากนี้ยังมีคำร้องอดีตพรรคอนาคตใหม่ยื่นคำร้องผ่านประธานสภาไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้ตรวจสอบการเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น ในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ของ 41 ส.ส.ฝั่งรัฐบาลว่าขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่ โดยเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้วินิจฉัยเหลือ 32 คน แต่ไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยพบว่า 32 ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลมาจากพรรคพลังประชารัฐ 21 คน ประชาธิปัตย์ 8 คน ประชาภิวัฒน์ 1 คน รวมพลังประชาชาติไทย 1 คน และชาติพัฒนา 1 คน


          ขณะเดียวกันฝั่ง ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เคยยื่นคำร้องต่อประธานสภาไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยคุณสมบัติความเป็น ส.ส.ของ 32 ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน เข้าข่ายถือหุ้นในบริษัทที่จดทะเบียนกำหนดวัตถุประสงค์ประกอบกิจการสื่อหรือไม่เช่นกัน ประกอบด้วย พรรคอนาคตใหม่ 20 คน เพื่อไทย 4 คน เพื่อชาติ 4 คน เสรีรวมไทย 3 คน และประชาชาติ 1 คน โดยคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติรับคำร้องไปเมื่อ 4 กันยายน 2562


          การเปลี่ยนผ่านตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระหว่างชุดปัจจุบันและว่าที่ตุลาการชุดใหม่ จะเป็นช่วงรอยต่อสำคัญในการทำหน้าที่องค์คณะตุลาการ เพื่อพิจารณาคดีที่เข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด ซึ่งคำร้องในคดีทางการเมือง ล้วนแล้วส่งผลต่อสถานภาพ “ผู้ถูกร้อง” ทำให้ทุกคำวินิจฉัยภายหลังจากนี้ ย่อมมีผลไปถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่น่าจับตามอง ตลอดการทำหน้าที่ขององค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมในยุคผลัดใบ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ