คอลัมนิสต์

เปิด..บันทึก ภารกิจอู่ฮั่นฉบับ Uncut กับ ฉากที่คนไทยไม่รู้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดบันทึก..ไม่(ลับ) ภารกิจอู่ฮั่นฉบับ Uncut กับ ฉากที่คนไทยไม่รู้ #รวบรวมเหล่าผู้กล้า

 

 

            ด้วยความวิตกกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ที่ระบาดหนักในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ จนกระทั่งทางการจีนประกาศปิดเมือง จึงเริ่มเกิดความกังวลต่อพลเมืองของตนเองที่ยังติดค้างในเมืองที่เป็นศูนย์กลางการระบาดของโรคอุบัติใหม่ หลายๆประเทศ รวมทั้งประเทศไทยจึงเรียกร้องให้รัฐบาลบินไปรับพลเมืองของประเทศตัวเองกลับสู่มาตุภูมิ

 

อ่านข่าว :  ญี่ปุ่นเตือนโควิด-19 แพร่ระยะใหม่ แนะเลี่ยงฝูงชน-รถไฟแน่น

 

        ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในหลายๆ สื่อรวมทั้งนักวิชาการต่างๆ ที่กังวลกับการตัดสินใจของรัฐบาลในครั้งนี้ แต่ที่สุดแล้วสถานการณ์ที่ตึงเครียดทำให้ต้องตัดสินใจโดยเร็วที่สุด และนั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของภารกิจ “บินไปรับคนไทยบ้าน” ที่จะต้องไปรับคนไทยกลับมาสู่มาตุภูมิโดยเร็วที่สุด เกิดเป็นทีมเฉพาะกิจที่มาจาก 3 กระทรวง 7 หน่วยงาน ทั้งราชการและเอกชน รวบรวมทีมเวิร์คที่ดีที่สุดในเวลานั้นขึ้นมา ความยากของภารกิจนี้อยู่ที่เงื่อนไขของเวลา เพราะไม่รู้ว่าจะได้ไปเมื่อไหร่ รู้เพียงว่าต้องเร็วที่สุด เนี้ยบที่สุด และปลอดภัยที่สุด ทั้งทีมที่จะไปรับ และคนไทยที่จะกลับมาพร้อมกับเรา เราเริ่มคุยและวางแผนร่วมกันแม้จะยังไม่รู้กำหนดการเดินทาง

 

          “สรุป เดินทางวันไหนพี่”

         “เร็วสุด ไม่คืนนี้ ก็พรุ่งนี้เช้า ช้าสุดไม่เกินวันที่ 4”

         เราจำเป็นต้องทำแผนให้ยืดหยุ่นมากที่สุด กระชับที่สุด และจะต้องพร้อมอย่างเต็มที่หากจะต้องเดินทางในวันรุ่งขึ้น ทีมต้องแม่นยำ เพื่อให้ภารกิจสำเร็จ

        โจทย์ที่ได้รับมาดูเหมือนจะง่ายแต่ไม่ง่าย ด้วยเงื่อนไขและข้อจำกัดหลายๆอย่าง ทั้งการปิดเมือง ระงับการเดินทางสาธารณะทั้งหมด รวมไปถึงปิดน่านฟ้าเมืองอู่ฮั่นอีกด้วย ทำให้เราต้องตัดตัวเลือกออกที่ละอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องบินทหาร C130 ซึ่งติดปัญหาเรื่องที่นั่งเพราะไม่มีผนังกั้นห้องสำหรับแยกผู้ป่วย และยังใช้เวลาในการบินนานถึง 5 ชม. รวมทั้งเครื่องบินพาณิชย์อื่นๆ ได้แก่ สายการบินไทย และไทยสมายล์ ที่ไม่มีเส้นทางการบินมายังเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเงื่อนไขนี้ทางการจีนได้ร้องขอให้เป็นเครื่องบินพาณิชย์ที่มีเส้นทางการบินมายังเมืองอู่ฮั่นอยู่แล้ว เพราะนักบินจะคุ้นชินกับสนามบินอู่ฮั่นเป็นอย่างดี และความคล่องตัวในหลายๆอย่าง ในที่สุดสายการบินแอร์เอเชียจึงเป็นทางเลือกเดียว ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีเมื่อทางสายการบินแอร์เอเชียเองก็ยินดีที่จะลงเรือลำเดียวกันในภารกิจนี้       

         

          29 ม.ค. 2563 เสียงโทรศัพท์ดังขึ้น ยังบ้านของคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ซึ่งเจ้าของเสียงคือคุณหมอนักประสานสิบทิศ ผู้ที่ได้รับฉายา “จูล่ง แห่งกรมควบคุมโรค” หนึ่งในคณะทำงานที่ทำหน้าที่ประสานงานทั้งหมดในภารกิจชาติในครั้งนี้

           “คุณคิดยังไงถ้ารัฐบาลจะไปรับคนไทยกลับจากอู่ฮั่น?”

           “รับทราบครับ แล้วตอนนี้เรามีอะไรในมือบ้าง?”

           คุณหมอหนุ่มถามกลับไปด้วยความมั่นใจว่าสิ่งที่ได้รับมอบหมายคงหนีไม่พ้น ช่วยวางแผนและกำหนดยุทธวิธีในภารกิจนี้

           “เท่าที่รู้คือ มีคุณนี่แหละที่ต้องไปกับเครื่องบินลำนี้”

           สีหน้าของคุณหมอหนุ่มดูตื่นเต้น เมื่อสิ่งที่เขาคาดเดาเอาไว้กลับไม่เป็นตามนั้น แต่กลับได้รับมอบหมายให้เป็นผู้วางแผนและทำภารกิจที่สำคัญนี้แทน

           “งั้นผมไปขอ Visa ก่อนนะ”

           Visaที่บอกไม่ใช่อะไร แต่คือการขอความเห็นชอบจากภรรยา เพื่อไปทำภารกิจครั้งนี้ และแน่นอนที่สุด หลังจากที่เขาได้เอ่ยปากกับหญิงสาวผู้มีอิทธิพลในชีวิตมากที่สุดเขาก็ได้รับข่าวดีว่า “ Visa ผ่าน”

           ในที่สุดการรวมทีมจึงเกิดขึ้นซึ่งเหล่าผู้กล้าทุกคนที่ได้รับมอบหมายภารกิจนี้ต่างไปรวมตัวกันที่ #สถาบันบำราศนราดูร เพื่อหารือและทดสอบการใส่ PPE-Full Cover โดยมีทีม ICN (Infection Control Nurse) ระดับตำนานเป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด

 


              ที่นั่นคุณหมอหนุ่มได้พบกับสหายร่วมรบที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดีอีก 5 คน หลังจากที่เคยร่วมผจญภารกิจเพื่อเยียวยาภัยพิบัติร่วมกันในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทุกคนทักทายกันอย่างสนิทสนมด้วยบรรยากาศเดิมๆ เพื่อหารือแนวทางปฏิบัติและซักซ้อมกันถึงการเตรียมพร้อมทุกอย่าง ซึ่งเมื่อตัวท็อปของวงการการแพทย์ฉุกเฉินระหว่างประเทศ ได้รวมตัวกันเป็น “อเวนเจอร์ทีม” แล้ว ความมั่นใจที่จะทำให้ภารกิจนี้สำเร็จจึงมีมากขึ้น เพราะเหล่าผู้กล้าทีมนี้ ไม่พูดเยอะ แค่มองตาก็รู้กันว่าต้องทำอะไร

           หนึ่งในการทดสอบเพื่อเตรียมความพร้อมในภารกิจครั้งนี้คือ ต้องให้แน่ใจว่าทุกคนในทีม จะสามารถใส่ PPE – Full Cover ชุดอวกาศพร้อมทั้ง N95 และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ต้องทดสอบด้วยว่า ถ้าสวมและออกแรงได้ด้วย เรายังจะปกติกันอยู่ไหม จึงต้องทดสอบเดินขึ้นลงบันได 6 ชั้น แต่สุดท้ายก็สามารถผ่านไปได้ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่แค่ทีมแพทย์เท่านั้นที่ต้องใส่ชุดอวกาศ แต่ทั้งกัปตัน ลูกเรือ และเจ้าหน้าที่กงสุลที่ไปร่วมปฏิบัติการทุกคนก็ต้องใส่ชุดเช่นเดียวกัน ซึ่งต้องใส่ตลอดเวลาตั้งแต่บนเครื่องจนกระทั่งส่งกลุ่มคนไทยกลับบ้านเข้าที่พัก

 

เปิด..บันทึก ภารกิจอู่ฮั่นฉบับ Uncut กับ ฉากที่คนไทยไม่รู้

 

           “โอเค เราสามารถทำงานในชุดนักบินอวกาศนี้ได้ เป็นอันว่า เราปฏิบัติภารกิจนี้ได้สบายแล้ว”

           #ทำไมถึงต้องบ้านพักรับรองของทหารเรือ

          บ่ายวันต่อมา ทีมภารกิจได้รับคำสั่งให้เข้าประชุมด่วนเพื่อวางแผนเตรียมการปฏิบัติการ การเคลื่อนย้ายทางอากาศ และแนวทางการปฏิบัติการภาคพื้นดิน อีกครั้งซึ่งจำเป็นจะต้องได้ข้อสรุปเรื่องสถานที่พักให้กลุ่มคนไทยที่รับกลับมาจากอู่ฮั่น โจทย์คือ ต้องปลอดภัย และต้องสร้างความมั่นใจอย่างสูงสุด คนไทยกลับบ้าน กลุ่มนี้ พวกเค้าอาจติดเชื้อโรคหรือไม่ติดเชื้อ แต่ต้องยอมรับว่าคนไทยกลุ่มนี้อาจสร้างความกังวลให้กับชุมชนรอบข้างที่พัก เหมือนเช่น ข่าวการชุมชุมประท้วงและเหตุรุนแรงในหลายประเทศ ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ และที่สำคัญการเลือกพี่พักของคนไทยกลับบ้าน จะเป็นเหตุผลหลักในการเลือกท่าอากาศยานที่เครื่อง A320 จะลงจอด ซึ่ง ณ เวลานั้นพวกเราเองยังไม่รู้กำหนดการเดินทางที่แน่นอนเลย...

          “ถ้าลงที่ดอนเมือง เราจะให้เค้าไปพักที่ไหน”

          หนึ่งในคณะทำงานตั้งคำถามขึ้นกลางที่ประชุม

          “โรงพยาบาลทุ่งสีกันดีไหม”

          “แต่มันอยู่กลางชุมชนเกินไป ไม่น่าจะเหมาะนะครับ”

          ความเห็นนี้ทำเอาทุกคนต้องกลับมาหารือกันใหม่

          “งั้นไปโรงพยาบาลสระบุรีแล้วกัน”

          “นั่นก็หมายความว่าเราต้องให้ทุกคนนั่งรถทางไกลไปต่อถึงสระบุรี คงไม่เซฟเท่าไหร่นะครับ”

          ทุกคนพยักหน้าเห็นด้วยกับความเสี่ยงนี้ จนกระทั่งเราได้คำตอบสุดท้ายที่ดูจะเป็นไปได้มากที่สุด

          “งั้นไปที่อู่ตะเภาดีไหมครับ”

          ในที่สุดที่พักของคนไทยจากอู่ฮั่นจึงจบที่บ้านพักรับรองของทหารเรือที่ อ.สัตหีบ สถานที่ที่พร้อมที่สุดที่หาได้ในตอนนี้ และแล้วจึงได้มีการประสานงานไปทางกองทัพเรือ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี

          ขณะที่ทุกฝ่ายต่างแยกย้ายกันไปเตรียมความพร้อมตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย คุณหมอเวชศาสตร์ฉุกเฉินผู้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมทีม ยังคงนั่งวางแผนการทำงานบนเครื่องบิน เขาออกแบบการปฏิบัติงาน 6-7 แบบ เผื่อไว้หากเกิดความผิดพลาดใดๆ จะสามารถปรับแผนในการทำงานได้ทันท่วงที

          “ผมคงต้องเตรียมเครื่องมือขึ้นเครื่องไปให้พร้อม”

          “คุณอยากได้อะไรบ้าง”

          “ผมอยากได้ทุกอย่างเท่าที่รถพยาบาลคันหนึ่งจะมี อุปกรณ์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน เวชภัณฑ์โรคทั่วไป รวมทั้งอุปกรณ์ควบคุมโรคต่างๆ เผื่อสำหรับทีมกงสุล และ ทีมแอร์เอเชียด้วย”   

 

            คุณหมอคนเดิมใช้เวลาทั้งวันไปกับการหาข้อมูล สนามบินอู่ฮั่นเป็นอย่างไร เครื่องบิน A-320 เป็นอย่างไร ระเบียบการบินพลเรือนระหว่างประเทศว่ามีอะไรที่ต้องระวังบ้าง การควบคุมโรคในพื้นที่ปิด การดูแลภาวะฉุกเฉินทางกาย การดูแลภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพจิต และอีกสารพัด จนในที่สุดได้แผนปฏิบัติการ ที่พร้อมปรับได้ตลอดเวลา ทันทีที่มีข้อมูลใหม่ๆ พร้อมด้วยรายการอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ฉุกเฉิน มากพอที่จะทำการฟื้นคืนชีพขั้นสูงสุดได้ 2 เคส เวชภัณฑ์ตรวจรักษาโรคทั่วไป รวมทั้งอุปกรณ์ควบคุมโรคต่างๆ เพื่อใช้สำหรับทีมกงสุล และทีมแอร์เอเชียด้วย

          “เอาล่ะ ผมได้รถพยาบาลบนเครื่องบินแล้ว 1 คัน เท่านี้ก็น่าจะพอแล้ว”

     

 
           

          เขาพึมพำขึ้นด้วยความพอใจ กับรายการที่เรียบเรียงมา ด้วยความเหนื่อยล้ากับอีกวันที่เวลางวดเข้ามาทุกที

          รุ่งขึ้น ทีมภารกิจมีการประชุมด่วนเป็นครั้งที่ 2 “นี่น่าจะเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย เราจะสรุปทุกขั้นตอนกันใน

          วันนี้ เราได้รับสัญญาณไฟเขียวมาจากทางจีนแล้ว ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด เราจะออกเดินทางวันที่ 4 กุมภานี้”

          ผู้บริหารระดับสูงผู้เป็นประธานในที่ประชุมเอ่ยขึ้น ขณะที่ทุกคนต่างพากันตื่นเต้นกับภารกิจที่กำลังจะเริ่มขึ้น หากแต่เป็นความตื่นเต้นที่เต็มไปด้วยความเครียด และอยู่ภายใต้ความกดดันของเวลาที่กระชั้นขึ้นมาทุกที เรารู้เพียงแค่ว่า เราจะต้องทำทุกอย่างให้ดีที่สุด       

           เช้าวันรุ่งขึ้นเป็นอีกวันที่แสนยาวนานสำหรับการประชุมซักซ้อมเตรียมปฏิบัติงานตามแผนที่ทุกฝ่ายได้วางไว้ ซึ่งเราได้มือประสานงานขั้นเทพ จากกรมการกงสุล 2 ท่าน มาร่วมทีมซึ่งอยู่ร่วมภารกิจกับเราจนสุดทาง

         

        ทีมงานทั้ง16 คน ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนรวมทั้งนักบินและลูกเรือ ที่ร่วมทีมในภารกิจนี้ มีการสรุปขั้นตอนการปฏิบัติแบบละเอียดยิบ เป็นแผนที่ผสมกันอย่างลงตัวระหว่างแผนของสายการบิน และแผนทางการแพทย์ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการผิดพลาด ตั้งแต่ก่อนขึ้นเครื่อง จนเครื่องลงจอดที่อู่ฮั่น การประสานงานกับท่าอากาศยาน เตรียมอุปกรณ์ตั้งจุดคัดกรอง การลงทะเบียนตรวจสอบรายชื่อผู้เดินทาง การคัดกรองและทำความสะอาด รับเลขเก้าอี้โดยสาร จนผู้โดยสารขึ้นมาบนเครื่อง

          “โทรศัพท์ ไอแพด ไอโฟน ของผู้โดยสาร เอาไงดีพี่”

          “เก็บรวมไว้ก่อน เพราะเราทำความสะอาดฆ่าเชื้อบนเครื่องบินไม่ได้”

          นี่เป็นข้อสรุปสั่งการจากหัวหน้าทีมแพทย์ ซึ่งพวกเราเองก็ไม่รู้ว่าเรื่องนี้จะกลายเป็นมาดราม่าไม่คืนโทรศัพท์ ในเวลาต่อมา!!

          ทีมแอร์เอเชียเริ่มซักซ้อมการทำงานอย่างเป็นขั้นตอนตามที่ได้มีการวางแผนไว้ ซึ่งทุกคนในทีมต้องตั้งแถวตามตำแหน่งที่ได้รับมอบหมาย ก่อนที่จะเริ่มทดสอบกระบวนการทั้งหมด พร้อมกับจับเวลาไปด้วย ซักซ้อมขั้นตอนการ Screen & Clean ทั้ง 6 ขั้นตอน ตั้งแต่ผู้โดยสารรับเลขที่เก้าอี้นั่ง จนเข้าสู่ Cabin แล้วนั่งรอ

          เราจินตนาการไปจนถึงสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งหมดตลอดระยะเวลาการรอและระหว่างการเดินทาง ซึ่งจากข้อมูลที่ได้มาล่าสุดในขณะนั้น เรามีผู้เดินทางมากกว่า 150 คน และมีช่วงเวลาทำงานภาคพื้นเพียง 5 ชม.เท่านั้น ซึ่งเราซ้อมทุกขั้นตอนปฏิบัติงานอย่างสมบูรณ์ที่สุด พร้อมจับเวลา คำนวณเวลาที่ดีที่สุด ซึ่งก็พบว่าใช้เวลาเกือบ 6 ชม. เกินกว่าที่เราได้รับอนุญาตให้ทำงานในภาคพื้น

          “ไม่เป็นไร เดี๋ยวเราไปวัดใจกันหน้างาน” คุณหมอหนุ่มรำพึงขึ้นในใจเมื่อเห็นทุกอย่างดูจะลงตัวที่สุดจากความเป็นไปได้ในตอนนี้

          หลังจากทดสอบขั้นตอนทุกอย่างจนเป็นที่น่าพอใจแล้ว ทุกคนจึงได้ไปรวมตัวกันที่สถาบันบำราศนราดูรอีกครั้ง เพื่อจัดเตรียมอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยทางทีมสถาบันบำราศนราดูรได้เตรียมเครื่องป้องกัน PPE Level C – full cover ไว้ให้พวกเราทุกคน โดยจัดแยกเฉพาะบุคคลเอาไว้ ไม่อนุญาตให้สลับสับเปลี่ยนกัน นาทีนี้ รู้สึกเลยว่าทุกคนเหมือนเป็น “นักบินอวกาศ” ที่ได้รับหน้าที่ไปสำรวจดวงจันทร์เลยทีเดียว และแน่นอนกัปตันและลูกเรือก็ต้องมีการฝึกซ้อมการใส่ชุด ถอดชุด การหายใจและใช้ชีวิตอยู่ภายในหน้ากากและแว่นตา ด้วยมาตรฐานเดียวเช่นกัน ซึ่งฝึกซ้อมกันอยู่จนค่ำ ทุกคนต่างตื่นเต้นกับชุดทำงานใหม่ที่เก๋ไก๋กว่าเดิมชุดนี้ ก่อนที่ทุกคนจะแยกย้ายกันกลับไปเพื่อเตรียมพร้อมกับภารกิจสำคัญในวันพรุ่งนี้

          “เจอกันพรุ่งนี้ 05.00 น. ที่ดอนเมืองนะคะทุกคน”

          ทุกคนต่างกลับบ้านไปพร้อมกับความรู้สึกตื่นเต้น และต่างก็ข่มตาหลับได้ยาก เพราะสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ จะเป็นประสบการณ์ชีวิตที่หากได้ยากที่สุดเลยทีเดียว....

           โปรดติดตามตอนต่อไป....

#โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019

#ไวรัสโคโรนา2019 #ไวรัสโคโรนา

#เชื้อไวรัสโคโรนา2019 #กรมควบคุมโรค

#COVID19 #ไวรัสโคโรนา19

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ