คอลัมนิสต์

 เปิดใจ ส.ส.แม่ลูกอ่อน 'ศิลัมพา'เหตุใดยอม'ปั๊มน้ำนม'กลางสภา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดใจ ส.ส.แม่ลูกอ่อน กิ๊ฟ'ศิลัมพา'เหตุใดยอม'ปั๊มน้ำนม'กลางสภา เพราะหนึ่งเสียงของฝั่งรัฐบาล หายไปไม่ได้

       ภาวะรัฐบาลเสียงข้างมาก แต่จำนวน “ส.ส.ในสภาฯ” มีแค่ระดับปริ่มน้ำ ย่อมมีภาพที่ทำให้สังคมได้เห็น ถึง “ภาวะคุมเสียง” ที่ถึงเวลาพิจารณาร่างกฎหมาย หรือ ญัตติ สำคัญ นานๆ ครั้งจะเคยเกิดขึ้นใน “สภาผู้แทนราษฎรไทย” เช่น การต่อคิว ตอกบัตร ออกนอกห้องประชุม ให้ ส.ส. ไปทำธุระส่วนตัว, รับประทานอาหาร หรือ อย่างปรากฎการ “ส.ส.แม่ลูกอ่อน” ต้องนั่งปั๊มน้ำนม กลางห้องประชุมสภาฯ แบบว่านั่งปั๊มน้ำนมไป กดออกเสียง ลงคะแนนไป

         เปิดใจ ส.ส.แม่ลูกอ่อน 'ศิลัมพา'เหตุใดยอม'ปั๊มน้ำนม'กลางสภา

    กับกรณีที่เกิดขึ้น ระหว่างการลงมติ “ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563” วาระสอง และวาระสาม รอบที่สอง และรอบที่สาม ตามคำบังคับของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ ปรากฎการณ์​พยายามคุมเสียงฟากรัฐบาล ไม่ให้ “ต่ำกว่าเกณฑ์กึ่งหนึ่งของส.ส.” ที่มี 498 คน ซึ่งสังคมได้เห็นภาพของ “ส.ส.ศิลัมพา เลิศนุวัฒน์” จากพรรคพลเมืองไทย นั่งปั๊มน้ำนม ฐานะแม่ลูกอ่อน กลางห้องประชุมสภาฯ นั้น

        กลายเป็นคำถามใหญ่ถึงการแบกรับภาระงานในสภาฯ​ นั้น ละเมิดความเป็นส่วนตัวเกินไปหรือไม่

     ย้อนไปเมื่อวันนั้น “ส.ส.กิ๊ฟ-ศิลัมพา” เล่าให้ "ทีมข่าวคมชัดลึก" ฟังว่า ยอมที่จะปั๊มน้ำนมในห้องประชุม เพราะก่อนหน้านี้อาศัยมุมของห้องพยาบาล ที่อยู่ชั้น2 ของอาคารรัฐสภา แล้ววิ่งกลับมาลงคะแนนไม่ทัน เพราะระยะทางไกล เมื่อวันลงมติร่างกฎหมายงบประมาณ เป็นเหตุจำเป็นจริงๆ ที่ไม่สามารถออกจากห้องประชุมได้ แม้แต่จะเข้าห้องน้ำ ที่อยู่ด้านหลังห้องประชุม ยังวิ่งกลับมาลงมติไม่ทัน ดังนั้นภารกิจของความเป็นแม่ ที่ต้องใช้เวลาต่อรอบ 40 -45 นาที จึงเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง หากจะลงมติได้ทัน ตามเวลาที่เรียกลงมติ ที่ใช้เวลานาที ต่อนาที

       “ระหว่างที่ปั๊มน้ำนม เกรงใจ พี่ๆ ส.ส. ที่นั่งอยู่ข้างๆ แต่เขาบอกว่าไม่เป็นไร เข้าใจดี เพราะตอนเด็กเขาเคยช่วยแม่เลี้ยงน้อง แม่ต้องปั๊มนม เหตุผลที่ต้องปฏิบัติภารกิจแม่ลูกอ่อน กลางสภาฯ เป็นเพราะความรับผิดชอบต่องานสภาฯ ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คนที่เป็นแม่ลูกอ่อน ย่อมเข้าใจดีว่า หากไม่ปั๊มน้ำนมตามรอบเวลา จะมีอาการเจ็บบริเวณทรวงอกมาก ส่วนภาพที่ปรากฎออกไป เกิดขึ้นในช่วงพักเบรก และปั๊มเพียงรอบเดียวในวันนั้น ซึ่งปกติแล้วจะมีรอบปั๊มประมาณ 3 ชั่วโมงต่อหนึ่งครั้ง”

     กับภาวะจำยอมที่ต้องปฏิบัติหน้าที่คุณแม่ ทั้งที่ควรเป็นเรื่องส่วนตัวและทำในสถานที่มิดชิด “ศิลัมพา” บอกกับทีมข่าวว่า ที่เลือกทำกลางห้องประชุม เพราะคิดเสมอว่าหน้าที่ของส.ส.ในภาวะเสียงปริ่มน้ำนั้นการรักษาทุกคะแนนเสียงสำคัญ ความมีวินัยและรักษาวินัยของส.ส.คือสิ่งที่ต้องทำไม่ให้บกพร่อง

     และเมื่อเปรียบเทียบกับบทบาทของ “ส.ส.” ที่ก่อนหน้านี้เธอเคยสังกัด ส.ส.พรรคไทยรักไทย เป็นสมัยแรก เมื่อปี 48 สถานะของรัฐบาล คือ เสียงข้างมาก และแข็งแรง

    เปิดใจ ส.ส.แม่ลูกอ่อน 'ศิลัมพา'เหตุใดยอม'ปั๊มน้ำนม'กลางสภา

       เธอเล่าว่า การทำหน้าที่สมัยนั้นสบายๆ เมื่อป่วยสามารถลาหยุดได้ เวลาเข้าประชุมไม่เข้มงวดเหมือนปัจจุบัน ขณะที่การทำงานฐานะส.ส. เน้นการลงพื้นที่ ช่วยเหลือชาวบ้าน

      แต่เมื่อเป็น “ส.ส.สมัยที่สอง” ภายใต้สังกัด พลังพลเมืองไทย และเข้าร่วมรัฐบาลเจอกับภาวะรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ทำให้ต้องแบกรับภาระงานในสภาฯ ที่หนักมากขึ้น มีวินัยมากขึ้น

      เพราะนอกจากบทบาท แม่ และ ส.ส.ที่ต้องคอยเติมเสียงส.ส.รัฐบาลให้ไปรอด ไปพร้อมๆ กันแล้ว เธอยังมีหน้าที่สำคัญ คือ เป็นผู้ตามและคอยเตือน คอยแจ้งเวลาให้กับ ส.ส. กลุ่ม​10 พรรคการเมืองขนาดเล็ก ทั้งการเข้าร่วมประชุม แจ้งเวลาลงมติ หรือ เข้าห้องประชุมเพื่อแสดงตน

     ดังนั้นหน้าที่จับตา ดูความเป็นไป จังหวะเวลาในห้องประชุม ที่ชิงไหวพริบระหว่างฝ่ายค้าน กับรัฐบาล ทำให้ “ศิลัมพา” แทบจะไม่มีโอกาสลุกออกจากห้องประชุมหรือคลาดสายตาจากเกมการเมืองในห้องประชุมสภาฯ ไปได้

     แม้ที่ผ่านการการควบคุมเสียงของ “ฝั่งรัฐบาล” จะพบข้อผิดพลาดบ้าง แต่ที่เห็นคือไม่ใช่ความผิดพลาดที่มาจาก ส.ส.กลุ่มพรรคเล็ก “ศิลัมพา” บอกว่า แม้วิปรัฐบาลจะไม่เคยคาดโทษ หากพบความผิดพลาด แต่หน้าที่และความรับผิดชอบต่องานสภาฯ เป็นสิ่งที่  ส.ส.ทุกคนตระหนัก ว่า นี่คือความรับผิดชอบที่สำคัญ และเธอบอกว่าภูมิใจ

     “ดิฉันจะไม่มีตำแหน่งเป็นกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล แต่จะทำหน้าที่คอยตามพี่ๆ ในกลุ่มพรรคเล็กให้เข้าร่วมประชุม เมื่อถึงเวลาประชุม ลงมติ หรือแสดงตน จะโทรตามพี่ๆ ที่ปฏิบัติภารกิจนอกห้องประชุม เช่น ประชุมกรรมาธิการ กลับเข้าห้องประชุม กับการประสานงานส.ส.รุ่นพี่นี้ ทำให้ตัวเราออกไปไหนไม่ได้ อีกเหตุผลหนึ่งคือ เมื่อทำงานร่วมรัฐบาลแล้วต้องทำงานให้เต็มที่ หากขาดไปแม้เพียงเสียงเดียว ถือว่ามีผลกระทบเยอะ ดังนั้นภาระนี้ถือว่าสำคัญ สิ่งที่ต้องทำสำคัญ คือ พยายามรักษาร่างกายให้แข็งแรง ใส่หน้ากากอนามัยเข้าสภาฯ ช่วงที่มีปัญหาฝุ่นละออง พี่ๆ เขาเคยถามว่าไม่สบายหรือ เราตอบไปว่า พยายามทำให้ตัวเองไม่ป่วย ดูแลตัวเอง เพื่อทำหน้าที่ส.ส.ในสภาฯ อย่างเต็มที่ และป้องกันการติดเชื้อที่อาจส่งผลถึงลูกน้อยด้วย”

     เปิดใจ ส.ส.แม่ลูกอ่อน 'ศิลัมพา'เหตุใดยอม'ปั๊มน้ำนม'กลางสภา

      หน้าที่ของ “ส.ส.แม่ลูกอ่อน” ที่ต้องดูแลงานในสภาฯ​ ดูแลประชาชน และดูแล “น้องดวิน ผันสืบ เลิศนุวัฒน์” ลูกน้อยวัยน่ารัก ที่อายุย่างเข้าเดือนที่ 8 ไปพร้อมๆ กับงานของ “ผู้แทนราษฎร” เจ้าตัวบอกว่าใช้การแบ่งเวลา เมื่อเลิกประชุมจะรีบกลับบ้านเพื่อเลี้ยงลูกเอง ส่วนช่วงที่ปฏิบัติหน้าที่ในสภาฯ หรือพื้นที่มีพ่อ กับ แม่คอยดูแลอยู่ สิ่งสำคัญที่สุดของคนเป็นแม่คือ ทำหน้าที่แม่ ดูแลลูกให้เต็มที่ ส่วนหน้าที่ของส.ส.ต้องทำหน้าที่ผู้แทนให้เต็มที่ ไม่ขาดตกบกพร่องเช่นกัน

     สำหรับงานในสภาฯ ของ “ศิลัมพา” นอกจากจะเห็นภาพในการเข้าประชุมสภาฯ ไม่ขาดแล้ว เธอยังมีบทบาท ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) อีกหลายคณะ ได้แก่ กมธ.การท่องเที่ยว , กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ และกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เหตุผลที่เธอเลือกเข้าไปทำหน้าที่ในกมธ. เหล่านั้น เหตุผลสำคัญ คือ ต้องการทำให้สังคมปลอดภัย เด็ก เยาวชน เติบโตอย่างมั่งคง และต้องการทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ดีเพื่ออนาคตของลูกหลาน

    กับเรื่องที่เธอผลักดันในสภาฯ คือ การจัดพื้นที่ในอาคารรัฐสภา ให้เป็นห้องเพื่อคุณแม่ ดูแลลูกน้อย ที่กระเตงมาทำงานในรัฐสภา ทั้งห้องปั๊มน้ำนม ซึ่งบุคคลทั่วไป, ส.ส., ข้าราชการ เจ้าหน้าที่งานรัฐสภา รวมถึงสื่อมวลชน สามารถเข้าใช้ได้ รวมถึงทำเนอสเซอรี่ แคร์ ภายในอาคารรัฐสภา

   ขณะที่งานในบทบาทของกมธ.การท่องเที่ยว คือการผลักดันแนวทางช่วยเหลือนักท่องเที่ยว ธุรกิจท่องเที่ยว รับประเด็นปัญหาเพื่อแก้ไข ซึ่งเป็นงานส่วนสำคัญที่เข้าไปคลี่คลาย และทำให้ภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของไทย ที่บางเรื่องต้องอาศัยการประสานงานกับหน่วยงานราชการ ทำได้คล่องตัวและเกิดความเข้าใจอันดีของมิตรจากต่างประเทศ

      อย่างไรก็ดีแม้บทบาทของงานในสภาฯ​ ที่เป็นภาพเบื้องต้นของการ “คุมเสียงส.ส.ฝั่งรัฐบาล” ที่มีภาวะปริ่มน้ำ จะมีน้อยคนในสังคมวงกว้างที่รู้ เพราะส่วนใหญ่จับจ้องไปที่ภาพความขัดแย้ง วิวาทะ และการเล่นเกมทางการเมืองในสภาฯ มากกว่า แต่สำหรับคนวงใน อย่าง “ส.ส.กิ๊ฟ” เธอบอกว่า ส.ส.ทุกคนพยายามทำงานให้เต็มที่ ภาพที่ปรากฎของการโต้เถียง เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานในสภาฯ​ที่ต้องหารือกันในบางเรื่องเพื่อให้เกิดข้อสรุปที่ยอมรับร่วมกัน หรือบางครั้งที่มีปัญหาเกี่ยวกับคะแนนลงมติ ซึ่งไร้ข้อสรุปว่าปัญหาเกิดจากบุคคล หรือ อุปกรณ์ลงคะแนน จึงวอนขอให้ประชาชนเห็นใจ ส.ส. เพราะทุกคนทำงานเต็มที่ แม้บางอย่างจะมีภาพ หรือผลที่ไม่น่าพอใจ ต้องขออภัย

   ในภาวะที่ “สภาเสียงปริ่มน้ำ” และการคุมเสียงในสภาฯ อาจจะทำได้กระท่อน กระแท่น การขอความร่วมมือ ส.ส.เพื่อพยุงงานของรัฐบาล ไม่ให้ตกม้าตาย อาจมีอีกหลายครั้งที่ทำให้ “สังคม” เห็นภาพที่แปลกตา ทั้งเสียงของฝั่งฝ่ายค้าน หันมาสนับสนุนรัฐบาล หรือ เสียงของรัฐบาลที่แทบจะลุกออกห้องประชุมไม่ได้

     ถือเป็นภาวะทางการเมืองที่สังคมต้องจับตา ว่า..​ในภารกิจสำคัญของฟากรัฐบาล จะงัดไม้ไหน เพื่อเอาชนะ “เสียงปริ่มน้ำ” ที่แค่เสียงๆ เดียวก็ชี้เป็นชี้ตาย ชะตาทางการเมืองของรัฐบาล ได้แล้ว

   อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ทำหน้าที่เต็มที่ ส.ส.เเม่ลูกอ่อน ปั๊มนมกลางสภา

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ