คอลัมนิสต์

ทำไม...ตรวจไม่เจอไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ "ซ่อนลึก"     

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดยทีมรายงานพิเศษ หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

 

        

           นักวิทยาศาสตร์ประจำห้องแล็บที่ทำหน้าที่ “ตรวจยืนยันไวรัสโคโรน่า” ต่างกุมขมับ หลังพบข้อผิดพลาดจากการตรวจ “กลุ่มเสี่ยง” หลายรายไม่พบ..แต่พอปล่อยกลับบ้านไปไม่นานกลายเป็นว่ามีเชื้อไวรัสร้ายตัวนี้ซ่อนอยู่ ...ทั้งที่บางคนถูกตรวจซ้ำไปแล้วหลายรอบ !?!

 

 

               ผ่านไปเดือนกว่าตัวเลขยอดตัวเลขผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจาก “โรคปอดอักเสบรุนแรง”ด้วยเชื้อ “ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019” (19-nCoV) ยังไม่หยุดนิ่ง ยอดติดเชื้อในจีนเกือบ  6 หมื่นคนแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น มีผู้เชี่ยวชาญหลายรายประเมินว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อข้างต้นอาจน้อยเกินไป เพราะมีข้อมูลว่า “การตรวจวิเคราะห์เพื่อบ่งชี้เชื้อโคโรน่าไวรัส 2019” อาจมีความผิดพลาด ทำให้ผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มน่าสงสัยต้องเฝ้าระวังถูกปล่อยออกไป ทั้งที่มีเชื้อตัวนี้อยู่ในร่างกายและพร้อมจะแพร่กระจายให้ผู้อยู่รอบข้าง

 

 

 

             “ไชนา เดลีย์” รายงานเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า พบผู้ป่วยรายหนึ่งในกรุงปักกิ่งมีอาการน่าสงสัย แต่ผลการตรวจหาสารพันธุกรรมไวรัส ปรากฎว่าเป็น “ลบ” หมายถึง “ตรวจไม่พบเชื้อไวรัสโคโรน่า” แม้จะทำการตรวจซ้ำถึง 3 ครั้งก็ตาม โดยใช้วิธีมาตรฐานที่กำหนดไว้ คือการใช้ “ไม้ป้ายคอ” กวาดตัวอย่างสารคัดหลั่งจากลำคอหรือ “ระบบทางเดินหายใจส่วนบน” (Throat swab): เพื่อนำไปตรวจหาสารพันธุกรรม

 

        เมื่อผลออกมาว่า “ตรวจไม่พบ” ทีมแพทย์ของโรงพยาบาลก็ยังไม่สิ้นสงสัย เพราะพิจารณาจากอาการผู้ป่วยรายนี้แล้ว มีลักษณะของ “โรคปอดอักเสบรุนแรง” หรือเป็นผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 อย่างแน่นอน  จึงเปลี่ยนไปใช้การตรวจจาก “ระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง” ถึงยืนยันได้ว่ามีเชื้อร้ายตัวนี้จริง หลังจากนั้นทีมแพทย์ได้ออกประกาศเตือนและเพิ่มมาตรการตรวจโรคและกักแยกผู้ป่วยอย่างเข้มงวดกว่าเดิม 

 

 

 

            “กัวะ ซานเฉิง” (Gao Zhancheng) หัวหน้าแผนกดูแลผู้ป่วยวิกฤติและทางเดินหายใจ โรงพยาบาลประชาชนมหาวิทยาลัยปักกิ่ง  กล่าวยอมรับว่าผลการตรวจหาสารพันธุกรรมไวรัสโคโรน่าในตัวผู้ป่วยที่น่าสงสัยแต่ละรายนั้น ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างเพื่อให้เกิดความแม่นยำ เช่น ต้องรอจนมีอาการป่วยรุนแรง ต้องใช้วิธีการเก็บตัวอย่างที่ถูกต้อง ต้องตรวจโดยห้องแล็บที่ได้มาตรฐาน ฯลฯ

 

            ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคติดเชื้อ อธิบายถึงสาเหตุที่ตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรน่าไม่เจอในผู้ติดเชื้อบางรายนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการเก็บ “สารคัดหลั่ง” ไม่ถูกวิธี โดยเฉพาะการใช้น้ำเชื้อที่ได้จากหลอดลมหรือคอหอยส่วนบน ซึ่งมีเซลล์ไวรัสอาศัยอยู่น้อย วิธีที่ถูกต้องคือการใช้เครื่องมือดูดเสมหะหรือสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง หรือจากท่อช่วงหายใจ ซึ่งวิธีนี้ทำได้ยากกว่าเพราะไม่สามารถใช้ไม้ป้ายคอหรือก้านสำลียาว ๆ เข้าไปกวาดออกมาได้ แตกต่างจากการตรวจไวรัสไข้หวัดทั่วไป

 

 

ทำไม...ตรวจไม่เจอไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ "ซ่อนลึก"     

 

 

         “นอกจากต้องเอาสารคัดหลั่งจากระบบหายใจส่วนล่างแล้ว ยังต้องรอจังหวะเวลาที่เหมาะสมด้วย ไม่ใช่ว่าสงสัยแล้วจะตรวจเจอเลย เพราะช่วงแรกที่ผู้ป่วยติดเชื้อนั้นจำนวนไวรัสโคโรน่าอาจยังไม่มากพอ ทำให้ไม่มีอาการ ต้องรอประมาณ 7 วัน จนเริ่มมีอาการไข้ ไอและมีเสมหะออกมามากเพียงพอ บางครั้งคนที่มีเสมหะเยอะอาจใช้เวลาไม่กี่วันก็ตรวจเจอ แต่ถ้าผู้ติดเชื้อไม่มีอาการจนผ่านไป 14 วัน ไม่ไอ ไม่มีเสมหะ ก็แปลว่าไม่น่าจะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าปลอดภัยไม่แพร่เชื้อร้อยเปอร์เซ็นต์ เพียงแต่มีโอกาสน้อยมาก”

 

         แพทย์ผู้เชี่ยวชาญข้างต้นอธิบายต่อว่า เมื่อได้สารคัดหลั่งแล้ว ต้องเก็บและนำส่งห้องแล็ป เพื่อตรวจวิเคราะห์สารพันธุกรรมด้วยเทคนิค Real-Time RT-PCR ว่าได้ “ผลลบ” หรือ “ผลบวก” ถ้าผลบวกคือเจอไวรัสโคโรน่า 2019

 

 

          ทั้งนี้ สารคัดหลั่งที่ได้จาก “ระบบทางเดินหายใจส่วนบน” (upper respiratory tract, URI) หมายถึงได้จากอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการหายใจเหนือกล่องเสียงขึ้นไป น้ำมูกจากจมูก เสมหะจากบริเวณคอหอย ฯลฯ ส่วนสารคัดหลั่งจาก “ระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง” (lower respiratory tract, LRI)  เช่นเสมหะที่ได้จากหลอดคอหรือหลอดลม

 

ทำไม...ตรวจไม่เจอไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ "ซ่อนลึก"     

 

 

          โดยสารคัดหลั่งที่ได้มาจะถูกส่งไปยังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่มีเครือข่ายห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในกรุงเทพฯและในส่วนภูมิภาค14 แห่ง ที่ให้บริการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคนิค  Real-Time RT-PCR โดยรู้ผลตรวจได้ภายใน 3 ชั่วโมง

     

          เนื่องจาก เชื้อไวรัสรายตัวนี้ ซ่อนตัวได้ลึกลับ การเก็บตัวอย่างมาตรวจจึงต้องทำหลายครั้ง ขณะเดียวกันก็มีข่าวลือว่า กลุ่มผู้น่าสงสัยที่ผ่านการตรวจว่า “ไม่ติดเชื้อ” หลายคน อาจเป็นเพียง “ไม่พบเชื้อ” เพราะหาไม่เจอเท่านั้น ทำให้กลุ่มนี้กลายเป็นพาหะแพร่ไวรัสร้ายนี้ออกไปโดยไม่รู้ตัว นั่นอาจเป็นอีกหนึ่งในสาเหตที่ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ในจีนพุ่งไปกว่า  4 หมื่นราย

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ