คอลัมนิสต์

เปลี่ยนผ่านศาลรธน.  ชี้ชะตา 'อนาคตใหม่'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปลี่ยนผ่านศาลรธน.  ชี้ชะตา 'อนาคตใหม่'

 

 


          ยิ่งใกล้ 21 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันตัดสินคดียุบพรรคอนาคตใหม่มากเท่าไร ก็เริ่มปรากฏความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีความเชื่อมโยงและมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ภายหลังวุฒิสภาเพิ่งมีมติให้ความเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 4 คน ประกอบด้วย 1.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกา 2.นายวิรุฬ แสงเทียน ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา 3.นายจิรนิติ หะวานนท์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา 4.นายนภดล เทพพิทักษ์ อดีตรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ จากผู้ที่ผ่านการสรรหาจำนวน 5 คน

 

อ่านข่าว... ลุ้นคดียุบพรรคไปด้วยกันอนาคตใหม่ถึงถึงขั้นแจกยาดม
 

 

 

          การเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้นับว่ามีนัยทางการเมืองพอสมควร กล่าวคือ กว่าที่วุฒิสภาจะสามารถลงมติให้ความเห็นชอบได้เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ปรากฏว่าที่ประชุมวุฒิสภาต้องมีมติขยายเวลาการทำงานให้แก่คณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อฯ ที่มี พล.อ.อู้ด เบื้องบน ส.ว. เป็นประธานมาแล้วถึง 4 ครั้ง


          ขณะเดียวกัน ว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนั้นจะเข้ามาแทนที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเดิมที่มีบทบาทสำคัญในการพิจารณาคดีทางการเมืองหลายคดีที่ผ่านมา ได้แก่ นายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาล นายชัช ชลวร นายบุญส่ง กุลบุปผา นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี และนายจรัญ ภักดีธนากุล ซึ่งจริงๆ แล้วจะต้องพ้นจากตำแหน่ง แต่มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ระงับการสรรหา ทำให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 5 คนได้ทำหน้าที่ต่อจนถึงปัจจุบัน


          เมื่อหนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ต้องพ้นจากตำแหน่งมีประธานศาลรัฐธรรมนูญรวมอยู่ด้วย ทำให้จะต้องมีการประชุมร่วมกันระหว่างตุลาการศาลรัฐธรรมนูญปัจจุบันจำนวน 4 คน กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ 4 คน เพื่อเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่แทนประธานศาลรัฐธรรมนูญที่พ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561


          อย่างไรก็ตาม แม้วุฒิสภาจะให้ความเห็นชอบว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 4 คนไปแล้ว แต่ยังต้องรอให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวลาออกจากทุกตำแหน่งภายใน 15 วัน จึงเท่ากับว่าคดีการยุบพรรคอนาคตใหม่ยังคงอยู่ในมือของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันทั้ง 9 คนตามเดิม ด้วยเหตุนี้ทำให้ ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ออกมาระบุว่าคดียุบพรรคอนาคตใหม่อาจเป็นงานทิ้งท้ายของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่กำลังพ้นจากตำแหน่งทั้ง 5 คน




          "ก่อนหน้านี้เคยมีการวิเคราะห์กันว่าการตัดสินคดีในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ก็เพื่อสกัดไม่ให้ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ ต่อมามีการวิเคราะห์อีกว่าที่ต้องตัดสินวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ก็เพราะมาพัวพันกับการที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ 5 ท่านอาจจะเข้าไปแทนรายชื่อเดิม ดังนั้น หากเป็นไปตามที่ผู้สื่อข่าวได้วิเคราะห์ ก็เป็นไปได้ว่า 5 ท่านที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่งจะตัดสินคดียุบพรรคอนาคตใหม่เป็นคดีสุดท้ายก่อนพ้นจากตำแหน่งหรือไม่" ข้อสังเกตจากเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่


          พรรคอนาคตใหม่ยังคงมีความพยายามทุกวิถีทางในการต่อสู้คดียุบพรรคอนาคตใหม่ทุกประตู โดยเฉพาะกับการยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเปิดการไต่สวน เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจตามกฎหมายเรียกร้องเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่พิจารณาคดีนี้มาให้ข้อมูลต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องนี้ย่อมมีความเป็นไปได้ที่กำหนดการวันที่ 21 กุมภาพันธ์ จะต้องถูกเลื่อนออกไป เพราะต้องฟังข้อมูลจากพยานที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นเข้ามาก่อน


          ไม่เพียงเท่านี้ หากวันตัดสินถูกเลื่อนออกไป แน่นอนว่าย่อมเปิดโอกาสที่ว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะได้เข้าสู่ตำแหน่งอย่างเป็นทางการมากขึ้น ซึ่งหมายความว่าจะเข้ามาร่วมพิจารณาคดียุบพรรค ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการช่วยให้พรรคอนาคตใหม่มีเวลาต่อสู้คดีได้มากขึ้น


          ดังนั้นระยะเวลาที่เหลือจนกว่าจะถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ต้องรอดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีความเห็นต่อคำร้องของพรรคอนาคตใหม่อย่างไร และหากว่าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ย่อมทำให้อนาคตของพรรคอนาคตใหม่อาจเจอจุดเปลี่ยนที่สำคัญเช่นกัน


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ