คอลัมนิสต์

คัมภีร์สื่อจากเหตุความรุนแรง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คัมภีร์สื่อจากเหตุความรุนแรง คอลัมน์... โดย... สถิตย์ ธรรม

 

 

 


          เหตุการณ์นายทหารกลายเป็นคนร้ายยิงกราดประชาชนพื้นที่ จ.นครราชสีมา ทำให้หลายฝ่ายหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในแง่การถอดบทเรียน เนื่องจากมีผู้อยู่ในสถานการณ์หลากหลายวิชาชีพเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องที่จะทำให้ภารกิจคลี่คลายประสบผลสำเร็จหรือสร้างความสูญเสียมากขึ้น

 

อ่านข่าว...  บทเรียนโคราช กสทช.เร่งทำกติกาคุมสื่อล้ำเส้น 

 

 

          หนึ่งในนั้นดูหนีไม่พ้นประเด็นการทำหน้าที่ของ สื่อมวลชน ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความพอเหมาะพอควรต่อการรายงานไลฟ์สด ซึ่งตอนนี้ กสทช. มีการออกคำเตือนทางสถานีโทรทัศน์ สื่อออนไลน์
   

          โดยข้อเท็จจริง ไม่ใช่ครั้งแรกเลยนะครับ ที่มีการกล่าวถึงการถอดบทเรียน หรือมีการกล่าวเตือนสื่อสารมวลชน ผ่านมา พ.ศ.นี้ เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นอีก เพียงแต่ว่าสูญเสียประชาชนจำนวนมาก คำกล่าวเตือน การถอดบทเรียนการทำหน้าที่สื่อมวลชนจึงถูกนำมากล่าวถึงอีกครั้ง ไม่ว่าจะกล่าวเตือนกันอย่างซ้ำซาก แต่การกล่าวเตือนในรอบนี้ผ่านองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสื่อดูจะมีรูปแบบเป็นไปตามมาตรฐานอยู่พอสมควร
   

          เท่าที่… สถิตย์ ธรรม… ติดตามผ่านหน่วยงานภาครัฐ เช่น กสทช. หรือองค์กรวิชาชีพ เช่น สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย รวมถึงนักวิชาการด้านสื่อสารมวชน มีข้อแนะนำการปฏิบัติหน้าที่สื่อออกมา อย่างเช่น กสทช. ขอให้ทุกสถานีให้ความร่วมมือดังนี้ 1.ไม่ควรรายงานสด หรือแสดงข้อมูล กระบวนการ และรายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่ปฏิบัติงานในสถานการณ์นี้ 2.ไม่ควรนำเสนอข้อมูลในสถานที่ที่จะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนโดยรอบ 3.ไม่นำเสนอภาพที่รุนแรง เช่นภาพผู้เสียชีวิต ภาพการยิงอาวุธ เป็นต้น
  

          หรือจดหมายเปิดผนึกจาก สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สื่อถึงเพื่อนร่วมวิชาชีพว่า "การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในการเสนอข่าวในรูปแบบต่างๆ ของเหตุการณ์ควรต้องมีความระมัดระวัง และยึดหลักการนำเสนอข่าวในภาวะวิกฤติทั้งในขณะที่กำลังเกิดเหตุและหลังการเกิดเหตุ ที่การนำเสนอข่าวนั้นจะต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนยืนยันในสิ่งที่ที่เกิดขึ้น ไม่ซ้ำเติมสถานการณ์ หรือเสนอข่าวที่จะก่อให้เกิดอันตรายตัวต่อประกัน และจะต้องไม่ขัดขวางหรือเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ และเคารพในสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ประสบเหตุ”


    

          เช่นเดียวกับฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอความร่วมมือสื่อมวลชน ไม่เผยแพร่แผนปฏิบัติการ ไม่ถ่ายทอดสดการปฏิบัติ ระมัดระวังการสัมภาษณ์ผู้ติดในห้างเทอมินอล 21 ซึ่งอาจจะยังตกอยู่ในอันตรายและมีความเสี่ยง


          มาดูต่างประเทศบ้างเพราะผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงมาหลายครั้งจนถอดบทเรียนและถือปฏิบัติกันไปในทิศทางเดียวกันได้ หนึ่งในนั้นมีทัศนคติของผู้นำประเทศต่างๆ กรณีคนร้ายกราดยิงไม่เลือกหน้า เช่นในปี 2019 เกิดเหตุกราดยิงที่นิวซีแลนด์ นายกฯ ประกาศจะไม่เอ่ยแม้กระทั่งชื่อของคนร้าย เพื่อไม่สนองให้เขามีชื่อเสียง ไม่ส่งต่อแนวความคิดอุดมการณ์ต่อไป
  

          ต่อมาก็มีการรณรงค์งดนำเสนอความรุนแรงผ่าน www.nonotoriety.com ตรงนี้ ปรเมศวร์ มินศิริ แปลมาอีกที จึงขออนุญาตนำมาถ่ายทอด ตอนหนึ่งระบุว่า สื่อมวลชนช่วยลดการทำให้ผู้ร้ายมีชื่อเสียงได้หลายทาง เช่น การกล่าวชื่อคนร้ายเพียงครั้งเดียวในเนื้อข่าวเพื่อเป็นการอ้างอิง และไม่กล่าวให้เด่นเช่นใส่ไว้ในพาดหัวข่าวและไม่ลงรูปของคนร้ายแบบเด่นๆ (ในภาษาอังกฤษจะเรียกตำแหน่งเด่นนี้ว่า above the fold), ปฏิเสธที่จะตีพิมพ์หรืออ่านแถลงการณ์ของคนร้าย พร้อมลงรูปถ่ายหรือวิดีโอ หรือแถลงการณ์ที่ทำโดยคนอื่นแต่สนับสนุนการกระทำของคนร้าย สิ่งที่สื่อมวลชนควรรายงานคือรายงานข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับทัศนคติ พื้นเพ และเจตนารมณ์ของผู้ร้ายแบบไม่เติมสีสันให้การกระทำของคนร้าย และในทางกลับกัน ควรให้น้ำหนักการรายงานผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเหยื่อหรือสดุดีเจ้าหน้าที่เพื่อเป็นการสื่อสารว่าชีวิตของผู้บริสุทธิ์นั้นมีค่ากว่าการกระทำของคนร้าย เมื่อประชาชนกำลังให้ความสนใจต่อข่าวที่น่าสลดใจ สื่อมวลชนจึงควรใช้โอกาสนี้นำเสนอข้อมูลและการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ความปลอดภัยสาธารณะ และผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องที่สามารถสนับสนุนเรื่องราวที่จะช่วยลดเหตุจูงใจในการลุกขึ้นมาก่อเหตุร้ายขึ้นอีกในอนาคต
  

          ไล่เลียงกันดูดีๆ มีข้อเสนอแนะมากมายที่เป็นเรื่องเก่าและใหม่ หากทุกองค์กรสื่อนำชุดความคิดทั้งในและต่างประเทศมาสกัดกันอีกรอบให้เป็นแนวปฏิบัติในการทำหน้าที่สื่อสารมวลชนคงจะดีไม่น้อย
  

          “สำคัญว่า บรรดาสื่อสารมวลชนจะยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดหรือไม่”


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ