คอลัมนิสต์

ตั้ง "ทีมองครักษ์พิทักษ์ผู้นำ"วัฒนธรรมการเมืองคู่ศึกซักฟอก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตั้ง "ทีมองครักษ์พิทักษ์ผู้นำ"วัฒนธรรมการเมืองคู่ศึกซักฟอก คอลัมน์... ล่าความจริง..พิกัดข่าว โดย...  ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์ , ปกรณ์ พึ่งเนตร


 

 

 

          ความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มักเกิดขึ้นควบคู่กับการอภิปรายไม่ไว้วางใจแทบทุกยุคทุกสมัย ก็คือการตั้ง “องครักษ์พิทักษ์นายกฯ” หรือพิทักษ์แกนนำรัฐบาลคนอื่นๆ ที่โดนฝ่ายค้านยื่นอภิปราย

 

อ่านข่าว... ส่ององครักษ์ พิทักษ์รัฐบาล
 

 

 

          ศึกซักฟอกหนนี้ก็เช่นกัน นายสุชาติ ชมกลิ่น ประธาน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ​ ประกาศตัวระดม ส.ส. เพื่อจัดทีมคอยลุกขึ้นประท้วง ชี้แจงข้อเท็จจริงและตอบโต้ฝ่ายค้าน กรณีอภิปรายนอกประเด็น เพื่อตัดบทให้การอภิปรายเข้าสู่สาระสำคัญและสร้างสรรค์จริงๆ โดยเน้นปกป้องนายกฯ และรองนายกฯ ซึ่งหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สองแกนนำสำคัญของรัฐบาล เพื่อไม่ให้ฝ่ายค้านใช้เวทีสภาตีกินรัฐบาลได้


          นายสุชาติ ถึงกับบอกว่าถ้าฝ่ายค้านอภิปรายล่วงล้ำก้ำเกินถึงผู้ใหญ่ 2 ท่านนี้ จะลุกขึ้นประท้วงด้วยตัวเอง แม้ที่ผ่านมาจะไม่เคยลุกขึ้นต่อว่าใครในสภาเลยก็ตาม


          ทีมงานส.ส.ที่นายสุชาติพูดถึงในทางการเมืองเรียกว่า “องครักษ์” ทำหน้าที่พิทักษ์แกนนำรัฐบาลบางคน ถ้าเป็นนายกฯ ก็จะเรียกว่า “องครักษ์พิทักษ์นายกฯ” บางทีก็ใช้ชื่อเลย เช่น “องครักษ์พิทักษ์ชวน” หมายถึงทีมส.ส.ที่ทำหน้าที่ลุกขึ้นประท้วงปกป้อง นายชวน หลีกภัย ในสภา สมัยที่ทำหน้าที่นายกฯ เป็นต้น


          การจัดทีมส.ส.เอาไว้แบบนี้มีในศึกซักฟอกแทบทุกยุคทุกสมัย และส่วนใหญ่จะเป็นการจัดทีม “องครักษ์” เอาไว้ “พิทักษ์นายกฯ” เป็นหลัก เพราะถือว่าเป็นเป้าโจมตีของฝ่ายค้าน เนื่องจากหากนายกฯ ลาออก หรือแพ้โหวต ก็จะส่งผลให้คณะรัฐมนตรี หรือ ครม.ต้องพ้นไปทั้งคณะทันที


          ฉะนั้นนายกฯ จึงกลายเป็น “กล่องดวงใจ” ของรัฐบาล และต้องจัดทีม “องครักษ์พิทักษ์นายกฯ” กันตลอด จนบางครั้งเหมือน “ไข่ในหิน”


          การจัด “ทีมองครักษ์” เฟื่องฟูเป็นพิเศษในยุครัฐบาลเลือกตั้ง เพราะถ้าเป็นรัฐบาลทหาร หรือผู้นำเป็นทหารในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ส.ส.มักไม่กล้าอภิปรายโจมตีนายกฯ มากนัก ผิดกับในยุคเลือกตั้งที่ ส.ส.มักจัดหนักผู้นำรัฐบาล จนต้องตั้ง “องครักษ์” ขึ้นมาพิทักษ์กัน และลุกลามไปถึงการอภิปรายงบประมาณ รวมทั้งการแถลงนโยบายด้วย ไม่ใช่แค่ศึกซักฟอกเท่านั้น




          “ทีมองครักษ์” ที่ทำงานเข้าเป้าจนเป็นที่กล่าวขานก็คือ “องครักษ์พิทักษ์ชวน” ในยุคที่นายชวนเป็นนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 สมัย ทีมองครักษ์ส่วนใหญ่ก็เป็นส.ส.ใต้ด้วยกัน หรือแม้แต่ ส.ส.บ้านเดียวกันก็มี


          สำหรับนายชวน ถือเป็นนักการเมืองมากบารมี จึงมีองครักษ์เยอะ และปัจจุบันแม้จะทำหน้าที่ประธานสภาก็ยังมี “องค์รักษ์พิทักษ์ประธานชวน” ด้วยเช่นกัน เห็นได้จากการทำหน้าที่ของทีมเลขานุการประธานสภาที่คอยออกมาให้สัมภาษณ์ตอบโต้ทางการเมืองแทนประธานชวน


          ความสำเร็จของ “ทีมองครักษ์” คือการเตะตัดขาสกัดไม่ให้ฝ่ายค้านอภิปรายได้สะดวก แต่ความสำเร็จนี้มักต้องแลกกับการถูกด่าโดยประชาชน โดยเฉพาะคอการเมืองที่ต้องการฟังการอภิปรายอย่างราบรื่นแต่กลับต้องมาสะดุดเพราะทีมองครักษ์


          นอกจากนั้นในระยะหลังๆ อย่างในยุคนายทักษิณ ชินวัตร เรืองอำนาจ รวมไปถึงยุคนายทักษิณหมดอำนาจไปแล้ว การทำหน้าที่ “ประท้วงแทนคนแดนไกล” ยังถูกแซวว่าเป็นการ “ประท้วงเพื่อวางบิล” หมายถึงการทำหน้าที่แบบมีผลประโยชน์แอบแฝงนั่นเอง


          รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ชื่อดังจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่า การตั้งทีมองครักษ์ไม่ใช่เรื่องแปลก ถือเป็นเทคนิคทางการเมืองรูปแบบหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้นยังไม่ใช่เทคนิคแปลกใหม่อะไรด้วย เพราะการตั้ง “องครักษ์พิทักษ์รัฐบาล” มีมาตั้งแต่ปี 2475 หรือตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองกันเลยทีเดียว แต่ถ้าเป็นรัฐบาลจากคณะรัฐประหาร และส.ส.ไม่มีบทบาทมากนัก การตั้งองครักษ์ก็จะไม่ค่อยเข้มข้น ไม่เหมือนสภาเลือกตั้ง


          หากมองย้อนกลับไปการต่อสู้ในสภามีความเข้มข้นมากขึ้นตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมา หลังหมดยุคประชาธิปไตยครึ่งใบที่มี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้นำประเทศ แม้หลังจากนั้นจะยังมีการรัฐประหารซ้ำอีกหลายครั้งแต่ก็ถือว่ามีสภาเลือกตั้งวนมาเรื่่อยๆ เกมในสภาจึงเข้มข้น


          ในความเห็นของอาจารย์ยุทธพร อาจารย์บอกว่าการตั้งองครักษ์พิทักษ์รัฐบาลถือว่ามีความจำเป็น และเป็นส่วนสำคัญในการแก้เกมในสภา เพราะหากปล่อยให้ฝ่ายค้านพูดเพียงฝ่ายเดียวก็อาจนำทั้งเรื่องจริงและเรื่องเท็จมาปะปนกล่าวหารัฐบาล ทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ เพราะการประชุมสภามีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ฉะนั้นจึงต้องมีทีม ส.ส.ที่ทำหน้าที่หยุดอีกฝ่ายหนึ่ง


          แต่อาจารย์ยุทธพรก็เสนอว่าทีมองครักษ์ที่ตั้งขึ้นไม่ว่าจะเป็นส.ส.ฝ่ายไหน ควรถ่วงดุลให้เกิดความเหมาะสม ที่สำคัญการทำงานต้องคำนึงถึงความเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยด้วย ไม่ใช่มุ่งแต่ปกป้องกันเอง นอกจากนั้นฝ่ายผู้มีอำนาจก็ไม่ควรกลัวการอภิปรายมากเกินเหตุ เพราะฝ่ายตนก็มีโอกาสชี้แจง ฉะนั้นควรปล่อยให้พูดในสิ่งที่เป็นเนื้อหาสาระ แล้วให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน


          ขณะที่ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า มองคล้ายๆ กันว่า การตั้ง “องครักษ์” ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจถือเป็นเรื่องธรรมดาและเป็นสีสันทางการเมือง แต่คนที่จะมาทำหน้าที่ “องครักษ์” จำเป็นต้องรู้ข้อกฎหมายและระเบียบข้อบังคับการประชุมด้วย ไม่ใช่ลุกขึ้นประท้วงอย่างเดียว เพราะนอกจากจะส่งผลเสียต่อตัวเองแล้วยังอาจกระทบภาพลักษณ์ของสภาด้วย


          อาจารย์สติธร ยังมองว่า การตั้งองครักษ์พิทักษ์รัฐบาลมีความจำเป็นเพื่อเบรกผู้อภิปรายที่กำลังนอกประเด็น หรือลามไปเรื่องส่วนตัว หรือพูดไม่เข้าเนื้อหาสาระ เน้นเพียงวาทกรรม แต่องครักษ์ก็ต้องทำหน้าที่อย่างถูกช่วง ถูกเวลาด้วย ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการประท้วงแบบสะเปะสะปะ แล้วทำให้คนที่ติดตามการอภิปรายรู้สึกรำคาญมากกว่าจะชื่นชม


          ที่สำคัญการมีองครักษ์พิทักษ์รัฐมนตรี ช่วยอะไรไม่ได้มากนัก เพราะสุดท้ายคนที่ต้องตอบคำถามในสภาก็ยังเป็นตัวรัฐมนตรีอยู่ดี


          มีอีกหนึ่งประเด็นที่น่าแปลกก็คือบรรดาผู้ใหญ่ในรัฐบาลที่ได้รับการพิทักษ์จากองครักษ์มักไม่ค่อยจะยอมรับว่ามีการจัดทีมองครักษ์เอาไว้พิทักษ์ตนเอง เช่น ล่าสุด “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หนึ่งในรัฐมนตรีที่ถูกล็อกเป้าอภิปรายก็ออกมาปฏิเสธว่าไม่รู้เรื่องที่มีการจัดทีม “องครักษ์” พิทักษ์ตนเอง ทั้งๆ ที่คนออกมาประกาศคือ นายสุชาติ ประธาน ส.ส.พลังประชารัฐ ซึ่ง “บิ๊กป้อม” เองก็เป็นประธานยุทธศาสตร์พรรค


          ก็ต้องรอดูว่า “องครักษ์พิทักษ์ตู่-ป้อม” จะทำงานสำเร็จ ปกป้อง “นาย” จากการถูกโจมตีได้เหมือนองครักษ์พิทักษ์นายกฯ ในอดีตหรือไม่ โดยเฉพาะในยุคที่บ้านเมืองมีสื่อกระแสแรงมากมาย ใครๆ ก็สามารถอภิปรายซักฟอกนอกสภาได้ และอาจจะแรงกว่าในสภาเสียด้วยซ้ำ


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ