คอลัมนิสต์

'เสียบบัตรแทนกัน' พ่นพิษ(แรงกว่าที่คิด)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน พ่นพิษ(แรงกว่าที่คิด)ไม่เพียงแต่กระทบความสัมพันธ์พรรคร่วมฯ,โทษอาญาต่อตัวบุคคล แต่อาจกระทบต่อ ร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 63 เศรษฐกิจทรุดเพิ่ม

       การ“เสียบบัตรแทนกัน” ที่เริ่มมาจากการเปิดโปงของนาย นิพิฏฐ์  อินทรสมบัติ  อดีต ส.ส. พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์  ว่า ในการพิจารณาร่างพ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำนวน 3.2 ล้านล้านบาทของสภาผู้แทนราษฎร พบว่ามี ส.ส.เสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 10 ม.ค. เวลาประมาณ 20.50 น.  โดยวันเวลาดังกล่าวนายฉลอง เทอดวีระพงศ์  ส.ส. เขต 2 พัทลุง พรรคภูมิใจไทย  ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมสภาฯแต่กลับปรากฏชื่อนายฉลองร่วมเป็นองค์ประชุม และมีชื่อนายฉลอง ร่วมลงมติในร่าง พ.ร.บ.งบฯ ตั้งแต่มาตรา 39

 

        และเมื่อกลับมาเปิดประชุมสภาอีกครั้งในวันที่ 11 ม.ค.พบว่าในเวลา 11.10 น. ที่มีการลงมติมาตรา 40 ได้ปรากฏชื่อนายฉลอง ร่วมลงมติอีกด้วย เช่นเดียวกับในเวลา 17.34-17.38 น. มีชื่อนายฉลองลงมติเห็นชอบในวาระที่ 3 และข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ทั้งๆ ที่ในวันที่ 11 ม.ค. นายฉลอง ก็ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เช่นกัน

        ด้วยเหตุนี้ นายนิพิฏฐ์ จึงเห็นว่า การลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ตั้งแต่มาตรา 39 เป็นต้นไป ย่อมไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมี “การเสียบบัตรแทนกัน” 

        ส่วนนายฉลอง  ก็ออกมายอมรับว่า ในวันที่ 11 ม.ค. ตนเองไม่ได้อยู่ในที่ประชุมสภาฯที่มีการลงมติเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ

       และนายนิพิฏฐ์  ยังแฉในเวลาต่อมาว่า ยังมี ส.ส.อีกคน คราวนี้เป็นระดับบิ๊ก ของพรรคภูมิใจไทย มีการใช้กดบัตรแทนกันคือ  นางนาที รัชกิจประการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย โดยพบว่านางนาทีและคณะได้เดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปยังเมืองเจิ้งโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 11 ม.ค. 2563 ด้วยสายการบินไทยสมายล์ เที่ยวบิน WE680 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการประชุมสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 แต่กลับปรากฏชื่อของนางนาทีในการลงคะแนนด้วย

        จากการเสียบบัตรแทนกัน จึงส่งผลกระทบทางการเมืองต่อพรรคร่วมรัฐบาล  ต่อตัวบุคคลที่ให้คนอื่นเสียบบัตรแทน และ ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ

       ประเด็นแรก ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน ในเมื่อเรื่องนี้ผู้ที่นำมาเปิดโปง คือนายนิพิฏฐ์  ซึ่งเป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์  กล่าวหาไปยังคนของพรรคภูมิใจไทย ทั้งนายฉลองและนางนาที ซึ่งส่งผลกระทบเต็มๆต่อพรรคภูมิใจไทย  ย่อมทำให้ทางแกนนำพรรคภูมิไทยไม่พอใจพรรคประชาธิปัตย์ แน่นอน 

       ในขณะเดียวกันทางแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ก็ย่อมไม่พอใจพรรคภูมิใจไทย ที่คนของพรรคภูมิใจไทยสร้างปัญหาขึ้นส่งผลกระทบต่อร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ ซึ่งผ่านทั้งสองสภาเรียบร้อยแล้ว ทุกอย่างน่าเป็นไปด้วยดี แต่กลับต้องเกิดปัญหาขึ้นจากการเสียบบัตรแทนกัน และส่อจะส่งผลต่อเสถียรภาพรัฐบาล หากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดิน ตกไป 

         ประเด็นที่สอง  ผลต่อตัวบุคคลที่กระทำคือ นายฉลอง และนางนาที ซึ่งอาจต้องรับโทษทางอาญา จากการที่ให้คนอื่นเสียบบัตรแทน 

     ทั้งนี้ เนื่องจาก พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ในมาตรา 123/1 ระบุว่า กรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มีอัตราโทษสูงสุด คือ จำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับสูงสุด 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

      ประเด็นที่สาม ผลกระทบต่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 63  ซึ่งอาจถึงขนาดต้องตกไปเพราะว่ามีการเสียบบัตรแทนกัน โดยเคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นบรรทัดฐานมาแล้ว 

   คือ คำวินิจฉัย  3-4/2557 เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. หรือที่เรียกกันว่า ร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยในครั้งนั้นเกิดกรณีที่ นายนริศร ทองธิราช ส.ส. พรรคเพื่อไทยใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติแทน ส.ส.รายอื่น

      ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า การกระทําดังกล่าวนอกจากจะเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายหรือการครอบงําใด ๆ และต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามรัฐธรรมนูญ แล้ว ยังขัดต่อหลักความซื่อสัตย์สุจริตที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ปฏิญาณตนไว้ ตามรัฐธรรมนูญ และขัดต่อหลักการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ 

        ดังนั้นเมื่อกระบวนการออกเสียงลงคะแนนในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท นี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงถือว่ามติของสภาผู้แทนราษฎรในกระบวนการตราร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อันมีผลให้ร่างพระราชบัญญัติให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ....ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

     อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้อง ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มีผลให้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นอันตกไป

      สำหรับคดีในส่วนอาญา อัยการสูงสุดได้ยื่นฟ้อง นายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย เป็นจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเจ้าพนักงานของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม พรป.ป.ป.ช. 

    คดีนี้ เมื่อช่วงปลายปี 2559 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางอาญาและถอดถอนนายนริศร จำเลยเนื่องจากในช่วงปี2556 พบพฤติการณ์จากคลิปวีดีโอว่า นายนริศร เสียบบัตรแสดงตนในเครื่องคนอื่น และดึงออกมาเสียบใหม่ โหวตในมาตรา 9 และมาตรา 10 ของการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งที่สมาชิกรัฐสภามีเสียงเดียว ไม่สามารถเสียบบัตรแทนกันได้ การกระทำของนายนริศร จึงเข้าข่ายความผิดตาม พรป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 123 และ 123 วรรค 1 รวมถึงจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ,ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ทำให้การลงคะแนนเสียงถูกบิดเบือน และศาลนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 7 ก.พ.  เวลา 09.30 น. 

      ไม่เพียงศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวินิจฉัยที่ 3-4/2557 กรณีนายนริศร  เท่านั้น ก่อนหน้านั้นศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวินิจฉัยที่ 15-18/2556 ให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของส.ว.ตกไปทั้งหมด โดยมีสาเหตุหนึ่งมาจากการกดบัตรลงมติแทนของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งครั้งนั้นศาลรัฐธรรมนูญให้ความเห็นถึงการกระทำดังกล่าวว่า “เป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ทุจริต”

    “เห็นได้ว่าการกระทำเช่นนี้มีลักษณะผิดปกติวิสัยและมีสมาชิกรัฐสภาใช้บัตรแสดงตนและออกเสียงลงคะแนนในระบบอิเล็กทรอนิกส์หลายใบ จากการรับฟังพยานหลักฐานและคำเบิกความพยานในชั้นการพิจารณาไต่สวนคำร้องเป็นเรื่องที่แจ้งชัดทั้งภาพวีดิทัศน์ และประจักษ์พยานที่มาเบิกความประกอบการถ่ายทอดการประชุมรัฐสภาในระหว่างที่มีการออกเสียงลงมติว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาว่ามีสมาชิกรัฐสภาหลายรายมิได้มาออกเสียงลงมติในที่ประชุมรัฐสภาในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ แต่ได้มอบให้สมาชิกรัฐสภา บางรายใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนแทนในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม”

        "การดำเนินการดังกล่าวนอกจากจะเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็นสมาชิกรัฐสภาซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายหรือการครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนร่วมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามบทบัญญัติมาตรา 122 ของรัฐธรรมนูญแล้ว (รัฐธรรมนูญพ.ศ.2550) ยังขัดต่อข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา ขัดต่อหลักความซื่อสัตย์สุจริตที่สมาชิกรัฐสภาได้ปฏิญาณตนไว้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 123 และขัดต่อหลักการออกเสียงลงคะแนนตามบทบัญญัติาตรา 126 วรรคสาม ที่ให้สมาชิกคนหนึ่งมีเพียงเสียงหนึ่งในการออกเสียงลงคะแนน”

       “มีผลให้การออกเสียงลงคะแนนของรัฐสภาในการประชุมนั้นๆ เป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ทุจริตไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้แทนปวงชนชาวไทย เนื่องมาจากกระบวนการลงคะแนนเสียงที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา และขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มิอาจถือว่าเป็นมติที่ชอบของรัฐสภาในกระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม" 

      สำหรับกรณี ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน ซึ่งเป็นกรณีหลังสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่มีแต่นายฉลอง และนางนาที จากพรรคภูมิใจไทยเท่านั้น  ส.ส. พลังประชารัฐ ก็เสียบบัตรแทนกัน โดยอ้างว่าเป็นการช่วยกันลงคะแนน เนื่องจากเครื่องลงคะแนนมีจำนวนไม่เพียงพอ จึงต้องช่วยกัน  โดยผู้ที่เป็นส.ส.เจ้าของบัตรก็อยู่ในห้องประชุม แต่ด้วยช่องลงคะแนนมีน้อยกว่าจำนวนส.ส.ค่อนข้างมาก จึงต้องมีการดึงบัตรเข้าออกอยู่แล้ว

     ขณะนี้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจำนวน 90 คนเข้าชื่อกันตามเงื่อนไขไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกรัฐสภา ยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภาเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 เนื่องจากมีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติทั้งที่ไม่ได้อยู่ในห้องประชุม

    ในหนังสือที่ยื่นต่อประธานรัฐสภาระบุขอให้วินิจฉัยใน 3 ประเด็นได้แก่ 1.) กระบวนการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ขัดหรือแย้งกับหลักการการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 120 หรือไม่ 2.) หากมีปัญหา จะมีปัญหาทั้งฉบับหรือเฉพาะมาตรา และ 3.) จะดำเนินการในแต่ละกรณีต่อไปอย่างไร

   ขณะเดียวกัน ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน 84 คน ได้ร่วมกันทำหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้มีการตรวจสอบว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่เช่นกัน เนื่องจากเห็นว่า กระบวนการตรากฎหมายน่าจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งล่าสุดมีรายงานข่าวว่าศาลรัฐธรรมนูญ นัดประชุมถกด่วนในวันที่ 29 ม.ค. นี้ 

    จะอย่างไรก็แล้วแต่ ขอฟันธงว่า เรื่อง“เสียบบัตรแทนกัน”  ถึงอย่างไรก็ผิด"แน่นอน เพราะมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ในเรื่องนี้เป็นบรรทัดฐานไว้แล้ว   

   “ชวน หลีกภัย”  ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็พูดไว้ชัดว่า ไม่ว่าจะเสียบบัตรแทนกันในกรณีใดก็ทำไม่ได้ แม้เครื่องลงคะแนนในห้องประชุมมีไม่เพียงพอ ส.ส.ก็ไม่สามารถฝากบัตรเสียบแทนกัน

    เช่นเดียวกับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ที่ถึงกับถอนหายใจเมื่อถูกถามถึง “เสียบบัตรแทนกัน” พร้อมกับบอกว่า ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม ก็ไม่ควรจะกระทำ ถ้ารู้ว่ามันผิดกติกาของสภาฯ

     นอกจากสองคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นบรรทัดฐานข้างต้นแล้ว หากพลิกดูข้อกฎหมายประกอบ  ก็จะพบว่ามีข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562  ข้อ 80 วรรคสาม กำหนดไว้ชัดเจนว่า“การออกเสียงลงคะแนนจะกระทำแทนกันมิได้” นั่นคือ ส.ส.ต้องลงคะแนนได้เพียง 1 เสียงเท่านั้น 

    และมาตรา 120 วรรคสามของรัฐธรรมนูญ 2560 ได้เขียนไว้ชัดเจนว่า สมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการออกเสียงลงคะแนน

       สรุปว่า การเสียบบัตรแทนกันเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ฯ ถึงอย่างไรก็ผิดแน่ๆ ขัดต่อกฎหมาย

       เพียงแต่ว่า การเสียบบัตรแทนกันที่เกิดขึ้นนั้น เป็นส่วนที่สำคัญหรือเป็นมาตราสำคัญเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ ปี 2563 หรือไม่ ถ้าใช่ ก็จะส่งผลให้ร่าง พ.ร.บ.งบฯ ตกไปทั้งฉบับ หรือการเสียบบัตรแทนกันนั้น เป็นการโหวตว่ารับหรือไม่รับร่าง ก็จะส่งผลให้ร่าง พ.ร.บ. งบฯ ตกไปเช่นกัน  หรือเป็นการลงมติในวาระ 3 ซึ่งเป็นการพิจารณาทั้งฉบับ เมื่อการลงคะแนนในวาระ 3 เป็นโมฆะ ก็ต้องเป็นโมฆะทั้งฉบับด้วย

 

             'เสียบบัตรแทนกัน' พ่นพิษ(แรงกว่าที่คิด)

          หาก ร่าง พ.ร.บ.งบฯ  ปี 63 จำนวน 3.2 ล้านล้านบาทต้องตกไป ย่อมส่งผลกระทบเกี่ยวกับแผนการลงทุนทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนในปี 63  นับแสนล้านบาทต้องชะงัก  ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก  , 5 G, เมืองอัจฉริยะ EEC , MRO อู่ตะเภา และต้องใช้ พ.ร.บ. งบฯ ปี 62 ไปพลางก่อน  แต่งบฯปี 62 ไม่สามารถนำมาใช้กับการลงทุนได้  จะทำให้สภาพเศรษฐกิจของประเทศที่แย่อยู่แล้ว ทรุดหนักขึ้นไปอีก

          สำหรับทางออกของรัฐบาลกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ.ร.บ.งบฯเป็นโมฆะ ตกไป หรือมีความล่าช้าเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญต้องใช้เวลาในการไต่สวน และให้เวลาผู้ร้อง ผู้ถูกร้องชี้แจง ซึ่งอาจทำให้ พ.ร.บ.งบฯ ปี 63 ล่าช้าออกไป 1-3 เดือน

         - รัฐบาลต้องออกเป็นพระราชกำหนดงบฯปี63ไปพลางก่อน เพื่อให้มีการใช้งบประมาณได้ทันต่อเวลาเพื่อไม่ให้การบริหารประเทศและการใช้จ่ายงบประมาณของประเทศสะดุดลง

           1) ออกเป็นพระราชกำหนดพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ตามวงเงินที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาแก้ไขแปรญัตติแล้ว 3.2 ล้านล้านบาท และนำพระราชกำหนดดังกล่าวเข้าผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา หรือ 

           2) ออกพระราชกำหนดวงเงินให้กระทรวงการคลังใช้เงินลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนหนึ่ง เช่น 6 แสนล้านบาท เท่ากับเม็ดเงินที่เตรียมไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ซึ่งการออกพระราชกำหนดนั้นถือเป็นอำนาจฝ่ายบริหารที่สามารถกระทำได้ในยามจำเป็นเร่งด่วน

        -รัฐบาลรีบทำร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ ฉบับใหม่  แล้วเสนอเข้าสภาผู้แทนฯและวุฒิสภาเห็นชอบ   

       หรือนำมาตรา 143 ของรัฐธรรมนูญมาใช้กับกรณีที่กำลังเกิดปัญหาขึ้นกับ ร่าง พ.ร.บ. งบฯ ปี 2563 ซึ่งทำให้ล่าช้า เนื่องจาก มาตรา 143 บัญญัติว่า  ร่าง พ.ร.บ. งบฯ สภาผู้แทนราษฎร จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 105 วัน นับแต่วันที่ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมาถึงสภาผู้แทนฯ ถ้าสภาผู้แทนฯ พิจารณา ร่าง พ.ร.บ. ไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าสภาผู้แทนฯ เห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ. นั้น    ซึ่งถ้าหากนำมาตรา 143 สามารถนำมาปรับใช้กับกรณีนี้ได้ ่ ก็เสมือนว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ กลับไปสู่ร่างแรก และประกาศใช้ไปตามนั้น ซึ่งร่าง พ.ร.บ. งบฯปี 63  ครบกำหนด 105 วันไปตั้งแต่เมื่อต้นเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา

      อย่างไรก็ตาม เรื่องผลกระทบต่อ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ จากการเสียบบัตรแทนกัน  เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุด เพราะส่งผลกระทบต่อประเทศชาติโดยตรงมากกว่า ผลกระทบระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลในทางการเมือง หรือโทษต่อตัวบุคคลที่กระทำผิดเสียบบัตรแทนกัน เพราะถ้าเศรษฐกิจแย่ๆมาก รัฐบาลก็ต้องแสดงความรับผิดชอบถึงขั้นต้องลาออก

    

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ