คอลัมนิสต์

อนค.ลุ้นญัตติต้านรัฐประหาร ถูกตีตกหรือได้ไปต่อ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อนค.ลุ้นญัตติต้านรัฐประหาร ถูกตีตกหรือได้ไปต่อ

 

 

 

          เมื่อวันท่ 21 มกราคม ที่ผ่านมา เป็นอีกครั้งที่เสียงไชโยโห่ร้องด้วยความดีใจได้เกิดขึ้นที่ พรรคอนาคตใหม่ ภายหลัง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พรรคอนาคตใหม่ไม่ได้ล้มล้างการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง

 

 

          คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาได้เกิดผลในด้านที่เป็นบวกต่อพรรคอนาคตใหม่อย่างมากมาย โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับทัศนคติต่อระบอบประชาธิปไตย ทำให้ 'ปิยบุตร แสงกนกกุล' เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ประกาศต่อสาธารณะว่าจะเดินหน้าทำงานให้ประชาชนต่อทันที หนึ่งในนั้นคือการผลักดันแนวทางการต่อต้านการรัฐประหาร


          แนวความคิดของปิยบุตรเริ่มได้รับการผลักดันจากส.ส.ของพรรคแล้วผ่านการเข้าชื่อเสนอเป็นญัตติด่วนต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารขึ้นอีกในอนาคต


          ทั้งนี้เหตุผลของการเสนอญัตติได้ระบุว่า “ตามที่ในปัจจุบันได้มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ใช้บังคับแล้ว และมีการดำเนินกระบวนการตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเพื่อออกจากระบอบรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กลับเข้าสู่ระบอบรัฐสภาอีกครั้ง ได้แก่ การจัดเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การลงมติแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี รวมถึงการตั้งคณะรัฐมนตรีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตามระบอบรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังคงมีความเปราะบาง เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ ในการป้องกันมิให้เกิดการรัฐประหารขึ้นอีกในอนาคต โดยเฉพาะมาตรการจำกัดอำนาจของกองทัพซึ่งเป็นองค์กรที่สำคัญที่สุดในการลงมือทำรัฐประหาร ระบอบรัฐสภาที่ดำรงอยู่นี้จึงอาจถูกล้มล้างได้ทุกเมื่อหากมีการใช้อำนาจไปในทางที่ขัดหรือแย้งกับความต้องการของกองทัพ”


          สำหรับญัตตินี้มีการเสนอโดย ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่รวม 42 คน ซึ่งได้เสนอเข้ามาสภามาแล้วตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 แต่ในการประชุมสภาที่มีจะมีขึ้นถึงสามวันระหว่างวันที่ 29-31 มกราคม กำลังจะมีการพิจารณาญัตติดังกล่าว

 



          'คารม พลพรกลาง' ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ หนึ่งในผู้ลงชื่อร่วมเสนอญัตติให้สัมภาษณ์ว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่กำลังจะมาถึงนั้นญัตติดังกล่าวน่าจะได้รับการพิจารณา แต่ส่วนตัวแล้วยังไม่มั่นใจว่าที่ประชุมสภาจะเห็นชอบกับการให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญหรือไม่ เนื่องจากรัฐบาลเป็นฝ่ายคุมเสียงข้างมาก อีกทั้งญัตตินี้เนื้อหากระทบต่อกองทัพ


          นายคารม ระบุว่า เหตุผลของการเสนอญัตติฉบับนี้ คือต้องการให้สภามาร่วมกันหาทางออกว่าประเทศไทยจะหลุดจากวงจรทางการเมืองได้อย่างไร ซึ่งเป็นวงจรที่วนอยู่กับการรัฐประหาร ยกร่างรัฐธรรมนูญ จัดเลือกตั้ง แล้วมารัฐประหารอีก โดยเป็นวงจรที่เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว ญัตตินี้หากได้รับการพิจารณาของสภาและตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาได้เป็นผลสำเร็จ ประโยชน์จะตกอยู่กับประชาชนเอง


          “ยืนยันว่าการดำเนินการของพรรคอนาคตใหม่มีความต้องการเพียงอย่างเดียว คือ การหาทางออกให้ประเทศ จึงอยากให้ทุกฝ่ายรวมไปถึงรัฐบาลและกองทัพได้รับฟังความคิดเห็นจากสภา ซึ่งเชื่อว่าหากเปิดใจรับฟังแล้วจะเป็นประโยชน์ในระยะยาว แต่หากถึงที่สุดแล้วเสียงข้างมากลงมติไม่ให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เรื่องเหล่านี้ก็จะได้รับการพิจารณาในคณะกรรมาธิการสามัญต่อไป ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ หรือ คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนต่อไป” นายคารม กล่าว


          อย่างไรก็ตามในการประชุม คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ก่อนการประชุมสภาในสัปดาห์นี้จะมีการหารือถึงญัตติดังกล่าว โดยมีความเป็นไปได้ที่จะมีมติไม่ให้ดำเนินการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญคณะนี้ เพราะการรัฐประหารได้ผ่านมาเป็นเวลากว่า 5 ปี และคสช.หมดอำนาจไปแล้ว โดยอาศัยเทียบเคียงกับการไม่ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษามาตรา 44 ที่เห็นว่ามาตรา 44 ไม่มีผลบังคับใช้แล้วเช่นกัน
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ