คอลัมนิสต์

วิถีชีวิตคนในสภาอยู่ห้องแอร์ใครคิดว่าสบาย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วิถีชีวิตคนในสภาอยู่ห้องแอร์ใครคิดว่าสบาย คอลัมน์...  SPECIAL WEEKEND



 

          แม้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าการพิจารณางบประมาณครั้งนี้เป็นที่กล่าวขานกันพอสมควร ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่ฝ่ายนิติบัญญัติได้พิจารณางบประมาณมาจากภาษีของประชาชนอย่างจริงจัง

 

 

          ประเด็นหนึ่งที่มีการพูดถึงกันพอสมควร คือ งบประมาณในส่วนของรัฐสภา ตามมาตรา 30 จำนวน 5,032,221,400 บาท เพราะในการอภิปรายของส.ส.ในครั้งนั้นได้นำปัญหาของรัฐสภาตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบมาตีแผ่กลางสภาเพื่อให้สาธารณะได้รับรู้ ไม่ว่าจะเป็น ‘อาหารการกิน-สภาพอากาศ-สวัสดิการความเป็นอยู่’


          เริ่มที่ "ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม" ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย อภิปรายถึงสภาพอาหารการกินที่ย่ำแย่ถึงขั้นมี ส.ส.ท้องเสียว่า “เรื่องของอาหารที่นำมาบริการให้ ส.ส.ในสภาก็มีปัญหา มีหลายคนกินแล้วท้องเสีย อยากให้ช่วยกันคัดกรองบ้าง อย่างข้าวต้มบางทีมีแต่หัวไชโป๊ พวกเราทำงานหนักนะครับ โดยเฉพาะท่านประธาน อาหารต้องดูหน่อย”


          ถึงขั้นที่ "วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล" รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ต้องชี้แจงว่า “คณะกรรมาธิการวิสามัญได้เข้าไปตรวจสอบพอสมควร อย่างเรื่องอาหารเป็นหนึ่งเรื่องที่เราให้ความสำคัญมาก เช่น เรื่องอาหารไม่เพียงพอ ทางเลขาฯ สภาก็รับว่าจะไปดำเนินการแก้ไข อย่างไรก็ตาม ก็ยังพบว่ามีหลายคนท้องเสียเหมือนกัน ไม่แน่ใจว่าเกิดจากสาเหตุอะไร คิดว่าเรื่องนี้ทางสภาต้องให้ความสำคัญมากขึ้น เป็นเรื่องสุขภาพของคนทำงานในสภา”


          ไม่เพียงเท่านี้ เรื่องคุณภาพอากาศภายในสภาที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ไปจนถึงความเป็นอยู่ของเจ้าหน้าที่รัฐสภา ก็เป็นวาระสำคัญที่มีการพูดกันในสภาเช่นกัน โดยต้องการให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตด้วย

 



          วรวัจน์ ระบุว่า “คุณภาพอากาศภายในสภาก็ไม่ค่อยดี เราใช้ชีวิตที่นี่กันมาก ผมว่าคณะกรรมาธิการกิจการสภา อาจต้องไปหารือกันในภาพรวม เพราะเป็นปัญหามาหลายเดือนแล้วแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขเท่าไร สำหรับการจ้างงานนั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญก็ให้ความเห็นแล้วว่าฝ่ายบริหารและตุลาการได้ปรับปรุงและพัฒนาไปมาก แต่ฝ่ายนิติบัญญัติค่อนข้างน้อย ไม่มีแรงจูงใจ คิดว่าเป็นหน้าที่ของ ส.ส.ต้องมาหารือร่วมกัน ถึงเวลาต้องปรับปรุงใหม่แล้ว ในเรื่องอาคารสถานที่ ถ้าถามว่าผิดหวังหรือไม่กับความเรียบร้อย ก็ยังผิดหวังอยู่ พวกเราก็พูดคุยกันตลอดแต่กลับไม่ได้รับการแก้ไขและล่าช้าไปพอสมควร”


          เช่นกันกับ "ธีรัจชัย พันธุมาศ" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเรียกร้องให้สำนักงานเลขาธิการสภาพิจารณาเพิ่มค่าแรงให้แก่เจ้าหน้าที่บางกลุ่มงานด้วย ภายหลังมีระดับที่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ


          “ผมได้รับฟังคำร้องเรียนจากเจ้าหน้าที่รัฐสภาที่ให้บริการเครื่องดื่มแก่ ส.ส. และเจ้าหน้าที่ฝ่ายโสต โดยพบว่าการจ้างของสภาผู้แทนราษฎรให้เงินเดือนค่อนข้างต่ำ เดือนละ 9,000 บาท ไม่มีสวัสดิการรักษาพยาบาล เราเป็นหน่วยงานนิติบัญญัติ เป็นศูนย์กลางอำนาจของประเทศ แต่การจ้างงานต่ำกว่ากฎหมายแรงงาน ผมขอเรียนว่าขอให้สภาดูแลเจ้าหน้าที่ของเราด้วย และได้พัฒนาปรับปรุงการจ้างงานให้ไม่ต่ำกว่ากฎหมายแรงงาน” ธีรัจชัย กล่าวเรียกร้อง


          ไม่เพียงแต่เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยจะเดือดร้อนกับสารพัดปัญหาเท่านั้น เพราะแม้แต่สวัสดิการของ ส.ส. โดยเฉพาะกลุ่มอดีต ส.ส. ก็ประสบกับปัญหาหนักหน่วงไม่ต่างกัน ด้วยเหตุที่ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาเงินกองทุนเพื่ออดีตสมาชิกรัฐสภา ที่มีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือด้านสวัสดิการให้แก่อดีตสมาชิกรัฐสภากลับถูกลดลงไปมากกว่า 50%


          โดย ไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ในฐานะอดดีตประธานคณะกรรมาธิการกิจการสภาหลายสมัย ได้อภิปรายถึงเรื่องนี้ว่า “เมื่อ 5 ปีที่แล้วมีโอกาสได้ทำหน้าที่เป็นประธานกมธ.กิจการสภา ก็พยายามทำเรื่องช่วยเหลืออดีตสมาชิกรัฐสภาผ่านกองทุนช่วยเหลืออดีตสมาชิกรัฐสภา แต่เงินกองทุนนี้ในระหว่างที่มีการรัฐประหารกลับลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง เพราะเมื่อมีการยึดอำนาจแล้วการเมืองก็เปลี่ยน ขณะนี้ทราบมาว่าอดีต ส.ส.เรียกร้องขอให้ช่วยเหลือ จึงอยากให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลเงินกองทุนนี้ด้วย”


          แต่กระนั้นปัญหาภายในของสภาก็ไม่ได้หมดแค่นั้น เพราะถึงจะจบการอภิปรายงบประมาณแล้ว แต่เมื่อเข้าสู่การประชุมสภาวาระปกติเมื่อวันที่ 16 มกราคม ปรากฏว่า ส.ส.ก็ยังนำปัญหามโนสาเร่ในสภามาตีแผ่กลางสภาเช่นกัน อย่าง “นพพล เหลืองทองนารา” ส.ส.พิษณุโลก พรรคเพื่อไทย ก็ได้อภิปรายว่า “อยากฝากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรให้เข้าไปตรวจดูแลความเป็นอยู่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาที่ดูแลความเรียบร้อยตามจุดต่างๆ ด้วย อย่างพัดลมก็คอหักต้องเอาขวดไปเหน็บไว้ สภาเราหมื่นสองพันล้านบาท แต่ใช้พัดลมอย่างนี้ บางตัวก็ไม่มีฝาครอบ หรือบางตัวพัดลมไม่หมุนเพราะเมื่อเปิดสวิตช์แล้วก็ต้องเอามือไปหมุนก่อน มันเกินไปนะครับ รบกวนด้วยครับ”


          “นอกจากนี้ อยากให้มีกฎระเบียบในการจอดรถภายในสภาด้วย ไม่ว่าจะเป็นการรอรับ ส.ส. หรือรอรับรัฐมนตรี เพราะชอบไปจอดรอกันตรงทางขึ้น สร้างความลำบากให้แก่รถที่ตามมาข้างหลัง และที่สำคัญอยากให้คนขับรถช่วยกันจอดรถให้เป็นจุดด้วย และรักษามารยาท มิเช่นนั้นจะดูไม่ดีแล้วจะพลอยเสียกันไปด้วย”


          จากการอภิปรายของ ส.ส.ที่ใส่สูทเดินเข้าสภานั่งในห้องแอร์เย็นฉ่ำ ยังมีปัญหาขนาดนี้ ลองคิดดูว่าประชาชนตาดำๆ หาเช้ากินค่ำที่มีรายได้แบบเดือนชนเดือน จะเดือดร้อนขนาดไหน

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ