คอลัมนิสต์

ต้องยกเครื่องขนส่งมวลชน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ต้องยกเครื่องขนส่งมวลชน บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันพุธที่ 22 มกราคม 2563

 

 


          ในความเห็นของรัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เคยบอกว่าจะใช้ยาแรงสำหรับแก้ปัญหาฝุ่นพิษ หรือพีเอ็ม 2.5 ด้วยมาตรการที่เรียกว่ายาแรงนั้นอาจจะเป็นมาตรการชั่วคราวจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งคาดว่าปัญหาจะบรรเทาเบาบางลง โดยเป้าหมายแรกที่จะดำเนินการคือกลุ่มรถบรรทุก และรถกระบะ ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่ปล่อยควันดำเพราะการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์มากที่สุดในจำนวนประมาณ 3 ใน 4 ส่วนของควันพิษที่เกิดขึ้น แต่ถ้าหากมาตรการแรกนี้ไม่ประสบผลสำเร็จก็จะมาพิจารณาถึงรถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งต้องขอความร่วมมือ ขอความเสียสละความสะดวกสบายเชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะเข้าใจ และในภาพรวมคือต้องรักษาสิ่งแวดล้อม

 

 

          ในความเป็นจริงแล้วสิ่งแวดล้อมที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ มีหน้าที่ดูแลโดยตรงและอีกหลายงานในรัฐบาลรวมทั้งทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างจริงจังนั้น ควรจะต้องเป็นแผนบูรณาการของทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี ฯลฯ ไม่ใช่แผนงานระยะสั้นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันแบบปีต่อปี หรือตามฤดูกาล เพราะในปัจจุบันสภาพอากาศในกรุงเทพฯ จัดว่าอยู่ในขั้นวิกฤติ ซึ่งอีกหลายจังหวัดใหญ่ๆ ก็กำลังจะประสบปัญหาเช่นกัน ทั้งนี้เพราะปัจจัยสำคัญยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งก็คือรถยนต์และระบบการขนส่งของประเทศ


          นายกรัฐมนตรีเคยพูดไว้เมื่อวันก่อนประมาณว่า การจะใช้ยาแรงด้วยการจำกัดการใช้รถยนต์ก็จะกระทบต่อคนจำนวนมาก ซึ่งก็จะเป็นปัญหาอีก กรณีนี้รัฐบาลต้องเข้าถึงต้นตอของปัญหา คือเหตุที่ผู้คนใช้รถยนต์ส่วนตัวกันมาก เพราะความสะดวกสบายกว่าระบบขนส่งมวลชน ซึ่งอย่าว่าแต่รถประจำทาง แม้แต่รถไฟฟ้าคนกลุ่มนี้ก็ไม่ใช้อยู่แล้ว ขณะที่คนอีกนับล้านคนต้องอาศัยบริการรถโดยสารสาธารณะไม่ว่าจะเป็นรถมอเตอร์ไซค์ สองแถว รถตู้ มินิบัส รถโดยสารของขสมก. และรถร่วม ขสมก. ซึ่งล้วนแต่เป็นตัวก่อปัญหาฝุ่นควันทั้งสิ้น แต่ผู้ใช้บริการก็ไม่มีทางเลือกเพราะไม่สามารถเข้าถึงบริการรถไฟฟ้าที่มีราคาแพงได้ การแก้ปัญหาก็เหมือนวนอยู่ในอ่าง เพราะระบบที่วางไว้กับราคาที่กำหนดไม่ตอบโจทย์




          ตั้งแต่ปลายปีก่อนจนถึงต้นปีนี้ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายทั้งส่วนใต้และเหนือเริ่มให้บริการ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทั้งกรุงเทพและฝั่งธนบุรี รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้มต่อขยายจากสถานีหมอชิตไปถึงสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัญหาการจราจรบนถนนที่ระบบรางลอยฟ้าและใต้ดินพาดผ่านน่าจะทุเลาลง แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น หนำซ้ำรถประจำทางก็ยังคงวิ่งทับเส้นทางกับรถไฟฟ้า และแข่งกันเองอีกหลายสาย การปฏิรูปรถเมล์ที่เคยทำกันมายังไปไม่ถึงไหน มีแต่ข่าวจะเพิ่มรถเมล์เข้ามาในระบบทั้งที่ควรลดจำนวนลง และปรับเส้นทางให้สอดคล้องกับระบบราง ยาแรงขนานแท้ควรจะเป็นการปรับโครงสร้างระบบขนส่งมวลชนขนานใหญ่หาใช่เพียงบางมาตรการกับรถบางประเภท หรือกับคนบางกลุ่ม

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ