คอลัมนิสต์

ทำไม "ลูกแรงงานข้ามชาติ" 5 แสนคน...เรียนหนังสือไม่สำเร็จ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เด็ก 5 แสนคนกำลังเติบโตขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคมไทยในอนาคต แต่เพราะอะไรจึงไปไม่ถึงจุดนั้น

 

 

ปีนี้รัฐบาลไทยจัดเฉลิมฉลองวันเด็กใหญ่โตเกือบทุกจังหวัด แต่น่าเสียดายว่ามีเด็กกลุ่มหนึ่งที่ถูกทอดทิ้ง ทั้งที่พวกเขามีไม่ต่ำกว่า 5 แสนคนทั่วประเทศ และกำลังเติบโตขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคมไทยในอนาคต..

 

 

รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ชัดเจนว่า เด็กทุกคนในประเทศไทยต้องได้รับการสนับสนุนให้เรียนหนังสือภาคบังคับ 12 ปี หรือตั้งแต่ “อนุบาล-มัธยมศึกษาปีที่ 3” ข้อมูลปี 2560 ระบุว่า มีนักเรียน นิสิต นักศึกษาในระบบการศึกษาจำนวน 14.88 ล้านคน โดยมีอยู่กว่า 5 แสนคนที่อยู่ในกลุ่ม “ผู้มีเลขประจำตัวไม่ถูกต้อง” เช่น กลุ่มเด็กไร้สัญชาติ กลุ่มลูกหลานแรงงานต่างด้าว กลุ่มเด็กชนเผ่า เด็กกลุ่มอื่นๆ ประมาณร้อยละ 3.86

 

ปัจจุบันไทยมี “แรงงานเพื่อนบ้าน” อยู่ประมาณ 3 ล้านคน และมีเด็กติดตามอีกไม่ต่ำกว่า 4-5 แสนคน 

 

 

ตั้งแต่ปี 2548 รัฐบาลมีนโยบายเปิดให้เด็กทุกคนเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะไร้สัญชาติหรือไม่มีเอกสารใดๆ ก็ตาม รายงานตัวเลขจาก “Thailand Migration Report 2019” ระบุว่า เด็กข้ามชาติในระบบการศึกษาไทยมีประมาณ 1.6 แสนคน แบ่งเป็น “โรงเรียนรัฐบาล” 1.45 แสนคน “ศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ” 1.6 หมื่นคน และที่เหลือเป็น “ศูนย์ กศน.” นอกจากนี้ยังแบ่งลักษณะ “เด็กข้ามชาติ” ในไทยกว่า 5 แสนคน ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ลูกแรงงานต่างด้าว ที่เกิดและเติบโตในประเทศไทย 2.แรงงานเด็ก ที่อาจเดินทางเข้าไทยมาด้วยตนเอง 3.เด็กต่างด้าวที่อยู่บริเวณชายแดน เดินทางมาเรียนหนังสือหรือทำงานแบบไปเช้าเย็นกลับ ไม่ได้พักอาศัยถาวรในไทย

 

ที่ผ่านมาคนไทยส่วนใหญ่มักสงสัยว่า “ทำไมจึงต้องเอาเงินภาษีของคนไทยไปช่วยเด็กต่างด้าว” ?

 

ทำไม "ลูกแรงงานข้ามชาติ" 5 แสนคน...เรียนหนังสือไม่สำเร็จ

 

โปรดอย่าลืมว่า... “การศึกษา” คือพื้นฐานสำคัญสุดในการช่วยลดความเสี่ยงไม่ให้ลูกหลานของแรงงานข้ามชาติเติบโตขึ้นมาอย่างไร้คุณภาพ เพราะถ้ามีการศึกษาและพูดอ่านเขียนภาษาไทยได้ ก็มีโอกาสได้งานดีๆ ไม่ต้อง “รู้สึกหมดหวัง” จนต้องเข้าสู่วงจรการทำผิดกฎหมาย เช่น ยาเสพติด หรือลักเล็กขโมยน้อย

 

สาเหตุที่ “ลูกแรงงานข้ามชาติ” หลายแสนคนไม่ได้เรียนหนังสือ หรือ “เรียนไม่จบ” “เรียนไม่สำเร็จ” ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน เนื่องจากอุปสรรคสำคัญอย่างน้อย 5 ประการ ได้แก่

 

1.ผู้ปกครองไม่สามารถจ่ายค่า “เดินทาง” ไปโรงเรียนได้  โดยเฉพาะในต่างจังหวัด โรงเรียนมักตั้งอยู่ห่างไกลจากที่ทำงานหรือบ้านพักอาศัย ภาระค่าใช้จ่ายในการไปโรงเรียนไม่ต่ำกว่าคนละ 300 บาทต่อเดือน

 

 2.ผู้ปกครองไม่สนับสนุนเด็กโตไปโรงเรียน เพราะเด็กที่เริ่มทำงานได้ จะช่วยหาเงินให้ครอบครัวได้วันละไม่ต่ำกว่า 200 บาท 

 

3.เด็กมีแนวโน้มขาดเรียนบ่อยครั้งและลาออกกลางคัน เพราะผู้ปกครองย้ายถิ่นอาศัยหรือย้ายที่ทำงาน 

 

4.อุปสรรคในการสื่อสาร เพราะเด็กๆ ยังพูดอ่านภาษาไทยไม่ได้ ทำให้ครูกับนักเรียนไม่เข้าใจกัน ยิ่งไปกว่านั้นจำนวนครูกับห้องเรียนยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดน เช่น อ.แม่สอด

 

 5 โรงเรียนขาดงบประมาณสนับสนุน เช่น อาหารกลางวัน เป็นงบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดให้เฉพาะเด็กไทยเท่านั้น โรงเรียนที่รับเด็กต่างชาติต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเอง

 

รายงานฉบับล่าสุดปี 2562 ขององค์การยูนิเซฟประเทศไทย และสหภาพยุโรป ชื่อว่า “ไร้เส้นกั้นการศึกษา : แนวปฏิบัติที่ดีและการถอดบทเรียนจากการจัดการศึกษาสำหรับเด็กข้ามชาติในประเทศไทย” ได้สำรวจการศึกษาเด็กข้ามชาติ 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ระนอง สมุทรสาคร ตาก และตราด เพื่อแสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนของปัญหาต่างๆ หากรัฐบาลต้องการพัฒนาให้เด็กเหล่านี้ได้รับการศึกษา ก็ต้องแก้ไขระบบการรับเด็กเข้าเรียน การให้ประกาศนียบัตร และที่สำคัญคือการปลุกพลังความมุ่งมั่นจากครูผู้สอน ผู้อำนวยการโรงเรียน เจ้าหน้าที่การศึกษา และภาคประชาสังคม 

 

เช่น เพิ่มค่าตอบแทนให้คุณครูเป็นพิเศษ โดยเฉพาะครูที่รับภาระหนักในการสอนภาษาไทยแก่นักเรียนข้ามชาติ เช่น “ครูระดับอนุบาล” และ “ระดับ ป.1” รวมถึงการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสม

 

ทำไม "ลูกแรงงานข้ามชาติ" 5 แสนคน...เรียนหนังสือไม่สำเร็จ

 

 

“ครู” หลายคนให้สัมภาษณ์ว่า นักเรียนข้ามชาติมีทัศนคติต่อการเรียนเป็น “บวก” และเห็นคุณค่าของโอกาสที่ได้เข้าเรียน เมื่อเด็กเหล่านี้สามารถก้าวข้ามอุปสรรคในการเรียนภาษาไทยได้แล้ว “ผลการเรียนของพวกเขาก็ไม่ได้ด้อยกว่านักเรียนไทย”

 

ดังนั้น หลายฝ่ายจึงพยายามผลักดันให้รัฐบาลไทยเร่งแก้ปัญหา 5 ประการข้างต้น เพื่อช่วยให้เด็กๆ 5 แสนคนได้เรียนหนังสือให้สำเร็จและจบการศึกษาภาคบังคับเป็นอย่างน้อย

 

คนไทยยุคใหม่ต้องช่วยกันเปลี่ยนทัศนคติของ “คนไทยยุคล้าหลัง” ที่ติดอยู่ในกับดัก “อคติทางชาติพันธุ์นิยม” มองว่าเด็กพม่า เด็กลาว เด็กกัมพูชา มีความด้อยกว่าเด็กไทย หรือกลัวว่าพวกเขาจะโตขึ้นมาแล้วมีอันตรายต่อความมั่นคงของชาติไทย

 

ขอให้ยอมรับความจริงว่า “ลูกหลานแรงงานเพื่อนบ้าน” 5 แสนคน กำลังอาศัยอยู่ในประเทศไทย... รัฐไทยต้องเลือกว่าอยากให้พวกเขาเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นคนแบบไหน

 

อย่าให้อคติหรือความเชื่อผิดๆ มาทำลายโอกาสอันดีในการช่วยกันพัฒนาเด็กทุกคนในประเทศไทยให้เติบโตขึ้นมาเป็น “คนคุณภาพ” เพราะพวกเขาคือหนึ่งใน “พลังสำคัญ” ช่วยขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจไทยในอนาคต!

 

ทีมรายงานพิเศษ คมชัดลึก

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ