คอลัมนิสต์

โรดแม็พ สังคมสูงอายุ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โรดแม็พ สังคมสูงอายุ คอลัมน์...  อินไซด์ ครม.

 


          สถานการณ์สังคมผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาตรการรองรับมาโดยตลอด ซึ่งกำลังกลายเป็นภาวะเปลี่ยนผ่านของสังคมไทยที่ต้องเผชิญในอนาคต เมื่อการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 14 มกราคม 2563 ในที่ประชุมได้รับทราบรายงานการคาดการณ์ประชากรของประเทศไทยระหว่างปี 2553-2583 ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ

 

 

          สาระสำคัญของรายงานฉบับนี้ พบว่าในปี 2563 คาดการณ์ประชากรคนไทย 66.5 ล้านคน แต่ในปี 2571 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 67.2 ล้านคน แต่หลังจากนั้นจำนวนประชากรจะลดลงในอัตราร้อยละ -0.2 ต่อปี โดยในปี 2583 คาดประมาณว่าจะมีประชากรทั้งหมดประมาณ 65.4 ล้านคน ขณะที่ประชากรวัยเด็กนับตั้งแต่แรกเกิด-14 ปี มีแนวโน้มลดลง โดยในปี 2563 มีจำนวนประชากรเด็ก 11.2 ล้านคน แต่จะลดลงเป็น 8.4 ล้านคนในปี 2583


          ขณะที่ประชากร “ผู้สูงอายุ” ในวัย 60 ปีขึ้นไป ตัวเลขในปี 2563 มีจำนวนประชากร 12 ล้านคน แต่จะเพิ่มเป็น 20.42 ล้านคนในปี 2583 โดยเฉพาะในปี 2562 เป็นปีแรกที่จำนวนประชากรวัยเด็ก เท่ากับประชากรผู้สูงอายุที่ 11.3 ล้านคน หลังจากนั้นจำนวนประชากรวัยเด็กน้อยกว่าผู้สูงอายุ ส่วนประชากร “วัยแรงงาน” ช่วงอายุ 15-59 ปี ในปี 2563 อยู่ที่ 43.26 ล้านคน แต่มีแนวโน้มลดลงเป็น 36.5 ล้านคนในปี 2583


          ที่สำคัญพบว่าอัตราส่วน “วัยแรงงาน” ต่อ “ผู้สูงอายุ” จะลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยในปี 2563 มีวัยแรงงาน 3.6 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน ลดลงเหลือวัยแรงงาน 1.8 คน ต่อผู้สุงอายุ 1 คนในช่วงปี 2583 ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงาน เพิ่มขึ้นจาก 27.7 ต่อวัยแรงงาน 100 คนในปี 2563 เป็น 56.2 ต่อวัยแรงงาน 100 คนในปี 2583

 



          ด้านอัตราส่วน “เพศหญิง” ต่อ “เพศชาย” ในปี 2563 ผู้หญิงมีอายุเฉลี่ย 80.4 ปี ส่วนผู้ชายมีอายุเฉลี่ย 73.2 ปี แต่ในปี 2583 อายุเฉลี่ยทั้งเพศหญิงและชายจะเพิ่มขึ้นเป็น 83.2 ปี และ 76.8 ปี ส่งผลให้ผู้หญิงมีจำนวนมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากอายุยืนกว่า ทำให้คาดการณ์ว่าในปี 2583 จะมีอัตราส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป แบ่งเป็น เพศชาย 71 คนต่อเพศหญิง 100 คน แต่จะลดลงอีกในกลุ่มผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไปเพศชาย 41 คนต่อเพศหญิง 100 คน


          นอกจากนี้โครงสร้างอายุของประชากรแต่ละภูมิภาคในปี 2583 พบว่าในกรุงเทพฯ มีสัดส่วนประชากรวัยแรงงานมากที่สุด ส่วน “ภาคเหนือ” มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุมากที่สุด และ “ภาคใต้” จะมีสัดส่วนประชากรวัยเด็กสูงกว่าภาคอื่นๆ ขณะที่ “ภาคตะวันออก” มีการเติบโตของประชากรเมืองมากที่สุด ร้อยละ 5.3 ต่อปี เฉพาะ 3 จังหวัด คือ “ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง” ซึ่งเป็นพื้นที่เขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)


          รัฐบาลได้กำหนดให้วาระผู้สูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการผู้สูงอายุแห่งชาติครอบคลุมทั้งกลุ่มก่อนวัยสูงอายุ ช่วงอายุ 25-59 ปี และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่สำหรับกลุ่มก่อนวัยสูงอายุ รัฐบาล จะมีแผนส่งเสริมเน้นดูแลตั้งแต่แนวทางการออม การไม่มองผู้สูงอายุเป็นภาระ วิธีการดูแลผู้สูงอายุ หรือการปรับสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับสภาพผู้สูงอายุตามเป้าหมายดูแลผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีระบบการเงินการคลังที่ยั่งยืนในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ