คอลัมนิสต์

มุมมองต่อปัญหาชายแดนใต้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มุมมองต่อปัญหาชายแดนใต้ โดย...  โคทม อารียา

 

 


          ผมมาที่ปัตตานีเพื่อฟังปัญหาชายแดนใต้ จึงขอเก็บตกการมองปัญหานี้ในมุมมองที่หลากหลาย คนแรกที่ให้มุมมองแก่ผมเป็นหมอชาวสวิส เขามาประเมินผลโครงการเยียวยาจิตใจของผู้อยู่ในสถานการณ์รุนแรง เขามีประสบการณ์การทำงานในแอฟริกาใต้และโมร็อกโกมาก่อน และพบว่าทั้งผู้ถูกกระทำ (เหยื่อ) และผู้กระทำความรุนแรงต่างได้รับผลกระทบทางจิตใจด้วยกันทั้งคู่ ทหารที่กลับจากการรบในสมรภูมิหลายคนมีอาการทางจิต ที่เรียกว่า PTSD (Post Traumatic Stress Disorder) หรือการป่วยทางจิตหลังเหตุการณ์เลวร้าย ทหารและตำรวจในชายแดนใต้ก็เช่นกัน เขาเป็นทั้งผู้กระทำความรุนแรง (ปราบปราม ปิดล้อมจับกุม ฯลฯ) ก็จริง แต่ก็เป็นเหยื่อความรุนแรงทางตรงด้วย ในรอบ 16 ปีที่ผ่านมา มีทหารเสียชีวิต 578 ราย ตำรวจเสียชีวิต 388 ราย มีทหารบาดเจ็บ 2,738 คน ตำรวจบาดเจ็บ 1,559 คน นับเป็นการสูญเสียที่เจ็บปวดอย่างยิ่ง ทางการและสังคมควรตระหนักรู้ เอาใจใส่ ให้เกียรติแก่ผู้สูญเสียเหล่านี้ รวมทั้งให้การเยียวยาทางจิตใจและทางสังคมด้วย อีกทั้งควรมีการให้คำแนะนำทางจิตวิทยาหรือทางศาสนา เพื่อลดความเครียดของทหารและตำรวจที่อยู่ประจำการ เมื่อเครียดน้อยลง หวาดกลัวน้อยลง ก็จะทำงานได้ดีขึ้น เพิ่มความเมตตาและลดการใช้ความรุนแรง

 

 

 

          เรื่องเล่าที่สองที่ผมเห็นว่าน่าวิตก ได้มาจากการพูดคุยกับนายทหารคนหนึ่ง เขาคิดว่าฝ่ายความมั่นคงอาจประเมินฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบผิดไปก็ได้ มุมมองแบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้ กลุ่มที่ 1 ประเมินว่าขบวนการฯอ่อนแอลง เห็นได้จากการลดลงของเหตุการณ์ความรุนแรง และผู้ก่อการถูกรุกไล่ออกจากหมู่บ้าน ครั้นหลบไปอยู่ในป่าเขา ก็ถูกปราบง่ายขึ้นไปใหญ่ ดังนั้น ถ้าใช้การทหารกดดันต่อไป ก็จะประสบความสำเร็จในการทำลายขบวนการฯ ลงได้ การพูดคุยสันติสุขก็คุยกันไปไม่หวังผล ส่วนการทหารก็รุกและรบอย่างเต็มที่ กลุ่มที่ 2 ประเมินว่าฝ่ายขบวนการฯ อ่อนแอลงก็จริง แต่ถ้าใช้การทหารก็ไม่แน่ว่าจะประสบความสำเร็จ หรือกว่าจะเอาชนะขบวนการฯ ได้ยังต้องใช้เวลาอีกนาน จึงควรใช้การพูดคุยหรือการเมืองนำการทหาร คนกลุ่มนี้ยังแบ่งออกเป็น กลุ่มที่ 2.1 ที่เชื่อว่าการคุยกับมารา ปาตานีนั้นถูกต้องแล้ว เชื่อได้ว่าเมื่อใดที่มีการพูดคุยมีความคืบหน้า ฝ่ายกองกำลังของบีอาร์เอ็นก็จะเข้ามาคุยเอง กับกลุ่มที่ 2.2 ที่เชื่อว่าผู้นำบีอาร์เอ็นในมารา ปาตานีเป็นผู้นำระดับ 3 หรือ 4 คุยไปก็เท่านั้น ฝ่ายรัฐบาลควรขอให้ฝ่ายมาเลเซียเชิญผู้นำระดับสูงของบีอาร์เอ็นมาร่วมพูดคุย จึงจะมีผล


          กลุ่มที่ 3 มีความเห็นที่ฉีกมุมออกไป กลุ่มนี้ไม่แน่ใจว่าฝ่ายขบวนการฯ นั้น อ่อนแอลงสักเพียงใด การลดระดับความรุนแรงที่เห็นได้ อาจเป็นเพียงการถอยเชิงยุทธวิธี เพื่อขอเวลาปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ ในช่วงปี 2547-2550 ขบวนการฯ ใช้ยุทธศาสตร์จรยุทธ์ในเมืองและการฝังตัวในหมู่บ้าน พร้อมกับการใช้ความรุนแรงอย่างมากต่อกลุ่มเป้าหมายอ่อน ยุทธศาสตร์นี้ใช้เพื่อรุกให้ฝ่ายความมั่นคงเพลี่ยงพลั้งในเชิงยุทธวิธี แล้วตอบโต้แบบมืดบอด อย่างเช่นในเหตุการณ์กรือเซะ และตากใบ อย่างไรก็ดี ฝ่ายความมั่นคงได้เรียนรู้ว่าการตอบโต้เช่นนั้น รังแต่จะเข้าทางขบวนการฯ เช่น เมื่อฝ่ายขบวนการฯ จัดหรือเอื้อให้มีการชุมนุมในช่วงปี 2548-2550 ที่มัสยิดกลางปัตตานี และที่อื่นๆ ฝ่ายความมั่นคงใช้ความอดทน ไม่ตอบโต้เกินกว่าเหตุ ไม่ใช้ความรุนแรงอย่างมืดบอด ไม่ทำยอมให้เกิด “ตากใบ 2” จนกระทั่งความรุนแรงที่ก่อโดยฝ่ายขบวนการฯ มาถึงจุดสูงสุดในปี 2550 ฝ่ายขบวนการฯ พบว่ายุทธศาสตร์การยุให้ฝ่ายรัฐใช้ความรุนแรงมืดบอดไม่เป็นผล จึงเปลี่ยนและลดการก่อเหตุรุนแรงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะความรุนแรงต่อเป้าหมายอ่อน ดังจะเห็นได้จากสถิติต่อไปนี้

 

                                      

  ปี 2547 – 50
(รวม 4 ปี)
ปี 2551 - 62
(รวม 12 ปี)
โรงเรียนที่ถูกโจมตี (แห่ง) 330 70
ครูผู้เสียชีวิต (ราย) 75 80

 

 

 

          นอกจากนี้ การทำร้ายพระ และอีหม่าม ตลอดจนเด็ก อายุต่ำกว่า 18 ปี ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปี 2550 เช่นกัน ในปี 2558 ไม่มีการโจมตีโรงเรียนแห่งใดเลย ในปี 2562 ไม่มีครูผู้ใดเสียชีวิตจากการก่อเหตุการณ์ไม่สงบ


          กลุ่มที่ 3 ตั้งสมมติฐานว่า การที่เหตุการณ์รุนแรงลดลงเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงจุดต่ำสุดในปี 2562 นี้ เป็นการเปลี่ยนยุทธศาสตร์ เพื่อถนอมกำลังเอาไว้ ขณะเดียวกัน มีข่าวว่าขบวนการฯ ส่งคนไปฝึกอาวุธในต่างประเทศ เพื่อให้กลับมาฝึกเยาวชนรุ่นใหม่ โดยมีเป้าหมายว่าในอีก 5-10 ปี จะมีกองกำลังเป็นพันเป็นหมื่นคน ถึงตอนนั้น ก็จะทำการสู้รบรอบใหม่โดยมียุทธศาสตร์ ยุทธวิธีใหม่ๆ ในยามที่ทหารในพื้นที่อ่อนล้าหรือปล่อยปละด้วยความประมาท


          ในมุมมองของกลุ่มที่ 3 แทนที่ฝ่ายความมั่นคงจะเป็นฝ่ายรุกทางการทหารเรื่อยไป ควรจะต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์มาเป็นฝ่ายรุกในด้านการพูดคุยสันติภาพมากกว่า ควรจะต้องมีงบประมาณที่เพียงพอ มีบุคลากรจำนวนมากพอที่จะขอเข้าไปปฏิบัติงานเชิงรุกในมาเลเซีย โดยดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่มาเลเซียอย่างแข็งขัน เพื่อกดดันขบวนการฯ ให้ส่งผู้นำระดับสูงสู่โต๊ะพูดคุย และหยุดยั้งการบ่มเพาะ [i1] เยาวชนที่จะมาเป็นนักรบรุ่นใหม่


          ผมไม่แน่ใจว่ามุมมองของกลุ่มที่ 1 หรือกลุ่มที่ 2 หรือกลุ่มที่ 3 จะเป็นมุมมองที่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงสักเพียงใด แต่ขอมีความเชื่อของผมเองว่า ความขัดแย้งจะคลี่คลายได้ก็แต่ที่โต๊ะการพูดคุย


          แต่เราไม่จัดสรรงบประมาณเพื่อกิจการสันติภาพสักเท่าไร เนื่องจากเรามีสภาผู้แทนราษฎร และมีคณะกรรมาธิการงบประมาณที่เข้าไปช่วยพิจารณางบประมาณแทนประชาชน พร้อมทั้งรายงานผลให้สาธารณชนทราบ เราเลยมีโอกาสรับทราบในเรื่องงบประมาณสำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งรวมแล้วมีปีละกว่าสามหมื่นล้านบาท ถ้าพิจารณาเฉพาะ “งบดับไฟใต้” หรือที่เรียกว่า “งบแผนบูรณาการ” ก็ตกปีละประมาณ 13,000 ล้านบาท แต่น่าใจหายที่งบ “ดีๆ” เช่น งบสำหรับสันติภาพ สันติวิธี สังคมพหุวัฒนธรรม และสิทธิมนุษยชนนั้น มีน้อยมากถ้าเทียบกับงบประมาณการทหาร แม้จะเทียบกับงบโฆษณา “ความจริง” ก็ยังห่างไกล แสดงว่าในมุมมองของฝ่ายความมั่นคงนั้น สนามรบด้านข่าวสารสำคัญกว่าสนามแห่งความไว้วางใจมากนัก ตัวอย่างงบประมาณมีดังนี้ :

          - โครงการเผยแพร่ความจริงที่ถูกต้อง 1,291.5 ล้านบาท
          - งบประมาณการพูดคุยเพื่อสันติสุข 22 ล้านบาท
          - โครงการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี 13 ล้านบาท
          - โครงการเสริมสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง 1.7 ล้านบาท
          - โครงการอบรมหลักสิทธิมนุษยชน 0.6 ล้านบาท


          มุมมองสุดท้ายที่ขอเสนอในที่นี้มาจากเยาวชนมุสลิมคนหนึ่งที่เข้าร่วมการสานเสวนาด้วยกัน เขากล่าวว่า กลุ่มที่มีความคิดสุดโต่งที่ปฏิเสธทุกกติกา ไม่อยู่บนฐานแห่งเหตุผลและมนุษยธรรม เช่นกลุ่มไอซิส จะถูกเรียกว่าเป็นกลุ่มมุสลิม ขณะที่กลุ่มขวาสุดโต่งที่เป็นคริสต์ ยิว หรือศาสนาอื่น จะไม่ถูกเรียกชื่อตามความเชื่อทางศาสนา การต่อสู้ในชายแดนใต้เป็นการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างกลุ่มชาตินิยมมลายูกับกลุ่มชาตินิยมไทย กลุ่มแรกถือศาสนาอิสลาม กลุ่มที่สองถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ แต่ทั้งสองกลุ่มมิได้มีแรงจูงใจทางศาสนาเป็นหลัก หากมีแรงจูงใจทางการเมือง แต่หนีไม่พ้นที่หลายคนมองว่าเป็นความขัดแย้งทางศาสนาอยู่ดี ประเด็นสถานะของผู้ต่อสู้ก็สำคัญ การกระทำของฝ่ายที่มีสถานะเป็นรัฐ มักจะไม่ถูกเรียกว่าเป็นการก่อการร้าย เช่น การฆ่านักข่าวคาซ็อกกี้ หรือนายพลโซเลย์มอนี หรือการเข่นฆ่าอย่างโหดร้ายในซีเรียหรือเยเมน ไม่ถูกเรียกเป็นการก่อการร้าย เพราะผู้กระทำมีสถานะเป็นรัฐใช่หรือไม่ ส่วนในชายแดนใต้ ฝ่ายขบวนการฯ มีสถานะด้อยกว่า ถูกมองว่าเป็น “ผู้เป็นอื่น” เป็นมลายู เป็นมุสลิม บวกกับความกลัวมุสลิมจากข้างนอก เลยมีมุมมองที่สับสนกันใหญ่ จึงเกิดการเผยแพร่ความคิดที่ยุยงให้เกลียดชังมุสลิม ทำให้การแก้ปัญหาชายแดนใต้ยิ่งยากขึ้นไปใหญ่
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ