คอลัมนิสต์

สร้างคุณภาพสังคมผู้สูงวัย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สร้างคุณภาพสังคมผู้สูงวัย บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม 2563

 

 


          ในปี 2563 มีการคาดการณ์จากสำนักเศรษฐกิจหลายแห่งทั้งในและต่างประเทศที่ต่างเห็นพ้องว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะมีอัตราไม่สูงและยังมีความเสี่ยงต่อปัจจัยผันผวนหลายเรื่อง ทั้งนี้ รายงาน Global Economy Watch ฉบับล่าสุด ระบุว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2563 คาดว่าจะเติบโตที่ 3.4% และเห็นว่าจะเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะชะลอตัวของโลกาภิวัตน์ (Slowbalisation) โดยได้รับแรงกดดันจากความตึงเครียดสงครามทางการค้า อย่างไรก็ตาม ในส่วนภาคบริการจะยังคงเป็นดาวเด่นของการค้าโลก คาดว่ามูลค่าของการบริการส่งออกทั่วโลกจะสูงถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 212.56 ล้านล้านบาท โดยเศรษฐกิจหลักของโลกจะได้รับแรงหนุนจากภาวะทางการเงินที่ผ่อนคลายลงและการพึ่งพาการบริโภคภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นทดแทนการส่งออกและการลงทุน

 

 

          นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงของประชากรโลกอีกด้วย โดยในปี 2563 คาดว่าจำนวนประชากรโลกจะสูงถึง 7.7 พันล้านคน เพิ่มขึ้นประมาณ 10% เมื่อเทียบกับทศวรรษที่ผ่านมา และยังประมาณการว่าจำนวนประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีทั่วโลกจะมีมากกว่า 1 พันล้านคน โดยจีนจะมีจำนวนประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปีสูงกว่าประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ใหญ่ที่สุดของโลก 6 แห่งรวมกันด้วย ซึ่งตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นว่าทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเต็มตัว ขณะที่หลายประเทศประสบปัญหาขาดแคลนคนรุ่นใหม่เข้ามาทดแทนเพราะอัตราการเกิดใหม่ลดต่ำลงมาก ขณะเดียวกันก็คาดการณ์ว่าปี 2030 หรืออีก 10 ปีข้างหน้าประชากรผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไปจะมี 1,400 ล้านคนทั่วโลก จะเป็นปีแรกที่มากกว่าจำนวนเด็กเกิดใหม่นั่นคือโลกเข้าสู่ยุคสังคมสูงอายุระดับสูงสุด


          สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ได้รายงานต่อคณะรัฐมนตรีถึงแนวโน้มประชากรไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 66.5 ล้านคนในปี 2563 เป็น 67.2 ล้านคน ในปี 2571 หลังจากนั้นจะลดลงในอัตราร้อยละ -0.2 ต่อปี โดยในปี 2583 คาดว่าจะมีประชากรทั้งหมด 65.4 ล้านคน ซึ่งในปี 2563 มีผู้สูงอายุ 12 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18 ของทั้งหมด แต่ในปี 2583 เพิ่มเป็น 20.42 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 31.28 ของทั้งหมด และในปี 2562 เป็นปีแรกที่จำนวนประชากรวัยเด็กเท่ากับประชากรผู้สูงอายุที่ 11.3 ล้านคน ทั้งนี้รัฐบาลได้กำหนดให้วาระผู้สูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีแนวทางขับเคลื่อนครอบคลุมทั้งกลุ่มก่อนวัยสูงอายุ 25-59 ปีและผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยในกลุ่มก่อนวัยสูงอายุมีแผนส่งเสริมเน้นเรื่องการออมและสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุรวมทั้งเสริมทักษะใหม่แก่แรงงานผู้สูงอายุ




          การที่รัฐบาลมีเป้าหมายเน้นเสริมทักษะใหม่แก่แรงงานผู้สูงอายุและการออกแบบการทำงานให้ยืดหยุ่นรวมถึงสร้างแรงจูงใจให้นายจ้างที่จ้างผู้สูงอายุถือว่าเป็นมาตรการที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จากกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่าจำนวนผู้สูงวัย 11 ล้านคน มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนอยู่ที่ 34.3% คือมีรายได้ต่ำกว่า 2,647 บาทต่อเดือน และพบว่าผู้สูงวัย 55.8% ต้องพึ่งพารายได้จากผู้อื่น ส่วนอีก 34% ยังต้องทำงานหารายได้เอง ซึ่งชี้ชัดถึงภาวะที่ผู้สูงวัยมีปัญหาเรื่องเงินออมในวัยเกษียณ และจำนวนผู้สูงวัยที่ยังแข็งแรงมีงานทำหลังเกษียณก็ยังไม่มากเพียงพอกับปริมาณเติบโตของประชากรผู้สูงอายุซึ่งเหล่านี้เป็นโจทย์ที่ภาครัฐต้องต่อยอดทำให้เป็นรูปธรรมเพื่อสร้างคุณภาพคุณค่าให้สังคมผู้สูงวัย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ