คอลัมนิสต์

ผมเชื่อว่าเราจะผ่านภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผมเชื่อว่าเราจะผ่านภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไปได้ คอลัมน์... EXCLUSIVE TALK

 

 

          - ช่วยประเมินสถานการณ์ภัยแล้งล่าสุด
          ภัยแล้งน่าจะมีความรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมา เพราะน้ำต้นทุนที่มีไม่มากจากฤดูฝนที่แล้วก็ถูกใช้ไปในช่วงปลายปี เว้นแต่มีฝนหลงฤดูมาเติมน้ำในช่วงต้นปีนี้ แต่โอกาสคงมีน้อยเนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะมีฝนตกน้อยและเสี่ยงเกิดภัยแล้ง ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2563

 

 

          ขณะนี้รัฐบาลประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้ง 18 จังหวัด และมีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรรวม 54 จังหวัด นอกจากนี้ยังมีปัญหาน้ำเค็มรุกน้ำจืด รวมทั้งเกษตรกรปลูกข้าวนาปรังไปแล้วกว่า 3 ล้านไร่ ยิ่งกว่านั้นยังพบว่าไม่มีปริมาณน้ำเติมในแหล่งน้ำตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 ทำให้คาดการณ์ว่าภาวะแล้งจะยาวนานไปจนถึงเดือนพฤษภาคม หรือถ้ามีฝนทิ้งช่วงในปี 2563 ก็อาจยาวไปถึงเดือนกรกฎาคม


          ฤดูฝนที่ผ่านมาเก็บน้ำได้น้อยมากเนื่องจากอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังอ่อน (Weak El Nino) ที่เกิดขึ้นในปี 2562 ทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงราว 2 เดือน ในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2562 นับเป็นสถานการณ์ภัยแล้งนอกฤดูกาล (ภัยแล้งช่วงหน้าฝน) ส่งผลต่อปริมาณน้ำฝนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 10% และทำให้ระดับน้ำในเขื่อนอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่อยู่ในขั้นวิกฤติ กระทบต่อการขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร เป็นภาวะฝนทิ้งช่วงและภาวะฝนน้อยน้ำน้อยจนถึงสิ้นปี 2562 และส่งผลต่อเนื่องถึงปีนี้


          - กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมรับมืออย่างไร
          ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้วเมื่อเข้ารับตำแหน่ง นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประเมินความรุนแรงของปัญหาภัยแล้งว่าจะรุนแรงมากกว่าทุกปีที่ผ่านมาในฤดูแล้งปี 2562/2563 ซึ่งมีปริมาณฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี ส่งผลให้มีน้ำต้นทุนในเขื่อนต่างๆ และแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยจึงได้สั่งการให้กรมชลประทานจัดทำ “แผนบริหารจัดการน้ำ 2562/63” เป็นแผน 6 เดือนระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562-30 เมษายน 2563 โดยมีน้ำจัดสรรให้ 17,699 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็นอุปโภคบริโภค 2,300 ล้านลูกบาศก์เมตร การรักษาระบบนิเวศ และอื่นๆ 7,006 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร รวมถึงสำรองน้ำต้นฤดูฝนปี 2563 หรือช่วงพฤษภาคม-กรกฎาคม 2563 กรณีฝนทิ้งช่วงรวม 10,540 ล้านลูกบาศก์เมตร เกษตรฤดูแล้ง 7,874 ล้านลูกบาศก์เมตร และอุตสาหกรรม 519 ล้านลูกบาศก์เมตร




          รัฐมนตรีเฉลิมชัยให้ความสำคัญอย่างมากกับการพัฒนาฟื้นฟูแหล่งน้ำเพื่อให้มีแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแก้มลิงสำหรับใช้อุปโภคบริโภคในชุมชน การปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนการทำนาปรัง การทำปศุสัตว์ การทำประมง รวมถึงการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในแหล่งน้ำต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรใช้บริโภคและจับขายได้ ตลอดจนแผนว่าจ้างแรงงานเพื่อให้เกษตรกรซึ่งประสบภัยแล้ง ทำการเกษตรไม่ได้ สามารถมารับจ้างทำงาน มีรายได้เสริม ซึ่งกรมชลประทานได้เตรียมวงเงิน 3,100 ล้านบาท เพื่อจ้างแรงงานทั่วทุกภาคระยะเวลา 3-7 เดือน เกษตรกรจะได้ค่าจ้างแรงงานอยู่ระหว่าง 24,000-58,000 บาทต่อคน เพื่อชดเชยช่วงเกิดปัญหาภัยแล้งไม่สามารถปลูกพืชได้


          และยังให้กรมชลประทานขุดสระน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน 40,000 บ่อ เพื่อกักเก็บน้ำ บรรเทาความแห้งแล้ง รวมถึงยังมีแผนก่อสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ และแก้มลิงรวม 421 โครงการ เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานและเพิ่มการเก็บกัก


          นอกจากนี้เน้นการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรรับทราบสถานการณ์น้ำต้นทุน ตลอดจนแนวทางการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อย หรือเลี้ยงสัตว์สร้างรายได้


          ขณะเดียวกันก็ให้ปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อสภาพเงื่อนไขพร้อมเพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกพืชเพิ่มน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำด้วย


          - หลังจากขับเคลื่อนแผนบริหารจัดการน้ำปี2562/2563แล้วมีการประเมินผลและมีแผนปฏิบัติการอะไรรองรับอีกหรือไม่
          ขณะนี้ทุกอย่างยังเป็นไปตามแผนการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน มีการจัดสรรเกินเล็กน้อยเพราะต้องดันน้ำเค็มและช่วยการอุปโภคบริโภคภายใต้ความเห็นชอบของ สทนช. ที่ยังต้องเร่งช่วยเหลือคือพื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบกว่า 3 พันล้านเพิ่มเติมน้ำจากแหล่งน้ำใต้ดินและผิวดิน


          ทั้งนี้ ตามแผนการจัดสรรน้้าทั้งประเทศในช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 - 30 เมษายน 2563 จ้านวน 17,699 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น
          1) อุปโภคบริโภค 2,300 ล้าน ลบ.ม. (คิดเป็นร้อยละ 13)
          2) รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 7,006 ล้าน ลบ.ม. (คิดเป็นร้อยละ 40)
          3) สำรองน้ำต้นฤดูฝนปี 2563 (พ.ค.-ก.ค. 63) รวม 10,540 ล้าน ลบ.ม.
          4) เกษตรฤดูแล้งปี 2562/63 7,874 ล้าน ลบ.ม. (คิดเป็นร้อยละ 44)
          5) อุตสาหกรรม 519 ล้าน ลบ.ม. (คิดเป็นร้อยละ 3)


          จากการติดตามประเมินผลการส่งน้ำ การระบายน้ำในพื้นที่ทั้งประเทศและลุ่มเจ้าพระยา
          1.ผลการจัดสรรน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ถึงวัน ที่ 2 มกราคม 2563 จากแผน 17,699 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 5,558 ล้าน ลบ.ม. (แผน 5,661 ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 31 ของแผนจัดสรรน้ำ ซึ่งใกล้เคียงกับแผนลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากแผน 4,000 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 1,707 ล้าน ลบ.ม. (แผน 1,275 ล้าน ลบ.ม. ) คิดเป็นร้อยละ 43 ของแผน จัดสรรน้ำเกินแผน 432 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 11


          2.ผลเพาะปลูกพืชในเขตชลประทานไปแล้ว 2.33 ล้านไร่ (แผน 2.83 ล้านไร่) คิดเป็นร้อยละ 82 ของแผน แบ่งเป็นเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 2.21 ล้านไร่ (แผน 2.31 ล้านไร่) คิดเป็นร้อยละ 95 ของแผน พืชไร่-พืชผักปลูกไปแล้ว 0.12 ล้านไร่ (แผน 0.52 ล้านไร่) คิดเป็นร้อยละ 23 ของแผน


          ในส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการ มีการใช้น้ำเกินแผนไปบ้างเพราะต้องจัดสรรน้ำเพิ่มเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้และแก้ปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา มิฉะนั้นจะส่งผลต่อระบบนิเวศและคุณภาพน้ำด้านเกษตรกรรม-อุปโภคบริโภค จึงมีแผนการผันน้ำ จากลุ่มน้ำแม่กลองมาลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างในฤดูแล้ง ปี 2562/2563 จำนวน 850 ล้าน ลบ.ม. สำหรับในอนาคตจะพิจารณาผันน้ำมาสนับสนุนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตามศักยภาพและปริมาณน้ำต้นทุน อาจต้องเพิ่มเป็น 2,000 ล้านลบ.ม. โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งการแก้ไขปัญหาน้ำทะเลหนุนกระทบต่อการผลิตน้ำประปา ล่าสุดในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑลก็สามารถคลี่คลายปัญหาได้อย่างรวดเร็วทันทีที่กปน.ประสานงานมา โดยส่งน้ำเพิ่มจากเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนพระราม 6 และแม่กลอง เช่นเดียวกับการส่งน้ำเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก และแม่น้ำบางขามใน จ.ลพบุรี และสระบุรี สามารถแก้ปัญหาการอุปโภคบริโภคที่ผมเพิ่งไปลงพื้นที่มาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่ก็ขอให้กปภ.และประปาหมู่บ้านตำบลรณรงค์ประหยัดการใช้น้ำอย่างต่อเนื่อง


          สำหรับการขับเคลื่อนแผนหลักมาได้ครึ่งทางและมีการประเมินผลแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำชับให้บริหารจัดการน้ำทั้งระบบ เช่น


          การก่อสร้างแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก และแก้มลิง รวมทั้งสิ้น จำนวน 421 โครงการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทั้งโครงการจะเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 1,232,121 ไร่ และปริมาตรเก็บกัก 942.00 ล้าน ลบ.ม. สำหรับในปี 2563 โครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จจะได้พื้นที่ชลประทาน 176,968 ไร่ และปริมาตรน้ำเก็บกัก 199.54 ล้าน ลบ.ม.


          ในปีงบประมาณ 2563 (งบลงทุน) จะเร่งรัดงานซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุงงานชลประทาน ก่อสร้างแหล่งน้ำระบบส่งน้ำเพื่อชุมชน แก้มลิง การจัดการคุณภาพน้ำ และโครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ


          ส่วนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าจะดำเนินการจ้างแรงงานทั่วทุกภาคของประเทศ วงเงินประมาณ 3,100 ล้านบาท
          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ยังได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เร่งดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ (Action plan) รับมือภัยแล้งทั่วประเทศ โดยให้รายงานสถานการณ์ต่อศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรทุกวัน พร้อมจัดทำมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ การประกอบอาชีพ และเสริมรายได้ ตามนโยบายศูนย์บัญชาการน้ำเฉพาะกิจและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำแห่งชาติ


          - คิดว่าเพียงพอต่อการรับมือภัยแล้งหรือไม่
          กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหนึ่งในหลายหน่วยงานที่ร่วมกันดูแลปัญหาภัยแล้งโดยขับเคลื่อนแผนบริหารจัดการน้ำมาตั้งแต่ปีที่แล้วและรับมือได้ดีตามแผนบริหารจัดการน้ำ ปี 2562/2563 ยังมีอีกหลายหน่วยงานโดยเฉพาะ


          ล่าสุดคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการสนับสนุนงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 2562 ไปพลางก่อน สำหรับใช้เป็นค่าใช้จ่ายในโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ รวมทั้งสิ้น 2,041 โครงการ ภายในวงเงิน 3,079,472,482 บาท โดยให้ใช้จ่ายจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 ไปพลางก่อน จำนวน 2,295,698,982 บาท และให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลปรับแผนการดำเนินงานจากกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนและระบบกระจายน้ำ เพื่อสนับสนุนแผนปฏิบัติการฟื้นฟูเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย ปี 2562 ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 และยังไม่ขอรับการจัดสรรเงินงบประมาณ จำนวน 783,773,500 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการ


          นายกรัฐมนตรียังได้กำชับให้ใช้ทุกมาตรการเช่นการขุดบ่อน้ำบาดาล จัดหาแหล่งน้ำสำรอง ตั้งจุดแจกจ่ายน้ำประปา จ้างงานและหาอาชีพเสริมให้แก่เกษตรกร


          นอกจากนี้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ยังมีมติเห็นชอบกรอบโครงสร้างศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำ และกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (War Room) ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2562


          ตัวอย่างของแผนปฏิบัติการเช่นทางด้านเกษตร แบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน 1.ในพื้นที่เขตชลประทาน มีมาตรการในการควบคุมจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามแผนจัดสรรน้ำและสอดคล้องต่อปริมาณน้ำต้นทุน โดยมีการปรับแผนจัดสรรน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่–กลาง เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562 มีการปรับแผนเพิ่มขึ้น จำนวน 587 ล้านลบ.ม. จากแผนเดิม 11,984 ล้าน ลบ.ม. เป็น 12,570 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 14 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 5 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 แห่ง ภาคตะวันออก 5 แห่ง ภาคกลาง 1 และภาคตะวันตก 2 แห่ง อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 11 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 3 แห่ง และภาคตะวันออก 8 แห่ง ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ควบคุมการจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามแผนอย่างเคร่งครัด พร้อมประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่


          2.นอกพื้นที่เขตชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมสำรวจพื้นที่ปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นเสี่ยงขาดแคลนน้ำ 2.6 ล้านไร่ พบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำขั้นรุนแรง ยืนต้นตายจำนวน 0.37 ล้านไร่ ในพื้นที่ 30 จังหวัด โดยมอบกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จะดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนสนับสนุน พร้อมทั้งจัดทำแผนและมาตรการเสนอโดยด่วนต่อไป


          นอกจากนี้ยังมีการเตรียมความพร้อมรับมือ ด้านเครื่องมือและเครื่องจักรกลโดยให้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา และกองทัพบก ได้เตรียมความพร้อมเครื่องจักรกล ยานพาหนะ เครื่องมือและอุปกรณ์ รวม 4,192 เครื่อง แบ่งเป็นรถบรรทุกน้ำและรถผลิตน้ำ 1,517 เครื่อง เครื่องจักรและเครื่องขุด 175 เครื่อง และเครื่องเจาะบ่อและสูบน้ำ 2,500 เครื่อง โดยมอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรับไปดำเนินการวางแผนการใช้เครื่องจักรเครื่องมือ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งต่อไป


          ผมเชื่อว่าเราจะผ่านภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไปได้ด้วยความร่วมมือของทุกภาคีภาคส่วนโดยเฉพาะการช่วยกันใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพตามแผนหลักของ สทนช. และแผนปฏิบัติการของกรมชลประทานรวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐโดยการสนับสนุนของรัฐบาล


          - ในอนาคตยังต้องเผชิญภัยแล้งอีกมีแผนวางไว้อย่างไร
          เราจะแปลงวิกฤติเป็นโอกาสเพื่อวันหน้า แม้เกิดวิกฤติภัยแล้งจะต้องได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ซึ่งต้องคิดแบบองค์รวมเชิงโครงสร้างและระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ บริหารจัดการทั้งอุปสงค์และอุปทาน (Demandside & Supplyside Management)


          กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงนำนโยบายเทคโนโลยีเกษตรมาขับเคลื่อน เช่น การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติที่เป็นบิ๊กดาต้าใช้ปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์ประเมินผลและสื่อสารไปถึงเกษตรกร ผ่านแอพพลิเคชั่นบนแพลตฟอร์มมือถือ โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการน้ำในภาวะภัยแล้งก็มีระบบชลประทานอัจฉริยะ ต่อไปการบริหารการจัดสรรน้ำต้นทางจนถึงปลายทางผู้ใช้จะควบคุมด้วยเทคโนโลยีและไอโอทีแพลตฟอร์มที่แม่นยำและรวดเร็ว


          นอกจากนี้จะมีการเดินหน้าโครงการเมกะโปรเจกท์น้ำ เช่น Water Grid และโครงการผันน้ำเติมเขื่อนใหญ่ในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก และบางส่วนของภาคใต้ เช่น โครงการโขง เลย ชีมูล เป็นต้น เราลงทุนหลายล้านล้านบาทกับการคมนาคมขนส่งได้ทำไมจะลงทุนเพื่อเกษตรกรของเราบ้างไม่ได้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะนำเสนอเมกะโปรเจกท์ให้รัฐบาลเร่งรัดสนับสนุนพร้อมกับโครงการธนาคารน้ำใต้ดินบ่อน้ำชุมชนแบบขนมครกโมเดล ซึ่งเป็นไมโครโปรเจกท์สำหรับชุมชนและครัวเรือน รวมทั้งวิธีการส่งน้ำและการขยายเขตส่งน้ำด้วยพลังงานทดแทนต่างๆ เพื่อเพิ่มเขตชลประทานได้กว้างขึ้นเร็วขึ้นและใช้งบประมาณน้อยลง


          สุดท้ายคือการปฏิรูปการใช้น้ำภาคเกษตรแห่งอนาคตภายในเรือกสวนไร่นา ซึ่งเร็วๆ นี้ หลังจากรัฐมนตรีดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ให้ความเห็นชอบก็จะมีการเผยโฉมนวัตกรรมใหม่ของระบบน้ำในฟาร์มที่จะพลิกโฉมหน้าการทำเกษตรครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยใช้น้ำเพียง 20% จากการทำเกษตรแบบปัจจุบัน สามารถลดการใช้น้ำถึง 80% ลดการใช้ปุ๋ย 80% ลดการใช้สารกำจัดวัชพืช 80% เพื่อรองรับปัญหาภัยแล้งในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ