คอลัมนิสต์

วิ่งไล่ลุง ไม่เข้าเป้า ม็อบใหญ่ยังต้องรอเวลา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วิ่งไล่ลุง ไม่เข้าเป้า ม็อบใหญ่ยังต้องรอเวลา คอลัมน์... ล่าความจริง..พิกัดข่าว โดย... ปกรณ์ พึ่งเนตร

 

 


          ควันหลงจากกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง-เดินเชียร์ลุง” ยังคงเป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจ แน่นอนว่าฝ่ายที่จัดงานทั้งสองฝ่ายก็ต้องประกาศความสำเร็จ แต่งานนี้ฝ่ายความมั่นคงประเมินว่าอย่างไร ถือเป็นข้อมูลที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

อ่านข่าว-ตร.จ่อแจ้งจับ 2 แกนนำ วิ่งไล่ลุงนครพนม 

 

 

          ข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคงที่ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปเกาะติดทุกกิจกรรม พบว่าพื้นที่จัดกิจกรรมแยกเป็นช่วงเช้ากับช่วงบ่าย ในช่วงเช้าจัด “วิ่งไล่ลุง” 28 จังหวัด กระจายกันทุกภาค แยกเป็นภาคกลาง-ตะวันออก 10 จังหวัด เฉพาะกทม.ที่สวนรถไฟ ประมาณ 10,000 คน จังหวัดอื่นๆ อีกรวม 850 คน ภาคเหนือ 5 จังหวัด รวม 720 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด รวม 975 คน และภาคใต้ 6 จังหวัด รวม 503 คน


          นับรวมมวลชนร่วมกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ช่วงเช้า อยู่ที่ 13,048 คน


          ส่วนในช่วงบ่าย มีการจัดกิจกรรมอีก 12 จังหวัด แต่ซ้ำกับช่วงเช้า 3 จังหวัด จึงเหลือรวมทั้งประเทศ 37 จังหวัด เฉพาะกิจกรรมช่วงบ่ายมีมวลชนรวมประมาณ 900 คน


          ฉะนั้นตัวเลขกลมๆ คนร่วมกิจกรรมวิ่งไล่ลุง น่าจะอยู่ที่ 14,000-15,000 คนทั่วประเทศ ส่วน “เดินเชียร์ลุง” ที่สวนลุมพินี ก็มีมวลชนเรือนหมื่นเช่นกัน


          ฝ่ายความมั่นคงประเมินว่า ยอดมวลชนที่ร่วมวิ่งไล่ลุง ถือว่าต่ำกว่าเป้าหมายที่ผู้จัด หรือผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็น “นายทุนการเมือง” ตั้งเอาไว้ โดยเฉพาะการปั่นกระแสในโซเชียลมีเดีย กับสถานการณ์จริง ตัวเลขมวลชนห่างกันประมาณ 10 เท่า


          ตัวเลขจริงสวนทางกับท่าทีของกลุ่มผู้จัดและผู้อยู่เบื้องหลัง ซึ่งในทางความมั่นคงเองถือว่า “ออกตัวแรง” คือไม่ได้อยู่ในช่วง “ปูกระแส-ดึงมวลชน” แล้ว แต่เป็นช่วงของการ “ปลุกกระแส” มากกว่า เพราะมีการทุ่มประชาสัมพันธ์ทุกช่องทาง ทั้งผ่านสื่อกระแสหลักและสื่อออนไลน์ มีความพยายามลากยาวการประชุมสภาเพื่อพิจารณางบประมาณให้จบลงก่อนวันจัดกิจกรรมเพียง 1 วัน ไม่ทิ้งช่วงห่าง เพื่อเลี้ยงกระแส

 



          เช่นเดียวกับการที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เลือกวันเข้าพบตำรวจ สน.ปทุมวัน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาคดี “แฟลชม็อบ” ก็เลือกวันศุกร์ที่ 10 มกราคม ก่อนวิ่งไล่ลุง 2 วัน เพื่อให้เห็นหน้า “พ่อของฟ้า” ทางสื่อกระแสหลัก แต่สุดท้ายมวลชนก็ยังไม่เป็นไปตามเป้า


          ฉะนั้นในระยะสั้น ฝ่ายความมั่นคงประเมินว่า การจะจัดชุมนุมขนาดใหญ่เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจึงเป็นเรื่องยาก สอดคล้องกับที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ วิเคราะห์เอาไว้เองระหว่างพูดคุยนอกรอบกับทีมข่าว “คม ชัด ลึก” โดยยอมรับว่าขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาของการมีม็อบขนาดใหญ่


          ทิศทางที่กำลังจะเป็นไปก็คือ ต้องอาศัยปัจจัยสนับสนุนจากความเคลื่อนไหวในสภา ซึ่งกำลังจะมีการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ


          ความเคลื่อนไหวล่าสุดคือจะมีการยื่นอภิปรายรัฐมนตรี 5 คน มาจากพรรคพลังประชารัฐ หรือ “โควตากลาง-สายตรงนายกฯ” ทั้งหมด ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย และ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ


          ไล่ดูรายชื่อ 5 รัฐมนตรี ไม่มีเสนาบดีจากพรรคร่วมรัฐบาลเลย เป้าหมายของฝ่ายค้าน (อันที่จริงคือภายใต้ยุทธศาสตร์ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง) คือการมุ่งโจมตีไปที่จุดเดียว พร้อมๆ กับรักษา “มิตร” ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเอาไว้ เผื่อสถานการณ์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคต พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคอาจเปลี่ยนขั้วได้เหมือนกัน


          ประเด็นหลักที่จะอภิปรายแบบเน้นๆ น่าจะเป็นการบริหารงานตั้งแต่ในยุครัฐบาล คสช. เพราะทั้ง 5 คนนี้เป็นรัฐมนตรีคนสำคัญมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว


          ประเด็นที่มีข่าวว่าจะถล่มแน่ๆ คือ คดีบริษัทนำเข้าบุหรี่ชื่อดังที่เพิ่งถูกศาลสั่งปรับ 1.2 พันล้านบาทไปเมื่อไม่นานนี้ ฐานสำแดงเท็จและหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร โดยข้อมูลของฝ่ายค้านจะแฉให้เห็นว่า สาเหตุที่คดีนี้ยืดเยื้อยาวนานกว่า 10 ปี และถูกสั่งปรับแค่ 1.2 พันล้านบาท ทั้งๆ ที่น่าจะเป็นหลักหมื่นล้านนั้น เป็นความพยายามช่วยเหลือของคนในรัฐบาล ทั้งแก้ไขกฎหมาย ทั้งเจรจากับต่างประเทศ จนสุดท้ายแม้จะไม่พ้นผิด แต่ก็ช่วยลดค่าปรับลงไปได้มหาศาลในมุมมองของฝ่ายค้าน


          ต้องรอดูว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่มี “ขุนศึกฝั่งธน เฉลิม บางบอน” คอยคุมเกมนั้น จะสร้างแรงสั่นสะเทือนให้รัฐบาลได้แค่ไหน หลังจาก 2 กิจกรรมแรก คือ อภิปรายงบประมาณ และ “วิ่งไล่ลุง” ออกอาการแป้กมาแล้ว


          แต่ต้องไม่ลืมว่า กระแสความไม่พอใจของพี่น้องประชาชนยังคุกรุ่นอยู่ตลอด โดยมีแรงกดดันที่ปัญหาเศรษฐกิจ ฉะนั้นการเคลื่อนไหวทั้งในและนอกสภา หากสร้างจุดเปลี่ยนที่มีนัยสำคัญได้ หรือมีสถานการณ์บางอย่างเกื้อหนุน มวลชนก็พร้อมลงถนน เพราะทุกคนเดือดร้อนอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ


          ปิยบุตร เองก็มองว่าสิ่งที่เป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่โตหรือมีสาระอะไรมาก เพราะกระแสความไม่พอใจคุกรุ่นอยู่แล้วจากปัญหาเศรษฐกิจและการเลือกปฏิบัติ


          ฉะนั้นการฟื้นเศรษฐกิจให้ได้อย่างเห็นหน้าเห็นหลัง กับการระมัดระวังไม่สร้างเงื่อนไขจนสะดุดขาตัวเอง ก็จะเป็น “ยันต์กันผี” ให้รัฐบาล เพราะลำพังเกมในสภาอย่างเดียวไม่สามารถล้มรัฐบาลได้แน่นอนแล้ว เนื่องจากฝ่ายค้านอ่อนแอกว่ารัฐบาลเสียอีก โดยเฉพาะความขัดแย้งจากการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งท้องถิ่น ที่สร้างรอยร้าวในพรรคเพื่อไทย อย่างที่เห็นกันแล้วกับการลาออกของ นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย


          และจะมีคลื่นใต้น้ำตามมาอีกหลายระลอก !

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ