คอลัมนิสต์

กิจกรรมป่วนเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กิจกรรมป่วนเมือง

 

 

          จบลงไปแล้วสำหรับกิจกรรม"วิ่งไล่ลุง”


          “ทีมข่าวการเมืองคมชัดลึก” อยากจะบอกว่านี่คือกิจกรรมของพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากการจัดการทั้งหน้าฉากและหลังฉากล้วนถูกกำหนดโดยพรรคอนาคตใหม่แทบทั้งสิ้น

 

อ่านข่าว...  เปิด เบื้องหน้า-เบื้องหลัง วิ่งไล่ลุง

 

 

          ดังนั้นพรรคอนาคตใหม่จึงน่าจะยอมรับเสียทีว่า “วิ่งไล่ลุง” คือกิจกรรมของพรรค หากไม่ทำผิดกฎหมายคงไม่มีใครว่าอะไร


          นี่แค่เป็นการเริ่มต้น การต่อสู้ของอนาคตใหม่กับกลุ่มอำนาจปัจจุบัน กิจกรรมวิ่งไล่ลุง เป็นกิจกรรมที่แปลงร่างมาจาก “แฟลชม็อบ” ที่ว่าต้องแปลงร่างเพราะว่า ธนาธรโดนข้อหาจัดชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาตไปรายงานตัวกับตำรวจ สน.ปทุมวันแล้ว


          ยังเหลือแกนนำพรรคอนาคตใหม่อีก 3 คน คือ ปิยบุตร แสงกนกกุล, พรรณิการ์ วาณิช และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่เจ้าหน้าที่ส่งหนังสือไปยังสภาเพื่อขอตัวมาดำเนินคดีอาญา


          โดยประธานชวน หลีกภัย ได้แจ้งที่ประชมว่าตำรวจขออนุญาตสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเรียกตัวนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ น.ส.พรรณิการ์ วานิช และนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ไปสอบสวนในคดีอาญา ในระหว่างสมัยประชุม ตามมาตรา 125 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

 

 

 

กิจกรรมป่วนเมือง

 


          เพราะจากหลักฐานของตำรวจ ชัดเจนว่ามี 3 ส.ส. ร่วมกระทำความผิดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2562 เวลาประมาณ 17.00 น. บริเวณสกายวอล์ก หน้าศูนย์การค้ามาบุญครอง ซึ่งเป็นการจัดการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามที่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจปทุมวัน ตามคดีอาญาที่ 0150/2562


          โดยจากการสืบสวนสอบสวนปรากฏพยานหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่านายพิธา น.ส.พรรณิการ์ และนายปิยบุตร ซึ่งเป็นส.ส. มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกระทำการดังกล่าวด้วย จึงมีความจำเป็นต้องเรียกตัวในฐานะเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา เพื่อทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานให้ครบถ้วนเพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความเป็นธรรมกับผู้เกี่ยวข้อง แต่ด้วยเหตุที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างสมัยประชุมรัฐสภา ดังนั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงขออนุญาตออกหมายเรียก ส.ส.ทั้งสามรายไปสอบสวนในฐานะเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาเพื่อดำเนินการสอบสวนตามบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ต่อไป

 



          นี่คือบางส่วนของหนังสือที่ตำรวจแจ้งมา


          หากว่ากันตามรัฐธรรมนูญมาตรา 125 วรรคแรก ที่บัญญัติว่าในระหว่างสมัยประชุมห้ามมิให้จับ คุมขัง หรือหมายเรียกตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาไปสอบสวนในฐานะที่สมาชิกผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือเป็นการจับในขณะกระทําความผิด


          กรณีดังกล่าวนักข่าวไปถามพรรณิการ์ วาณิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ว่าจะใช้เอกสิทธิ์คุ้มครองหรือไม่ พรรณิการ์ ยืนยันว่าจะใช้เอกสิทธิ์นี้

 

 

กิจกรรมป่วนเมือง

 


          ฉะนั้นหากตำรวจจะได้ตัว 3 ส.ส.ไปดำเนินคดีอาญา ก็ขึ้นกับมติที่ประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในทางปฏิบัติ ประธานชวน จะต้องนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมแล้วขอมติ แม้นว่าพรรคฝ่ายรัฐบาลจะมีเสียงส.ส.มากกว่า สามารถโหวตอนุญาตให้ ตำรวจนำ 3 ส.ส.ไปดำเนินคดีได้ก็ตาม


          แต่ที่ผ่านมาในอดีตไม่เคยมีมติแบบนี้เชื่อว่าสภาจะมีมติไม่ส่งตัว 3 ส.ส.ให้ดำเนินคดีอาญา ให้รอจนกว่าจะปิดสมัยประชุมในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พอปิดสมัยประชุม ตำรวจสามารถจับกุมทั้ง 3 คนได้เลย หากทั้ง 3 คนไม่ไปพบพนักงานสอบสวน


          แต่ในระหว่างนี้แกนนำพรรคอนาคตใหม่เหล่านี้ยังเคลื่อนไหวนอกสภาได้ตามปกติ จะมีกิจกรรมวิ่งไล่ลุงอีกหลายครั้ง เพราะแกนนำพากันประเมินว่ากิจกรรมวิ่งไล่ลุงประสบความสำเร็จ จะมีการจัดกิจกรรมลักษณะนี้อีกหลายจังหวัดหัวเมืองใหญ่


          “ทีมข่าวการเมืองคมชัดลึก” เห็นการเคลื่อนไหวนอกสภาแบบนี้ไม่ได้ต่างจากการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงในอดีตเลย การชุมนุมกลุ่มย่อยในแต่ละจังหวัดก็คือการปลุกม็อบแบบดาวกระจายนั่นเอง


          เมื่อแต่ละจังหวัดมีเงื่อนไขที่สุกงอม ม็อบย่อยๆ เหล่านี้หรือแฟลชม็อบ จะรวมกันเป็นม็อบใหญ่รวมตัวกันขับไล่รัฐบาล


          ขึ้นกับว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะบีบคั้นแค่ไหน อยากให้จับตาดูผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรมนูญคดีล้มล้างการปกครองในวันที่ 21 มกราคม ที่ปิยบุตร เรียกว่าคดีอิลลูมินาติ


          คำตัดสินของศาลหากยุบพรรคอนาคตใหม่จะเป็นเหตุให้แกนนำพรรคอนาคตใหม่นำมาเป็น “เงื่อนไข” ในการเคลื่อนไหวนอกสภา ซึ่งพอจะทราบว่า ธนาธร และคณะวางแผนกันเอาไว้เรียบร้อยแล้ว นับแต่ ธนาธร ลาออกจากกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณ จากนั้นนำ ”แฟลชม็อบ” ลงถนนที่สกายวอล์ก


          แกนนำอนาคตใหม่เชื่อว่าศาลจะตัดสินไม่เป็นคุณต่อพรรค ฉะนั้นในการอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ปิยุบตร ได้อภิปรายโจมตีงบประมาณของศาลรัฐธรรมนูญใน 2 ประเด็น ได้แก่


          การของบประมาณในโครงการปรับปรุงบ้านเจ้าพระยารัตนธิเบศเพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์และวิทยาลัยศาลรัฐธรรมนูญ ภายใต้งบ 193.1 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ “เกินครึ่ง” ของงบศาลรัฐธรรมนูญที่ตั้งไว้ 293.99 ล้านบาท


          ปิยบุตรเสนอให้ตัดงบปรับปรุงบ้านทิ้งทั้งหมดแล้วโอนการดูแลบ้านไปให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการเก็บรักษามากกว่า


          พร้อมกับวาทกรรมใหม่ว่า “จะได้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่พิทักษ์รัฐประหารแบบที่ผ่านมา”


          นอกจากนี้อีกโครงการที่นายปิยบุตรเสนอให้หั่นงบทั้งก้อนคือ “โครงการอบรมสัมมนา” ที่ตั้งงบไว้ 12.16 ล้านบาท โดยยกตัวอย่างโครงการ “หลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย รุ่นที่ 8 (นธป.)” อบรม 36 วัน ใช้เงินกว่า 7 ล้านกว่าบาท


          เป็นการใช้งบประมาณเพื่อสร้าง "คอนเนกชั่น” ของศาลจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้พิพากษาได้พบปะกับพ่อค้าวานิช ข้าราชการระดับสูง นักการเมือง ฯลฯ ผ่านการศึกษาอบรม แล้วจะเป็นการส่งเสริมความมีอิสระในการตัดสินได้อย่างไร


          นี่เป็นการเปิดหน้าชนศาลรัฐธรรมนูญแบบไม่กลัวหน้าอินทร์หน้าพรหม เสมือนแกนนำอนาคตใหม่ทุกคนรู้ว่าหากศาลรัฐธรรมนูญยังเป็นชุดเดิมที่ตัดสินคดีหุ้นสื่อวี-ลัก มีเดีย ของธนาธร ยังไงอนาคตตใหม่ก็ไม่รอด เพราะยังไม่มีการเปลี่ยนตัวบุคคลในศาลรัฐธรรมนูญ


          ถึงแม้นคดีอิลลูมินาติอาจจะรอด แต่ยังมีคดีเงินกู้ 191 ล้าน ที่ กกต.ส่งให้ศาลยุบพรรคอนาคตใหม่รออยู่อีกคดี


          ด้วยความเชื่อของแกนนำพรรคอนาคตใหม่ว่าผู้มีอำนาจชุดปัจจุบันยังไงมีธงให้ยุบพรรคอนาคตตใหม่อยู่แล้ว อยู่ที่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้น


          นี่จึงทำให้แกนนำอนาคตใหม่ต่างโฟกัสไปที่การเมืองนอกสภาหรือการลงถนน เพื่อต่อสู้กับกลุ่มอำนาจปัจจุบันเนื่องจากมั่นใจว่าการต่อสู้ในระบบรัฐสภาพวกเขาไม่สามารถสู้อำนาจรัฐได้


          แม้นว่ารัฐธรรมนูญจะเปิดช่องให้ตรวจสอบอำนาจรัฐได้ อย่างกรณีการอภิปรายไม่ไว้วางใจพรรคอนาคตตใหม่ก็เชื่อว่าจำนวนเสียงที่มีอยู่ไม่สามารถโค่นล้มรัฐบาลได้ ที่สำคัญคือหากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบในวันที่ 21 มกราคม ส.ส.ของพรรคจะต้องหาพรรคใหม่สังกัด


          แน่นอนว่า ส.ส.ส่วนหนึ่งจะไปร่วมกับขั้วรัฐบาล เสียงของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้น การอภิปรายไม่ไว้วางใจจะมีขึ้นในปลายเดือนกุมภาพันธ์ จึงไม่มีความหมายอะไร


          ด้วยเหตุนี้กิจกรรมนอกสภาไม่ว่าการ “วิ่งไล่ลุง” หรือ ”แฟลชม็อบ” รวมถึงการเคลื่อนไหวปลุกมวลชนโดยเอาการแก้ไขรัฐธรรมนูญบังหน้าจะนำไปสู่การชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาลในที่สุด


          วันนั้นหากบ้านเมืองวุ่นวายปั่นป่วนเหมือนม็อบฮ่องกงจะทำให้ทหารออกมาควบคุมสถานการณ์อีกครั้ง นั่นอาจเป็นสิ่งที่กลุ่มการเมืองเหล่านี้ต้องการ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ