คอลัมนิสต์

ชวน วางระเบิด รื้อรัฐธรรมนูญ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชวน วางระเบิด รื้อรัฐธรรมนูญ คอลัมน์...  กระดานความคิด  บางนา บางปะกง 

 

 


          เป็นเรื่องใหญ่โต หลังการให้สัมภาษณ์ของ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการเสนอปรับแก้มาตราที่กำหนดให้ “ผู้นำเหล่าทัพ” ดำรงตำแหน่ง ส.ว. โดยตำแหน่ง เพราะเป็นข้อเสนอตามหลักการประชาธิปไตย และเป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตย

 

 

          หลังจากนั้น ได้มีเสียงขานรับแนวคิด “ประธานชวน” ดังอึงมี่ โดยเฉพาะบรรดาอดีตสมาชิกพรรค ปชป.บางคนที่ลาออกจากพรรค หลังกรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบันมีมติเข้าร่วมรัฐบาลประยุทธ์ 2


          ถ้าไล่ย้อนไปอ่านความคิดเห็นของชวน หลีกภัย ในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรค ยุคที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค ก็จะพบว่า จุดยืนประธานชวนคือ โหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2560


          ปี 2559 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น ได้แถลงจุดยืนของพรรค ปชป. ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วยเหตุผลหลักๆ คือ พรรคไม่รับคำถามพ่วงประชามติที่ให้ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ประชาชนสมควรลงมติไม่รับคำถามนี้


          พรรคไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะมีข้อเสียมากกว่าข้อดี หมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชนถดถอยกว่าปี 2550 จะแก้รัฐธรรมนูญก็ทำยาก ส่วนในบทเฉพาะกาล 5 ปี ไปทำให้ ส.ว. เกี่ยวข้องกับการตั้งรัฐบาลถึง 2 ครั้ง คล้ายกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 ที่เปิดช่องให้ ส.ว.มีส่วนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สุดท้ายเกิดการต่ออายุบทเฉพาะกาลให้ยืดยาวออกไป


          หลังเลือกตั้ง 2562 พรรค ปชป.กลายเป็น “พรรคต่ำร้อย” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แสดงสปิริตลาออกจากหัวหน้าพรรค เปิดให้มีการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่

 

          มีผู้สมัครชิงหัวหน้าพรรคหลายคน แต่คู่ชิงดำจริงๆ ก็เหลือแค่ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” กับ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” และจุรินทร์ ชนะพีระพันธุ์ ได้เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่


          เบื้องหลังเกมชิงประมุข ปชป. คนวงในทราบดีว่า “ชวน” หนุนจุรินทร์ และอดีตนายกฯ ผู้ได้ฉายาจอมหลักการ ก็รู้ลึกรู้ดีว่า ใครสนับสนุนพีระพันธุ์ ?


          อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค นำมาซึ่งการเข้าร่วมรัฐบาล พ่วงด้วยเงื่อนไขการเสนอชวน เป็นประธานสภา นี่เป็นการถอย เพื่อรอวันปรับขบวนอีกครั้ง




          วันที่ 9 ธันวาคม 2562 พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชป. ได้ทำหนังสือลาออกจากสมาชิกพรรค ปชป. โดยไม่ได้ให้เหตุผลลาออกในตอนแรก


          ข่าวพีระพันธุ์ลาออกจาก ปชป. สร้างแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองพอสมควร มีการคาดเดาทิศทางการเมืองของอดีตรัฐมนตรียุติธรรมคนนี้ไปต่างๆ นานา แต่คนใน ปชป.รู้แล้วว่า หมากเกมนี้ ใครเป็นผู้เล่น ?


          วันที่ 17 ธันวาคม 2562 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้แต่งตั้ง พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นที่เรียบร้อย เท่านั้นยังไม่พอ พีระพันธุ์ ยังได้รับการเสนอชื่อเป็น “คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” ในโควตาของคณะรัฐมนตรี


          วันที่ 24 ธันวาคม 2562 กมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 49 คน ได้ประชุมกันนัดแรก และเสียงข้างมากของ กมธ.ชุดดังกล่าว เลือกพีระพันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ ตามโผของ กมธ.ซีกรัฐบาล


          พลิกแฟ้มข่าวช่วงเดือนกันยายนปีที่แล้ว พรรค ปชป. ได้สนับสนุนอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรค ปชป. ให้เป็นประธาน กมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เจอแรงต้านจากพรรคพลังประชารัฐ และ “ผู้ใหญ่” ฟากรัฐบาล จนกรรมการบริหารพรรค ปชป.ต้องถอยอีกครั้ง


          ฉะนั้น เมื่อพีระพันธุ์ได้เป็นประธาน กมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เซียนการเมืองระดับชวน หลีกภัย มีหรือจะเดาทางไม่ออกว่า ทิศทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะออกมาแบบไหน ?


          ระเบิดส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เรื่องข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ “โละ ผบ.เหล่าทัพ” จึงสะเทือนเลื่อนลั่น ไหนใครว่า มีดโกนขึ้นสนิม..ไม่จริงเสียแล้วกระมัง
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ