คอลัมนิสต์

งบไม่ผ่านยุบสภา-ลาออก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดปีใหม่ 2563 ไม่ทันไรการเมืองไทยก็เริ่มร้อนแรงเป็นระยะ เอาแค่เฉพาะเดือนมกราคมนี้ ก็มีเรื่องร้อนทางการเมืองด้วยกันถึงสองเรื่อง

 

 


          เรื่องแรกที่ร้อนที่สุดคงหนีไม่พ้นชะตากรรมของพรรคอนาคตใหม่ ภายหลัง ศาลรัฐธรรมนูญ นัดฟังคำวินิจฉัยใน คดียุบพรรค จากกรณีข้อกล่าวล้มล้างการปกครองในวันที่ 21 มกราคมนี้ ซึ่งเป็นคดีที่แม้แต่ผู้บริหารพรรคยังคาดไม่ถึงว่าศาลรัฐธรรมนูญจะนัดฟังคำวินิจฉัยรวดเร็วขนาดนี้ เรียกได้ว่าไม่ได้เตรียมตัวและเตรียมใจมาล่วงหน้า

 

 

          เดิมทีคาดการณ์กันว่าศาลรัฐธรรมนูญน่าจะเร่งพิจารณาคดีเงินกู้ของ พรรคอนาคตใหม่ ก่อน เพราะเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของสังคม แต่เมื่อ ศาลรัฐธรรมนูญ เตรียมชี้ชะตาพรรคอนาคตใหม่ในข้อกล่าวหาล้มล้างการปกครอง พรรคอนาคตใหม่จึงทำใจและพร้อมยอมรับชะตากรรมที่กำลังจะเกิดขึ้น จึงไม่แปลกที่ 'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จะออกมายอมรับว่าเตรียมตัวตั้งพรรคการเมืองสำรองไว้เหมือนกัน


          อีกเรื่องที่น่าจะเดือดไม่ต่างกัน คือการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ของ สภาผู้แทนราษฎร ระหว่างวันที่ 8-9 มกราคม ตามขั้นตอนเมื่อผ่านความเห็นชอบของสภาจะส่งต่อให้วุฒิสภาลงมติให้ความเห็นชอบต่อไป เป็นอันจบขั้นตอน


          ดูจากขั้นตอนตามกฎหมายแล้วการพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณไม่ได้มีความซับซ้อนมากนัก แต่ในแง่ของสถานการณ์ทางการเมืองภายในรัฐบาลนั้นกลับซับซ้อนยิ่งกว่า เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กำลังเผชิญกับคำว่า “ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร” เข้าอย่างจัง


          ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเป็นปึกแผ่นของพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 18-19 พรรคกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่สำคัญ เนื่องจากต้องไม่ลืมว่าทุกพรรคที่เข้ามาร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐนั้นไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองอย่างรัฐมนตรีครบทุกพรรค เพราะมีเฉพาะ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนา เท่านั้นที่มีตำแหน่งรัฐมนตรี ส่วนพรรคการเมืองอื่นๆ เป็นเพียงพรรคร่วมรัฐบาลลอยๆ เท่านั้น


          ผลจากการไม่มีเก้าอี้รัฐมนตรีเป็นรางวัลทำให้บรรดาพรรคการเมืองเล็กออกอาการก่อหวอดหลายครั้ง โดยเฉพาะการประกาศตัวเป็นพรรค ฝ่ายค้านอิสระ เพื่อแสดงความไม่พอใจการไม่ได้เสื้อคลุมรัฐมนตรีหรือแม้แต่ตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภา ซึ่งเคยแสดงอิทธิฤทธิ์จนส.ส.รัฐบาลเคยโหวตแพ้ฝ่ายค้านเมื่อครั้งพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว


          มาถึงเวลานี้แม้ว่ารัฐบาลจะเริ่มมีสถานะดีขึ้นผ่านการจัดสรรให้พรรคการเมืองเล็กเข้ามามีบทบาทในตำแหน่งกรรมาธิการวิสามัญของสภาเพื่อตรวจสอบเรื่องใดเป็นการเฉพาะ ประกอบกับการเข้ามาบริหารกิจกรรมทางการเมืองด้วยตัวเองของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และพล.อ.ประยุทธ์ ทำให้ความเป็นเอกภาพของรัฐบาลเริ่มกลมเกลียวมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการร่วมโหวตคว่ำญัตติของฝ่ายค้านในการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบการใช้มาตรา 44




          แต่ถึงกระนั้นสถานการณ์ทางการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรของรัฐบาลว่าด้วยการพิจารณา ร่างกฎหมายงบประมาณ ยังไม่ได้อยู่ในสถานะที่น่าไว้วางใจมากนัก เนื่องจากฝ่ายรัฐบาลยังไม่ได้มีเสียงเด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำให้รัฐบาลเสียรังวัดมาแล้วจากการที่สภาล่มถึงสองครั้งในสองวันติดต่อกัน


          เมื่อเป็นเช่นนี้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณในวาระ 2 และ 3 ของรัฐบาลจึงน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะการพิจารณาในขั้นตอนนี้ต้องพิจารณาเรียงลำดับมาตรา โดยเมื่อพิจารณามาตราใดเสร็จหรือพิจารณาเสร็จทั้งหมดก็จะต้องมีการลงมติให้ความเห็นชอบเป็นรายมาตรา โดยมีทั้งสิ้น 55 มาตรา หมายความว่าอาจจะต้องมีการลงมติเป็นรายมาตราถึง 55 ครั้ง และทุกครั้งก่อนจะลงมติต้องมีการนับองค์ประชุมทุกครั้ง


          เสียงของรัฐบาลในสภาเวลานี้มีประมาณ 255 เสียงจากส.ส.ทั้งหมด 499 คน หากรวมกับ 4 ส.ส.ที่ถูกพรรคอนาคตใหม่ขับออกจากพรรคจะรวมเป็น 259 คน ซึ่งก็ยังไม่เป็นตัวเลขที่เหนือกว่าฝ่ายค้านเกิน 25 เสียง


          ตัวเลขส่วนต่างที่ห่างกันไม่ถึง 25 เสียงมีนัยทางการเมืองเป็นอย่างยิ่ง เพราะการโหวตแต่ละครั้งหากได้เสียงข้างมากไม่เกิน 25 เสียง จะสามารถขอให้สภานับคะแนนใหม่ได้ทุกครั้งซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อครั้งพิจารณาญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษามาตรา 44


          ทั้งนี้มีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะต้องเจอสภาพนี้ตลอดการพิจารณ ร่างกฎหมายงบประมาณ ซึ่งปัญหาอยู่ที่รัฐบาลจะคุมเสียงในสภาไปตลอดรอดฝั่งได้หรือไม่ เพราะอย่าลืมหากรัฐบาลแพ้โหวตฝ่ายค้านขึ้นมา หมายความว่ารัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองอย่างไม่มีเงื่อนไข


          มีแค่ 2 ทางเลือก คือ ไม่ลาออก ก็ยุบสภาเลือกตั้งใหม่


          เริ่มต้นปีใหม่ด้วยความยากลำบากแล้ว เส้นทางตลอดปี 2563


          ทั้งนี้สำหรับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 มีตัวเลขสำคัญที่คณะกรรมาธิการวิสามัญสรุปออกมาและมีความน่าสนใจเป็นรายข้อได้ดังนี้


          ภาพรวมของการพิจารณา 1.งบประมาณตั้งไว้จำนวน 3,200,000,000,000 บาท 2.รวมปรับลดทั้งสิ้นตามมติของคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 16,231,217,700 บาท 3.จัดสรรเพื่อให้ส่วนราชการตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอตามความเหมาะสมและจำเป็นจำนวน 13,177,466,400 บาท 4.จัดสรรให้หน่วยงานของรัฐสภา ศาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญและองค์กรอัยการ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 141 วรรคสอง จำนวน 3,053,751,300 บาท 5.คงตั้งงบประมาณไว้จำนวน 3,200,000,000,000 บาท


          สรุปรายการปรับลดพิจารณาเป็นรายกระทรวง รวมทั้งสิ้น ปรับลดลง จำนวน 11,166,696,700 บาท
          1.สำนักนายกรัฐมนตรี ปรับลดลงจำนวน 194,631,300 บาท 2.กระทรวงกลาโหม ปรับลดลง จำนวน 1,518,272,500 บาท 3.กระทรวงการคลัง ปรับลดลง จำนวน 454,632,000 บาท 4.กระทรวงการต่างประเทศ ปรับลดลง จำนวน 194,000,000 บาท 5.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปรับลดลง จำนวน 166,844,900 บาท 6.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปรับลดลง จำนวน 75,509,300 บาท 7.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปรับลดลง จำนวน 1,147,479,100 บาท


          8.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปรับลดลง จำนวน 933,292,200 บาท 9.กระทรวงคมนาคม ปรับลดลง จำนวน 411,629,200 บาท 10.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปรับลดลง จำนวน 86,500,000 บาท 11.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปรับลดลง จำนวน 102,596,200 บาท 12.กระทรวงพลังงาน ปรับลดลง จำนวน 16,931,300 บาท 13.กระทรวงพาณิชย์ ปรับลดลง จำนวน 93,241,100 บาท 14.กระทรวงมหาดไทย ปรับลดลง จำนวน 624,893,400 บาท 15.กระทรวงยุติธรรม ปรับลดลง จำนวน 187,289,200 บาท 16.กระทรวงแรงงาน ปรับลดลง จำนวน 23,995,800 บาท


          17.กระทรวงวัฒนธรรม ปรับลดลง จำนวน 52,795,000 บาท 18.กระทรวงศึกษาธิการ ปรับลดลง จำนวน 909,043,300 บาท 19.กระทรวงสาธารณสุข ปรับลดลง จำนวน 1,318,310,800 บาท 20.กระทรวงอุตสาหกรรม ปรับลดลง จำนวน 20,487,100 บาท 21.ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวงและหน่วยงานภายใต้การควบคุมดูแลของนายกรัฐมนตรี ปรับลดลง จำนวน 6,000,000 บาท 22.จังหวัดและกลุ่มจังหวัด ปรับลดลง จำนวน 402,939,100 บาท


          23.รัฐวิสาหกิจ ปรับลดลง จำนวน 536,327,300 บาท 24.หน่วยงานของรัฐสภา ปรับลดลง จำนวน 679,921,400 บาท 25.หน่วยงานขององค์กรอิสระและองค์กรอัยการ ปรับลดลง จำนวน 71,179,200 บาท 26.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปรับลดลง จำนวนน 924,456,000 บาท 27.หน่วยงานอื่นของรัฐ ปรับลดลง จำนวน 13,500,000 บาท


          สรุปรายการปรับลดตามแผนงานบูรณาการและอื่นๆ รวมทั้งสิ้น ปรับลดลง จำนวน 5,064,521,000 บาท
          1.แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรับลดลง จำนวน 223,553,000 บาท 2.แผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ปรับลดลง จำนวน 972,583,300 บาท 3.แผนงานบูรณาการจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม ปรับลดลง จำนวน 11,000,000 บาท 4.แผนงานบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ปรับลดลง จำนวน 42,800 บาท 5.แผนงานบูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ปรับลดลง จำนวน 11,316,200 บาท


          6.แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ปรับลดลง จำนวน 634,859,400 บาท 7.แผนงานบูรณาการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ปรับลดลง จำนวน 19,500,000 บาท 8.แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ ปรับลดลง จำนวน 2,014,046,700 บาท 9.แผนงานบูรณาการพัฒนาผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล ปรับลดลง จำนวน 148,865,500 บาท 10.แผนงานบูรณาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ปรับลดลง จำนวน 33,668,900 บาท


          11.แผนงานบูรณาการพัฒนาพื้นที่ระดับภาค ปรับลดลง จำนวน 506,082,900 บาท 12.แผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ปรับลดลง จำนวน 167,110,100 บาท 13.แผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ปรับลดลง จำนวน 140,876,400 บาท 14.แผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ปรับลดลง จำนวน 149,015,800 บาท 15.ทุนหมุนเวียน ปรับลดลง จำนวน 32,000,000 บาท

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ