คอลัมนิสต์

'ม้ง' ในการเมือง นักรบอาสา ที่ถูกลืม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายงานพิเศษ จากหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 4-5 ม.ค.63

 

 

********************************

 

ก่อนข้ามปี มีดราม่าข่าวสารเรื่อง ม้ง” ชาติพันธุ์ชาวเขา ตกอยู่กลางสงครามกลุ่มสองขั้วการเมืองให้คนรุ่นใหม่ได้ติดตาม

 

แต่หลายคนอาจยังไม่เข้าใจว่าที่จริง “ม้ง” มีอะไรมากกว่าแค่ความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพมาแต่แดนไกล และถูกคนโน้นคนนี้หยิบขึ้นมาพูดเชิงเห็นใจ หรือเป็นเครื่องมือของการเมืองได้เรื่อยๆ

 

เพราะจริงๆ “ม้ง” ก็คือม้ง ที่มีความเป็นมา มีศักดิ์ศรี มีเรื่องราวของตนเอง เพียงแต่ด้วยข้อจำกัดหลายมิติที่เกิดขึ้น ได้ผลักไสพวกเขาให้กระดอนไกล กลายเป็นเหมือนคนที่ต้องการพึ่งพิงอยู่ตลอดเวลา ทั้งที่จริง มันไม่ควรจะต้องเป็นแบบนั้น

 

ตัวอย่างล่าสุดจากข่าวที่มีตัวแทนอดีตชาวเขา “อาสาช่วยรบ” 6 กองร้อย เข้าพบ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ให้ช่วยเหลือเรียกร้องความเป็นธรรมจากฝ่ายรัฐไทยที่ปล่อยทิ้งปล่อยขว้างกลุ่มชาวเขาอาสาช่วยรบ หลังเสร็จศึกช่วยปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ตั้งแต่ปี 2511–2525 โน่น

 

เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องราวที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำที่ยังไงก็ไม่เคยเติมได้เต็ม

 

 

ชาติพันธุ์ม้ง

 

ข้อมูลความเป็นมาระบุว่า ม้งมีประวัติศาสตร์อันยาวนานว่ามาจากประเทศจีน ราวๆ 5,000 ปีก่อน โดยอาศัยอยู่ 2 ฝั่งทางตอนใต้ของแม่น้ำฮวงโห แต่ภายหลังเจอการรุกรานฆ่าฟันจากชาวฮั่น จึงแตกสลายอพยพไปยังที่ต่างๆ หลายต่อหลายระลอก

 

 

'ม้ง' ในการเมือง  นักรบอาสา ที่ถูกลืม

ม้งโบราณ ภาพจากวิกิพีเดีย

 

 

 

ต่อมาราวปี 2183-2462 ได้มีชาวม้งกลุ่มหนึ่งอพยพลงมาอยู่ในกลุ่มประเทศอินโดจีน ทางตอนใต้ของจีน ซึ่งก็ได้แก่กลุ่มประเทศเวียดนาม ลาว และไทย

 

ชนชาติม้งกลุ่มแรกที่อพยพเข้าสู่ประเทศไทยนั้นไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้ได้ชัดเจน แต่จากเอกสารของสถาบันวิจัยชาวเขา คาดว่าเริ่มต้นอพยพเข้ามาทางตอนเหนือของไทยราวปี 2387–2417

 

จุดที่ชนเผ่าม้งเข้ามามีอยู่หลายจุด เช่น เข้ามาทางห้วยทราย–เชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือสุด และเข้ามามากที่สุด หลังจากนั้นก็กระจัดกระจายไปตามแนวเขา เช่นมุ่งไปทางทิศตะวันตกสู่เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก และสุโขทัย

 

อีกจุดคือเข้ามาทางไซยะบุรี ปัว และทุ่งช้าง เขต อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน แล้วบางกลุ่มได้อพยพลงสู่ จ.แพร่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และตาก และยังมีกลุ่มที่เข้าทางภูคา–นาแห้ว, ด่านซ้าย อ.นาแห้ว และ อ.ด่านซ้าย จ.เลย บางกลุ่มก็เข้ามาสู่ จ.เพชรบูรณ์ ในที่สุด

 

นอกจากนี้ยังมีที่เข้ามาทาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ โดยผ่านมาทางพม่า ช่องดอยอ่างขาง ซึ่งเป็นที่กล่าวขานกันว่า ม้งกลุ่มนี้คือกลุ่มที่หลงทางจากการอพยพจากจุดที่ 1

 

นี่คือความเป็นมาคร่าวๆ ของชาวม้ง ที่คนไทยทั่วไปท่องมาตลอดว่าเป็นชาวเขาเผ่าหนึ่ง

 

 

 

 

ม้งในรอยต่อ

 

 

โดยเฉพาะที่สมรภูมิรอยต่อ 3 จังหวัด (พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-เลย) ที่มีชาวม้งโยกย้ายถิ่นฐานจาก จ.น่าน เข้ามาบุกเบิกตั้งถิ่นฐานใหม่ตั้งแต่ปี 2465 นับเป็นพื้นที่สำคัญที่ต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษ

 

ที่ภูทับเบิก ราวปี 2475 มีชาวม้งตระกูล แซ่ท่อ” จัดตั้งหมู่บ้านทับเปา หรือทับเบิก มีประชากร 800 คน 100 หลังคาเรือน ถือว่าไม่น้อย โดยส่วนใหญ่เป็น “ม้งดำ” ขณะที่หมู่บ้านอื่นๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดเป็น “ม้งขาว” พวกเขาประกอบอาชีพทำไร่ฝิ่น, ไร่ข้าว และเลี้ยงสัตว์

 

ต่อมารัฐไทยเริ่มเข้ามาให้ความสำคัญ ให้ความช่วยเหลือบรรดาชาวเขา รวมถึงม้ง ก็เมื่อราวปี 2499 ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ได้จัดตั้งคณะกรรมการสงเคราะห์

 

จนมาปี 2502 รัฐบาลยุคของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศคำสั่งคณะปฏิวัติห้ามปลูกฝิ่นทั่วประเทศ พอถึงปี 2509 มีมติจัดตั้งเขตนิคมสร้างตนเองและสงเคราะห์ชาวเขาในประเทศไทย 4 แห่ง หนึ่งในนั้นคือนิคมสร้างตนเองและสงเคราะห์ชาวเขาภูลมโล (เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และเลย) รวมเป็นเนื้อที่ 212,500 ไร่ ที่ชาวม้งได้อยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ที่รัฐจัดให้

 

 

'ม้ง' ในการเมือง  นักรบอาสา ที่ถูกลืม

 

 

การเข้าดูแลตรงนี้ แน่นอนทั้งดูแลจริงๆ และดูแลเพื่อป้องกันชาวเขาไม่ให้กลายเป็นภัยความมั่นคง เพราะรอยต่อช่วงนั้นขบวนการคอมมิวนิสต์เริ่มเข้ามาแทรกซึมในหมู่ชาวเขาเผ่าต่างๆ

 

ระหว่างนั้น ชาวม้งผู้เชื่อใน ความคิดใหม่” ได้มีการจัดตั้งลับๆ และส่งหนุ่มม้งจำนวนหนึ่งไปศึกษาวิชาการทหารในเวียดนาม และจีนอยู่แล้ว

 

กระทั่งจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้น หลังเมืองไทยเกิดเหตุการณ์ วันเสียงปืนแตก” ที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ซึ่งก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2485 มีการปะทะด้วยอาวุธกับฝ่ายรัฐอย่างรุนแรงเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2508 ที่บ้านนาบัว อ.เรณูนคร จ.นครพนม

 

 

 

 

 

ม้งสองฝ่าย

 

 

จากข้างต้น ช่วงปี 2509 ชาวม้งได้รับการดูแลจากรัฐให้มีที่ทำกิน ด้านหนึ่งศูนย์การนำแนวลาวฮักชาติ ก็ได้ประสานกับ พคท. ส่งผู้ปฏิบัติงานเข้าสู่ชุมชนม้ง อ.นครไทย จ.พิษณุโลก จึงมีผู้ปฏิบัติงานจากในเมือง 2 คน เข้ามาร่วมเคลื่อนไหวปลุกระดมมวลชน

 

ปี 2510 นักรบม้งที่จบจากโรงเรียนการเมืองการทหารในต่างประเทศ เข้ามาประจำการที่เขต 3 จังหวัด (พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-เลย) เมื่อชาวม้งลุกขึ้นสู้ คณะกรรมการ พคท.เขต 3 จังหวัดหรือเขตภูหินร่องกล้า ได้มีมติให้จัดตั้ง “อำนาจรัฐ” ของประชาชนขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 3 เขต และ 1 เขตพิเศษ

 

อำนาจรัฐเขต 10 ได้แก่ บ้านน้ำขาว, บ้านน้ำเข็ก, บ้านห้วยทราย, บ้านข้อโป่ และบ้านร่องกล้า, อำนาจรัฐเขต 15 ได้แก่ บ้านเขาค้อ, บ้านเขาย่า, บ้านใหญ่, บ้านไผ่ และบ้านสะเดาะพงษ์

 

อำนาจรัฐเขต 20 ได้แก่ บ้านป่าหวาย บ้านขี้เถ้า และบ้านทับเบิก, อำนาจรัฐเขตพิเศษ บ้านใหม่ และบ้านภูเมี่ยง

 

ส่วนที่บ้านทับเบิก ชาวม้งดำได้แยกออกเป็น 2 กลุ่ม โดยม้งส่วนใหญ่เข้าร่วมการปฏิวัติกับ พคท. เป็น “สหายม้ง” แต่อีกส่วนหนึ่งได้ไปเข้ากับฝ่ายรัฐที่ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เป็น "ชาวเขาอาสาสมัครช่วยรบ” (ชขส.) ที่ช่วยกองทัพภาคที่ 2 และกองทัพภาคที่ 3 ทำการสู้รบกับคอมมิวนิสต์

 

เกิดเป็นม้งที่อยู่คนละฝั่ง “ความคิด” แต่ “ความหวัง” ชุดเดียวกันคือ การมีตัวตนและที่อยู่ที่ยืน

 

 

 

อาสาด้วยชีวิต

 

 

จากบทความ เสี้ยวชีวิต ‘ม้ง’ : รบแลกที่ดิน โดย มนุษย์สองหน้า แคน สาริกา เล่าย้อนรอยตรงนี้ไว้ว่า พอมาปี 2513 ในรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เปิดยุทธการถล่มฐานที่มั่นคอมมิวนิสต์บนภูหินร่องกล้า และเปิดพื้นที่บ้านเข็กน้อย อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เป็นฐานสนับสนุนการทำ “สงครามแย่งชิงมวลชน"

 

การที่กองทัพภาคที่ 3 ชักชวนชาวม้งเข้าร่วมเป็น ชขส. ช่วยเหลือทางการต่อสู้กับ “สหายม้ง” ในสมรภูมิภูหินร่องกล้า, ภูลมโล, ภูทับเบิก และเขาค้อ นั้น เกิดขึ้นโดยมีการรับปากกับชาวม้ง “ชขส.” ว่าเมื่อจบศึกสงครามจะให้มีสิทธิอยู่อาศัยและทำกิน

 

บ้านเข็กน้อยจึงเป็นที่ตั้งของกองร้อยชาวเขาอาสาสมัครที่ 31 เป็นศูนย์อพยพชาวม้งที่หลบหนีออกมาจากฐานที่มั่นคอมมิวนิสต์ และ ชขส.ก็ลุยตามภารกิจ ทั้งบาดเจ็บล้มตาย

 

 

 

'ม้ง' ในการเมือง  นักรบอาสา ที่ถูกลืม

ม้งอาสาช่วยรบ

 

 

 

แน่นอนระหว่างนั้น ปี 2515 กองทัพภาคที่ 3 ขอใช้พื้นที่ 2 หมื่นไร่ โดยอาศัยประกาศของคณะปฏิวัติขณะนั้น นำชาวม้ง ชขส.มาอยู่อาศัย และทำกิน ตามยุทธศาสตร์ทางทหาร

 

ปี 2518 มีพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ กำหนดให้ที่ดินในความครอบครองของหน่วยงานรัฐ เป็นที่ราชพัสดุ และอยู่ในความรับผิดชอบของกรมธนารักษ์ รวมถึงที่ดินเพื่อความมั่นคงของกองทัพภาคที่ 3

 

แต่ราวปี 2525-2527 ที่สงครามประชาชนสิ้นสุดลง กองทัพภาค 3 ส่งคืนพื้นที่ 2 หมื่นไร่ ให้แก่กรมธนารักษ์ ชขส. คงเหมือนถูกทิ้งให้อยู่กับคำสัญญาลมๆ

 

ในขณะที่กลุ่ม “สหายม้ง” ที่กลายมาเป็น ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” (ผรท.) ตามนโยบาย 66/23 กองทัพภาคที่ 3 กลับจัดให้ เช่นได้ไปอยู่พื้นที่เดิมเช่นบ้านทับเบิก จัดสรรที่ดินทำกิน-ที่อยู่ให้, มอบเงินช่วยเหลือ ฯลฯ

 

 

'ม้ง' ในการเมือง  นักรบอาสา ที่ถูกลืม

ม้ง ชขส. 6 กองร้อย เข้าพบ ศรีสุวรรณ จรรยา 

 

 

 

คนไทยเข้าใจว่าเป็นมาอย่างนั้น ภูทับเบิกคือแดนดินกะหล่ำอันงดงามที่ชาวเขา ชาวม้งได้มีพื้นที่ทำกิน จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ่นชื่อ ทั้งที่จริงๆ แล้วตลอดมายังมีม้งทับเบิกที่ตกค้างอยู่ที่ อ.นครไทย เข้าร้องเรียนต่อรัฐไทยขอกลับไปทำกินที่บ้านเก่า-ทับเบิกด้วยคน

 

เช่นเดียวกับ ม้ง ชขส. 6 กองร้อย จาก เพชรบูรณ์ น่าน และพะเยา ที่อาศัยจังหวะทางการเมืองตอนนี้ เข้าพบ ศรีสุวรรณ จรรยา นักร้องคนดัง ตามที่เกริ่นไว้ตอนต้นนั่นแหละ ที่ต้องรอดูว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

 

แต่ที่แน่ๆ “30 กว่าปี” ทำไมยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงสำหรับม้งกลุ่มอาสาช่วยรบกลุ่มนี้ มันอาจจะมีอะไรมากกว่านั้น หรือไม่มีอะไรเลย...ก็แค่ลืม?

 

 

***********************************

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ