คอลัมนิสต์

จาก 'ทับเบิก'สู่ 'ม่อนแจ่ม' รุกก็รื้อ ยื้อก็ไล่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายงานพิเศษ จากหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 4-5 ม.ค.63

 

 

**********************************

 

ฟีลเหมือน พอความฝันความสุขแห่งช่วงฉลองปีใหม่ผ่านพ้นไป วันนี้ความจริงอันหนีไม่พ้นกำลังย่างกรายเข้ามา โดยเฉพาะบรรดาเจ้าของผู้ประกอบการรีสอร์ตที่พัก ซึ่งทางการระบุว่านี่คือการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และกำลังเดินหน้าลุยสางให้เรียบ !

 

รอรับได้เลย 6 มกราคมนี้ ปฏิบัติการทวงคืนม่อนแจ่มโดยกรมป่าไม้ ภายใต้การนำของ อรรถพล เจริญชันษา จะเริ่มต้น ณ บัดนั้น

 

งานนี้มีเสียว คนไทยจักได้เห็นภาพแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับ “ภูทับเบิก” แหล่งท่องเที่ยวสุดรักของใครหลายๆ แน่นอน

 

 

เอาจริงทุกราย

 

อย่าว่าการลุยสางรีสอร์ตม่อนแจ่มที่กำลังเป็นข่าวครึกโครมคือการเบี่ยงกระแสจากคดีรุกป่าสงวนของ เอ๋ ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ที่คนไทยสงสัยว่าทำไมมันช่างเชื่องช้าหวานเย็นเป็นไอติมวอลล์ขนาดนี้

 

เพราะทางด้านอธิบดีคนหนุ่มของเรา ออกมาแจงแล้วว่าเรื่องนี้ต้องทำให้ถูกต้อง โดยปมเรื่องที่ดินของเอ๋ที่แยกเป็น 2 ส่วนคือ ที่ดินของกรมป่าไม้ 46 ไร่ เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ได้เข้าแจ้งความต่อตำรวจกองบังคับการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ให้ดำเนินคดีรวม 4 ข้อหาแล้ว ส่วนที่ดินที่อยู่ในการครอบครองของส.ป.ก. อันนี้ต้องรอการตีความของกฤษฎีกา

 

คนไทยต่อให้สงสัยว่า ปมแรก 46 ไร่ที่ว่า เหตุไฉนสาวเอ๋ยังมาออกสื่ออวยพรปีใหม่อยู่แว้บๆ ส่วนปมสองคือต้องรอต่อไป ก็คงต้องว่าไปตามนั้น

 

ดังนั้นระหว่างรอตรงนี้ มาดูเรื่องราวที่โซนเหนือแถวม่อนแจ่มกันดีกว่า

 

 

จาก 'ทับเบิก'สู่ 'ม่อนแจ่ม'  รุกก็รื้อ ยื้อก็ไล่

ภาพจากคลิปเพจ คุยกับอธิบดีกรมป่าไม้

 

 

 

โดยหลังจากเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กรมป่าไม้ ทหาร และ ตำรวจ สภ.แม่ริม รวมกว่า 200 นาย เคยเข้าตรวจสอบที่รีสอร์ตบนดอยม่อนแจ่ม หลังพบการบุกรุกขยายพื้นที่การใช้ประโยชน์ นอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาตแล้ว

 

จากนั้นวันที่ 23 ธันวาคม 2562 อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ โพสต์คลิปในเพจ “คุยกับอธิบดีกรมป่าไม้” โดยระบุข้อความว่า “...เที่ยวแบบไม่ต้องพักก็ได้ครับ...ถ้าจะทำให้เกิดความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมในอนาคต...สุดท้ายจะจบด้วยความเสื่อมโทรม...ถ้าไม่เคารพกติกาที่ตกลง...คงต้องเข้มงวดด้วยกฎหมายนะครับม่อนแจ่ม...”

 

 

 

จาก 'ทับเบิก'สู่ 'ม่อนแจ่ม'  รุกก็รื้อ ยื้อก็ไล่

ภาพจากคลิปเพจ คุยกับอธิบดีกรมป่าไม้

 

 

 

คลิปนั้นคือภาพที่ถ่ายจากเฮลิคอปเตอร์ ที่เข้าตรวจพื้นที่ป่าม่อนแจ่มที่อยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ริม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

 

แน่นอน คลิปดังกล่าวทำเอาคนไทยต้องครางฮือกับกองทัพรีสอร์ตตั้งเรียงราย เหมือนเลโก้ตัวต่อของเด็กๆ จำนวนมหาศาลอยู่บนยอดภูก็ไม่ปาน ดังนั้นเรื่องนี้จึงต้องมีคำอธิบาย

 

 

 

 

แจ่มจริง ม่อนแจ่ม

 

พื้นที่โครงการหลวงหนองหอย บริเวณดอยม่อนแจ่ม แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ริม เนื้อที่ 13,500 ไร่

 

และ “ดอยม่อนแจ่ม” ตั้งอยู่บนสันเขาบริเวณหมู่บ้านม้งหนองหอย ด้วยความที่มีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี จึงส่งผลให้มีผู้คนเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวจำนวนมากเพื่อสัมผัสทะเลหมอก

 

เดิมทีพื้นที่ตรงนี้มีโครงการหลวงหนองหอยเข้ามาส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรตั้งแต่ปี 2545 ชาวบ้านก็รวมกลุ่มกันในนามของวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรม่อนแจ่ม เป็นแปลงปลูกผักและวิจัยพืชเมืองหนาว

 

แต่พอมาช่วงหลังๆ กลับเริ่มมีการซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดินและทำโฮมสเตย์จนเต็มพื้นที่

 

 

 

จาก 'ทับเบิก'สู่ 'ม่อนแจ่ม'  รุกก็รื้อ ยื้อก็ไล่

 

 

 

อย่างไรก็ดี มีรายงานว่าหากมองในเชิงตัวเลขแล้ว ม่อนแจ่มสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้แก่ชาวบ้านมากมาย โดยปีนี้คึกคักกว่าเดิมเพราะอากาศหนาวมากขึ้น ผู้ประกอบการก็เร่งขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับ

 

ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบข้อมูลข่าว พบว่าช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการคาดการณ์ว่าในช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เดือนตุลาคม-มกราคม มีนักท่องเที่ยวขึ้นมาพักผ่อนคืนละ 2,000-3,000 คน ในแต่ละวันมีเงินสะพัดวันละ 1.5 ล้านบาท ตลอด 4 เดือน ช่วงไฮซีซั่นปีนี้จะมีรายได้สู่ดอยม่อนแจ่มรวมแล้วกว่า 200 ล้านบาท

 

แม้ว่าตัวเลขนี้อ้างจากแหล่งข่าวซึ่งเป็นผู้ประกอบการรีสอร์ต แต่จากภาพที่เห็นเต็นท์ และรีสอร์ตเรียงรายก็เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ แต่โลกนี้ไม่เคยมีด้านเดียว มีได้ ต้องมีเสีย มีบวกต้องมีลบ

 

นอกจากปัญหาขยะล้นดอยที่เราคนไทยเคยได้ยินมาแล้ว ปัญหาเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนก็มีต่อเนื่องควบคู่กันมาตลอดที่ม่อนแจ่มนี่แหละ

 

 

ม่อนแจ่มไม่ค่อยแจ่ม

 

พูดถึงม่อนแจ่ม เอาจริงๆ ตั้งแต่ช่วงปี 2557 ยุคที่คนไทยมี คสช.เข้ามาดูแล คนไทยก็ได้ยินข่าวเจ้าหน้าที่บุก 4 รีสอร์ตม่อนแจ่มรุกป่า โดยตอนนั้นรายงานข่าวระบุว่าเจ้าหน้าที่ได้รับการร้องเรียนว่ามีชาวบ้านที่ได้สิทธิทำกินขายให้นายทุนผุดรีสอร์ตหรู

 

ทั้งหมดเกิดขึ้นจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่ได้ขายที่ดินต่อให้นายทุน ซึ่งนายทุนได้ใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ คือไม่ได้ทำการเกษตร หรือไม่ใช่เกษตรกร

 

หลังจากนั้นเรื่องราวทั้งหมดนั้นก็ค่อยๆ เงียบไปจากหน้าข่าวสาร จนกระทั่งล่าสุดกับปฏิบัติการของอธิบดีกรมป่าไม้คนใหม่ ลูกหม้อเจ้าเก่า ออกมาประกาศลุยต่อให้จบ

 

 

จาก 'ทับเบิก'สู่ 'ม่อนแจ่ม'  รุกก็รื้อ ยื้อก็ไล่

 

 

อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ ได้ออกมาแถลงออกประกาศสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ มาตรา 25 สั่งให้บุคคลผู้เป็นเจ้าของหรือครอบครองพื้นที่ยุติการดำเนินการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในลักษณะบ้านพัก รีสอร์ต ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ริม ในพื้นที่ (โครงการหลวงหนองหอย) หากฝ่าฝืนจะดำเนินการตามกฎหมาย 

 

โดยจากการประชุมร่วมผู้ประกอบการที่ครอบครองทำประโยชน์ทั้งหมดในที่ดินป่าไม้ของกรมป่าไม้ รวมเนื้อที่ประมาณ​ 229 ไร่ ที่โครงการ​หลวง​หนองหอย ต.โป่งแยง พบว่า ผู้ที่ครอบครองที่อยู่ในแปลงจัดสรรที่ดินตามโครงการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าของกรมป่าไม้ มี 53 ราย รวมเนื้อที่ 229 ไร่

 

ตรวจสอบปรากฏว่า มีสิทธิ์อยู่ทำกิน 38 ราย ส่วนอีก 12 ราย มีสิทธิอยู่อาศัยทำกิน แต่ทำเกินพื้นที่ และมี 3 รายที่เปลี่ยนมือผู้ครอบครองทำประโยชน์เป็นบุคคลจากท้องที่อื่นไม่มีรายชื่อในโครงการ ซึ่งเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีแล้ว ได้แก่ ม่อนแสนสิริจันทรา ม่อนดอยลอยฟ้า และบ้านท่าจันทร์ รวมเนื้อที่ 8 ไร่เศษ

 

โดยกรมป่าไม้มีการออกคำสั่งให้ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ม่อนแจ่มที่มีการรุกที่ป่าสงวนแล้ว และงานนี้ยังไม่มีการเยียวยาใดๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากเป็นการกระทำผิดกฎหมาย การเยียวยาจะให้เฉพาะผู้ยากไร้ที่ได้รับผลกระทบจากการที่รีสอร์ตถูกรื้อเท่านั้น

 

 

 

ตามรอยภูทับเบิก

 

การลุยครั้งนี้ อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ ระบุว่า พื้นที่ม่อนแจ่มจะมีการกวาดล้างแน่นอน ตอนนี้ในพื้นที่ไม่มีการต่อต้าน เนื่องจากทราบดีว่าเป็นการบุกรุกผิดกฎหมายและเราเอาจริง โดยวันที่ 6 มกราคม จะลงไปตรวจสอบพื้นที่ด้วยตนเอง โดยจากการตรวจสอบผู้ครอบครองพบว่าเป็นเพียงนายทุนเท่านั้น

 

งานนี้บอกเลยสนุก เพราะไม่ใช่แค่ที่ม่อนแจ่ม แต่จะไล่ทำไปเรื่อยๆ ใครผิดจัดการหมด แปลว่าเราจะได้เห็นภาพการไล่รื้อถอนสิ่งก่อสร้างผิดกฎหมายไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับภูทับเบิกที่ถูกดำเนินการจนถึงที่สุด !

 

 

จาก 'ทับเบิก'สู่ 'ม่อนแจ่ม'  รุกก็รื้อ ยื้อก็ไล่

ภูทับเบิก ในวันที่รีสอร์ตล้นดอย

 

 

 

ว่ากันตามจริง ปฏิบัติการทำนองเอาจริงกับรีสอร์ตรุกป่าสงวน มีการดำเนินการอย่างจริงจังในยุค คสช. ต่อเนื่องมารัฐบาลปัจจุบันนี่เอง

 

อย่างที่ภูทับเบิก ก็จบได้ด้วยคำสั่งหัวหน้า คสช.35/59 หลังจากเรื่องเริ่มร้อนแรงในปี 2558 ที่มีข่าวการบุกรุกป่าภูทับเบิกเพื่อสร้างเป็นที่พักจำนวนมาก ทำลายแหล่งต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำป่าสัก แถมยังก่อสร้างแบบไร้ทิศทาง

 

โดยที่สุดเมื่อสำรวจตรวจสอบแล้วพบว่ามีรีสอร์ตที่ต้องถูกรื้อถอนทั้งหมด 103 ราย แบ่งเป็นคนนอกบุกรุกพื้นที่ 53 ราย และเป็นชาวม้งในพื้นที่ 50 ราย

 

หลังจากนั้นทางการก็นำประกาศคำสั่ง คสช.ที่ 35/59 แจ้ง และปิดประกาศให้รีสอร์ตบนภูทับเบิกรื้อถอนเองภายใน 30 วัน หลังจากที่เจ้าพนักงานอัยการหล่มสัก มีคำสั่งฟ้องต่อศาลหล่มสักในข้อหาบุกรุกป่า โดยมีการนำป้ายประกาศคำสั่งไวนิลขนาดใหญ่ไปติดตั้งไว้บริเวณหน้ารีสอร์ตทุกที่ที่ต้องดำเนินการ

 

 

 

จาก 'ทับเบิก'สู่ 'ม่อนแจ่ม'  รุกก็รื้อ ยื้อก็ไล่

 

 

 

ที่สุดปลายเดือนตุลาคม 2561 ผู้ประกอบการรีสอร์ตที่ต้องรื้อสิ่งก่อสร้าง ซึ่งเหลือ 3 แห่งสุดท้าย ก็ได้ทำการรื้อถอนรีสอร์ตจนหมด

 

เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นในยุคที่ อรรถพล เจริญชันษา เป็นรองอธิบดีกรมป่าไม้ วันนี้เหตุการณ์นี้กำลังจะเกิดขึ้้นที่ม่อนแจ่ม และอีกหลายๆ พื้นที่

 

แน่นอนคนไทยรอดูว่าถ้าเริ่มแล้วก็เริ่มให้จบ และให้ครบทุกคน

 

 

***************************************

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ