คอลัมนิสต์

ปลดล็อก กัญชา ยาเสพติด พืชการเมืองที่มากด้วย สรรพคุณ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปลดล็อก กัญชา ยาเสพติด พืชการเมืองที่มากด้วย สรรพคุณ

 


          “การปลูกบ้านละ 6 ต้น ยังต้องรอกฎหมายใหม่ออกมา ซึ่งตอนนี้เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่ขอย้ำว่าเป็นเสรีทางการแพทย์เท่านั้น หากกฎหมายผ่านและมีการนำไปใช้ในทางอื่นที่ไม่ใช่ทางการแพทย์ยังดำเนินการไม่ได้”

 

อ่านข่าว...  "สนช."ผ่านกม.ปลดล็อกกัญชา-กระท่อมวิจัย-รักษาโรค

 

 

 

 

          ไม่มีใครปฏิเสธว่า “กัญชา” เป็นพืชเสพติดที่มากสรรพคุณและถูกกล่าวถึงมากที่สุดในห้วงปี 2562 


          ในแง่การเมือง มีบางพรรคใช้เป็นนโยบายหาเสียงปลดล็อกกัญชาจากยาสเพติดและเดินหน้าเปิดเสรีปลูกกัญชาสู่ภาคประชาชน จนได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น


          ในแง่สรรพคุณ กัญชาเป็นพืชที่มีสรรพคุณเด่นสามารถรักษาโรคร้ายได้หลากหลายชนิด โดยมีข้อมูลอ้างอิงจากผลงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน


          ทว่าที่ผ่านมากัญชายังจัดอยู่ในประเภทยาเสพติดประเภท 5 เช่นเดียวกันพืชกระท่อม ฝิ่นและเห็ดขี้ควาย ตามพระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่5) พ.ศ.2545 เพื่อปรับปรุงพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 คือ ผลิต นำเข้า ส่งออก ครอบครอง  จำหน่ายหรือครอบครองเพื่อจำหน่ายและเสพ ใครมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษจำนวนเล็กน้อยให้มีโทษขั้นสูงลดลง เพื่อให้บุคคลซึ่งต้องหาว่าเสพเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพตาม กฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ2545 และเพิ่มมาตรการในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้โทษโดยให้มีการค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น  


          กระทั่งเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ 2 ฉบับเกี่ยวกับกัญชาและกัญชงคือ โดยเฉพาะประกาศฉบับแรกว่าด้วยเรื่องกัญชาตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 มีสาระสำคัญคือ กำหนดเพิ่มเงื่อนไขสำหรับยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ลำดับที่ 1 คือ กัญชา และลำดับที่ 5 คือ กัญชง โดยมีเงื่อนไขการยกเว้นไม่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ของกัญชา เฉพาะส่วนที่เป็นสารสกัดนำมามใช้ทางการแพทย์เท่านั้น




          กล่าวคือ 1.แคนนาบิไดออล (cannabidiol, CBD) ที่สกัดจากกัญชาซึ่งมีความบริสุทธิ์มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 99 โดยมีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.01 โดยน้ำหนัก


          2.สารสกัดหรือผลิตภัณฑ์จากสารสกัดที่มีสารแคนนาบิไดออล (cannabidiol, CBD) เป็นส่วนประกอบหลักและมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก ซึ่งเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามกฎหมายว่าด้วยยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร และต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ทางยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร เท่านั้น ทั้งนี้ภายในระยะเวลา 5 ปีแรกนับตั้งแต่วันที่ประกาศนี้ ซึ่งมีผลใช้บังคับ ณ วันที่ 27 สิงหาคม 2562 การยกเว้นให้ใช้บังคับเฉพาะการผลิตในประเทศของผู้รับอนุญาตตามกฎหมายนั้นๆ           


          ประกาศฉบับนี้นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของนโยบายสนับสนุนการใช้กัญชาเพื่อการรักษาทางการแพทย์ของ สธ. แต่อาจจะทำให้ประชาชนเกิดความสงสัยว่าประกาศนี้มีผลอย่างไรกันแน่  ซึ่งถ้าดูเนื้อหารายละเอียดตามประกาศ สธ. นั้นจะเข้าใจได้ทันทีว่าไม่ได้เป็นการถอดพืชกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เพราะในประกาศระบุไว้ว่า ทุกส่วนของพืชกัญชา ทั้งใบ ดอก ยอด ผล รวมทั้งวัตถุหรือสารต่างๆ เช่น ยาง น้ำมัน ในพืชกัญชายังคงเป็นยาเสพติดต่อไป


          ดังนั้นการประกาศปลดล็อกกัญชาพ้นจากยาเสพติดตามนโยบายของพรรคการเมือง(บางพรรค) จึงไม่ได้เป็นไปตามนโยบายที่หาเสียงไว้ การปลูกกัญชาจึงกระทำได้เพื่อใช้ในทางการแพทย์เท่านั้นและการปลูกต้องได้ในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตในนามสถาบันการศึกษาหรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการรับรองจากผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษเท่านั้น ประชาชนทั่วไปไม่สามารถนำมาปลูกได้


          ซึ่งแนวทางการพิจารณาอนุญาตให้ปลูกกัญชานั้นจะพิจารณาใน 6 ประเด็นคือ 1.สถานที่เพาะปลูก ต้องได้รับการตรวจสอบจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2.ปริมาณการปลูก กรณีปลูกเพื่อประโยชน์ของทางราชการ การแพทย์ต้องสอดคล้องกับแผนการผลิต แผนการจำาหน่าย และแผนการใช้ประโยชน์ รวมทั้งมีเอกสารแสดงรายละเอียดการซื้อขายผลผลิตล่วงหน้า ระหว่างฝ่ายเกษตรกร หรือเจ้าของฟาร์ม กับผู้ซื้อผลผลิต ส่วนกรณีปลูกเพื่อศึกษาวิจัย ต้องสอดคล้องกับแผนการผลิต และแผนการใช้ประโยชน์ ซึ่งทั้ง 2 กรณีพิจารณาความเหมาะสมโดยคณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์การพิจารณา 


          3.ประวัติการถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษของผู้ขอรับอนุญาต ต้องไม่เคยมีประวัติการถูกดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งตรวจสอบโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด 4.มาตรการรักษาความปลอดภัย เพื่อป้องกันการรั่วไหลของกัญชา 5.รายละเอียดการดำเนินการทั้ง 2 กรณีคือปลูกเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และปลูกเพื่อการศึกษาวิจัย 


          6.ข้อมูลทั่วไปของผู้ขอรับอนุญาต ได้แก่ 6.1.หน่วยงานของรัฐ ที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ 6.2.สถาบันอุดมศึกษาที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยและจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับทางการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์ ซึ่งดำเนินการร่วมกับหน่วยงานรัฐ (ตามข้อ 6.1) 6.3.ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรือสหกรณ์ และ 6.4.ผู้ขออนุญาตอื่นตามที่รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกาหนดในกฎกระทรวง ซึ่งดำเนินการร่วมกับหน่วยงานรัฐ (ตามข้อ 6.1) 


          ส่วนในกรณีที่เป็นบุคคลทั่วไป เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในร่างกฎกระทรวงการขออนุญาต และการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดประเภทที่ 5 เฉพาะกัญชา พ.ศ.... เพื่อเสนอเข้าสู่คณะกรรมการกฤษฎีกา และเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป


          โดยมีส่วนแก้ไขเพิ่มเติมจากร่างเดิม ตรงที่เปิดให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนสามารถขออนุญาตปลูกกัญชากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ได้ จากเดิมที่อนุญาตให้เฉพาะการรวมตัวเป็นรัฐวิสาหกิจชุมชนเท่านั้นที่สามารถขออนุญาตปลูกได้ อย่างไรก็ตามจะต้องเป็นการ่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการดำเนินการเช่นเดิม เพื่อให้มีการควบคุมมาตรฐาน สายพันธุ์และคุณภาพสารสกัดกัญชา


          “หากกฎกระทรวงฉบับนี้มีผลบังคับใช้ก็จะทำให้เกษตรกรสามารถปลูกกัญชาได้ ก็เหมือนเปิดกว้างให้ประชาชนทั่วไปปลูกได้แล้ว เพราะหากใครต้องการปลูกก็ไปขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกร แล้วก็ร่วมมือกับสถานพยาบาลของรัฐ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ในพื้นที่เพื่อขออนุญาตปลูกกัญชาได้ ซึ่งในส่วนของวัตถุดิบยังขาดแคลนอยู่ เพราะองค์การเภสัชกรรม(อภ.)ยังต้องการอย่างมาก” อนุทินกล่าว


          ส่วนการปลูกบ้านละ 6 ต้น ยังต้องรอกฎหมายใหม่ออกมา ซึ่งตอนนี้เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่ขอย้ำว่าเป็นการเสรีทางการแพทย์เท่านั้น หากกฎหมายผ่านและมีการนำไปใช้ในทางอื่นที่ไม่ใช่ทางการแพทย์ยังดำเนินการไม่ได้ ถือเป็นคำยืนยันจากเจ้ากระทรวง สธ.

 

          ณะเดียวกันในส่วนกัญชาภาคประชาชน หลังสภาเกษตรกรแห่งชาติ ร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และตัวแทนจากโรงพยาบาล 4 ภูมิภาคได้ลงนามความร่วมมือ ภายใต้ “โครงการขับเคลื่อนการปลูกกัญชานำร่องเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์” 


          ล่าสุดโครงการนี้ได้ฤกษ์ปลูกกัญชาต้นแรกของประเทศอย่างถูกต้องในนามวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์เพชรลานนา ต.แม่สุก อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดยมีก่อพงษ์​ โกมลรัตน์​ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานเปิดงานและปลูกต้น “กัญชา” ปฐมฤกษ์ ใน “โครงการขับเคลื่อนการปลูกกัญชานำร่องเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์” และมีผู้แทนจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มหาวิทยาลัยรังสิต​ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่​ เกษตรกร ผู้เกี่ยวข้อง ผู้สนใจ เข้าร่วมงานกว่า 300 คนอย่างคึกคัก        


          ลำปางถือเป็น 1 ใน 4 จังหวัดพื้นที่นำร่องคือ ลำปาง บุรีรัมย์ กาญจนบุรี และสุราษฎร์ธานี ด้วยพื้นที่ 2X2 เมตร 400 ต้น/ไร่ จังหวัดละ 5 ไร่ ปลูกทั้งแบบในโรงเรือนและนอกโรงเรือน ภายใต้ “โครงการขับเคลื่อนการปลูกกัญชานำร่องเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์” โดยสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดลำปางได้พิจารณาและกำหนดให้ “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์เพชรลานนา” ต.แม่สุก อ.แจ้ห่ม เป็นผู้ผลิตพืชสมุนไพร “กัญชา” ให้กับกรมการแพทย์แผนไทยฯ บนพื้นที่ทั้งหมด 4 ไร่ 1 งาน 95 ตารางวา ตามมาตรฐานภายใต้ระเบียบ ข้อบังคับ และกรอบกฎหมายที่ถูกต้อง


          “ถือเป็นปฐมฤกษ์ ของการปลูกกัญชา ต้นแรกลงสู่ดินโดยเกษตรกรอย่างแท้จริง จากวันนี้ไปเราจะทำแปลงปลูกให้ดีที่สุดทั้งนอกโรงเรือน จำนวน 1,200 ต้น และในโรงเรือน 800 ต้น รวม 2,000 ต้น ให้ได้กัญชาแบบเกษตรอินทรีย์ที่มีคุณภาพทางยาสูงที่สุดจนสังคมไทยและแพทย์ได้เชื่อมั่นในความรู้ของเกษตรกรไทย” ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติกล่าว


          สำหรับกัญชามีสารที่จะนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ 2 ชนิดหลัก ได้แก่ 1.สาร CBD (Cannabidiol) ซึ่งมีฤทธิ์ลดอาการคลื่นไส้อาเจียนและการบวมอักเสบของแผล และสาร THC (Tetrahydrocannabinol) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยให้ความรู้สึกผ่อนคลายและลดอาการปวด


          นับเป็นฤกษ์งามยามดี ที่บ่งบอกถึงอนาคตอันใกล้นี้กัญชามีโอกาสสูงที่เกษตรกรจะได้ปลูกอย่างเสรีภายใต้เงื่อนไขของรัฐ ที่คงไม่เพียงแต่จะมีประโยชน์ต่อวงการแพทย์เท่านั้น หากแต่โครงการบรรลุ เป้าหมายตามนโยบายรัฐบาลที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้จะนำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับเกษตรอย่างยั่งยืนอีกด้วย


          “กัญชา”ยารักษาโรค
          กัญชา หรือ ต้นกัญชา เป็นสารเสพติดโดยตั้งใจใช้เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทและเป็นยารักษาโรค ในทางเภสัชวิทยา องค์ประกอบที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทหลักของกัญชา คือ เตตระไฮโดรแคนนาบินอล (THC) ซึ่งเป็นสารประกอบหนึ่งจาก 483 ชนิดที่ทราบว่าพบในต้นกัญชา ซึ่งสารอื่นที่พบมีแคนนาบินอยด์อีกอย่างน้อย 84 ชนิด เช่น แคนนาบิไดออล (CBD) แคนนาบินอล (CBN) เตตระไฮโดรแคนนาบิวาริน (THCV)และ แคนนาบิเจอรอล (CBG)


          มนุษย์มักบริโภคกัญชาเพื่อผลที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทและสรีรวิทยา ซึ่งรวมถึงภาวะเคลิ้มสุข ความผ่อนคลาย และความอยากอาหารเพิ่มขึ้น ผลข้างเคียงไม่พึงปรารถนาบางครั้งรวมถึงความจำระยะสั้นลดลง ปากแห้ง ทักษะการเคลื่อนไหวบกพร่อง ตาแดง และรู้สึกหวาดระแวงหรือวิตกกังวล 


          ปัจจุบันกัญชาใช้เป็นยานันทนาการหรือยารักษาโรค และเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางศาสนาหรือวิญญาณ มีบันทึกการใช้กัญชาครั้งแรกตั้งแต่สหัสวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล  นับแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 กัญชาถูกจำกัดตามกฎหมาย โดยปัจจุบันการครอบครอง การใช้หรือการขายการเตรียมกัญชาปรุงสำเร็จ ซึ่งมีแคนนาบินอยด์ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทผิดกฎหมายในประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก สหประชาชาติแถลงว่า กัญชาเป็นยาผิดกฎหมายที่ใช้มากที่สุดในโลก


          ในปี 2547 สหประชาชาติประมาณการบริโภคกัญชาทั่วโลกชี้ว่าประมาณ 4% ของประชากรผู้ใหญ่ทั่วโลก (162 ล้านคน) ใช้กัญชาทุกปี และประมาณ 0.6% (22.5 ล้านคน) ใช้ทุกวัน 
ที่มา:วิกิพีเดีย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ