คอลัมนิสต์

'2562' ปีต่อต้าน '3 สารพิษ'...ผู้บริโภคต้องชนะ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ประมวลข่าวเด่นรอบปี2562 ...'2562' ปีต่อต้าน '3 สารพิษ'...ผู้บริโภคต้องชนะ โดย หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

 

 

               ปี 2562 ได้ถูกจารึกไว้ว่าเป็นปีแห่งการ “การต่อต้าน 3 สารพิษ” หลังกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนพยายามต่อสู้มานานกว่า 20 ปี เพื่อยกเลิกสารเคมีเกษตรพิษร้ายแรงที่ทั่วโลกเลิกใช้กันเกือบหมดแล้ว แต่ผลกระทบที่มีต่อพื้นที่ไร่สวนไม่ต่ำกว่า 55 ล้านไร่..... กำลังกลายเป็นตัวจุดชนวนความขัดแย้งครั้งสำคัญระหว่าง “ฝ่ายตัวแทนผู้บริโภค” กับ “ฝ่ายตัวแทนเกษตกร” ....

 

        อ่านข่าว : "แหม่ม มนัญญา"  หญิงแกร่งแห่งดอนหมื่นแสน 

 

              ชื่อสารเคมี 3 ตัว ที่เป็นประเด็นใหญ่แย่งชิงพื้นที่สื่อตลอดปี 2562 คือ ยาฆ่าหญ้า “พาราควอต” (Paraquat) “ไกลโฟเซต” (Glyphosate) และยาฆ่าแมลง “คลอร์ไพริฟอส” (Chlorpyrifos)

 

           กระทรวงสาธารณสุขให้ข้อมูลถึงอันตรายของสารเคมีทั้ง 3 ตัวข้างต้น ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกประกาศห้ามใช้กันเกือบหมดแล้วเนื่องจาก “พาราควอต” มีความเป็นพิษสูง ไม่มียาต้านพิษ เกษตรกรที่ใช้จะเกิดอันตรายจากการกินและสัมผัสทางผิวหนังได้ อาจถึงขั้นระบบหายใจล้มเหลวและเสียชีวิต

 

         ไกลโฟเซต สารก่อมะเร็ง ทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและเกิดโรคไตเรื้อรัง คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบไกลโฟเซตในซีรัมของแม่และสะดือทารกเด็กแรกเกิด ร้อยละ 46-50 ของจำนวนตัวอย่าง

 

 

'2562' ปีต่อต้าน '3 สารพิษ'...ผู้บริโภคต้องชนะ

 

        คลอร์ไพริฟอส เป็นสารฆ่าแมลงออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ทำให้สูญเสียความจำ ขาดสมาธิ ออทิสติก และรบกวนการทำงานของไทรอยด์ฮอร์โมน มีผลต่อระบบสืบพันธุ์และโรคพาร์กินสัน และมีการศึกษาพบว่าในแม่ที่สัมผัสสารนี้ระหว่างตั้งครรภ์ พบว่ามีผลต่อพัฒนาระบบประสาทของเด็กด้วย

 

 

'2562' ปีต่อต้าน '3 สารพิษ'...ผู้บริโภคต้องชนะ

 

        สำหรับประเทศไทยนั้น “เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร” นำโดย “ไทยแพน” (ThaiPAN) เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ช่วยกันผลักดันให้กระทรวงเกษตรฯ ยกเลิก “การนำเข้า การขาย การอนุญาตใช้” สารเคมีพิษร้าย 3 ตัวนี้ในแปลงเกษตรทั่วประเทศไทย เนื่องจากพบงานวิจัยหลายชิ้นและกรณีคนป่วยจำนวนมากมายที่ยืนยันถึงอันตรายของสารพิษเหล่านี้ นอกจากส่งผลต่อสุขภาพชาวไร่ชาวสวนแล้ว ยังตกค้างในอาหารที่ขายให้ผู้บริโภคและที่สำคัญคือตกค้างในสิ่งแวดล้อมห่วงโซ่อาหาร


          แต่ที่ผ่านมา “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” และ “กรมวิชาการเกษตร” พยายามชะลอการยกเลิก 3 สารนี้ เนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อไร่อ้อย ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง หรือพื้นที่เกษตรอื่นๆ ที่คาดว่ากระทบต่อชาวไร่และแรงงานเกษตรทั่วประเทศประมาณ 12 ล้านคน ที่ยังคงจำเป็นต้องใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้

 

           หากพิจารณาจากพื้นที่ประเทศไทยทั้งหมด 321 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เกษตร 138 ล้านไร่ โดยตัวเลขประมาณการใช้ “3 สารพิษ” มีอยู่ไม่ต่ำกว่า 55 ล้านไร่ หรือร้อยละ 40 ของแปลงเกษตรทั้งหมด แบ่งเป็น “ยางพารา” 23 ล้านไร่ “อ้อย” 11.5 ล้านไร่ “มันสำปะหลัง” 8.6 ล้านไร่ “ข้าวโพด” 7 ล้านไร่ และ “ปาล์มน้ำมัน” 5.9 ล้านไร่

 

          เนื่องจาก 3 สารเคมีข้างต้นมีการนิยมใช้อย่างแพร่หลายทำให้รัฐบาลที่ผ่านมาไม่ค่อยสนใจแรงกดดันของเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค เครือข่ายหมอ รวมถึงกระแสสังคมที่เรียกร้อง “อาหารปลอดภัย” โดยอ้างว่าพื้นที่เกษตรของไทยจำเป็นต้องใช้ “ขาดไม่ได้”!

 

         จนกระทั่งมีตัวแทนรัฐบาลชุดใหม่ นำโดย “มนัญญา ไทยเศรษฐ์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ที่รับผิดชอบดูแลกรมวิชาการเกษตร จับมือกับ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศผลักดันยกเลิก 3 สารพิษ พร้อมใส่เกียร์แรงเร่งทุกฝ่ายให้ยกเลิการใช้ภายในปี 2562 พร้อมทั้งสั่งตรวจสต็อกด้วยว่าเหลืออยู่เท่าไร ป้องกัน “เจ้าสัวสารเคมียักษ์ใหญ่” แอบสั่งเพิ่มเข้ามาขายเก็งกำไร หรือรีบสั่งมาสะสมก่อนกฎหมายประกาศห้าม


     

 

 

              ขณะที่ฝ่ายเครือข่ายเกษตกรที่ไม่เห็นด้วยและ “ต่อต้านคำสั่งแบน 3 สาร” กว่า 20 องค์กร เช่น สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง สมาคมส่งเสริมธุรกิจพืชอาหารสัตว์ สมาพันธ์ชาวสวนปาล์มฯ สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางฯ ชมรมผู้ปลูกมะนาวแห่งประเทศไทย กลุ่มข้าวโพดหวานอุตสาหกรรม ฯลฯ ออกมารวมตัวกันต่อต้านโจมตีว่าข้อมูลของฝ่ายตรงข้ามไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ไม่มีหลักฐานวิจัยแสดงถึงการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งยืนยันถึงผลดีของการใช้ 3 สารเคมีนี้ พร้อมยืนยันว่าที่ผ่านมาเกิดจากปัญหาการใช้อย่างถูกต้องและใช้ผิดวิธีหรือใช้มากเกินไป ซึ่งหน่วยงานรัฐควรเน้นการให้ความรู้และวิธีการใช้อย่างถูกต้องมากกว่าการ “แบน” หรือห้ามใช้เด็ดขาด

 

 

'2562' ปีต่อต้าน '3 สารพิษ'...ผู้บริโภคต้องชนะ

 น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์

 

          ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและต่อต้าน “แบน 3 สาร” พยายามช่วงชิงพื้นที่สื่อมวลชนด้วยการจัดกิจกรรม “แถลงข่าว-เสวนา-สัมมนา” หลากหลายเวทีแทบทุกเดือน ในที่สุดวันที่ 22 ตุลาคม 2562 คณะกรรมการวัตถุอันตรายลงมติยกเลิกการใช้ 3 สารเคมี และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป พร้อมแนะนำให้ไปหาสารทางเลือกจัดการวัชพืชและสารทดแทน เพื่อไม่ให้ชาวไร่ชาวสวนเดือดร้อน

 

          ที่ผ่านมาเกษตรกรไทยซื้อสารพิษ 3 ตัวนี้ใช้ปีละเกือบ 8 พันล้านบาทตามลำดับดังนี้ อันดับ 1 คือ "พาราควอต" นิยมซื้อมาฉีดฆ่าหญ้า 44 ล้าน กก. มูลค่าประมาณ 3.8 พันล้านบาท ผู้นำเข้ารายใหญ่ คือ บริษัทซินเจนทา  อันดับ 2 “ไกลโฟเซต” นำเข้า 60 ล้าน กก. มูลค่า 3.3 พันล้านบาท โดย บริษัท มอนซานโต้ ผู้นำเข้ารายใหญ่ ส่วน “คลอร์ไพริฟอส” นำเข้า 3.7 ล้าน กก. มูลค่า 607 ล้านบาท  

 

           เมื่อมีการสั่งห้ามใช้ก็ต้องมีการเช็กสต็อกตรวจสอบ “ปริมาณคงเหลือ” ของทั้ง 3 สาร โดยข้อมูลวันที่ 30 กันยายน 2562 พบค้างในโกดังไม่ต่ำกว่า 30 ล้าน กก. แบ่งเป็น พาราควอต 13 ล้าน กก. ไกลโฟเซต 15 ล้าน กก. และคลอร์ไพริฟอส 1.7 กก. หากใช้ไม่หมดก็ต้องเผาทำลายทิ้ง ค่าใช้จ่ายประเมินเบื้องต้นว่าไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านบาท

         

 

         

        แม้มีคำสั่ง “แบน 3 สารพิษ” เรียบร้อยแล้ว แต่ปัญหายังไม่จบสิ้นเพราะฝ่ายอยากไป ยื่นคำร้องขอ “ศาลปกครอง” คุ้มครองชั่วคราว อ้างว่าจะได้รับผลกระทบ ทำให้ผลผลิตลดลงร้อยละ 82 และรายได้เกษตรกรจะหายไปเกินครึ่งหรือไม่ต่ำกว่า 2.5 แสนล้านบาท แต่ “ศาลปกครองกลาง” ก็มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องและให้จำหน่ายคดีออกไปเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2562 ด้วยเหตุผลว่า “มติ” ของคณะกรรมการวัตถุอันตรายยังไม่มีผลทางกฎหมาย

 

 

'2562' ปีต่อต้าน '3 สารพิษ'...ผู้บริโภคต้องชนะ

           ชาวไร่ชาวสวนที่เดือดร้อนรวมถึงแนวร่วมผู้ได้รับผลกระทบจึงหันไปรวมพลังเป็น “ม็อบชุดดำ” เดินขบวนบุกทำเนียบกว่า 1 พันคน เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน มีการยื่นหนังสือคัดค้านต่อ “บิ๊กตู่” ด้วยเหตุผลว่า “คำสั่งยกเลิก 3 สาร” ถือว่าขัดต่อ ม.73 ของ “รัฐธรรมนูญ 2560” ที่ระบุให้ “รัฐพึงจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่ช่วยให้เกษตรกรประกอบเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพสูง มีความปลอดภัย...” 

 

         ฝั่ง “ไทยแพน” ก็ออกมาโต้ทันทีว่า การยกเลิก 3 สารไม่ได้กระทบต่อเกษตรกรมากนัก เพราะชาวสวนยางส่วนใหญ่ร้อยละ 80 ไม่ได้ใช้สารเคมีเหล่านี้ ส่วนสวนปาล์มร้อยละ 65 ก็ไม่ได้ใช้เช่นกัน พร้อมตัวอย่างจากมาเลเซีย ที่ประกาศยกเลิกการใช้เมื่อกลางปี 2562 ชาวสวนก็เปลี่ยนไปปลูกพืชคลุมดินและใช้สารอื่นทดแทน

 

            ทั้งนี้ หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบปัญหานี้โดยตรงคือ “กรมวิชาการเกษตร” ซึ่งพยายามหาทางออกด้วยการเสนอรายชื่อ “สารเคมีทดแทน” เกือบ 20 ชนิด และเสนอให้ทำเกษตรปลอดสารพิษ โดยการใช้เครื่องจักรหรือรถไถกำจัดวัชพืชแทน

 

             หลังคำสั่งแบน 3 สาร ส่งผลให้การช่วงชิงตลาดค้า “สารเคมีตัวใหม่” เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ มีเสียงสะท้อนจากหลายฝ่ายว่านี่คือกลยุทธ์ของนักการเมืองบางกลุ่มวางแผนร่วมมือกับเอ็นจีโอกับนักวิชาการและเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรบางคน หวังจะเป็นเจ้าวงการ “ตลาดสารทดแทน” เปลี่ยนจากคำว่า “สารเคมี” เป็นชื่อ “สารจุลินทรีย์” หากวางขายเต็มตลาดเมื่อไร คาดว่าจะโกยเงินมหาศาล

 

       เสมือนการเปลี่ยนผู้ครองตลาดจาก “เจ้าสัวสารเคมีรายเก่า” เป็น “อาเสี่ยสารทดแทนน้องใหม่”

 

 

'2562' ปีต่อต้าน '3 สารพิษ'...ผู้บริโภคต้องชนะ

 

         ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการผู้บริโภคเป็นฝ่ายชนะเพื่อให้ “อาหารเมดอินไทยแลนด์ปลอดสารพิษ” ก็ควรเฝ้าระวังกลยุทธ์พลิกแพลงของกลุ่มที่มีผลประโยขน์แอบแฝงข้างต้นให้ดี

          ช่วงปลายปี 2562 กลุ่มคุ้มครองผู้บริโภคพยายามเสนอไอเดียใหม่ หวังปลดล็อกหาทางออกให้รัฐบาลด้วยการเสนอให้ปรับปรุง “ระบบภาษี” เพื่อส่งเสริมแปลงเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมีพิษ เช่น ลดภาษีหรือหาวิธีสนับสนุนเกษตรกรผู้ผลิตอาหารปลอดภัย “ออร์แกนิก” ผัก หมู ไก่ ปลา ฯลฯ ในทางกลับกันให้ “เก็บภาษี” ผู้นำเข้าสารเคมีมากกว่าเดิม เพราะที่ผ่านมากฎหมายได้ยกเว้นไม่เก็บภาษีสารเคมีเกษตร เพื่อช่วยลดต้นทุน ดังนั้นรัฐควรปรับเก็บภาษีส่วนนี้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 เหมือนสารเคมีอื่นๆ แล้วนำเงินที่ได้ไปช่วยลดภาษีสินค้าที่จำเป็นต่อการทำแปลงเกษตรปลอดภัยแทน

 

 

'2562' ปีต่อต้าน '3 สารพิษ'...ผู้บริโภคต้องชนะ

สารี อ๋องสมหวัง

 

        “สารี อ๋องสมหวัง” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยอมรับว่าที่ผ่านมามีการร้องเรียนปัญหาหรือผลกระทบจากสารเคมีจำนวนมาก รัฐบาลต้องมีนโยบาย ช่วยขยายพื้นที่ปลูกเกษตรไร้สารพิษและจัดสรรเงินประกันรายได้ชาวไร่ชาวนาที่ไม่ใช้สารเคมี เช่น ช่วยราคาขายข้าวอินทรีย์ให้ไม่ต่ำกว่าตันละ 13,000-15,000 บาท จากที่เคยขายได้แค่ 10,000 บาท เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ทุกฝ่ายลดการใช้สารเคมีอันตรายเหล่านี้

 

         “2562” ปีแห่งการต่อสู้ ....."3 สารพิษ"...ภัยผู้บริโภค"

          "2563 ควรเป็นปี....."แข่งขันผลิตอาหารปลอดภัย" !

                 ทีมข่าวรายงานพิเศษ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ