คอลัมนิสต์

การเดินทางของ "ศาสตร์นวดไทย" กว่าจะได้ขึ้นหิ้ง "มรดกโลก"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายงานพิเศษจากหนังสือพิมพ์คมชัดลึก 21-22 ธ.ค.62

 

 

****************************

 

 

ได้ยินข่าวแล้วชื่นใจเมื่อ “ยูเนสโก” ประทับตรา “นวดไทย” เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ  

 

ข่าวดีนี้สืบเนื่องจากการประกาศผลการพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือ ยูเนสโก ประจำปี 2562

 

 

 

การเดินทางของ "ศาสตร์นวดไทย"  กว่าจะได้ขึ้นหิ้ง "มรดกโลก"

 

 

 

และที่ประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลตามภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโกครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 8-14 ธันวาคม 2562 ณ กรุงโบโกตา สาธารณรัฐโคลอมเบีย ประกาศผลการพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ปี 2019 รวม 51 รายการ

 

และนวดไทยที่ประเทศไทยเสนอได้รับมติรับรองประกาศขึ้นทะเบียนในกลุ่มดังกล่าวนับเป็นรายการที่ 2 ต่อจากโขน ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไปเมื่อปลายปี 2561 หลังจากประเทศไทยได้เข้าร่วมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2559 ในลำดับสมาชิกที่ 170

 

วันนี้เลยขอพูดถึงเรื่องราวความเป็นมาอันยาวนานของนวดแผนไทยอีกครั้ง

 

 

สุดยอดวัฒนธรรม

 

พูดถึงยูเนสโก เราพอจะรับทราบกันดีว่าเป็นหนึ่งในกลไกของสหประชาชาติในการพิจารณาและขึ้นทะเบียนสถานที่สำคัญ โบราณวัตถุ รวมถึงภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ให้เป็นแหล่งมรดกโลกรวมถึงมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้

 

สำหรับมรดกทางวัฒนธรรมแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ เช่น โบราณวัตถุ โบราณสถาน แหล่งโบราณคดี งานจิตรกรรม เป็นต้น และมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ หรือที่เรียกว่า มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ได้แก่ ภาษา ศิลปะการแสดง งานช่างฝีมือดั้งเดิม เป็นต้น

 

ทั้งนี้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หรือ มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ หรือในภาษาอังกฤษคือ intangible cultural heritage นั้น ในปี 2544 ยูเนสโกออกสำรวจเพื่อพยายามตกลงนิยามและอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) นำมาสู่การร่างอนุสัญญาดังกล่าวขึ้นในปี 2546 เพื่อการคุ้มครองและสนับสนุนวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

 

ที่ผ่านมาไทยเรามีมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้โดยเป็นสถานที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทั้งหมด 5 แห่ง คือในส่วนของมรดกโลกทางวัฒนธรรม ได้แก่ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร เมื่อปี 2534, นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร เมื่อปี 2534, แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง เมื่อปี 2535

 

และในส่วนของมรดกโลกทางธรรมชาติ ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง เมื่อปี 2534 และป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เมื่อปี 2548

 

ก่อนหน้านี้คนไทยถามกันมากว่าทำไมไทยยังไม่เคยมีภูมิปัญญาสำคัญต่างๆ ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเลย

 

แต่ช่วงปีก่อนกระทรวงวัฒนธรรมได้ยื่นเสนอให้มีการพิจารณา “โขน” จนประสบความสำเร็จมาแล้ว มาวันนี้คนไทยก็ได้เฮอีกครั้ง เมื่อนวดแผนโบราณของไทยเพิ่งได้ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในที่สุด 

 

 

 

ศาสตร์โบราณ

 

สำหรับศาสตร์การนวดนั้น จะว่าไปถ้าพูดกันตามหลักเหตุผลทั่วไปคนเราเวลาเจ็บเนื้อเจ็บตัวก็มักลูบๆ คลำๆ บริเวณนั้นเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด จึงอนุมานได้ว่า การนวดน่าจะเป็นการค้นพบโดยบังเอิญ

 

ส่วนถ้าถามว่าใครเป็นต้นกำเนิดศาสตร์การนวดแบบมีองค์ความรู้ ภูมิปัญญา ต้องบอกเลยว่าน่าจะพูดฟันธงได้ยาก

 

แต่ส่วนใหญ่กล่าวตรงกันว่ามาจากทางดินแดนชมพูทวีป หรือประเทศอินเดีย โดยเชื่อกันว่ามีการนำการนวดเข้ามาพร้อมกับการเผยแผ่พุทธศาสนา แต่ครั้นจะเจาะจงว่าปีไหน สมัยไหนก็ไม่มีปรากฏหลักฐานชัดเจน

 

 

 

การเดินทางของ "ศาสตร์นวดไทย"  กว่าจะได้ขึ้นหิ้ง "มรดกโลก"

เฟซบุ๊ก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

 

 

อย่างไรก็ตามบางตำรากล่าวลึกไปอีกว่าศาสตร์การนวดมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลกว่า 2500 ปี โดยหมออินเดียที่ชื่อว่า “หมอชีวกโกมารภัจจ์” ที่ว่ากันว่าท่านเป็นหมอประจำตัวของพระเจ้าพิมพิสารและพระพุทธเจ้า

 

หลังท่านสิ้นชีพจากไปลูกศิษย์ลูกหาที่ได้ร่ำเรียนมาก็นำองค์ความรู้ออกไปรักษาต่อและเผยแพร่กว้างขวางออกจนถึงระดับนานาชาติจนมาถึงประเทศไทย

 

รอยทางตรงนี้ก็น่าจะสอดคล้องกับบางตำราที่ว่าการนวดนั้นเข้ามาในยุคพระเจ้าอโศกมหาราช ที่ส่งพระสมณทูตเข้ามาประกาศพระธรรมในดินแดนสุวรรณภูมิ

 

ทั้งนี้หลักฐานที่สะท้อนว่าบ้านเมืองเรามีศาสตร์การนวดเข้ามานานแล้วนั้น เช่น มีการขุดพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดชิ้นหนึ่งในป่ามะม่วง จารึกเป็นรูปวิธีการรักษาด้วยการนวดบนศิลาจารึกสมัยพ่อขุนรามคำแหง

 

 

 

การเดินทางของ "ศาสตร์นวดไทย"  กว่าจะได้ขึ้นหิ้ง "มรดกโลก"

 

 

หรือหลักฐานเกี่ยวกับการนวดที่พบเห็นได้ในยุคทวาราวดี (พุทธศตวรรษที่ 5-15) เช่นที่ทับหลังของปราสาทสระกำแพงใหญ่ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ เป็นภาพสลักหินนารายณ์บรรทมสินธุ์ มีพระลักษมีและพระภูมีเทวีถวายการนวด และอื่นๆ อีกมากมาย

 

อย่างไรก็ตามหลักฐานที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดข้อมูลจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ระบุว่า การนวดนั้นเริ่มในยุคกรุงศรีอยุธยา สมัยพระบรมไตรโลกนาถ ในทำเนียบศักดินาข้าราชการทหารและพลเรือน ที่ตราขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1998 ระบุมีกรมที่เกี่ยวข้อง คือ กรมแพทยา โรงพระโอสถ กรมหมอยา กรมหมอนวด กรมหมอวรรณโรค

 

โดยเฉพาะกรมหมอนวด ที่ระบุว่ามีหลวงราชรักษาเป็นเจ้ากรมหมอนวดขวา หลวงราโชเป็นเจ้ากรมหมอดนวดซ้าย ทั้งยังมีปลัดกรมทั้งขวาและซ้าย และมีหมอที่มีบรรดาศักดิ์รองลงมาเป็นลำดับ แสดงให้เห็นถึงสถานภาพของหมอนวดที่ได้รับการยอมรับตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น

 

 

 

อมตะแห่งการรักษา

 

ต่อมาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พบว่ามีการรวบรวมตำรายาไว้หลายขนาน มีการจัดพิมพ์และใช้ชื่อว่า “ตำราพระโอสถพระนารายณ์” มีตำรับยาที่ใช้สำหรับนวดหลายขนาด เช่น พระอังคบพระเส้น ทำให้เส้นที่ตึงหย่อนลง ยาทาพระเส้น ทาแก้เส้นที่ผิดปกติ แก้ลมอัมพาต แก้เมื่อยขบ เป็นต้น ขี้ผึ้งบี้พระเส้น แก้เส้นที่แข็งให้หย่อนลง

 

คราถึงเมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกเผาทำลายในครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2 เอกสาร ตำรับตำราต่างๆ ถูกเผาทำลายและสูญหายไปจำนวนหนึ่ง ส่งผลให้การสืบทอดความรู้ทางการแพทย์หยุดชะงัก

 

เมื่อเข้าสู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สรรพวิชาวิทยาการต่างๆ จะได้รับการฟื้นฟู และมีการจารึกแสดงให้เห็นเป็นหลักฐาน เช่น การรวบรวมตำรายา การจารึกอักษรและภาพฤๅษีดัดตนบนแผ่นหิน บอกวิธีการดัดและแก้โรคตามท่าทางที่แสดง และยังมีการแสดงรูปปั้นฤๅษีดัดตน ท่าทางต่างๆ ไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าจนถึงปัจจุบัน...

 

ดังที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงให้ปฏิสังขรณ์วัดโพธ์ขึ้นเป็นอารามหลวง และได้รวบรวมตำรายา ตำรานวด แสดงไว้ตามศาลารายเพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาโดยทั่วกันรวมทั้งทรงโปรดให้ปั้นรูปปั้นฤาษีดัดตน 80 ท่า นั่นเอง

 

ทั้งนี้ศาสตร์การนวดไทยคือการเชื่อมโยงและนำทฤษฎีพื้นฐานที่สามารถอธิบายความเจ็บป่วยและกำหนดหลักการและวิธีการบำบัดด้วยการนวดไทยมีด้วยกัน 2 ทฤษฎี คือ

 

 

การเดินทางของ "ศาสตร์นวดไทย"  กว่าจะได้ขึ้นหิ้ง "มรดกโลก"

เฟซบุ๊ก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

 

 

ตำราว่าด้วย 1.ทฤษฎีธาตุ คือ ทฤษฎีว่าด้วยธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นทฤษฎีที่ใช้อธิบายองค์ประกอบพื้นฐานของสรรพสิ่งตามหลักพุทธศาสตร์

 

แม้ว่าธาตุที่เป็นเหตุของความเจ็บป่วยที่ใช้การนวดมากที่สุด คือ ธาตุลม แต่การนวดยังเกี่ยวข้องกับธาตุอื่นๆ ที่เหลือ คือ ดิน น้ำ และไฟ ด้วย

 

2.ทฤษฎีเส้นประธาน คือ ทฤษฎีที่อธิบายทางเดินหลักของลมในร่างกาย เชื่อกันว่าร่างกายคนเรามีเส้นอยู่ทั้งหมด 72,000 เส้น แต่ที่เป็นเส้นประธานแห่งเส้นทั้งปวงมีเพียง 10 เส้น

 

วันนี้นวดไทยไม่เพียงได้รับการยอมรับในวงการแพทย์และสาธารณสุขให้เป็นศาสตร์สาขาหนึ่งของการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกและผู้คนทั่วโลกยอมรับในฝีมือการนวดของคนไทยแล้ว

 

แต่การที่นวดไแผนโบราณของไทยได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติจากยูเนสโก ก็นับเป็นการแสดงตัวตนของไทยในเวทีระดับนานาชาติ เป็นความภาคภูมิใจแก่คนในชาติและทำให้ชาติอื่นได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของมรดกภูมิปัญญาในประเทศไทย

 

 

*********************************

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ