คอลัมนิสต์

เทพไท ไยลืมอดีต  ปชป.รับใช้ทหาร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เทพไท ไยลืมอดีต  ปชป.รับใช้ทหาร คอลัมน์...  กระดานความคิด   โดย...  บางนา บางปะกง

 

 

 

          ลีลาการเมืองเฉพาะตัวแบบ “เสี่ยคึก” เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เป็นที่ถูกอกถูกใจสภากาแฟแถวปักษ์ใต้ แต่สภากาแฟแถวบ้านป่ารอยต่อฯ ค่าย ร.1 รอ. คงไม่ปลื้ม

 

 

          ลึกๆ แล้ว เสี่ยคึกเคลื่อนไหวแนวทาง “สวน 3 ป.” ทุกเม็ดทุกดอก ก็เพื่อ “มาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ใช่เพื่ออุดมการณ์ของพรรคอะไรหรอก


          การออกมาแถลงในนามเสี่ยคึก เรื่องการตัดสินใจในการลงมติสนับสนุนการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบการใช้มาตรา 44 ว่า ได้ตัดสินใจบนพื้นฐานอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์เป็นที่ตั้ง และว่าส่วนตัวเคารพมติพรรคและมติวิปรัฐบาลมาโดยตลอด แต่ไม่สามารถที่จะทรยศต่ออุดมการณ์ของพรรคได้


          อุดมการณ์พรรค ปชป.ที่เขียนไว้ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2489 มีอยู่ 10 ข้อ แต่ถูกอ้างถึงบ่อยครั้งคือ ข้อ 4 “พรรคจะไม่สนับสนุนระบบและวิธีแห่งเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นระบบและวิธีการของรัฐบาลใดๆ”

 

 

เทพไท ไยลืมอดีต  ปชป.รับใช้ทหาร

เทพไท เสนพงศ์

 


          ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตอนนั้น จึงประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ เพราะเป็นการสืบทอดอำนาจคือความขัดแย้ง และขัดกับอุดมการณ์ของพรรค คือประชาชนเป็นใหญ่ ผลลัพธ์ออกมา ปรากฏว่า ปชป.ก็สูญพันธุ์ในสนามกรุงเทพฯ รวมถึงการสูญเสียที่นั่ง ส.ส.ในภาคใต้


          แม้ว่ามาร์คจะรับผิดชอบด้วยการลาออกจากหัวหน้าพรรค และลาออกจาก ส.ส. แต่กลุ่มก้อนของมาร์ค ก็ยังอารมณ์ค้าง ออกลวดลายเล่นบทฝ่ายค้านอิสระในฝั่งพรรคร่วมรัฐบาล

 



          อุดมการณ์พรรค ปชป.นัั้น แน่วแน่จริงหรือ? ในการยืนหยัดหลักการที่ว่า “พรรคจะไม่สนับสนุนระบบและวิธีแห่งเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นระบบและวิธีการของรัฐบาลใดๆ”


          พลิกประวัติศาสตร์การเมืองไทย อุดมการณ์พรรค ปชป.ก็ไม่ได้มั่นคงเสมอไป เมื่อเกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 โดยกลุ่มทหารนอกราชการในนาม “คณะทหารแห่งชาติ” นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ นำกำลังทหารยึดอำนาจจากปกครองจากรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ 


          จะว่าไปแล้ว พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ก็ไม่ได้มีกำลังจริงหรอก หากแต่ตัวละครหลังม่านคือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นั่งบัญชาการอยู่ในค่ายทหารที่ลพบุรี

 

 

เทพไท ไยลืมอดีต  ปชป.รับใช้ทหาร

อภิสิทธิ์ และควง อภัยวงศ์

 


          คณะทหารแห่งชาติ ได้ติดต่อให้ “พ.ต.ควง อภัยวงศ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เวลานั้น ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยให้สัญญาว่าจะไม่แทรกแซงการทำงาน และคณะทหารแห่งชาติได้ตั้งสภาขึ้นมา ใช้ชื่อว่า “คณะรัฐมนตรีสภา”


          พ.ต.ควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 3 พร้อมทั้งรับตำแหน่งรัฐมนตรีเกษตราธิการ และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม


          เบื้องหลัง พ.ต.ควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรค ปชป. มีอุดมการณ์ไม่เอาทหาร แต่ยอมนั่งนายกรัฐมนตรีชั่วคราว ก็เพราะหัวหน้าควงไปเจรจากับจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในค่ายทหารที่ลพบุรี จนได้ข้อสรุปเรื่องทหารจะไม่แทรกแซงการบริหารประเทศ


          คณะทหารแห่งชาติ ได้จัดการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 29 มกราคม 2491 พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงข้างมาก พ.ต.ควง อภัยวงศ์ จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเป็นรัฐบาลพลเรือน แต่ในวันที่ 6 เมษายน 2491 นายทหารในกลุ่มคณะทหารแห่งชาติ 4 คน ก็ได้บีบบังคับให้ พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ลาออก และแต่งตั้งจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีแทน


          กรณีของ พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ก็ไม่ต่างจาก “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปลายปี 2551 แม้กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีจะเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ แต่เบื้องลึกเบื้องหลังก็รู้ว่า เกมตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ หลังเหตุยุบพรรคพลังประชาชน เป็นวิถีการเมืองที่ไม่ปกติ


          ด้วยเหตุนี้ จึงมีรายงานข่าวในงานมีตติ้งพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อไม่กี่วันมานี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้ทวงสัญญาลูกผู้ชายต่อหน้าแกนนำพรรค ปชป. เพราะเมื่อ 10 ปีที่แล้ว “3 ป.” ช่วยสานฝัน “เดอะมาร์ค” เป็นนายกรัฐมนตรี และเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายอุ้มรัฐบาลมาร์ค ฝ่าคลื่นแดงทั้งแผ่นดิน


          ถามจริงๆ หากไม่มี “3 ป.” นักการเมืองนักเรียนนอกชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่? และหากชาว ปชป.ยึดมั่นในอุดมการณ์พรรคจริง ก็ควรไม่รับข้อเสนอจากกลุ่มขุนศึกบูรพาพยัคฆ์


          เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง อุดมการณ์ก็คือตัวหนังสือในแผ่นกระดาษ หากผลประโยชน์ทางการเมืองลงตัว ก็เก็บอุดมการณ์ไว้บนหิ้ง ชาว ปชป.เป็นเยี่ยงนี้มานานแล้ว
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ