คอลัมนิสต์

อะไร 6 ปีครึ่ง ยังไม่พออีกหรือ...สร้างรัฐสภาใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จะขยายระยะเวลาก่อสร้างรัฐสภา อีกแล้วหรือ? ทั้งที่ใช้เวลาก่อสร้างไปแล้วเกือบ 6 ปีครึ่ง ในขณะที่สัญญาตอนแรกกำหนดให้สร้างแล้วเสร็จภายใน 2 ปีครึ่งเท่านั้น

      ได้ข่าวว่าจะมีการขยายเวลาก่อสร้างรัฐสภาใหม่อีกแล้ว โดยคราวนี้เป็นการขอขยายเวลาก่อสร้างเป็นครั้งที่ 4              โดยเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมา นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางมายังอาคารรัฐสภาเพื่อส่งหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อขอให้ระงับการขยายระยะเวลาก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ครั้งที่ 4   ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการขอขยายเวลาก่อสร้างมาแล้วถึง 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 3 จะครบสัญญาในวันที่ 15 ธ.ค. 62 นี้
 

     นายวัชระ บอกว่า กลุ่มงานพัสดุได้มีความเห็นแล้วว่าให้ระงับการขยายเวลาการก่อสร้าง โดยมีข้อสังเกตุเกี่ยวกับหลักการคิดในการขยายเวลาการก่อสร้างให้กับผู้รับจ้างว่า เมื่อพิจารณาตามสัญญาจ้างก่อสร้างเลขที่ 116/2556 ลงวันที่ 30 เม.ย. 2556 การประสานงานระหว่างผู้รับจ้างหลักและผู้รับจ้างอื่น ผู้รับจ้างไม่สามารถยกเอาเหตุที่ผู้รับจ้างรายอื่นๆ รายใดรายหนึ่ง หรือหลายรายทำงานล่าช้าขึ้นเป็นข้ออ้าง เพื่อขอขยายเวลาทำงานอีกไม่ได้ ความเห็นของกลุ่มงานพัสดุจึงชอบด้วยกฎหมายตามหลักนิติรัฐ นิติธรรมยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติย่อมเชื่อถือได้

     "ในการขอขยายระยะเวลาครั้งที่ 3 คือ 10 ก.พ.2561-15ธ.ค. 2562 ผู้รับจ้างอ้างว่ามีอุปสรรคจากความล่าช้าในการส่งมอบพื้นที่ บริเวณโรงเรียนโยธินบูรณะ พื้นที่ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ดุสิต และศูนย์สาธารณสุข 38 กรุงเทพมหานคร พื้นที่ชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้าและพื้นที่บ้านพักราชการกรมการอุตสาหกรรมทหาร  แต่ปราฎว่านายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาฯ ได้มีหนังสือลงวันที่ 11 พ.ย.2559 ระบุว่าสำนักงานเลขาธิการสภาฯได้ส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้างส่วนที่เหลือทั้งหมดแล้ว และขอให้เร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามกำหนด จึงขอให้ประธานสภาฯนายชวน หลีกภัย ระงับการขยายสัญญาการก่อสร้างครั้งที่ 4 ตามที่ผู้รับจ้างขอมาจำนวน 502 วัน เพราะขณะนี้กำลังจะมีการอนุมัติโดยสำนักงานเลขาธิการสภาฯเป็นเวลา 382วัน ซึ่งเห็นว่าน่าจะขัดต่อสัญญาและเอกสารต่างๆ"

อะไร 6 ปีครึ่ง  ยังไม่พออีกหรือ...สร้างรัฐสภาใหม่

     คำถามคือ นี่...จะขยายระยะเวลาก่อสร้างรัฐสภา อีกแล้วหรือ? เพราะว่า หากมีการขยายสัญญาก่อสร้างออกไปอีก 382 วัน หรืออีก 1 ปีกว่า รัฐสภาใหม่จะใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึงเกือบ 8 ปี !!!เลยทีเดียว

     มหากาพย์รัฐสภาใหม่ เริ่มขึ้นในยุคประธานสภาผู้แทนราษฎร"ชัย ชิดชอบ" ที่เลือกสถานที่สร้างอาคารรัฐสภาใหม่ได้ในปี 2551  เป็นที่ราชพัสดุ จำนวน 119 ไร่  ย่านเกียกกาย อยู่ริมน้ำเจ้าพระยา ใช้ชื่อว่า "สัปปายะสภาสถาน"  ซึ่งหมายควาว่า สถานที่ประกอบกรรมดี  งบประมาณกว่า 20,000 ล้านบาท เฉพาะงบก่อสร้างและอาคารประกอบ 12,000 ล้านบาท

       เมื่อเลือกสถานที่ก่อสร้างได้เรียบร้อย ก็เข้าสู่การประกวดราคา และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงนามกับบริษัทเอกชนผู้รับจ้างก่อสร้างเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2556 โดยมีสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ว่าจ้างและบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง 

       เริ่มลงเสาเข็ม 8 มิถุนายน 2556  ตามสัญญากำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 900 วัน  เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2556 ถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558  ครบกำหนด 24 พ.ย. 2558

       เงื่อนไขสำคัญของสัญญา ' ถ้าไม่เสร็จโดนปรับ'

      แต่สำนักงานเลขาธิการฯ ได้ขยายเวลาออกมาแล้วถึง 3 ครั้ง  (นับถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2562 นี้) 
       ขยายครั้งที่ 1 จำนวน 387 วัน (25 พ.ย.2558 – 15 ธ.ค.2559) เนื่องจากสำนักงานเลขาธิการฯ ส่งมอบพื้นที่ล่าช้า และปัญหาอุปสรรคในการขนดินที่ขุดจากการก่อสร้างเสาเข็มเจาะออกไปเก็บไว้นอกโครงการก่อสร้าง 
      ขยายครั้งที่ 2 จำนวน 421 วัน (16 ธ.ค.2559 – 9 ก.พ.2561) เนื่องจากสำนักงานเลขาธิการฯ มีความล่าช้าในการขนย้ายดินที่ขุดเพื่อการก่อสร้างชั้นใต้ดิน 
      ขยายครั้งที่ 3 จำนวน 674 วัน (10 ก.พ.2561 - 15 ธ.ค.2562) เนื่องจากสำนักงานเลขาธิการฯ มีความล่าช้าในการส่งมอบพื้นที่บริเวณโรงเรียนโยธินบูรณะ ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ดุสิต และศูนย์สาธารณสุข 38 ของกรุงเทพมหานคร ชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า และบ้านพักข้าราชการกรมการอุตสาหกรรมทหาร 
     
ขยายเวลาก่อสร้างมาแล้วถึง 3 ครั้ง รวมเวลา 1,482 วัน  เมื่อนำไปรวมกับระยะก่อสร้างเวลา 900 วันตามสัญญาตอนแรก รวมแล้วใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 2,382 วัน หรือประมาณ 6 ปีครึ่ง 
      กำลังจะมีการขยายเวลาครั้งที่ 4 จำนวน 382 วัน โดยบริษัท ซิโน-ไทยฯ ขอขยายเวลา 502 วัน แต่คณะกรรมการตรวจการจ้างมีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาอีก 382 วัน ซึ่งหากเป็นไปตามนี้ จะใช้เวลาในการก่อสร้างรัฐสภาใหม่ยาวนานถึงเกือบ 8 ปี  

      ทั้งนี้บริษัท ซิโน-ไทยฯ ได้มีหนังสือถึงสำนักงานเลขาธิการฯ แจ้งว่า ระหว่างการก่อสร้างในช่วงการขยายเวลาครั้งที่ 3 จำนวน 674 วัน จนถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2562 นั้น มีปัญหาและอุปสรรคที่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานตามสัญญา ทำให้งานไม่แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2562 ได้ “โดยมิใช่เหตุใดๆ อันเนื่องมาจากความผิดหรือความบกพร่องของผู้รับจ้าง (บริษัท ซิโน-ไทยฯ)”  
    
 แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ควรขยายเวลาก่อสร้างครั้งที่ 4 ให้อีกเลย ไม่ว่าจะเป็นจำนวนกี่วันก็ตาม เนื่องจากข้อสัญญาระบุไว้ชัดเจนว่า ในการขยายเวลาก่อสร้างต้องเป็นกรณี “อันเนื่องมาจากความผิดหรือความบกพร่องของฝ่ายผู้ว่าจ้าง” เท่านั้น 

      นอกจากนี้ ผู้รับจ้างไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือแจ้งเหตุดังกล่าวให้ผู้ว่าจ้างทราบภายใน 15 วัน นับจากวันที่เหตุหรือพฤติการณ์นั้นสิ้นสุดลง และผู้รับจ้างยังไม่ได้แสดงให้เห็นด้วยว่า ผู้รับจ้างได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวที่มีผลต่อการแล้วเสร็จของงานทั้งหมดหรือบางส่วนเพื่อให้งานดังกล่าวแล้วเสร็จล่าช้าน้อยที่สุด  
    ดังนั้น การขอขยายเวลาก่อสร้างของผู้รับจ้าง 502 วัน จึงไม่ถูกต้องตามสัญญา สำนักงานเลขาธิการฯ ไม่อาจขยายเวลาก่อสร้างตามคำขอได้ แม้ว่าคณะกรรมการตรวจการจ้างจะมีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาก่อสร้างออกไปอีก 382 วัน แล้วก็ตาม

    นอกจากนี้ตามสัญญา ยังมีการระบุถึง"โทษปรับ" สภาฯงัดเอามาใช้ได้หรือไม่   

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ