คอลัมนิสต์

จากแพทย์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง สู่เส้นทางผู้พิพากษา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จากแพทย์เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ขจรเดช ดิเรกสุนทร สู่เส้นทาง ผู้พิพากษา ด้วยความตั้งใจอยากวางหลักกฎหมาย ทำประโยชน์ให้สังคมอีกรูปแบบ ...สู่จุดเปลี่ยนสายอาชีพ 

        ในชีวิตหนึ่ง...เชื่อว่าทุกคน มีความใฝ่ฝันบางอย่าง เลือกทางที่อยากเดิน มีอาชีพที่อยากจะเป็น พบความสำเร็จที่ตั้งเป้าหมายไว้ 

    ซึ่ง “นายขจรเดช ดิเรกสุนทร” ก็เป็นคนหนึ่งที่ได้ฝ่าฟัน สร้างทางสู่ความฝันของตัวเองจนสำเร็จ จากครั้งแรก สภาพแวดล้อมและความจำเป็น นำพาสู่เส้นทางการเรียน “หมอ” รักษาผู้เจ็บป่วยกาย แต่แล้วจู่ๆ วันหนึ่ง เข็มทิศชีวิต ก็เบนเข็มให้เขาเลือกมาเป็น “ผู้พิพากษา” ที่เยียวยาคนด้วยกฎหมาย 

        แต่ทำไมจู่ๆ ผู้ชายที่ชื่อ “ขจรเดช ดิเรกสุนทร” จึงเปลี่ยนเส้นทางอาชีพในฝันของหลายคนจาก "แพทย์" มาเป็น"ผู้พิพากษา" อะไรที่จุดประกายแห่งไฟในใจให้เขาเลือกเช่นนั้น   

        “ผู้พิพากษาขจรเดช ดิเรกสุนทร” ได้บอกเล่าว่า ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้พิพากษาประจำสำนักงานศาลยุติธรรมช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ การศึกษาจบแพทยศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) , เนติบัณฑิตไทย , นิติศาสตร์มหาบัณฑิต (Rector’s Award for Academic Excellence) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และ Master of laws (Harvard University) ด้วยทุนของสำนักงานศาลยุติธรรม

   จากแพทย์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง สู่เส้นทางผู้พิพากษา

         โดยจุดเริ่มต้นของเส้นทางการเรียนหมอนั้น ก็เพราะตอนเด็กๆ ผมเป็นโรคภูมิแพ้ ทั้งภูมิแพ้ผิวหนัง-ภูมิแพ้อากาศ ทำให้ต้องไปพบหมออยู่เป็นประจำ และคนในครอบครัวก็อยากให้เป็นหมอ พูดให้ฟังตลอดว่าเป็นหมอดีได้ช่วยเหลือผู้คนและมีเกียรติ ซึ่งตอนนั้นคณะยอดฮิตที่เด็กสายวิทย์ เลือกเรียนกันคือหมอ และวิศวะ เพื่อนๆ ในห้องก็เลือกเรียนกัน ส่วนผมไม่ชอบเลข ชอบเกี่ยวกับการท่องจำมากกว่า แต่คะแนนสอบเอนทรานซ์ของผมเลือกได้ทั้งหมอกับวิศวะ เมื่อคะแนนถึงผมก็เลยเลือกหมอ 

      กระทั่งตอนเข้าเรียนคณะแพทย์ศาสตร์แล้ว มีเพื่อนมาชวนเรียน ม.รามคำแหง หรือ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ควบคู่ไปด้วย ผมเห็นว่าสามารถเรียนได้โดยไม่หนักเกินไปเพราะพ้นช่วงที่ต้องผ่าอาจารย์ใหญ่แล้ว และเราก็อยากจะเรียนในศาสตร์ด้านอื่นๆ ด้วย ซึ่งวิชาเกี่ยวกับกฎหมายผมชอบอยู่แล้วผนวกกับความอยากรู้ด้วย จึงตัดสินใจเริ่มเรียนกฎหมายที่ มสธ. ในขณะที่ผมยังเรียนแพทย์อยู่ชั้นปี 2 เทอม 2 โดยสมัยนั้นคนที่เรียนแพทย์ก็หันมาเรียนกฎหมายกันมากขึ้นเพราะมีกระแสที่คนไข้ฟ้องร้องหมอ แพทย์หลายท่านเลยเห็นว่าต้องรู้กฎหมายควบคู่ไปด้วย ซึ่งผมก็ใช้เวลาเรียนกฎหมายเพียง 3 ปีครึ่ง 

        “โดยความเป็น ‘หมอ’ กับ ‘ผู้พิพากษา’ นั้นผมว่ามีส่วนคล้ายกัน คือเป็นงานที่เน้นบริการสาธารณะ Public service ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีในสังคม ผู้พิพากษามอบความยุติธรรมให้สังคม - หมอรักษาคนไข้ก็ถือเป็นการดูแลสังคมเช่นกัน เป็นอาชีพที่ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว เป็นอาชีพที่ต้องอาศัยคนที่เรียนมาถึงจะทำได้ เรียกว่าวิชาชีพ ทั้งสองอาชีพนี้คือต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจของคนที่มารับบริการ ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่คนไข้ ส่วนการตัดสินคดีต้องให้เกิดความเชื่อถือศรัทธา เมื่อเขาเดือดร้อนจึงมาหา ดังนั้น ต้องเป็นที่พึ่งพาให้ผู้มารับบริการ” 

      ส่วนจุดเปลี่ยน....ที่สุดท้าย มาเลือกเป็น “ผู้พิพากษา” ก็เมื่อเริ่มเรียนแพทย์ชั้นปี 4 ต้องไปตรวจผู้ป่วยโดยการตามอาจารย์ดูคนไข้ในตึกผู้ป่วย และต้องอยู่เวร ก็เลยเห็นชีวิตจริงแล้วรู้สึกว่าไม่ได้ชอบแบบนี้ คงไม่สามารถทำไปได้ตลอดชีวิต จนเรียนแพทย์ชั้นปีที่ 5 ตอนนั้นก็ใกล้เรียนจบกฎหมายแล้วได้ไปนั่งเรียนสอนเสริม มีโอกาสพบนายอำนาจ พวงชมภู (อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบคนแรก ) ท่านมาเป็นอาจารย์สอนเสริมที่ มสธ. ก็เลยเข้าไปถามท่านว่า อยากเป็นผู้พิพากษาต้องทำอย่างไรบ้างครับ? ซึ่งท่านอาจารย์อำนาจ บอกว่าต้องไปสอบตั๋วทนาย แล้วต้องไปว่าความที่ศาลเพื่อเก็บคดี จึงจะมีสิทธิสอบเป็นผู้พิพากษา ตอนนั้นก็กำลังตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนอาชีพ คิดว่าจะลาออกจากนิสิตแพทย์เลยดีไหม? แต่ที่บ้านบอกให้เรียนต่อเพราะเหลืออีกหนึ่งปีก็ได้รับปริญญาแล้วทำไมไม่เรียนให้จบก่อน 

                  จากแพทย์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง สู่เส้นทางผู้พิพากษา

          “ผมมีความรู้สึกว่า เวลาอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว อยากได้มีโอกาสตัดสินและวางหลักกฎหมายอย่างนั้นบ้าง ซึ่งก็เป็นการทำประโยชน์ให้สังคมอีกรูปแบบหนึ่ง ตอนนั้นมีความรู้สึกว่า ทำไมรู้ว่าตัวเองชอบอะไรช้าเกินไป เพราะในสมัยก่อนไม่มีการเข้าค่ายต่าง ๆ เหมือนที่สำนักงานศาลยุติธรรมจัดในปัจจุบัน เช่น ค่ายต้นกล้าตุลาการ หรือในต่างประเทศ เช่น อเมริกาที่จะให้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยก่อนทดลองเรียนหลายๆ วิชาแล้วค่อยเลือกวิชาเอกหรือสาขาที่สนใจ ที่เราจะได้มีโอกาสในการเรียนรู้ก่อนเพื่อใช้ในการตัดสินใจที่ถูกต้องในการศึกษาต่อ พอผมสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ มสธ.แล้ว จึงได้ลงเรียนระดับปริญญาโทที่ ม.อัสสัมชัญต่อเลย เพราะว่าจะทำให้มีสิทธิสอบสนามเล็กด้วย ตอนนั้นคิดว่าทำยังไงก็ได้ ให้เราได้มีโอกาสสอบผู้พิพากษาให้เร็วที่สุด และได้ลงเรียนที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา” 

      ขณะที่ “เขา” มองว่าแม้โอกาสที่หวังจะมาช้า แต่การที่ได้มีโอกาสเรียนแพทย์มาก่อนก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มีวิธีการคิด วิเคราะห์เชิงสังเคราะห์ หรือการคิดอย่างมีระบบ มองปัญหาให้รอบด้านดูบริบทหลายๆ อย่าง โดยการที่คนไข้มาหา ในฐานะแพทย์ ต้องคิดวิเคราะห์ว่าจะรักษาคนไข้คนนี้อย่างไร หากแพทย์คือผู้ที่รักษาชีวิตคน ผู้พิพากษาก็ถือว่ารักษาชีวิตคนและทรัพย์สินเหมือนกันเพราะว่าการจะตัดสินชีวิตคนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง 

       และจากที่มีประสบการณ์ทำงานการแพทย์เกือบ 2 ปีก่อนจะมาสอบเป็นผู้พิพากษาอย่างเต็มตัว “เขา” ได้ใช้องค์ความรู้ ผนวกกับประสบการณ์ ที่ได้รับมาจาก 2 อาชีพ เขียนบทความที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Asia Pacific Journal of Health Law & Ethics 

       ซึ่ง “เขา” เล่าว่า บทความของผม คือเรื่อง “Informed Consent in Thailand : What Standard Is It? Which One Should It Be?” เป็นเรื่องเกี่ยวกับความยินยอมที่ได้รับการบอกกล่าว ผมมองว่าเรื่องนี้แม้ยังไม่มีคดีความเกิดขึ้นในศาลฎีกาและยังไม่มีการวางหลักเรื่องนี้ไว้โดยตรง แต่ในอนาคตอาจจะเกิดปัญหาจากการที่แพทย์ต้องให้ข้อมูลแก่คนไข้ในการรักษาต้องแจ้งผลกระทบให้คนไข้ได้ทราบ การยินยอมที่ได้รับการบอกกล่าวเป็นหลักสากล คือก่อนที่แพทย์จะทำการรักษาคนไข้ต้องแจ้งให้คนไข้ทราบ และแจ้งอย่างเดียวยังไม่เพียงพอต้องบอกข้อดี-ข้อเสีย หรือทางเลือกอื่นๆ ในการรักษา หรือผลของการปฏิเสธการรักษาเพื่อเป็นการปกป้องคนไข้ว่าจะเข้ารับการรักษาหรือไม่ หรือจะรักษาโดยวิธีอื่น ในอดีตที่ผ่านมาเวลาที่แพทย์รักษาคนไข้ก็สามารถที่จะทำได้เลยโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบ หรืออาจไม่ต้องแจ้งถึงผลกระทบที่จะตามมา หรือมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไรหลังจากที่ทำการรักษา 

 “ปัจจุบันสังคมเริ่มพัฒนาขึ้นเป็นหลักสากล ว่าคนไข้ควรมีสิทธิในการรับรู้การรักษาของแพทย์และสามารถทราบถึงผลกระทบหลังจากทำการรักษา เป็นหลักที่ให้สิทธิคนไข้ในการที่จะเลือกการรักษาเกี่ยวกับตัวเขาเอง ไม่ใช่เป็นเรื่องที่หมอจะทำอะไรก็ได้อีกต่อไป นอกจากนี้ยังเป็นกฎหมายที่จะช่วยปกป้องคนไข้และคุ้มครองแพทย์หากได้แจ้งข้อมูลให้กับคนไข้อย่างชัดเจนแล้ว สำหรับเรื่องการแจ้งคนไข้ให้ได้รับทราบข้อมูลก่อนนั้น ซึ่งในประเทศไทยมี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 8 ระบุว่าก่อนที่จะแพทย์จะทำการรักษาคนไข้ต้องแจ้งข้อมูลคนไข้ก่อน ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับมากว่า 12 ปีแล้วยังไม่เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกา หรือไม่เคยมีประเด็นที่มีการหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันเรื่องนี้ ทั้งที่เป็นประเด็นสำคัญและอาจมีผลกระทบต่อวงการแพทย์และต่อสิทธิเสรีภาพคนไข้ ผมเขียนบทความนี้เพื่อเสนอว่าประเทศไทยควรจะใช้มาตรฐานใด เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย ต้องมาย้อนมองว่าประเทศไทยควรใช้แบบไหน เพราะคงไม่สามารถนำกฎหมายของต่างประเทศเกี่ยวกับทางการแพทย์มาใช้ได้ทั้งหมด คนไข้บางคนอาจจะไม่ได้ต้องการรับรู้ข้อมูลทุกอย่าง ซึ่งต้องยอมรับว่าคนไข้ในประเทศไทยมีลักษณะเฉพาะ หากรับรู้ข้อมูลทั้งหมดคนไข้บางคนอาจจะไม่ยอมเข้ารับการรักษา กฎหมายในประเทศไทยที่ใช้ในปัจจุบันก็ไม่เหมือนกฎหมายในต่างประเทศ กฎหมายของต่างประเทศมองว่ามาตรฐานในการแจ้งข้อมูลของแพทย์มีประโยชน์” 

         และจากความสำเร็จ ของการศึกษาจนจบทั้งแพทย์ เกียรตินิยม และแบ่งเวลาเรียนกฎหมาย จนจบหลักสูตรเข้าสอบเป็นผู้พิพากษาได้ ด้วยความตั้งใจและใช้เวลาฝ่าฟันสร้างความฝันของคนในครอบครัวและตัวเอง “ผู้พิพากษาขจรเดช” ได้ทิ้งท้ายถึงเคล็ดลับและให้กำลังใจถึงการสร้างความสำเร็จกับคนอื่นๆด้วยว่า การเรียนควบคู่ไปทั้ง 2 อย่างทั้งซึ่งเป็นวิชาคนละศาสตร์ เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก

           ฉะนั้นเวลาผมอ่านหนังสือจะตั้งใจมากเพราะเราไม่มีเวลาเหมือนคนอื่น โดยการวางแผนการอ่านหนังสือเป็นเรื่องที่สำคัญ สำหรับใครที่ต้องเรียนทั้งสองอย่างควบคู่กันไป ขณะที่หากเรารู้ว่าชอบอะไรให้รีบทำเลย ไม่ต้องรอ เหมือนกับว่าเรา ปักธงไว้ทำให้เรามีเป้าหมายที่ชัดเจน อยากจะฝากข้อคิดในเรื่องของอิทธิบาท 4 เป็นหนทางสู่ความสำเร็จ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เพียงแค่เราหาความชอบให้เจอ มีความพากเพียรพยายาม ความเอาใจใส่ และการคิดไตร่ตรองด้วยความรอบคอบ และที่สำคัญคือต้องประเมินตนเองว่า สิ่งนั้นเหมาะสม มีความเป็นไปได้ และเราสามารถจะทำให้สำเร็จขึ้นได้หรือไม่

        “ผมเชื่อว่าเราสามารถประสบความสำเร็จในสิ่งที่เรารักได้ ถ้ามีเป้าหมายที่ชัดเจน และอย่าละทิ้งความฝันของตนเอง ที่สำคัญคือต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง รวมทั้งต้องมี mind set ที่ว่างานที่ตนเองทำอยู่ล้วนมีคุณค่าและมีเป้าหมายเสมอ เช่น ภารโรงที่ทำความสะอาดในองค์การ NASA เมื่อประธานาธิบดี John F. Kennedy ถามว่ากำลังทำอะไร เขาตอบด้วยความภาคภูมิใจว่า เขากำลังส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์”


 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ