คอลัมนิสต์

หนี้ครัวเรือนสัญญาณศก.ไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หนี้ครัวเรือนสัญญาณศก.ไทย บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม 2562

 

 

          ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัวจากเศรษฐกิจโลก แม้รัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดไปมากกว่าเดิม แต่ยังไม่เพียงพอที่จะส่งผลต่อรายได้ของประชาชนและจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ล่าสุดนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2562 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,201 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่าร้อยละ 88.1 เป็นหนี้ ส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการใช้จ่ายทั่วไป ซื้อยานพาหนะ ซื้อบ้าน จ่ายบัตรเครดิต เพื่อประกอบอาชีพและเป็นหนี้เก่า ทำให้สภาพหนี้ครัวเรือนปีนี้มีอัตราการขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 7.4 เฉลี่ย 340,000 บาทต่อครัวเรือน โดยเป็นปริมาณหนี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยร้อยละ 79.8 เป็นหนี้ในระบบ และร้อยละ 8 เป็นหนี้นอกระบบ

 

อ่านข่าว...  หนี้ครัวเรือนต้องแก้ให้ถูกจุด

 

 

 

 

          ผลสำรวจระหว่างวันที่ 11-23 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ผู้ตอบมากถึงร้อยละ 60.2 ระบุว่า หนี้ที่มีอยู่ยังเป็นหนี้เก่าทั้งหมด ส่วนอีกร้อยละ 28.6 เป็นทั้งหนี้ก้อนเก่าและใหม่ และอีกร้อยละ 11.2 เป็นหนี้ก้อนใหม่ทั้งหมด โดยสาเหตุของการเป็นหนี้มาจากรายได้ลดลงและขาดรายได้จากการถูกเลิกจ้างงาน เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ค่าครองชีพสูงขึ้น ซื้อสินทรัพย์ถาวรมากขึ้น ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากขึ้น ผ่อนสินค้ามากเกินไป ค่าเล่าเรียนบุตรหลาน ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้จากภัยธรรมชาติ หนี้จากการพนัน รวมถึงเป็นค่ารักษาพยาบาล ใช้ในการเกษตร เสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ นอกจากนี้ ประชากรกลุ่ม Gen Z อายุ 8-20 ปี มีการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยและเกินตัวมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่ซื้อสินค้าบ่อยครั้งหรือซื้อจุกจิก


          หนี้ครัวเรือนยังเป็นอีกหนึ่งตัวเลขทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ เพราะเป็นตัวเลขที่สามารถบอกได้ว่าตอนนี้เศรษฐกิจของเราเป็นอย่างไร และสามารถบอกนิสัยการใช้เงินของคนในประเทศได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าจำนวนหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นต่อครัวเรือนเป็นประวัติการณ์นั้น มีความน่ากังวล เพราะเป็นปัญหามาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัวจากเศรษฐกิจโลก โดยปีนี้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวร้อยละ 2.5-2.6 ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3 เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ส่งผลต่อรายได้ของประชาชนจำเป็นที่จะต้องมีการก่อหนี้ เพื่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยรัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจประเทศไทยสามารถฟื้นตัวได้ในช่วงกลางไตรมาส 1 ปี 2563 หากยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้น โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนล่าสุดอยู่ที่ร้อยละ 78 ต่อจีดีพี



          จะว่าไปแล้วหนี้ครัวเรือนของคนไทยนั้นเป็นปัญหาที่อยู่กับประเทศของเรามานานมาก นอกเหนือจากมีรายได้ไม่พอกับรายจ่ายแล้วสาเหตุสำคัญน่าจะมาจากนิสัยการใช้เงินเกินตัวหรือมือเติบ จึงเป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องแก้ไขกันไป ส่วนการแก้ไขภาพรวมนั้นดูเหมือนรัฐบาลจะมาถูกทางที่ส่งเสริมให้คนเข้าถึงแหล่งเงินในระบบมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน รวมถึงเร่งฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้มีการจ้างงานและสร้างรายได้ การดูแลค่าครองชีพและควบคุมราคาสินค้า ดูแลเรื่องสวัสดิการให้แก่ประชาชน ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ จัดหาแหล่งเงินทุนในระบบที่มีดอกเบี้ยต่ำ แก้ไขปัญหาการว่างงานและการเสริมอาชีพ, และจัดการขึ้นทะเบียนคนจน เป็นต้น ที่สำคัญรัฐบาลต้องมีแผนระยะยาวสอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเพื่อหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เป็นประเทศพัฒนาแล้วบนหลักเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ