คอลัมนิสต์

ตะลึง...คดีโกงออนไลน์สถิติพุ่งเป็นเท่าตัว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตะลึง...คดีโกงออนไลน์สถิติพุ่งเป็นเท่าตัว คอลัมน์...  สายตรวจระวังภัย   โดย...  ทีมข่าวอาชญากรรม

 

 

 

          แม้จะมีข่าวให้เป็นกรณีศึกษา มีการเตือนภัยอยู่ตลอดเวลา ทว่ายังมีคดี “ฉ้อโกงออนไลน์” เกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน หนำซ้ำยังเพิ่มเป็นทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งล่าสุด “ตำรวจไซเบอร์” กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ยังแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนระมัดระวังป้องกันตัวอีกครั้งเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของบุคคล หรือแก๊ง “โจรออนไลน์”

 

อ่านข่าว ...  'แชร์ลูกโซ่' เหยื่อไม่เคยหมด ความโลภไม่มีประมาณ
 

 

 

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองผบก.ปอท.ในฐานะ โฆษก บก.ปอท. เปิดเผยว่า ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ปอท. พบมีสถิติการรับแจ้งความเกี่ยวกับคดีถูกฉ้อโกง หลอกให้โอนเงินผ่านออนไลน์สูงขึ้นมากเป็นเท่าตัว เทียบแต่ละเดือนคิดเป็นจำนวนกว่า 100% ซึ่งเป็นอัตราที่น่าตกใจมาก ซึ่งคนร้ายจะคิดหาวิธีการ หรือมุกแปลกๆ มาใช้หลอกลวง โดยล่าสุดตอนนี้ที่มีการแพร่ระบาดเป็นการแฮ็กหรือปลอมไลน์เป็นเพื่อน ญาติ หรือคนรู้จัก แล้วส่ง “คิวอาร์โค้ด” ให้เหยื่อที่เป็นเพื่อนในไลน์ช่วยชำระเงินค่าสินค้าแทนให้ก่อนแล้วจะโอนเงินคืนให้ภายหลัง เมื่อเหยื่อเห็นคิวอาร์โค้ดส่งมาให้ก็ไม่ทันได้คิด ไม่ได้ตรวจสอบกลับไปยังคนขอก่อนว่าเป็นตัวจริงหรือเปล่า พอสแกนคิวอาร์โค้ดปุ๊บก็เป็นการชำระเงินค่าสินค้าที่คนร้ายช็อปปิ้งได้สินค้านั้นไปเรียบร้อย

 

 

ตะลึง...คดีโกงออนไลน์สถิติพุ่งเป็นเท่าตัว

 


          “ตอนนี้มีผู้เสียหายทำนองเดียวกันมาแจ้ง ปอท.เยอะมาก จึงอยากจะเตือนให้ระมัดระวัง ขอให้ตรวจสอบ ถามกลับไปด้วยการคุยด้วยเสียงหรือวิดีโอคอลเห็นหน้ายืนยันตัวตนว่าเป็นคนขอมาจริง ไม่ใช่คนร้ายแฮ็กมาหรือปลอมไลน์มา นอกจากนี้ยังพบอีกว่าคนร้ายจะใช้วิธีการให้ซับซ้อนและดูแนบเนียบ ด้วยการโทรเข้ามาหาเหยื่อก่อน แต่ไม่พูดอะไร หรือตัดสายทันที จะมีมิสคอลโชว์ให้เหยื่อเห็น กรณีแบบนี้แสดงว่าคนร้ายแฮ็กเอาบัญชีเฟซบุ๊กและบัญชีไลน์ไปได้แล้ว จากนั้นโทรศัพท์เข้ามาแต่ไม่พูด อยู่ 2-3 ครั้ง หลอกให้เหยื่อหลงเชื่อคิดว่าเป็นตัวจริง แต่ไม่สามารถใช้โทรศัพท์ได้ ระบบไม่ดี สัญญาณรบกวน จากนั้นเขียนข้อความแชทมาบอก เมื่อเหยื่ออ่านแล้วจะหลงเชื่อว่าเป็นตัวจริงก็จะชำระค่าสินค้าหรือโอนเงินให้ในรูปแบบต่างๆ ไป” พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ อธิบาย




          นอกจากการหลอกชำระแทนผ่านคิวอาร์โค้ด หลอกลวงยืมเงินในรูปแบบต่างๆ โอนเข้าบัญชีธนาคารบ้าง หรือโอนเข้ากระเป๋าตังค์อีเล็คโทรนิคที่มีในโลกออนไลน์แล้ว ยังมีการถูกหลอกอยู่เยอะ คือการหลอกให้โหวต ซึ่งคนร้ายส่งลิงก์มาให้พร้อมกับขอร้องช่วยเข้าไปกดโหวตคะแนนให้ลูกหลานที่กำลังประกวดต่างๆ นานา เมื่อกดลิงก์ไปก็จะมีหน้าต่างขึ้นมาบอกให้ใส่ยูสเซอร์เนม พลาสเวิร์ด หากหลงกลใส่ให้คนร้ายก็จะได้ข้อมูลส่วนตัวไปทำการยึดเฟซบุ๊กหรือไลน์ จึงต้องย้ำเตือนว่าให้ระมัดระวังอย่าไปกดลิงค์แปลกๆ หรือกดไปแล้วจะต้องใส่ยูสเซอร์เนมหรือพลาสเวิร์ดก็อย่าไปใส่ เราจะตกเป็นเหยื่อคนร้ายถูกแฮกได้ จากนั้นคนร้ายก็จะเอาไปสร้างความเดือดร้อนให้กับเพื่อนๆ ในการถูกหลอกยืมเงินได้

 

ตะลึง...คดีโกงออนไลน์สถิติพุ่งเป็นเท่าตัว

 

 


          เช่นเดียวกับ กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ก็ได้ออกมาเตือนภัยให้ระวัง “ไลน์ ออฟฟิเชียล แอคเค้าท์ (Line Official Account)” ปลอม! เนื่องจากเริ่มมีกลุ่มมิจฉาชีพทำขึ้น เพื่อหลอกให้เหยื่อโอนเงิน หรือหลอกขอข้อมูล ซึ่งแนวทางป้องกันง่าย คือ 1.เช็กก่อนอย่าเพิ่งเชื่อ อย่าดูแค่เลขสมาชิก หรือโปรไฟล์รูป เพราะส่วนนี้สามารถปลอมแปลงได้ 2.มองหาสัญลักษณ์โล่ โดยถ้ามีโล่สีเขียว หรือโล่สีน้ำเงิน แสดงว่าเป็น Account จริงแน่นอน ที่ผ่านการรับรองจาก Line แล้ว โดยโล่สามารถดูได้ที่หน้าโปรไฟล์ของ Line Official Account และโล่ของจริงจะต้องแสดงบนพื้นหลังขาวเท่านั้น และ 3.หากเจอ Account ปลอม สามารถรายงาน (Report) ได้ง่ายๆ คือกดปุ่มขวาบนของห้อง Chat เลือกการตั้งค่า และกดรายงานปัญหา ทั้งนี้ใครที่โดนโกงและมีหลักฐานการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ https://contact-cc.line.me/ ที่สำคัญให้ทุกคนพยายามอัพเดทและรักษารหัสส่วนตัวให้ดี และหากใช้ Line ผ่านอุปกรณ์อื่นๆ อย่าลืมกด log out ทุกครั้ง

 

ตะลึง...คดีโกงออนไลน์สถิติพุ่งเป็นเท่าตัว

 


          เหรียญมีสองด้าน ดาบมีสองคม เทคโนโลยีมีประโยชน์แต่ก็มีโทษเหมือนกัน ฉะนั้นใช้สติ มีความรอบคอบ อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ ไม่เช่นนั้นคุณจะเป็นเหยื่อรายต่อไป..!!

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ