คอลัมนิสต์

เสวนาปฏิรูปการศึกษา ชี้ ศึกษาไทยรับใช้ทุนฯ-อำนาจนิยม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เสวนาปฏิรูปการศึกษา ชี้ ศึกษาไทยรับใช้ทุนนิยม-อำนาจนิยม เป็นการศึกษาเพื่อการค้า และธุรกิจการศึกษา

    วันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา  คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เครือข่ายภาคประชาชนและ 30 องค์กรประชาธิปไตย ได้จัดงานเสวนาเรื่อง "รัฐธรรมนูญ กฎหมาย กับนโยบายปฏิรูปการศึกษา" ขึ้น โดยมีนายพิภพ ธงไชย เลขานุการมูลนิธิเด็ก นางสาวณัฏฐา มหัทธนา ครูและนักกิจกรรม นางทิพย์พาพร ตันติสุนทร ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายศึกษา นายวรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการครป. และนายเมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. ดำเนินรายการและสรุปการเสวนา

 

           นายวรภัทร วีรพัฒนคุปต์ นักกิจกรรมเยาวชนและกรรมการ ครป. กล่าวว่า การศึกษาไทยรับใช้ระบบทุนนิยม สร้างคนเป็นกลไกลในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม และเนื้อหาการศึกษาในปัจจุบันรับใช้และสร้างระบบอำนาจนิยมเป็นหลัก ปัจจุบันการศึกษาไทยจึงเป็นการศึกษาเพื่อการค้า เป็นธุรกิจการศึกษา เพื่อสร้างคนเป็นเจ้าคนนายคน รับใช้ระบอบข้าราชการของไทย ไม่ตอบโจทย์การปฏิรูปการศึกษาที่จำเป็นต้องเอาเด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพของตนเองตามความถนัด เพราะการเรียนรู้แบบสนับสนุนคนเก่ง คัดคนไม่เก่งออก เป็นการทำลายคนด้วยระบบการศึกษา

            เสวนาปฏิรูปการศึกษา ชี้ ศึกษาไทยรับใช้ทุนฯ-อำนาจนิยม

          นายพิภพ ธงไชย เลขานุการมูลนิเด็ก ผู้ก่อตั้งโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก กล่าวว่า การศึกษาในอดีตเป็นเครื่องมือของรัฐในการออกแบบสังคมและกำหนดวิธีคิดให้ผู้คน นับตั้งแต่การศึกษาแบบตะวันตกที่ชนชั้นนำส่งขุนนางไปเรียนที่อังกฤษ และกลับมาออกแบบโรงเรียนแบบอีตันในเมืองไทยเช่น โรงเรียนวชิราวุธ และกำเนิดสถาบันของชนชั้นนำ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น ต่อมาอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ก็มาสร้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเป็นตลาดวิชาให้กับประชาชนทั่วไป

         ที่ผ่านมารัฐไทยไม่สนับสนุนการศึกษาทางเลือกกำหนดไว้ในหลักสูตรการศึกษาหรือกระทั่งในรัฐธรรมนูญ จึงมีแต่การศึกษากระแสหลัก แต่ไม่มีกระแสทางเลือกที่รับรองโดยรัฐ ทางออกจึงต้องผลักดันให้การศึกษาทางเลือกถูกรับรองในสังคมเหมือนกระแสหลักด้วย การปฏิรูปการศึกษาต้องเอาการศึกษาออกจากการครอบงำของชนชั้นปกครอง ให้การศึกษาเป็นทางเลือกของประชาชนและกำหนดโดยชุมชนอย่างแท้จริง 

 

          ช่วงแรก เราผลักดันได้คำว่าการศึกษาตามอัธยาศัยในรัฐธรรมนูญ และมีคำว่าการศึกษาทางเลือกในรัฐธรรมนูญครั้งแรกในฉบับปี 2550 จุดเปลี่ยนสำคัญในการเขียนเรื่องการปฏิรูปการศึกษาไว้ในรัฐธรรมนูญมีขึ้นในร่างรัฐธรรมนูญฉบับคุณบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่กระจายงบประมาณทางการศึกษาให้เด็กโดยตรง แต่เสียดายกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการพิจารณา                 "ปัจจุบันเราไม่อาจคาดหวังการปฏิรูปการศึกษาจากระทรวงศึกษาธิการ เพราะเต็มไปด้วยระบบราชการและอำนาจนิยม แต่ต้องสร้างระบบซ้อนระบบคือให้การศึกษาทางเลือกถูกรับรองด้วย ดังนั้นการใช้คูปองทางการศึกษาเพื่อให้เด็กสามารถเลือกที่จะเรียนได้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นระบบ Home School ที่เด็กและพ่อแม่ร่วมออกแบบหลักสูตรร่วมกัน เราต้องเปลี่ยนระบบงบประมาณทางการศึกษา เป็นระบบคูปองเพื่อการศึกษาให้เด็กโดยตรง"

        แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะบรรจุให้มีคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลก็ไปแต่งตั้งคนที่ไม่พร้อมปฏิรูปการศึกษามาทำหน้าที่ เลยไม่มีผลงานรูปธรรมที่เกิดขึ้น นับว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย ปัจจุบันแม้ว่าระบบการศึกษาทางเลือกเปิดแล้ว แต่ยังไม่เปิดเรื่องงบประมาณ และเรื่องครู ซึ่งอนาคตต้องแก้ไขเรื่องนี้

         นางสาวณัฏฐา มหัทธนา ครูและนักกิจกรรม และคณะทำงาน 30 องค์กรประชาธิปไตย กล่าวว่า ตนเองมีประสบการณ์ด้านการศึกษาที่หลากหลาย ตนคิดว่าการศึกษาต้องมีคุณภาพ ต้องเป็นรัฐสวัสดิการและหน้าที่ของรัฐในรัฐธรรมนูญกำหนดการให้เรียน 12 ปี แต่รัฐบาลไปเริ่มตั้งแต่ระดับอนุบาล-มัธยมปีที่ 3 ซึ่งเป็นปัญหาในปัจจุบัน ปัญหาสำคัญคือคุณภาพการศึกษาไม่เท่ากัน ดังนั้นคนที่มีกำลังจึงส่งลูกไปเรียนโรงเรียนไกลบ้าน ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจึงเกิดขึ้น ช่องว่างทางสังคมจึงเป็นปัญหาพันลึกจากการเข้าถึงการศึกษาของไทย สร้างคนที่มีโอกาสต่างกันมากมายในสังคม 

        เราต้องตั้งโจทย์ใหม่เพื่อปฏิรูปการศึกษาคือการพัฒนาเนื้อหาของการศึกษาที่ก้าวหน้ามากขึ้น รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกให้ทัน เช่น ภาษา ทักษะการปรับตัว ความสามารถในการเคลื่อนย้ายการทำงานในต่างประเทศ ฯลฯ แต่เนื้อหาการศึกษาไทยปัจจุบันยังล้าหลังอยู่ เช่น การสอนให้เด็กไทยภูมิใจในความเป็นชาติ ก็ยังไปเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่การยอมรับความหลากหลาย ยอมรับความเห็นต่างในการพัฒนาประชาธิปไตย การสร้างความเป็นพลเมืองโลก สิทธิมนุษยชน กลับไม่ได้พูดถึงและสร้างเนื้อหาการเรียนรู้โดยตรง 

       ปัจจุบันการศึกษาของไทย นอกจากอยู่อันดับท้ายๆ ของโลกแล้ว ยังตกต่ำลงเป็นอันดับท้ายๆ ของอาเซียนอีกด้วย จึงถึงเวลาที่จะต้องปรับเนื้อหาการศึกษาโดยด่วน โดยเฉพาะเรื่องภาษา การศึกษาไทยนอกจากไม่เก่งภาษาอังกฤษแล้วยังไม่เก่งภาษาไทยอีกด้วย เรื่องคณิตศาสตร์ การคำนวณ ฯลฯ สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการควรโฟกัสไปที่การพัฒนาครู เพราะครูเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการเรียนรู้ ปัจจุบันสถานการณ์ครูวิกฤต จากภาวะศักยภาพการสอน จากภาวะความไม่เป็นอิสระจากระบบ จากภาวะหนี้สิน ภาวการณ์ประเมินและควบคุมจากกระทรวงจนขาดอิสรภาพ

           สำหรับทางออกในทางกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ต้องแก้จากเรียนฟรี 12 ปี เป็น 15 ปี ต้องมีกองทุนการศึกษาที่มากขึ้นเพราะปัจุบันไม่พอ ต้องสร้างระบบรัฐสวัสดิการทางการศึกษาและเรียนฟรีอย่างแท้จริง เพราะปัจจุบันเด็กไม่ได้เรียนฟรีจริง               อย่างไรก็ตาม การสร้างรัฐสวัสดิการที่ดีต้องแก้ไขการเมืองให้มีเสถียรภาพด้วย โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย และมีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพนำมาสู่การปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง เพราะเราแยกส่วนในการแก้ไขปัญหาไม่ได้  

      นางทิพย์พาพร ตันติสุนทร ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายศึกษา เห็นว่า การศึกษาคือเครื่องมือกล่อมเกลาสังคม ระบบการศึกษาของรัฐจึงเป็นระบบการศึกษาเพื่อบังคับชักจูงประชาชนตั้งแต่เด็กจนโตให้สอดคล้องกับรูปแบบของรัฐที่มีหรือระบบเศรษฐกิจที่รัฐวางไว้

         อย่างไรก็ตาม สำหรับสังคมไทยยังไม่มีฉันทามติในการสร้างรูปแบบรัฐและระบบเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ระบบการศึกษาจึงไร้ทิศทางในการสร้างพลเมืองและสร้างคนอย่างจริงจัง การสร้างการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง (Civic Education) จึงยังไม่เกิดในประเทศไทย 

         คนเป็นผลผลิตของการศึกษา การศึกษาเป็นผลผลิตของรัฐ ทุกวันนี้คนไทยเป็นอย่างไรก็สะท้อนมาจากระบบการศึกษาที่เกิดขึ้น ลักษณะความเป็นศรีธนญชัยก็มาผลิตผลของสังคมเช่นกัน เราต้องปฏิรูปการศึกษาในระดับอุดมศึกษาอย่างจริงจัง ห้องเรียนที่แท้จริงไม่ใช้ห้องเรียนในห้องเรียน แต่ต้องเป็นห้องเรียนใหญ่โดยมีสังคมเป็นห้องเรียน 

      การศึกษาไทยไม่ได้สร้างค่านิยมที่ดี หลักสูตรครูขาดการเรียนการสอนเรื่องลัทธิการปกครองที่หลากหลายเพื่อสร้างองค์ความรู้ เพื่อสร้างค่านิยมประชาธิปไตยที่แท้จริงที่ควรปรากฏอยู่ในหมวดการศึกษาด้วยค่านิยมการเคารพประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาค ต่างๆ ปัจจุบันการศึกษาไทยเน้นแค่ 2 ลู่วิ่ง คือวิชาชีพและวิชาการ ต้องสร้างลู่วิ่งค่านิยมพลเมืองที่จะรับผิดชอบต่อสังคมและชาติบ้านเมืองด้วย โดยให้คนเป็นเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ ปราศจากการครอบงำโดยครู โดยผู้อำนวยการ หรือโดยระบบอำนาจนิยมใดๆ

        เราควรสนับสนุนงบประมาณให้การศึกษาให้มากขึ้น และอย่าเอารัฐไทยเป็นศูนย์กลาง อย่าเอากรุงเทพเป็นศูนย์กลาง แต่เอาชนบทท้องถิ่นเป็นศูนย์กลางการศึกษาของเขาด้วย เพราะท้องถิ่นต่างๆ มีอัตลักษณ์และคุณค่าของตนเองที่แตกต่างหลากหลายมากมาย ซึ่งถูกทำลายไปด้วยระบบการศึกษา ที่แยกคนออกจากชุมชน ออกจากครอบครัว จนขาดความอบอุ่น ขาดปัญญาบูรณาการที่รับใช้ชุมชนท้องถิ่นของตนเองอย่างแท้จริง

        นายเมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. สรุปข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาว่า 1.ระบบการศึกษาไทยรับใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและอำนาจนิยมโดยรัฐเป็นหลัก การศึกษากระแสหลักจึงเน้นธุรกิจการศึกษาและค่านิยมแบบเจ้าคนนายคนในระบอบข้าราชการไทย ทำให้การศึกษาไทยสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมจากคุณภาพการศึกษาที่แตกต่าง

        2.ระบบการศึกษาไทยขาดคุณภาพการศึกษาที่เท่าเทียม โรงเรียนมีคุณภาพแตกต่างกันมาก ไม่มีบรรทัดฐาน จึงเกิดความเลื่อมล้ำทางการศึกษาซึ่งเชื่อมโยงไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคมในที่สุด

        3.การปฏิรูปการศึกษาต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้ดีขึ้น การสร้างการเรียนรู้โดยเอาเด็กและชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลางการศึกษา มีความสำคัญเพื่อสร้างเนื้อหาการเรียนรู้ตามความถนัดเพื่อสร้างคุณภาพคนและส่งเสริมค่านิยมที่รับใช้สังคมอย่างแท้จริง 

        4.รัฐบาลต้องผลักดันให้ระบบการศึกษาทางเลือกถูกรับรองในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันได้รับการรับรองการศึกษาทางเลือกบางส่วนแล้ว แต่ยังเหลือเรื่องงบประมาณและระบบครูที่ยังไม่เปิด ควรจัดระบบงบประมาณแบบคูปองการศึกษาให้เด็กโดยตรง

      5.การศึกษาควรต้องเป็นระบบรัฐสวัสดิการ ที่ให้สวัสดิการการเรียนฟรีอย่างแท้จริงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย การสร้างรัฐสวัสดิการที่ดีต้องปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจทั้งระบบ โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตย เพื่อสร้างรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลมาแก้ไขปัญหาชาติบ้านเมืองอย่างเป็นระบบ 

       6.การศึกษาไทยต้องออกแบบการศึกษาเพื่อพลเมือง (Civic Education) ให้ประชาชนได้เรียนรู้อุดมการณ์ทางการเมืองต่างๆ ที่หลากหลายโดยไม่ปิดกั้น เพื่อสร้างคุณค่าประชาธิปไตยและค่านิยมเพื่อส่วนรวม เคารพสิทธิมนุษยชนและความหลากหลาย ยกเลิกระบบอำนาจนิยมและการตกเป็นเหยื่อในระบบการศึกษาแบบโปรประกานดา เพื่อพัฒนาสังคมไทยและความรับผิดชอบต่อส่วนรวม

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ