คอลัมนิสต์

ลาลาลอย กระทงไทย บุญ-บาป ทางสองแพร่ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายงานพิเศษจากหนังสือพิมพ์คมชัดลึกฉบับวันที่ 9-10 พ.ย. 62

 

 

**********************

 

“เหนื่อยไหมอยากให้เธอพัก ก่อนที่ฉันจะพาเธอลอย” วรรคหนึ่งของเพลงลาลาลอย ของ “เดอะทอยส์” สุดแนว ก็ทำให้นึกถึงบรรยากาศของวันลอยกระทงเหมือนกัน

 

โดยเฉพาะหนุ่มสาวที่มักรอคอยวันนี้ไม่แพ้วันสงกรานต์ แต่ปัญหาคือพอลอยกระทงจบแล้ว เช้ามาก็พบกับข่าวเช้า กทม. เก็บขยะกระทงในแหล่งน้ำต่างๆ สื่อพากันรายงานข่าวกันคึกคัก

 

เพราะอย่างนี้ สีสันวันลอยกระทงไทยในช่วงหลังๆ จึงเต็มไปด้วยคำถามว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะปรับทัศนคติในการลอยกระทงเสียใหม่

 

เพียงแต่เราจะปรับเปลี่ยนกันอย่างไร ไม่ให้คุณค่าความเป็นประเพณีที่ทำมานานเสื่อมหายไป พอๆ กับที่ลอยอย่างไรไม่ทำให้สภาพแวดล้อมของลำน้ำลำคลอง ต้องหมองหม่น กลายเป็นตราบาปที่ไม่รักโลก จนเกิดดราม่าเต็มหน้าข่าวสารในวันรุ่งขึ้น

 

 

 

 

 

กระทงไทยในอดีต

 

ก่อนอื่น อย่าได้เหมาเอาว่าประเพณีลอยกระทงเป็นประเพณีของไทยเราเท่านั้น เหมือนที่เคยเหมาเอาวันสงกรานต์มาก่อน เพราะประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ก็ทำกันอยู่ ทั้ง พม่า กัมพูชา จีน อินเดีย โดยแต่ละที่ก็มีเหตุผลต่างๆ กัน

 

เช่น เพื่อขอขมาแม่คงคา เพราะได้อาศัยน้ำกินและใช้, เพื่อสักการะรอยพระพุทธบาทนัมมทานที ซึ่งพระพุทธเจ้าประทับรอยพระบาทไว้บนหาดทรายที่แม่น้ำนัมมทานที ในประเทศอินเดีย, เพื่อลอยทุกข์โศกโรคภัย และสิ่งไม่ดี คล้ายกับพิธีลอยบาปของพราหมณ์ ฯลฯ

 

 

ลาลาลอย กระทงไทย  บุญ-บาป ทางสองแพร่ง

 

 

ส่วนของไทย แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าทำกันมาตั้งแต่เมื่อไร แต่ก็มีปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านานจนถึงปัจจุบัน มีช่วงหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 เคยมีการยกเลิกไปเพราะทรงตัดพิธีต่างๆ ที่เห็นว่าสิ้นเปลืองออก จนมาในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีนี้อีก

 

และที่แน่ๆ กระทงของไทยเราในอดีตมานั้น ก็ทำด้วยพืชพรรณธรรมชาตินี่แหละ เช่น ใบตอง หยวกกล้วย ปลีกล้วย ใบพลับพลึง กาบมะพร้าว ฯลฯ แล้วตกแต่งเป็นรูปดอกบัวบาน ปักธูปเทียนเอามาลอยไปตามน้ำ

 

หลายคนนิยมตัดผมตัดเล็บใส่ลงไปด้วยนัยว่าให้หมดทุกข์หมดโศก หรือจะใส่เหรียญลงไปด้วยก็ได้ ถ้าเชื่อว่าจะทำให้ร่ำรวย ทรัพย์สินเงินทองให้ไหลมาเทมาตลอดปี แต่ใส่แล้วก็ต้องทำใจพวกคว่ำกระทงหาเหรียญด้วย พระท่านว่าทำบุญแล้วอย่าถามที่ไปของเงิน

 

แน่นอนทั้งหมดนี้ ไม่เกี่ยวกับกระแสอนุรักษ์อะไรหรอก แต่เพราะสมัยก่อน ยังไม่มีโฟมตะหาก !

 

 

 

 

กระทงโฟมก็มา

 

พูดถึง “โฟม” ก็หมายถึงพลาสติกที่ฟูหรือขยายตัว โดยเป็นพลาสติกประเภทพอลิสไตรีน (Polystyrene :Ps) ที่ผ่านกระบวนการที่ใช้สารขยายตัวทำให้พลาสติกนั้นกลายเป็นโฟม

 

ตัวอย่างของโฟมพลาสติกที่รู้จักกันทั่วไป เช่น ฟองน้ำ กล่องโฟมใส่อาหาร โฟมแผ่น โฟมฉีดพ่นเพื่อเป็นฉนวน เป็นต้น ซึ่งโฟมพลาสติกเหล่านี้ ล้วนแต่ผลิตจากพลาสติกแตกต่างประเภทกันไป

 

ที่มาของโฟมไม่มีชี้ชัดว่าเกิดปีไหน แต่ว่ากันว่าเดิมทีเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่คิดค้นเพื่อใช้ในการทำเรือชูชีพช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะน้ำหนักเบา มีอายุการใช้งานยาวนาน แถมยังว่ากันว่าผู้คิดค้นโฟมเกือบจะได้รางวัลโนเบลด้วยซ้ำ

 

ต่อมามนุษย์เริ่มใช้โฟมเป็น Food Container คือบรรจุอาหาร ใส่อาหาร ราวปี 2503 จวบจนทุกวันนี้ ก็ยังมีการใช้โฟมเป็นภาชนะใส่อาหารให้เห็นทั่วไป โดยเฉพาะตามฟาส์ตฟู้ด

 

 

ลาลาลอย กระทงไทย  บุญ-บาป ทางสองแพร่ง

ภาพชินตา และกระทงโฟมก็ยังมีให้เห็น

 

 

 

ส่วนบ้านเรา ถ้าพูดถึง “กระทงโฟม” ไม่มีจุดกำเนิดแน่ชัดว่าใครกันที่ช่าง “หัวใส” เอาโฟมมาทำกระทง รู้ตัวอีกทีกระทงโฟมก็มีเกลื่อนทั่วบ้านทั่วไทยไปแล้ว ด้วยเหตุผลเดียวกันคือ หาง่าย ราคาถูก น้ำหนักเบา กันน้ำเป็นเยี่ยม

 

สำหรับกระทงโฟมหน้าตาเป็นอย่างไร เชื่อว่าเรานึกกันออก ก็เป็นกระทงที่มีฐานโฟมขาวๆ พันรอบฐานด้วยกระดาษเงินกระดาษทอง กลีบบัวทำจากกระดาษย่นหลากสี แล้วแต่ชอบ

 

เชื่อหรือไม่ว่าทุกวันนี้ก็ยังมีวางขายให้เห็น บางเจ้าพอเห็นว่ากระแสอนุรักษ์มาแรง ก็สับขาหลอกโดยใช้ใบตองเป็นกลีบบัว พอจ่ายตังค์ซื้อเสร็จ ยกขึ้นจะเอาไปลอยปรากฏว่าเบาหวิว เพราะตัวฐานคือโฟม จะคืนก็กลัวมีเรื่อง จะซื้อใหม่ก็เสียดาย

 

ถามว่ากระทงโฟมเลวร้ายยังไง แค่ตื่นเช้าไปถามเจ้าหน้าที่กทม. หรือเจ้าหน้าที่เทศบาลที่มาเก็บขน รับรองจะได้คำตอบแบบถึงแก่นแน่นอน

 

 

 

วายร้ายผู้น่ากลัว?

 

แต่ถ้าจะเอาแบบเป็นตัวเลขที่มีหลักฐานอ้างอิง นี่เลย รายงานย้อนหลังจากปี 2555-2561 ของกทม. พบว่าปี 2555 มีกระทง 916,354 ใบ แยกเป็น กระทงธรรมชาติ 785,061 ใบ, กระทงโฟม 131,338 ใบ

 

มาจนปีที่แล้วมีขยะกระทง กทม. เพิ่มขึ้นเป็น 8.4 แสนใบ คือจัดเก็บกระทงได้ทั้งสิ้น 841,327 ใบ แยกเป็นกระทงธรรมชาติ 796,444 ใบ กระทงโฟม 44,883 ใบ

 

แน่นอนทั้งหมดนี้แปลว่า โดยภาพรวมแล้ว ผู้คนหันมาใช้กระทงธรรมชาติกันมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ถือว่าน่าดีใจ

 

 

 

ลาลาลอย กระทงไทย  บุญ-บาป ทางสองแพร่ง

บรรยากาศหลังวันลอยกระทง 2560 ที่ม.เกษตร บางเขน

 

 

แต่เดี๋ยวก่อน ต้องย้ำว่ากระแสรณรงค์ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นช่วงนั้น แต่มีมานานแล้วนับหลายสิบปี ที่คนไทยได้เห็นข่าวสารการรณรงค์ให้ใช้วัสดุธรรมชาติร่วมประเพณีลอยกระทง

 

ทั้งๆ ที่ข้อมูลระบุว่าการกำจัดโฟมโดยทั่วไปจะนิยมเผาหรือฝังกลบ แต่การเผาก็ทำให้เกิดมลพิษในอากาศ ขณะที่การนำไปฝัง ก็ทำได้ยาก เพราะโฟมเป็นวัสดุสังเคราะห์ไม่สามารถย่อยสลายได้ด้วยวิธีทางชีวภาพโดยจุลินทรีย์

 

มีการประเมินว่าโฟมที่นำมาใช้ในการทำฐานกระทงขนาดทั่วไป เพียง 1 กระทงนั้น ต้องใช้เวลาในการย่อยสลายไม่ต่ำกว่า “50 ปี” เลยทีเดียว!

 

และจริงอยู่ที่โฟมนำกลับไปรีไซเคิลได้ โดยการบดให้มีขนาดเล็ก แล้วนำกลับเข้ามาสู่กระบวนการหลอม แล้วนำกลับมาผลิตเป็นสินค้าพลาสติกใหม่ ในรูปแบบต่างๆ แต่ก็ต้องมีกระบวนการจัดเก็บ คัดแยก ทำความสะอาดที่ถูกต้อง

 

 

 

ลาลาลอย กระทงไทย  บุญ-บาป ทางสองแพร่ง

กระทงเกยตื้นพร้อมตะปู ภาพไวรัลช่วงปีที่แล้ว จากเฟซบุ๊ก Fon Vorapan

 

 

แต่ปัญหาของกระทงโฟม กลับยังคงมีอยู่ให้เห็นจากภาพข่าวสารที่ทุกเช้าหลังวันลอยกระทง ช่วงปีก่อนมีไวรัลภาพกระทงเกยตื้นที่ชายหาดเขาตะเกียบ หัวหิน มีหลายอันที่ทำจากหยวกกล้วย แต่ปรากฏว่าใช้ตะปูเป็นส่วนประกอบของกระทง ดูน่าขนลุก

 

นาทีนั้นไม่เพียงต้องถามว่ากระทงโฟมจะไม่หมดไปจากวันลอยกระทงไทย แต่ต้องถามว่าถ้าจะเอาจริงเรื่องอนุรักษ์ ก็ต้องไปให้สุดทางใช่ไหม

 

 

 

 

รณรงค์ไปเรื่อยๆ

 

พอพูดถึงการรณรงค์งดใช้กระทงโฟม จะว่าไปก็ขับเคลื่อนสอดคล้องคาบเกี่ยวกันกับกระแสงดใช้ถุงพลาสติกที่ไทยเราก็กำลังเข้มอยู่ตอนนี้

 

แต่อีกทางหนึ่ง ก็อดนึกถึงสีสันความเพียรของคนไทยในการออกแบบกระทงที่ไม่สวนทางโลกด้วยเช่นกัน จะว่าไปก็ไม่แพ้พานไหว้ครูในยุคหลังๆ เลยทีเดียว แอบคิดว่าปีนี้จะมีกระทงการเมืองหรือไม่ ยังหวั่นๆ (ฮา)

 

 

 

ลาลาลอย กระทงไทย  บุญ-บาป ทางสองแพร่ง

กระทงขนมปัง

 

 

โดยเฉพาะ กระทงขนมปัง” ยุคแรกที่เริ่มมีเผยแพร่ก็ได้รับเสียงชื่นชมท่วมท้น เพราะนอกจากสวยงามทันสมัยแล้ว ยังย่อยสลายได้อย่างสบายๆ แถมปลาในน้ำยังได้กัดกินขนมปังด้วย งานนี้ปรบมือรัวๆ ว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว

 

แต่พอถึงจุดหนึ่ง ก็มีกระแสออกมาว่า ขนมปังย่อยได้จริง แต่กว่าจะย่อย น้ำก็เน่าทำปลาตายไปเสียก่อน หากทุกวันนี้กระทงขนมปังก็ยังมีอยู่

 

ยิ่งล่าสุดที่เป็นข่าวใหญ่โตเรื่องสาวน้อยวัย 15 โดนล่อซื้อสั่งทำกระทงตัวการ์ตูนจนไปโดนคดีลิขสิทธิ์ เรื่องราวบานปลายใหญ่โต นั่นก็ทำจากอาหารปลาที่ทำจากขนมปังข้าวโพดเม็ดกลมๆ หลากสีนั่นแหละ

 

 

ลาลาลอย กระทงไทย  บุญ-บาป ทางสองแพร่ง

กระทงอาหารปลา

 

 

นอกจากนี้ยังมีกระทงรูปแบบต่างๆ เช่นปีก่อนมีการนำเสนอกระทงน้ำแข็ง ก็ดูเข้าท่า แต่ไม่ตอบโจทย์ว่าจะถือไปลอยยังไง ก็มันเย็น!

 

ระหว่างนั้นก็มีการรณรงค์เกิดเป็นมีมเกรียนๆ ไม่รู้เอาจริงหรือประชด กับการลอยกระทงในอ่างน้ำ ดีเพราะกระทงจะไม่หลงทาง (ฮา) นี่ยังมีลอยกระทงอากาศ ที่ไม่ทำร้ายโลกเลยแม้แต่นิดเดียว

 

แต่จะไปทำตามนั้น ก็จะหาว่าสวนทางประเพณีไทย ทางการเลยบอกมาว่าให้พวกเราลอยกระทงแบบพอดีๆ คือ “1 กระทง 1 ครอบครัว” ดูไปก็เข้าเทรนด์  Minimalist ที่เหล่าผู้รักโลกกำลังทำอยู่

 

 

 

ลาลาลอย กระทงไทย  บุญ-บาป ทางสองแพร่ง

 

 

 

การรณรงค์ครอบครัวเดียวกระทงเดียวนั้นเริ่มทำเมื่อปีที่แล้ว โดยหลักสำคัญคือควรเป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ โดยนอกจากใบกล้วยแล้วก็ยังมีกระทงใบลาน ชานอ้อย เปลือกข้าวโพด ตามช็อปปิ้งออนไลน์ทั่วไปก็มีขายด้วยนะเอา

 

ปีนี้หลังวันที่ 11/11 ซึ่งเป็นวันลอยกระทงบ้านเรา มาดูกันว่าตัวเลขขยะกระทงจะออกมาอย่างไร ลองมันทุกมุกขนาดนี้ กระแสมาแรงขนาดนั้น โซเชียลก็ช่วยเป็นหูเป็นตา กระทงโฟมจะยังลอยนวลอยู่ได้อีกนานแค่ไหนกัน ให้รู้กันไป

 

ปล. ยังไง ก็ขอสุขสันต์วันลอยกระทงมายังผู้อ่านทุกท่านนะจ๊ะ

 

**************************

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ