คอลัมนิสต์

อยู่บ่เป็น แม่โขงตายแล้ว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อยู่บ่เป็น แม่โขงตายแล้ว คอลัมน์...  กระดานความคิด   โดย...  บางนา บางปะกง

 

 


          ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พบหารือกับเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ซึ่งตอนหนึ่งนายกฯ ประยุทธ์ ได้กล่าวถึงการส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาค ผ่านกรอบคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission) และกรอบแม่โขง-ล้านช้าง

 

 

          คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง(MRC) มีสมาชิก 4 ประเทศ คือ ไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ส่วนจีนและเมียนมาร์ไม่ได้เข้าร่วม ซึ่ง MRC มักถูกวิจารณ์ว่า อ่อนแอ ไม่สามารถยับยั้งการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำตามแม่น้ำโขงได้


          ในสายตาเอ็นจีโอและภาคประชาชน 3 ชาติ(ไทย กัมพูชา และเวียดนาม) มองว่า “จีน" เป็นผู้คุมเกมเรื่องแม่น้ำโขง รวมทั้งสร้างความชอบธรรมในการสร้างเขื่อนกั้นน้ำโขง


          ตัดกลับไปที่น้ำตกคอนพะเพ็ง เมืองโขง แขวงจำปาสัก เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2562 ช่างภาพอิสระชาวลาวได้ถ่ายภาพน้ำตกคอนพะเพ็ง แล้วโพสต์ขึ้นเฟซบุ๊ก และแสดงความเห็นว่า น้ำตกคอนพะเพ็ง น้ำแห้งกว่าทุกปี

 

 

อยู่บ่เป็น แม่โขงตายแล้ว

4 สหายแห่งลุ่มน้ำโขง

 


          หากสอบถามคนเมืองโขง แขวงจำปาสักก็จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า น้ำโขงในช่วงปลายฝนต้นหนาวปีนี้ น้ำแห้งเหมือนหน้าแล้ง


          ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา “เขื่อนไซยะบุลี” บนแม่น้ำโขงใน สปป.ลาว ได้ขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อย่างเป็นทางการ


          เขื่อนไซยะบุลี เป็นเขื่อนแรกที่สร้างบนแม่น้ำโขง ตอนล่าง มีเสียงคัดค้านจากภาคประชาชนไทย กัมพูชาและเวียดนาม เนื่องจากมีข้อกังวลอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงและระบบนิเวศ


          มิเพียงเขื่อนไซยะบุลี ก็ยังมี “เขื่อนดอนสะโฮง” ที่อยู่ใกล้ๆ น้ำตกคอนพะเพ็ง บริเวณสี่พันดอน เมืองโขง แขวงจำปาสัก โดยมีการสร้างเขื่อนกั้น “ฮูสะโฮง” ทางน้ำไหลธรรมชาติ


          ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเขื่อนดอนสะโฮง จะสนอง 4 แขวงภาคใต้ คือแขวงสาละวัน แขวงอัตตะปือ แขวงเซกอง และแขวงจำปาสัก และที่เหลือส่งขายให้กัมพูชา

 

 

 

อยู่บ่เป็น แม่โขงตายแล้ว

เขื่อนไซยะบุลี

 


          การไฟฟ้าลาวได้เซ็นสัญญาขายไฟฟ้าให้แก่กัมพูชาเป็นที่เรียบร้อย โดยสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้เดินทางมาเยี่ยมชมการก่อสร้างโครงการดอนสะโฮงด้วยตัวเอง เมื่อปี 2560




          รัฐบาล สปป.ลาว ถือว่า เขื่อนไซยะบุลี และเขื่อนดอนสะโฮง เป็นโครงการยุทธศาสตร์ของรัฐบาลลาว ในการพัฒนาเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่สร้างอยู่ในแม่น้ำโขง


          นอกจากนี้ รัฐบาลลาว ยังมีแผนจะสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงอีก 3 แห่งคือ “เขื่อนปากแบ่ง” แขวงอุดมไซ ที่มีการสำรวจออกแบบเรียบร้อยแล้ว “เขื่อนหลวงพระบาง” แขวงหลวงพระบาง และ “เขื่อนปากลาย” แขวงไซยะบุลี


          ขณะที่สื่อออนไลน์ลาวได้เสนอข่าวว่า รัฐบาลลาวเดินหน้าสร้างเขื่อนหลวงพระบางอย่างแน่นอน ภายในปี 2563 แม้จะมีเสียงทักท้วงจากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ให้ทบทวนแผนการสร้างเขื่อนหลวงพระบาง


          เขื่อนหลวงพระบางนั้น ดำเนินการลงทุนโดยกลุ่มนักธุรกิจจากเวียดนาม และอาจมีการดึงบริษัท ช.การช่าง ผู้สร้างเขื่อนไซยะบุลี เข้าไปร่วมลงทุนด้วย

 

 

อยู่บ่เป็น แม่โขงตายแล้ว

เขื่อนดอนสะโฮง

 


          แม้จะมีเสียงตะโกนว่า น้ำโขงกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติ แต่ผู้นำรัฐบาลลาวก็ทำเป็นหูทวนลม เพราะความต้องการเม็ดเงินจากการขายไฟฟ้าให้เพื่อนบ้าน สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นจากความยากจน


          ตอนที่กำลังมีการก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ภาคประชาชนกัมพูชาส่งเสียงคัดค้าน สมเด็จฮุน เซน ก็แอ็กชั่นขานรับรีบนั่ง ฮ.มาดูจุดก่อสร้างเขื่อนทันที พอฟังท่านทองลุน สีสุลิด อธิบายความเรื่องราคาไฟฟ้าที่จะขายให้การไฟฟ้าเขมร นายกฯฮุน เซน ก็เงียบไปโดยพลัน


          การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนรอบนี้ ท่านเหวียน ชวน ฟุก, ท่านทองลุน สีสุลิด และสมเด็นฮุน เซน ได้มีโอกาสพบปะกันนอกรอบ และเชื่อว่า สามผู้นำลุ่มน้ำโขงจะไม่มีการพูดถึงกระแสคัดค้านการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงอย่างแน่นอน  


          ด้วยเหตุนี้ ภาคประชาชนไทย กัมพูชา และเวียดนาม จึง “อยู่บ่เป็น” ต้องออกมาส่งเสียงให้ผู้นำลาวได้ตระหนักถึงการเขื่อนกั้นน้ำโขง ก็เท่ากับสมรู้ร่วมคิดกับจีนฆ่าแม่น้ำโขงซ้ำอีก  


 

 

อยู่บ่เป็น แม่โขงตายแล้ว

น้ำตกคอนพะเพ็ง

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ