คอลัมนิสต์

'แชร์ลูกโซ่' เหยื่อไม่เคยหมด ความโลภไม่มีประมาณ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายงานพิเศษจากหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 2-3 พ.ย. 62

 

 

**************************

 

หลวงตา "มหาบัว" บอกไว้แล้ว "น้ำมหาสมุทรยังมีฝั่ง แต่ความโลภไม่มีฝั่ง"

 

ข่าว “แชร์แม่มณี” ที่ทำเอาคนไทยอ้าปากค้าง ไม่น่าจะใช่ยอดเงินที่ถูกต้มเปื่อยล่อนถึงกระดูก มีผู้เสียหายหลักพันคน มูลค่าหลายร้อยล้าน

 

แต่น่าจะเป็นความพิศวง งงงวย มากกว่า ว่ามาจนถึงโลกยุคใหม่ เอไอ ไซเบอร์แล้ว เรายังไม่รู้กันอีกหรือว่า หนทางรวยทางลัดแบบนี้มันหลอกลวงกันชัดๆ!!

 

และทั้งหมดมันมาจากคำว่า “อยากรวย” ช่วยไม่ได้จริงๆ!

 

 

 

ทำไมต้องเล่นแชร์

 

เรื่องการเปียแชร์นั้นมีมาเนิ่นนานหาต้นกำเนิดไม่เจอ แต่ว่ากันว่ามาจากกิจกรรมของชาวจีนที่เรียกว่า “โต๊ะแชร์” สมัยก่อน คือการกินข้าวกัน ลงขันกัน ลงทุนทางการเงินร่วมกันเพื่อขยายกิจการทางการค้า

 

โดยถ้าใครได้เงินจากการเล่นแชร์ในกลุ่มหรือที่เรียกว่า “เปียแชร์” มาก ก็จะเลี้ยงอาหารคนทั้งวง เพียงแต่ตอนหลังมีการนำมาใช้ในทางที่ผิด เกิดเป็นแชร์ลูกโซ่ฉ้อโกงกันซะงั้น

 

 

'แชร์ลูกโซ่'  เหยื่อไม่เคยหมด  ความโลภไม่มีประมาณ

 

 

ถามว่าทำไมยังมีคนเล่นแชร์ลูกโซ่กันมาก มีผลสํารวจความคิดเห็นเรื่องการลงทุนในลักษณะบอกต่อหรือ “แชร์ลูกโซ่” ของประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยสํานักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ ช่วงปี 2588

 

พบว่าสาเหตุสําคัญที่ผู้คนสนใจ หลงเชื่อเข้าร่วมลงทุนแชร์ลูกโซ่ เหตุผลหลักๆ เพราะต้องการหารายได้เพิ่ม ได้รับการชักชวนจากคนรู้จัก เช่น ญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน แถมยังลงทุนง่ายไม่ยุ่งยาก และที่สำคัญคือได้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนประเภทอื่น

 

ขณะที่ในการถามความเห็น ปรากฏว่าจำนวนเกินครึ่งระบุว่าปัจจัยสําคัญที่ทำให้การลงทุนในลักษณะแชร์ลูกโซ่มีมากขึ้นก็คือ “ความโลภ”!!

 

และถ้าจะนับย้อนไปดูคดีโกงแชร์บ้านเราในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน ถ้าเริ่มราวๆ ปี 2527 ในรัฐบาลป๋า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ยุคนั้นว่ากันว่ามีโต๊ะแชร์เกิดขึ้นมากมายเพราะยังไม่มีกฎหมายเข้ามาดูแล

 

แต่ก็มีสองสามรายที่เป็นที่จับตาทั้งจากสื่อและภาครัฐเพราะเป็นข่าววงในว่ามีวงเงินที่สูงมากจนขนลุก เช่น แชร์แม่นกแก้ว แชร์ชาร์เตอร์ และ แชร์แม่ชม้อย อันเป็นตำนานโกงตัวแม่ของเมืองไทย

 

เพราะแชร์แม่ชม้อยนั้น เรียกว่าสั่นสะเทือนวงการจนภาครัฐต้องตัดสินใจทำให้ “การเล่นแชร์” ถูกกฎหมายด้วยการจัดตั้ง "พระราชบัญญัติการเล่นแชร์” ขึ้นเมื่อปี 2534 

 

แต่ก่อนหน้านั้นยังมีเรื่องราวที่สนุกยิ่งว่า ซีเอสไอ ไมอามี

 

 

 

 

แม่ชม้อย-แชร์สุดขีด

 

 

จากหนังสือ “100 ชีวิตบนเส้นทางมาเฟีย” เล่าไว้ว่า แชร์แม่ชม้อยเกิดขึ้นช่วงปี 2526-2528 ตอนนั้นเรียก แชร์น้ำมัน” เพราะมีหน่วยลงทุนเป็นคันรถน้ำมัน ราคาอยู่ที่คันละ 160,000 บาท ได้เงินคืนเดือนละ 10,400 บาท

 

แต่ถ้าใครไม่มีทุนก็ลงทุนเป็น “ล้อ” ล้อละ 40,000 (หนึ่งคันมีสี่ล้อ) จะได้เงินคืนเดือนละ 2,600 บาท ด้วย “ดอกเบี้ยงามจ่ายตามเวลา” ทำให้แชร์แม่ชม้อยเติบโตเร็วมากตลอดระยะเวลา 3 ปีมีเงินหมุนเวียนแปดพันล้าน

 

 

 

'แชร์ลูกโซ่'  เหยื่อไม่เคยหมด  ความโลภไม่มีประมาณ

ชม้อย ทิพย์โส ตำนานเจ้าแม่แชร์อันกระหึ่ม

 

 

 

และทำให้ชม้อย หรือ “ชม้อย ทิพย์โส” จากสาวสิงห์บุรี เสมียนธุรการองค์การเชื้อเพลิง ร่ำรวยขึ้นอย่างกับเสกได้ จนสื่อเริ่มคุ้ยขุดที่มาที่ไป แต่ด้วยเหตุที่ยุคนั้นยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการเล่นแชร์ใครจึงทำอะไรเธอไม่ได้

 

จนกระทั่งพฤศจิกายน 2527 รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงเงิน และให้กรมสรรพากรเข้าตรวจสอบยอดเงินฝากแม่ชม้อย และสั่งให้เธอชำระภาษีเป็นเงิน 41.6 ล้านบาท และอายัดเงินฝากทุกบัญชี

 

เมื่อแม่ชม้อยถอนเงินมาจ่ายลูกแชร์ไม่ได้ความวุ่นวายก็เกิดขึ้น จนมีการเข้าแจ้งความกระหน่ำ เจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามจับแม่ชม้อยได้ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2528 จับพวกได้อีก 7 คน 

 

 

 

'แชร์ลูกโซ่'  เหยื่อไม่เคยหมด  ความโลภไม่มีประมาณ

ขอบคุณภาพข่าวจากไทยรัฐ

 

 

ช่วงนั้นเธอบอกว่าหมดตัวแล้วเพราะถูกโกง แต่ปีเดียวกันเจ้าหน้าที่เปิดปฏิบัติการค้นหาทรัพย์สินที่บ้านและพบห้องลับที่มีวอลเปเปอร์อำพรางและมีตู้เสื้อผ้าบังไว้ พบทรัพย์สินเงินทองจำนวนมากมายมหาศาล

 

คดีนี้มีผู้เสียหาย 18,281 ราย วงเงินสี่พันแปดร้อยล้านบาท ศาลพิพากษาแม่ชม้อยติดคุก 154,005 ปี โทษจริงเหลือ 20 ปี ติดจริง 7 ปี เพราะได้รับการลดลงโทษ 2 ครั้ง และพ้นโทษเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2536

 

แต่นอกจากคดีแม่ชม้อยแล้วยังมีแชร์ดังที่ถูกไล่ล่าจากทางการเช่นกัน คือ แชร์แม่นกแก้ว” โดยพันจ่าอากาศเอกหญิงนกแก้ว ใจยืน หัวหน้าวงแชร์แม่นกแก้ว และ แชร์ชาร์ตเตอร์” ของเอกยุทธ อัญชัญบุตร

 

สำหรับแชร์แม่นกแก้วนั้น เกิดขึ้นช่วงปี 2528 จนถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย แม่นกแก้วถูกตัดสินเป็นบุคคลล้มละลาย ศาลมีคำสั่งให้ชำระหนี้ 12,189 ราย คิดเป็นหนี้ 1,977 ล้านบาท

 

ที่ผ่านมากรมบังคับคดีได้ยึดอายัดทรัพย์และขายทอดตลาดและนำเงินมาชำระหนี้คืนเจ้าหนี้แล้ว 5 ครั้ง รวมจำนวนเงิน 361 ล้านบาท และช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา กรมบังคับคดีมีการแบ่งการชำระหนี้แล้วครั้ง 6

 

ส่วนแชร์ชาร์เตอร์ เอกยุทธ อัญชัญบุตร ก็หนีคดีไปต่างประเทศจนหมดอายุความ เหล่านี้ล้วนบอกเราว่าคดีแชร์ลูกโซ่ไม่เคยจบสวยสักรายโดยเฉพาะเหยื่อที่ต้องสูญเงินเสียค่าความโลภ

 

 

 

 

 

ยูฟัน-ฟันเละ

 

อย่างที่บอกหลังจากเกิดคดีแชร์ชม้อย ก็เกิด พ.ร.บ.การเล่นแชร์ขึ้นเมื่อปี 2534 ทำให้การเล่นแชร์ถูกกฎหมาย โดยระบุห้ามนิติบุคคลเป็นนายวงแชร์ ห้ามนายวงแชร์ตั้งวงเกิน 3 วง และจำกัดสมาชิกในวงแชร์ทุกวงเกิน 30 คน รวมจำกัดเงินกองกลางแชร์แต่ละงวดห้ามเกิน 300,000 บาท

 

แต่ที่ผ่านมาก็ยังมีเพื่อนร่วมอุดมการณ์ทยอยเปิดธุรกิจโต๊ะแชร์ออกมาเรื่อยๆ อย่างช่วงปีที่แล้วไม่นานมานี้เองข่าวครึกโครมกับเรื่องราวของแชร์ลูกโซ่หลายรายการ

 

ที่โด่งดังจนคนไทยตามทั่วบ้านทั่วเมืองก็คือคดี ยูฟัน” ที่เกิดขึ้นช่วงเดือนตุลาคม 2556 ถึงเดือนมิถุนายน 2558 บริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัด ได้ชักชวนบุคคลและประชาชนเข้าร่วมในเครือข่ายการประกอบธุรกิจน้ำผลไม้ และสมุนไพรกับเครื่องสำอางผิวหน้า โดยมุกเดิมเลยคือให้ผลตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่าย

 

 

'แชร์ลูกโซ่'  เหยื่อไม่เคยหมด  ความโลภไม่มีประมาณ

ตู้เซฟผู้ต้องหาคดีแชร์ยูฟัน พบเงินสด-ทองคำแท่งเต็มตู้ รวมยึดทรัพย์ในคดีเบื้องต้นกว่า 200 ล้าน

 

 

 

แต่ภายหลังหลอกลวงขายหน่วยลงทุนทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ U–TOKEN จำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ โดยอ้างว่าได้รับความนิยมและยอมรับในต่างประเทศซึ่งจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 

คดีนี้มีทั้งอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นักเคลื่อนไหวความหลากหลายทางเพศชื่อดังและชาวต่างชาติที่เป็นผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร โดยพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดีแทนผู้เสียหาย

 

ในตอนแรกมีการขอให้ทรัพย์ของกลางคดีนี้ คือเงินจำนวน 288 ล้านบาทตกแก่แผ่นดิน ต่อมาก่อนที่ศาลพิพากษา ผู้เสียหายยื่นคำร้องต่ออัยการเพื่อขอให้แก้ไขคำขอท้ายฟ้องเพื่อให้เงินดังกล่าวตกเป็นของผู้เสียหาย เพราะเงินดังกล่าวไม่ใช่เงินของจำเลย แต่เป็นเงินของผู้เสียหายซึ่งถูกจำเลยฉ้อโกงไป และศาลได้พิพากษาให้คืนเงินดังกล่าวแก่ผู้เสียหาย

 

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย 22 คน ยกฟ้อง 21 คน แต่ปัจจุบันคดีนี้ยังไม่จบ!

 

 

 

จบได้ถ้าไม่โลภ

 

ราวปีก่อนยังมีคดีแชร์ลูกโซ่ที่มีชื่อคนดังมีเอี่ยวคือ อมลวรรณ ศิริกิตติรัตน์ นางแบบเซ็กซี่ที่เราเรียกว่า เอมมี่ แม็กซิม” ตั้งวงแชร์ทางกลุ่มไลน์ เชิญชวนร่วมเล่นแชร์ “บ้านเอมมี่” ข่าวว่าโกงเงินแชร์ไปกว่า 28 ล้านบาท มีผู้เสียหายกว่า 80 ราย

 

แต่เจ้าตัวระบุว่าตัวเองโดน “เปียมือที่ 2” โกงมาก่อนกว่า 40 ล้านเช่นกัน จึงทำให้ไม่มีเงินส่งให้ลูกแชร์หลายราย หลังจากนั้นเราก็ได้ยินข่าวว่าเธอหันไป “ขายทองม้วน” เป็นอาชีพเสริมเพื่อชำระหนี้

 

อย่างคดีแชร์แม่มณีล่าสุด ต้องบอกว่ามาไวไปไว ทั้งขาขึ้นและขาลง แต่แม้คนไทยจะเห็นอย่างนั้นทำไมหลายคนเชื่อว่ามันจะต้องมีอีกและอาจมาในรูปแบบอะไรก็ได้

 

เช่นแชร์ลูกโซ่ที่แฝงมากับการลงทุนน้ำมันดิบ ทองคำ สกุลเงินต่างประเทศ โดยชักจูงในการเก็งกำไรจากการ “ซื้อขายล่วงหน้า” หรือการลงทุนสินค้าเกษตร หรือ ธุรกิจขายตรง” สินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ จะว่าไปข่าวดังเรื่อง เมจิกสกิน” ช่วงปีก่อนก็เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ ไหนจะยังมีแชร์ลูกโซ่ที่แฝงมากับกองทุน ฌาปนกิจสงเคราะห์”

 

 

'แชร์ลูกโซ่'  เหยื่อไม่เคยหมด  ความโลภไม่มีประมาณ

ผู้เสียหายจากแชร์แม่มณีหลายสิบราย เข้ายื่นหนังสือต่อ ที่กระทรวงยุติธรรม เพื่อขอให้ DSI รับเป็นคดีพิเศษ ณ ศูนย์ยุติธรรมสร้างสุข ก.ยุติธรรม

 

 

 

แถมในยุคสมัยใหม่ยังมีการอัพเลเวลเข้าไปอีก คือ แชร์ลูกโซ่ออนไลน์” ที่ใช้ช่องทางโลกไร้สายในการทำมาหากิน โดยวิธีการต่างๆ ที่เข้าถึงเราได้ง่ายดาย ถึงขนาดหลอกให้ลงทุนสกุลเงินดิจิทัลสร้างกำไรด้วยการเทรด เอไอ ก็มี

 

จะบรรยายลีลาของแชร์หลอกลวงแต่ละชนิดเห็นจะว่ากันยาว แต่เอาง่ายๆ ไม่ว่าจะหลอกลวงรูปแบบไหน ถ้ามาแบบมีหัวหน้าทีม ให้เราหาสมาชิก แล้วให้ผลตอบแทนสูงมากช่วงแรก ให้เราหาผู้มาลงทุนเพิ่ม บอกว่าผลตอบแทนมากขึ้นตามจำนวนสมาชิกในทีม

 

นั่นละแชร์ลูกโซ่ อย่าโลภ และถอนตัวด่วน!

 

******************************

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ