คอลัมนิสต์

รัฐบาลสับสน ILO 87-98 คนงานไทย-พม่า...สิทธิภาษีอเมริกา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รัฐบาลสับสน ILO 87-98 คนงานไทย-พม่า...สิทธิภาษีอเมริกา โดย...   ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 

 

 

          ปัญหานายจ้างเอาเปรียบ “สิทธิแรงงาน” ทั้งคนไทยและเพื่อนบ้าน เป็นประเด็นร้อนแรงในเวทีสิทธิมนุษยชนนานาชาติมานานหลายสิบปี โดยเฉพาะการจัดตั้ง “สหภาพแรงงาน” เพื่อเป็นปากเสียงไม่ให้หนุ่มสาวโรงงานกลายเป็นแรงงานทาส ล่าสุดอเมริกาสั่งตัด ”สิทธิพิเศษภาษีการค้า" (จีเอสพี)...โดยอ้างอนุสัญญาไอแอลโอ ซึ่งเป็นประเด็นเตือนสติรัฐบาลไทยว่า ถึงเวลาแล้วที่จะรับรองสิทธิเจรจาต่อรองของลูกจ้าง ไม่ใช่เฉพาะแรงงานเพื่อนบ้าน แต่คนงานไทยก็ได้ประโยชน์ด้วย ดูเหมือนรัฐบาลกำลังสับสนหรือพยายามเบี่ยงประเด็นไปว่า "ไม่ให้ก็ไม่แคร์!"...

 

 

          ย้อนไปช่วงปี 2557 อเมริกาประกาศขึ้นบัญชีดำไทย หรือบัญชีที่ 3 ของ “รายงานการค้ามนุษย์” (Trafficking In Persons Report) จากนั้นไม่นานก็โดนต่อว่าใน “รายงานสถานการณ์การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย” (Findings on the Worst Forms of Child Labor Report) ที่บังคับใช้เด็กๆ ลูกหลานชาวพม่าแกะกุ้ง-ปลาหรือทำงานในโรงงานนรก แม้แต่สหภาพยุโรปเองก็มีมติให้ “ใบเหลือง” ไทยปี 2558 จากปัญหา “ประมงผิดกฎหมาย” (IUU Fishing : Illegal Unreported and Unregulated Fishing)

 

 

 

รัฐบาลสับสน ILO 87-98 คนงานไทย-พม่า...สิทธิภาษีอเมริกา

 


          ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า “รัฐบาล คสช.” พยายามแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนสั่งปราบปรามผู้ทำผิดคดีค้ามนุษย์ แก๊งอาชญากรรมข้ามชาติ แก๊งลักลอบขนคนเข้าเมือง ฯลฯ พร้อมสั่งจัดระเบียบเรือประมงผิดกฎหมาย และ ปรับปรุงระบบขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ พม่า กัมพูชา ลาว เวียดนาม จนได้รับการยอมรับและได้เสียงปรบมือจากเครือข่ายนักสิทธิมนุษยชนพอสมควร จนมีสั่งปลดล็อก “ไทย” ไม่ต้องขึ้นบัญชีดำแล้ว


          แต่ทำไมเกิดเหตุการณ์ฟ้าผ่าจาก “สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา” (USTR) วันที่ 28 ตุลาคม 2562 ว่า ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ตัดสินใจระงับให้ สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) กับสินค้านำเข้าจากไทย โดยอ้างว่าไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหากดขี่แรงงานประมงจากเพื่อนบ้านได้ดีพอ โดยเฉพาะ “สิทธิแรงงานตามหลักสากล”


          ผลคือสินค้า 570 กว่ารายการจะได้รับผลกระทบมูลค่าประมาณ 4 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะสินค้าประเภทเกี่ยวโยงกับ อาหารทะเล ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ เลนส์แว่นตา จานชาม เครื่องประดับ ฯลฯ

 

 

 

รัฐบาลสับสน ILO 87-98 คนงานไทย-พม่า...สิทธิภาษีอเมริกา

 


          “ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล” เจ้ากระทรวงแรงงาน สั่งเรียกประชุมด่วน เพราะ“โดนัลด์ ทรัมป์” อ้างว่ารัฐบาลไทยไม่ยอมรับ “มาตรฐานสิทธิแรงงานสากล” โดยเฉพาะการให้สัตยาบันรับรอง "อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ:ILO) ฉบับที่ 87 และ 98"

 

 




          หลายคนสงสัยว่า "ไอแอลโอ ฉบับที่ 87 –98" คืออะไร ?
          "อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98" คือการรับรองสิทธิทั้ง “นายจ้าง” และ “ลูกจ้าง” หรือ คนทำงานทุกคน ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือเอกชนทั่วไป ให้มีสิทธิรวมตัวจัดตั้งและเป็นสมาชิกองค์กรปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งทั่วโลกมีไม่ต่ำกว่า 160 ประเทศให้การรับรองอนุสัญญาฯ นี้แล้ว เหลือเพียงประเทศด้อยพัฒนาจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ยอมเข้าร่วม


          "อนุสัญญาฉบับที่ 87" เกี่ยวกับเสรีภาพในการจัดตั้งสมาคมหรือสหภาพแรงงาน โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตหรือขอขึ้นทะเบียนจากหน่วยงานใดๆ ไม่ว่าจะเป็น เจ้าของบริษัทหรือหน่วยงานราชการ รวมถึงสิทธิรวมตัวกันได้อย่างอิสรเสรี ไม่ต้องแบ่งแยกเลือกปฏิบัติ เพศ เชื้อชาติ ศาสนา ฯลฯ และยังสร้างเป็นเครือข่ายสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศได้ด้วย


          ส่วน "อนุสัญญาฉบับที่ 98" มีเนื้อหารับรองสิทธิของลูกจ้างทั่วไปในการเจรจาต่อรองกับนายจ้าง ระบุให้ “รัฐ” ต้องมีกฎหมายคุ้มครองของลูกจ้างทุกคน แม้ไม่ได้สังกัดสหภาพแรงงานก็ตาม ทุกคนสามารถเรียกร้องความยุติธรรมได้ เช่น เงินชดเชยการถูกเลิกจ้าง วันหยุดชดเชย การหยุดงานประท้วง ฯลฯ

 

 

รัฐบาลสับสน ILO 87-98 คนงานไทย-พม่า...สิทธิภาษีอเมริกา

ชาลี ลอยสูง

 


          สรุปคือเป็นอนุสัญญา 87–98 เกี่ยวกับ การรับรองสิทธิลูกจ้างให้ “จัดตั้ง” “รวมตัว”และ “ต่อรอง” กับนายจ้างได้


          “ชาลี ลอยสูง” รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) อธิบายให้ฟังว่า ช่วงที่ผ่านมาตัวแทนแรงงานไทยทำเรื่องร้องเรียนไปที่เครือข่ายแรงงานระหว่างประเทศหลายแห่ง โดยเฉพาะที่ สหพันธ์แรงงานและสภาแรงงานอุตสาหกรรมแห่งสหรัฐอเมริกา (AFL-CIO) ซึ่งมีสมาชิกกว่า 12 ล้านคนเพื่อให้รับรู้ว่าคนงานในประเทศไทยยังไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิตรงนี้ จะมีวิธีใดช่วยกดดันรัฐบาลไทยได้บ้าง


          "พวกเราช่วยกันต่อสู้เรื่องนี้มาเป็น 20 ปีแล้ว และช่วง 6–7 ปีที่ผ่านมา มีการพยายามใช้เครือข่ายแรงงานในอเมริกามาช่วยด้วย พวกเขาเลยไปค้นหาลู่ทาง จนพบว่าเงื่อนไขการให้สิทธิพิเศษภาษีการค้าจีเอสพี ต้องคุ้มครองและปฏิบัติต่อคนงานตามมาตรฐานแรงงานสากล รัฐบาลอเมริกาก็ส่งตัวแทนมาเจรจากับรัฐบาลไทยหลายสมัย ตั้งแต่ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ รัฐบาล คสช. แต่ก็ไม่มีรัฐบาลไหนสนใจ จนถึงอาทิตย์ที่แล้วประธานาธิบดีอเมริกาสั่งตัดสิทธิภาษี ตอนนี้พวกนักการเมืองไทยออกมาพูดนั่นนี่ อ้างเรื่องสารเคมีเกษตร อ้างว่าไม่ใช่เมืองขึ้นอเมริกา แสดงว่าพวกเขาไม่ได้มีความรู้เรื่องแรงงานเลย"


          ตัวแทนแรงงานไทยกล่าวต่อว่า การต่อสู้เพื่อให้ประเทศไทยลงนามในอนุสัญญา 87–98 นั้น จะช่วยให้ลูกจ้างทั้งคนไทยและคนงานชาติอื่นๆ สามารถรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนได้ ไม่ต้องไปขอจดทะเบียนกับกระทรวงแรงงาน และไม่ต้องกลัวว่าถ้าโรงงานไหนอยากตั้งสหภาพแรงงาน พวกแกนนำจะถูกเลิกจ้าง ถูกให้ออกจากงาน เนื่องจากอนุสัญญานี้คุ้มครองสิทธิของคนงานทุกคน ก็เป็นธรรมดาที่ฝ่ายนายทุนหรือนายจ้างจะไม่เห็นด้วย และพยายามคัดค้านผ่านการกดดันรัฐบาลทุกสมัย แต่ในวันนี้ถือเป็นนิมิตหมายอันดีอยากให้สังคมไทยพิจารณาเรื่องนี้ตามหลักฐานความเป็นจริง อย่าสับสน เพราะถึงเวลาแล้วที่คนงานไทยและคนงานเพื่อนบ้านจะได้รับการคุ้มครองตามหลักการแรงงานสากล

 

 

 

รัฐบาลสับสน ILO 87-98 คนงานไทย-พม่า...สิทธิภาษีอเมริกา

 

 


          จากสถิติปีข้อมูลปี 2560 ประเทศไทยมีสถานประกอบกิจการ 3.6 แสนแห่ง มีจำนวนลูกจ้างประมาณ 8.9 ล้านคน แต่มี “สหภาพแรงงาน” เพียง 1.4 พันแห่ง และสมาชิกสหภาพแรงงานมีเพียง 6.1 แสนคนเท่านั้น เนื่องจากที่ผ่านมา “กลุ่มตัวแทนนายจ้าง” พยายามทำทุกอย่างที่ไม่ให้บริษัทของตนมี “สหภาพแรงงาน” และกฎหมายก็ไม่เอื้ออำนวย


          หมายความว่า ไม่ใช่เฉพาะแรงงานพม่า ลาว กัมพูชา แม้แต่ คนงานไทยเอง ก็ยังไม่ได้รับการรับรองหรือสนับสนุนให้เข้าร่วมสหภาพแรงงาน !?!


          “นายวิน” ตัวแทนแรงงานจากพม่า อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานกว่า 20 ปี เล่าให้ "คม ชัด ลึก" ฟังว่า พวกเขาติดตามข่าวการตัดสิทธิภาษีการค้าไทยเหมือนกัน เข้าใจว่าอเมริกาอ้างถึงสิทธิแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะชาวพม่าที่ทำงานในภาคประมง เพราะมีจำนวนเยอะและยังมีที่ทำงานในโรงงานอีกไม่น้อย แม้ว่าตอนนี้จะมีสิทธิดีขึ้นกว่าเมื่อสิบปีที่แล้วเยอะ แต่ก็ยังไม่ได้สิทธิเท่าเทียมกับมาตรฐานสากลหรือคนงานไทย


          “ตอนนี้โรงงานหรือบริษัทส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีสหภาพแรงงาน แต่ถ้ามีคนงานพม่าก็เข้าร่วมเป็นสมาชิกได้ แต่ห้ามเป็นแกนนำหรือกรรมการของสหภาพ ทำให้ไม่ค่อยมีสิทธิมีเสียงเท่าไร บางโรงงานคนงานเป็นร้อยๆ คน เกือบทั้งหมดเป็นคนพม่า แต่ต้องให้คนไทยไม่กี่คนมาเป็นแกนนำคุยกับนายจ้าง และยังมีปัญหาเรื่องความเท่าเทียมในสิทธิประกันสังคม เช่น เราไม่ได้เงินชดเชยตอนว่างงานแม้แต่ตอนที่โรงงานจ้างให้ออก ถ้าเป็นคนไทยจะได้เงินบางส่วน แต่คนพม่าไม่ได้เลย หรือเงินสะสมในกองทุนประกันสังคม หากย้ายกลับไปอยู่บ้านที่พม่า ทั้งที่จ่ายทุกเดือนมาหลายปี”


          นายวินกล่าวต่อว่า ตอนนี้ปัญหาใหญ่อีกประการคือ การขึ้นค่าวีซ่าจาก 2 ปีจ่าย 500 บาท เพิ่มเป็นปีละ 1,900 บาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินจำนวนเยอะมากสำหรับแรงงานพม่าที่ได้ค่าแรงวันละไม่กี่ร้อยบาท


          ขณะที่ "พร้อมบุญ พานิชภักดิ์" เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย ผู้ทำงานคลุกคลีกับแรงงานเพื่อนบ้านในไทยแสดงความเห็นว่า รู้สึกแปลกใจที่อเมริกาอ้างเรื่องนี้ขึ้นมา ไม่รู้ว่ามีเบื้องลึกเบื้องหลังอะไรหรือเปล่า

 

 

 

รัฐบาลสับสน ILO 87-98 คนงานไทย-พม่า...สิทธิภาษีอเมริกา

 


          “ต้องยอมรับว่าหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลจริงจังมากในการดูแลสิทธิของแรงงานจากเพื่อนบ้านเรา คนงานในบริษัทใหญ่หรือโรงงานทั่วไป ได้ค่าจ้างได้สิทธิเท่าเทียมคนงานไทย มีการดูแลสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ดีขึ้น มีการจัดระเบียบขึ้นทะเบียน ขอวีซ่า ขอใบอนุญาตทำงาน ฯลฯ ตอนนี้เฉพาะคนพม่าในไทยน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 2 ล้าน แน่นอนปัญหาบางอย่างยังมีอยู่ แต่สถานการณ์เรื่องละเมิดสิทธิดีขึ้นมากแล้ว แต่อาจยังไม่ดีพอในสายตาของอเมริกา”


          "พร้อมบุญ" กล่าววิเคราะห์ถึงการเรียกร้อง "สหภาพแรงงาน" ว่า เป็นสิ่งที่ดี ทั้งสำหรับคนงานไทยและคนงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ควรทำให้เกิดขึ้นในสถานประกอบการทุกแห่ง เพราะตอนนี้คนงานพม่าไม่ค่อยมีสิทธิมีเสียงในโรงงาน ต้องขอให้เอ็นจีโอเข้าไปช่วยเจรจากับนายจ้างแทน แต่ถ้าโรงงานเปิดให้มีสหภาพได้ ก็น่าจะเกิดบรรยากาศความร่วมมือในการทำงานที่ดีขึ้นของทุกฝ่าย


          ดูเหมือน "อนุสัญญาไอแอลโอ 87 –98" ที่อเมริกาเรียกร้องแทนคนงานไทยนั้น กำลังถูกเบี่ยงประเด็นไปว่า รัฐบาลไทยไม่ง้ออเมริกา !


          รัฐมนตรีบางคนสับสนถึงกับให้สัมภาษณ์ทำนองว่า “ที่อเมริกาขอมาจะทำให้คนต่างด้าวได้สิทธิมากกว่าคนไทย” หรือ“การตั้งสหภาพแรงงานจะมีการรวมตัวกันเป็นล้านคน มีอำนาจการต่อรองสูง”


          แม้แต่ “นายกฯ บิ๊กตู่” ก็ยังพูดทำนองว่ารัฐบาลไทยกำลังพยายามแก้ไขปัญหาผ่านกระทรวงพาณิชย์ ...ไม่ใช่เรื่องที่ต้องตื่นตระหนกและกล่าวให้ร้ายกันไปมา รัฐบาลมีเวลาอีก 6 เดือนที่จะเจรจาพูดคุยกับสหรัฐอเมริกา


          กลายเป็นความสับสนจนพูดว่า “รัฐบาลไทยไม่จำเป็นต้องง้อเมริกา” ทั้งที่หัวใจสำคัญคือ “รัฐบาลไทยไม่จำเป็นต้องหงอเจ้าสัว” 


          แต่ควรทำหน้าที่ “ดูแล” ลูกจ้างคนไทย 8.9 ล้านคน กับ ลูกจ้างพม่า 2 ล้านคน ลูกจ้างชาติอื่นๆ ให้ได้รับสิทธิตามมาตรฐานแรงงานสากล


          สามารถมี “สหภาพแรงงาน” เพื่อ “เจรจาต่อรอง” กับนายจ้างได้อย่างเท่าเทียม

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ